แสงในการถ่ายภาพทิวทัศน์ (1): แสงจากด้านหน้าที่สม่ำเสมอกันทำให้ภาพของคุณดูดีขึ้นได้อย่างไร
แสงด้านหน้าที่สม่ำเสมอกันอาจดูน่าเบื่อหากคุณเคยชินกับการถ่ายภาพโดยใช้แสงอันน่าตื่นตาตื่นใจจากด้านข้างหรือด้านหลัง แต่ดังคำพูดที่ว่า ความงามนั้นขึ้นอยู่กับคนมอง แสงจากด้านหน้าที่ว่านั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ภาพของคุณดูดีขึ้นก็ได้! ต่อไปนี้คือ 3 ฉากในฤดูร้อนที่ช่างภาพเลือกถ่ายโดยใช้สภาพแสงที่มีความเปรียบต่างต่ำ พบเหตุผลได้ในบทความนี้ (เรื่องโดย: Takashi Nishikawa, Takashi Karaki, Digital Camera Magazine)
บทความนี้เป็นตอนแรกของบทความชุดเกี่ยวกับการจัดแสงในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ติดตามอ่านตอนที่ 2 ได้ที่ SNAPSHOT!
1. คุณแทบจะได้กลิ่นผืนป่าอันเขียวขจี
EOS R5/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 56 มม./ Manual exposure (f/4, 1/320 วินาที) / ISO 2000/ WB: 5,100K/ ฟิลเตอร์ PL
สถานที่: รถไฟสายเอทสึมิ-โฮคุ (ระหว่างคากิงะชิมะและคาโดฮาระ) จังหวัดฟุคุอิ ประเทศญี่ปุ่น
เวลาถ่ายภาพ: กลางเดือนกรกฎาคม เวลา 5:19 น./ ภาพโดย: Takashi Karaki
รถไฟ JR สายเอทสึมิ-โฮคุ หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “สายคุซุริว” วิ่งระหว่างใจกลางเมืองฟุคุอิและทะเลสาบคุซุริว และเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ผู้ชื่นชอบทางรถไฟ เนื่องจากมีเส้นทางผ่านไร่เกษตรอันเงียบสงบและหุบเขาที่มีวิวตระการตา
ด้านบนเป็นภาพของรถไฟที่กำลังข้ามสะพานเหล็กเหนือแม่น้ำคุซุริว รถไฟสีส้มแดงและผืนป่าสีเขียวเข้มเป็นสีคู่ตรงข้ามที่ทำให้แต่ละสีดูมีความโดดเด่น
สภาพแสงที่มีความเปรียบต่างต่ำช่วยขับเน้นให้ป่าดูเชียวชอุ่มยิ่งขึ้น
ผมเลือกถ่ายภาพในเวลาเช้าตรู่ขณะที่ยังไม่มีแสงอาทิตย์เข้ามาในฉาก เพราะแสงอาทิตย์ทำให้เกิดเงาที่บดบังทิวทัศน์อันเขียวขจีนี้ ขณะที่คุณวางแผนการถ่ายภาพ ให้พิจารณาว่ามุมตกกระทบและคุณภาพของแสงจะส่งผลอย่างไรต่อสีสันในฉาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสีคือองค์ประกอบสำคัญในภาพของคุณ!
สิ่งที่เราได้เรียนรู้:
- ถ่ายภาพในเวลาเช้าตรู่เพื่อให้แสงมีความสม่ำเสมอ
- แสงที่สม่ำเสมอทำให้เกิดเงาน้อยกว่าและสีเขียวจะเด่นชัดขึ้น
- สีเขียวที่เข้มขึ้นมีความสำคัญสำหรับภาพนี้ เนื่องจากสีสันเป็นส่วนสำคัญขององค์ประกอบภาพ
- สีคู่ตรงข้ามจะทำให้แต่ละสีโดดเด่นขึ้น ป่าสีเขียว รถไฟสีส้ม
---
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สีคู่ตรงข้ามได้ที่:
ควรใช้สีสันอย่างไรเพื่อดึงความสนใจไปที่ตัวแบบ
การถ่ายภาพในชีวิตประจำวัน: สีสันในฉากวันหน้าร้อนสไตล์มินิมัล
---
2. “ผมเห็นตำแหน่งของดวงอาทิตย์และตัดสินใจกลับไปใหม่ในตอนเย็น”
EOS R5/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 229 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/20 วินาที, EV -1.0) / ISO 400/ WB: แสงแดด/ ฟิลเตอร์ PL
สถานที่: สวนดอกไฮเดรนเยียมิชิโนคุ จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น
เวลาถ่ายภาพ: ปลายเดือนกรกฎาคม เวลา 16:09 น./ ภาพโดย: Takashi Nishikawa
หากคุณไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อน อย่าพลาดชมดอกไฮเดรนเยียแสนสวยเหล่านี้! สวนที่ผมไปถ่ายภาพด้านบนมีชื่อเสียงจากดอกไฮเดรนเยียที่สวยงาม ไฮเดรนเยียกว่า 40,000 ต้นจาก 400 สายพันธุ์จะบานในสวนนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน โดยมักจะเริ่มบานในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ใน 5 วันสุดท้ายของฤดูที่มีไฮเดรนเยียบานมากที่สุด ช่อดอกไฮเดรนเยียจะถูกตัดออกมาแล้วนำไปลอยในสระน้ำ และ “สระไฮเดรนเยีย” ก็กลายมาเป็นภาพอันน่าประทับใจที่ทำให้นักท่องเที่ยวมากมายหลั่งไหลมาที่สวนแห่งนี้
บางครั้งอากาศก็ “ดีเกินไป”
ผมไปที่สระเมื่อวันก่อนตอนประมาณ 10 โมงเช้า แต่พระอาทิตย์ก็อยู่สูงขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น รวมกับท้องฟ้าที่สว่างใสไร้เมฆ แสงอาทิตย์จึงสะท้อนลงบนผิวน้ำโดยตรงซึ่งทำให้เกิดความเปรียบต่างมากเกินไป
ผมจึงกลับไปอีกครั้งในวันถัดมาตอนเวลาประมาณ 4 โมงเย็นเมื่อพระอาทิตย์คล้อยต่ำลงมาและถูกบดบังด้วยภูเขาที่อยู่โดยรอบ ดังที่คาดไว้ แสงจากด้านหน้าที่นุ่มนวลกว่าทำให้ดอกไม้ดูสวยงามที่สุด
ผมทำอะไรอีก:
- ใช้ฟิลเตอร์ PL: ฟิลเตอร์จะช่วยกำจัดแสงจ้าที่ยังหลงเหลืออยู่บนดอกไม้และผิวน้ำ สีสันของดอกไฮเดรนเยียจึงเด่นชัดยิ่งขึ้น
- ให้ใบไม้สีเขียวอยู่ทางด้านซ้ายของเฟรมภาพ: วิธีนี้จะช่วยสร้างจุดสนใจและทำให้ภาพน่าสนใจยิ่งขึ้น
- ใช้ทางยาวโฟกัสที่สั้นลงและรูรับแสงแคบ: ช่วยเพิ่มระยะชัด ทำให้ทั้งผืนน้ำที่เต็มไปด้วยดอกไฮเดรนเยียอยู่ในโฟกัสตั้งแต่ด้านหน้าไปจนถึงด้านหลัง
สิ่งที่เราได้เรียนรู้:
- คุณสามารถใช้แสงที่สม่ำเสมอและมีความเปรียบต่างต่ำในช่วงเย็นได้เช่นกัน
- นอกจากนี้คุณภาพของแสงยังขึ้นอยู่กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ด้วย เช่น ภูเขาที่บังดวงอาทิตย์!
- แสงจ้าจากดวงอาทิตย์ที่สะท้อนบนผิวน้ำ = ความเปรียบต่างที่เห็นได้ชัด = สีที่ดูจางลง
- ใช้ฟิลเตอร์ PL เพื่อลดแสงจ้าและทำให้สีสันโดดเด่นขึ้น
- ทางยาวโฟกัสสั้นลง + รูรับแสงแคบลง = ระยะชัดที่ลึกขึ้น
---
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ (PL) ในการเพิ่มความสวยงามให้ภาพของคุณได้ที่:
การใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์เพื่อถ่ายภาพท้องฟ้าให้มีสีฟ้าเข้มขึ้น
สนุกกับฟิลเตอร์ PL: น้ำค้างแข็งสีสันแปลกตา
เคล็ดลับสำหรับการถ่ายภาพรุ้งกินน้ำ
---
3. ภาพด้านในและด้านนอก: คงรายละเอียดของเงาเอาไว้
EOS R5/ RF15-35mm f/2.8L IS USM/ FL: 20 มม./ Manual exposure (f/7.1, 1/4 วินาที) / ISO 320/ WB: 5,300K/ ฟิลเตอร์ PL
สถานที่: ถ้ำมิโซโนะคุจิ (ฉบับภาษาอังกฤษ) จังหวัดคาโงะชิมะ ประเทศญี่ปุ่น
เวลาถ่ายภาพ: ปลายเดือนกรกฎาคม เวลา 12:14 น./ ภาพโดย: Takashi Karaki
คราวหน้าหากคุณไปสำรวจถ้ำ อย่าลืมหันกลับมาแล้วมองออกไปข้างนอกขณะที่คุณยังอยู่ในถ้ำ ถ้ำในภาพด้านบนคือถ้ำมิโซโนะคุจิที่ดูมีมนต์ขลัง ถ้ำแห่งนี้เกิดจากการกัดเซาะของน้ำพุร้อนมาเป็นเวลานับพันปี และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้รับความนิยมในฐานะที่เป็น “จุดแห่งพลัง” ทางจิตวิญญาณที่ผู้คนมากมายเดินทางมาขอพลังในการบำบัดรักษา บ้างก็กล่าวว่าถ้ำนี้อาจเชื่อมต่อกับอีกมิติหนึ่งของโลก!
ประตูโทริอิสีแดงที่เห็นจากด้านในถ้ำและถูกโอบล้อมโดยทางเข้าเป็นจุดหนึ่งในถ้ำที่ต้องมาเยี่ยมชมและถ่ายภาพ
แสงแดดที่มีความเปรียบต่างต่ำทำให้ถ่ายภาพโดยที่ยังคงเห็นพื้นผิวของถ้ำได้ง่ายขึ้น
ในภาพนี้ ผมต้องการคงความรู้สึกของพื้นผิวภายในถ้ำเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นแนวสันที่ขรุขระ ตะปุ่มตะป่ำ และก้อนนูนที่เป็นเอกลักษณ์ของถ้ำแห่งนี้ ซึ่งทำให้การตั้งค่าการเปิดรับแสงของผมมีความสำคัญยิ่งขึ้น ผมต้องหาจุดที่สมดุลที่สุดที่จะไม่ทำให้ส่วนที่มืดดูมืดเกินไป หรือทำให้ส่วนที่สว่างดูสว่างจ้าเกินไป การถ่ายภาพในวันที่มีเมฆครึ้มช่วยได้มากเนื่องจากมีแสงที่กระจายตัวออกไปอย่างสม่ำเสมอ
อย่าลืมวิธีนี้หากครั้งหน้าคุณต้องถ่ายภาพให้เห็นฉากทั้งด้านในและด้านนอก คุณไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพจากในถ้ำ แต่อาจเป็นอุโมงค์ ภายในอาคารที่มีหน้าต่างขนาดใหญ่ หรือแม้แต่กรอบประตูก็ได้!
ผมทำอะไรอีก:
- ถ่ายด้วยเลนส์ซูมมุมกว้าง: ผมต้องการให้องค์ประกอบภาพออกมาดูเหมือนถ้ำกำลัง “กลืนกิน” ฉากที่อยู่ด้านนอก: เห็นถ้ำมากขึ้นและเห็นด้านนอกน้อยลง ผมจึงถอยเข้ามาในถ้ำให้ลึกขึ้นอีกและถ่ายด้วยเลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM
เคล็ดลับเกี่ยวกับสถานที่: ผมถ่ายภาพนี้ตอนราวๆ เที่ยงวัน แต่ขอแนะนำให้ไปตอนเช้าตรู่ด้วย คุณจะได้เห็นหมอกยามเช้าและแสงแดดส่องอันดูลึกลับที่ทำให้บรรยากาศดูราวกับมีมนต์สะกด
สิ่งที่เราได้เรียนรู้:
- วันที่มีเมฆครึ้มทำให้แสงมีความสม่ำเสมอและมีความเปรียบต่างต่ำ
- แสงที่สม่ำเสมอและมีความเปรียบต่างต่ำเหมาะสำหรับการถ่ายภาพด้านในและด้านนอกเช่นนี้เมื่อคุณต้องการคงรายละเอียดของทั้งภายในและภายนอกเอาไว้
- ใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้เห็นรายละเอียดของทั้งด้านในและด้านนอก
- ยิ่งเลนส์กว้างเท่าใด ก็จะยิ่งง่ายต่อการถ่ายภาพให้เห็นพื้นที่ด้านในมากขึ้น
---
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพถ้ำได้ใน
การถ่ายภาพทิวทัศน์: การถ่ายภาพถ้ำ (ฉบับภาษาอังกฤษ)
ดูอีกวิธีในการถ่ายภาพถ้ำได้ที่:
ภาพทิวทัศน์ซูเปอร์เทเลโฟโต้: “ถ้ำ” ลึกลับในช่องเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำ
---
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่จังหวัดนาระ เมื่อปี 1965 Nishikawa จบการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ สาขาการแพร่ภาพและภาพยนตร์ Osaka Professional Total Creative School เขาศึกษาการถ่ายภาพด้วยตนเอง และทำงานที่บริษัทผลิตวิดีโอโฆษณาและศูนย์พิมพ์ภาพระดับมืออาชีพ ก่อนจะผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระในที่สุด และยังเป็นสมาชิกของสมาคม Japan Nature Scenery Photograph Association (JNP) อีกด้วย
หลังจากผ่านประสบการณ์การเป็นโค้ชกีฬา ต่อด้วยการทำงานในแวดวงการผลิตนิตยสารและบรรณาธิการมาเป็นเวลา 10 ปี Karaki ก็ย้ายไปยังเมืองโยนาโงะในจังหวัดท็อตโตริ ซึ่งเขาได้กลายเป็นที่รู้จักจากผลงานการถ่ายภาพทิวทัศน์ในภูมิภาคซันอินของญี่ปุ่น ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน จุลสาร Amazing Village ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านสวยๆ ในญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือ CANON × Discover Japan ในปี 2017 และภาพทะเลหมอกที่ช่องเขาอาเคชิในจังหวัดท็อตโตริก็เป็นหนึ่งใน 12 ภาพที่ได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ให้เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น
Instagram: @karakky0918