ภาพสะท้อน: รถจักรไอน้ำเคลื่อนที่ผ่านพระอาทิตย์ตกอันงดงาม
เชื่อหรือไม่ว่าภาพสะท้อนบนผิวน้ำในภาพหลักนั้นไม่ใช่ทะเลสาบหรือแม่น้ำ แต่เป็นทุ่งนาที่มีน้ำอยู่เต็มทุ่ง! ช่างภาพทิวทัศน์รถไฟ Hirokazu Nagane จะมาแบ่งปันวิธีการถ่ายภาพนี้ และบทเรียนที่เราได้เรียนรู้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับภาพทิวทัศน์แบบภาพสะท้อนย้อนแสงใดๆ ก็ได้เช่นกัน (เรื่องโดย Hirokazu Nagane, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (f/8, 1/800 วินาที)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ฤดูกาล: ฤดูใบไม้ผลิ/ ช่วงเวลาของวัน: ตอนเย็น
สถานที่: ทางรถไฟสาย JR Ban'etsu West Line ระหว่างสถานี Maoroshi กับ Saruwada จังหวัดนีงาตะ
การตัดสินใจที่สำคัญในการถ่ายภาพ
- ช่วงเวลาของวัน: ตอนเย็น เนื่องจากมีลมพัดน้อยและเพื่อจับภาพรถจักรไอน้ำ
- แสงด้านหลัง: เพื่อแสดงให้เห็นก้อนเมฆอันสวยงาม
- การจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตร: เพื่อดึงความสนใจไปที่ภาพสะท้อนมากขึ้น
- ตำแหน่งกล้องต่ำ: เพื่อให้เก็บภาพสะท้อนในเฟรมได้มากขึ้น
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตัดสินใจแต่ละข้อด้านล่าง เลื่อนลงไปท้่ายสุดเพื่อดูเคล็ดลับพิเศษ!)
ช่วงเวลาของวัน: ตอนเย็น
ถ้าคุณต้องการพื้นผิวที่ใสเหมือนกระจกในภาพสะท้อนบนผิวน้ำ แรงลมจะเป็นอุปสรรคที่คุณต้องรับมือ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพสะท้อนบนผิวน้ำคือ ช่วงตอนเช้าและตอนเย็น เนื่องจากมีลมพัดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงบ่ายที่มีอากาศอุ่นกว่า และแน่นอนว่าถ้าไม่มีฝนก็จะยิ่งดี
ผมวางแผนที่จะถ่ายภาพนี้ในตอนเย็นเพื่อจับภาพรถจักรไอน้ำที่มีชื่อว่า SL “Banetsu Monogatari (ฉบับภาษาอังกฤษ)”
มุมการให้แสง: แสงด้านหลัง
ในสภาพการถ่ายภาพบางอย่าง การตัดสินใจว่าจะถ่ายภาพในสภาพแสงด้านหลังหรือแสงด้านหน้าอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากทั้งสองแบบให้ภาพที่สวยงามน่าทึ่งไม่แพ้กัน บางฉากช่วยให้คุณถ่ายภาพได้ทั้งแบบย้อนแสงและแสงจากด้านหน้าได้ในตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งในฉากอื่นๆ ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ สำหรับทิวทัศน์รถไฟเช่นในภาพนี้ คุณจะต้องตัดสินใจว่า (หรือขึ้นอยู่กับว่า) คุณอยากอยู่ฝั่งไหนของรางรถไฟ
เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ดีที่สุด ผมจึงตัดสินใจถ่ายภาพย้อนแสงเพื่อเก็บภาพก้อนเมฆที่สวยงามและเปลี่ยนรถไฟให้กลายเป็นภาพซิลูเอตต์
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณถ่ายภาพโดยใช้แสงด้านหน้า
การถ่ายภาพโดยใช้แสงด้านหน้าจะทำให้รถไฟดูเปล่งประกาย ผมมักจะเลือกถ่ายในสภาพแสงเช่นนี้เวลาที่เมฆดูธรรมดา
เคล็ดลับ: ถ้าอยากให้ก้อนเมฆแสดงรายละเอียดมากขึ้นในภาพย้อนแสง ให้เปิดรับแสงน้อยกว่าปกติเล็กน้อยเวลาถ่ายภาพ จากนั้นฟื้นฟูรายละเอียดในระหว่างกระบวนการปรับแต่งภาพ
การจัดองค์ประกอบภาพ: แบบสมมาตร
ผมจัดเฟรมของภาพหลักเพื่อดึงความสนใจไปที่ความสมมาตรระหว่างท้องฟ้ากับภาพสะท้อนของท้องฟ้าบนผิวน้ำที่ใสเหมือนกระจก ผมคิดว่าแค่ถ่ายภาพรถไฟและทุ่งนาที่เต็มไปด้วยน้ำจะทำให้ได้ภาพที่ดูธรรมดามาก ดังนั้น ผมมักจะลองใส่พระอาทิตย์ยามเย็นในรูปแบบต่างๆ เข้ามาในภาพด้วย
ผมถ่ายภาพนี้ในวันอื่นโดยจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วน ความสนใจของเราไม่ได้อยู่ที่ภาพสะท้อนมากนัก แต่กลับอยู่ที่ภาพซิลูเอตต์รถไฟและท้องฟ้าในยามเย็น
เคล็ดลับ: ใช้ฟิลเตอร์ Graduated ND เพื่อปรับความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างส่วนครึ่งบนของภาพกับภาพสะท้อนให้ดูสม่ำเสมอขึ้น
ตำแหน่งกล้อง: ต่ำ
วางกล้องของคุณให้ต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อให้ภาพสะท้อนกินพื้นที่ในเฟรมมากขึ้น ผมต้องการให้ภาพสะท้อนของรถไฟดูใหญ่กว่านี้ แต่การที่จะทำแบบนั้นได้ ผมจะต้องลงไปเดินที่สันเนินระหว่างทุ่งนาบริเวณใกล้เคียง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ชาวนาคงไม่ชอบใจแน่ ดังนั้น ผมจึงถ่ายภาพจากบนถนนแทน โดยถือกล้องให้ใกล้กับพื้นที่สุดเท่าที่ทำได้
เคล็ดลับ: ถ้าเป็นไปได้ ให้ถ่ายในโหมด Live View ร่วมกับหน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้ วิธีนี้จะทำให้คุณไม่ต้องนอนคว่ำลงไปกับพื้นเพื่อถ่ายภาพให้ได้เหมือนผม
อย่าลืม: จงเป็นช่างภาพที่เอาใจใส่!
คุณอาจจะติดลมได้ง่ายกับการพยายามถ่ายให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบ โปรดระมัดระวังสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวอยู่เสมอและอย่าบุกรุกหรือทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น
เคล็ดลับพิเศษ: รู้เวลาที่จะเปลี่ยนกลวิธี
ลมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่อาจขัดขวางไม่ให้ภาพสะท้อนบนผิวน้ำดูราบเรียบและใสดุจกระจก ตัวอย่างเช่น ถ้าผมถ่ายภาพในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ต้นอ่อนข้าวในทุ่งนาคงโตสูงขึ้นและทำให้เอฟเฟ็กต์เสียไป
แทนที่จะฝืนถ่ายภาพจนได้ภาพสะท้อนที่ออกมาดูไม่ดีนัก ขอแนะนำให้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และลองถ่ายภาพในรูปแบบอื่นจะดีกว่า สำหรับภาพถ่ายด้านบน ผมตัดสินใจถ่ายภาพโคลสอัพของรถจักรไอน้ำ และตั้งใจทำให้รถจักรดูเปล่งประกายภายใต้พระอาทิตย์ในยามเย็น
สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพสะท้อน โปรดดูที่:
เคล็ดลับในการถ่ายภาพสะท้อนบนผิวน้ำ: เพลิดเพลินกับแอ่งน้ำ!
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพรถไฟและภาพทิวทัศน์รถไฟได้ที่:
ถ่ายภาพสวยดั่งใจ: รถไฟท่ามกลางทิวทัศน์ฤดูใบไม้ร่วงตระการตา
วิธีถ่ายภาพรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ให้น่าประทับใจด้วยการถ่ายภาพต่อเนื่อง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดในโยโกฮาม่าในปี 1974 หลังจบการศึกษาจาก Musashi Institute of Technology (ปัจจุบันเรียกกันว่า "Tokyo City University") เขาได้เรียนถ่ายภาพจากช่างภาพทางรถไฟ Mitsuhide Mashima ซึ่งเป็นซีอีโอของ Mashima Railway Pictures ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาเคยมีส่วนร่วมในการอธิบายเทคนิคการถ่ายภาพทางรถไฟให้กับนิตยสารถ่ายภาพ และเขียนคู่มือการถ่ายภาพทางรถไฟ เขาเดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่นเพื่อถ่ายภาพรถไฟพร้อมกับยึดคติประจำใจที่ว่า "ถ่ายภาพให้ดูสมจริงจนคุณได้ยินเสียงของรถไฟแม้เพียงแค่มองดูภาพถ่าย"