คำถามที่พบบ่อยในการถ่ายวิดีโอ: Canon Log คืออะไร
คุณอาจเคยได้ยินคำว่า “ถ่ายแบบ Log” อ่านต่อเพื่อหาคำตอบว่าสิ่งนี้หมายถึงอะไร และเรียนรู้เกี่ยวกับโหมด Canon Log ต่างๆ ที่มีในกล้องมิเรอร์เลสซีรีย์ EOS R ส่วนใหญ่
Log: วิธีการเข้ารหัสที่จะถ่ายช่วงไดนามิกเรนจ์ได้กว้างขึ้น
Log: วิธีการเข้ารหัสที่จะถ่ายช่วงไดนามิกเรนจ์ได้กว้างขึ้น
การบันทึก Log (Log recording) เป็นโหมดการเข้ารหัสที่ช่วยให้กล้องดิจิตอลถ่ายช่วงไดนามิกเรนจ์ (ช่วงของโทนสีตั้งแต่ส่วนเงาไปจนถึงส่วนที่สว่าง) ได้กว้างขึ้น เพื่อให้สามารถคงรายละเอียดในส่วนที่สว่างและส่วนเงาได้มากขึ้น ถือได้ว่าเป็น “แกมมา” หรือฟังก์ชั่นที่จะแก้ไขความแตกต่างระหว่างวิธีที่กล้องบันทึกภาพดิจิตอลกับสิ่งที่ดวงตาของมนุษย์มองเห็น
ภาพหน้าจอต่อไปนี้มาจากฟุตเทจ Rec.709 มาตรฐานและ Canon Log 3 คุณสังเกตเห็นอะไรบ้าง (Canon Log ทุกเวอร์ชันส่งผลให้เกิดความแตกต่างโดยรวมที่เหมือนกัน เมื่อเทียบกับฟุตเทจมาตรฐาน)
ดวงอาทิตย์และเมฆรอบๆ ดูสว่างจ้าเกินไปในการบันทึก Rec.709 ในขณะที่การบันทึก Log จะรักษารายละเอียดในส่วนที่สว่างเอาไว้ได้มากกว่า ฟุตเทจ Log จากกล้องจะดูแบนราบมากกว่าและต้องได้รับการเกลี่ยสีเพื่อทำให้สีสันและความเปรียบต่างกลับคืนมาในภาพ แต่ในจุดนี้เองข้อมูลโทนสีที่บันทึกไว้มากพอก็จะช่วยได้เช่นกัน
การบันทึก Log ทำงานอย่างไร
ทบทวนความจำ: วิธีการบันทึกภาพดิจิตอล
ในระหว่างการบันทึกวิดีโอดิจิตอล แสงที่เข้าสู่พิกเซลภาพจะสร้างสัญญาณอะนาล็อก ซึ่งจะถูกแปลงเป็นสัญญาณดิจิตอลเพื่อบันทึก การแปลง (Conversion) เป็นการกำหนดค่าตัวเลขให้กับข้อมูลความสว่างในแต่ละพิกเซล แกมมาจะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มแสงจริง (โทนสี) กับค่าตัวเลขที่กล้องบันทึก
เหตุผลที่เราต้องใช้แกมมา: “การรับรู้” ของกล้องกับการรับรู้ของมนุษย์
กล้อง “มองเห็น” แสงได้แตกต่างจากมนุษย์ โหมดการบันทึกมาตรฐาน (เช่น Rec.709) จะบันทึกแสงในแบบที่กล้องมองเห็น นั่นคือเป็นเส้นตรงแบบสัมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น หากส่วนหนึ่งของฉากมีความเข้มของแสงเป็นสองเท่าของอีกส่วนหนึ่ง กล้องจะบันทึกค่าที่บ่งบอกว่ามีความสว่างเป็นสองเท่า
แต่ดวงตาของมนุษย์ไม่ได้ไวต่อความแตกต่างของความสว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่สว่าง เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราจะไม่สามารถเห็นความแตกต่างใดๆ เลย เนื่องจากทุกอย่างดูสว่างโพลนเท่ากันหมด ทุกๆ ส่วนของข้อมูลแสงเป็นข้อมูลที่กินพื้นที่ และการจัดเก็บข้อมูลแสงจะไม่มีประสิทธิภาพหากเราไม่สามารถรับรู้ถึงความแตกต่างได้
แกมมา (หรือวิธีการแก้ไขแกมมา) ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้เข้ารหัสข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในลักษณะไม่เป็นเส้นตรง (Non-linear) กล่าวคือ จะรักษาข้อมูลในช่วงโทนสีที่ดวงตาของเราสามารถรับรู้ได้ และเก็บข้อมูลในส่วนที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ให้น้อยลง แกมมาที่ต่างกันย่อมทำงานต่างกัน เดิมทีแกมมา Log ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเลียนแบบวิธีที่ฟิล์มเนกาทีฟบันทึกแสง โดยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Log” เนื่องจากมีการเข้ารหัสตามสเกลอัลกอริธึมแทนที่จะเป็นเส้นตรง ฟุตเทจที่ได้จึงมีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับโทนสีต่างๆ ที่เรามองเห็น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพจากกล้องดูมีความเปรียบต่างน้อยลง
Canon Log ขยายโอกาสความเป็นไปได้ในการถ่ายทำฉากเหล่านี้
- ฉากที่มีความเปรียบต่างสูง
- ฉากที่สว่าง ซึ่งรายละเอียดในส่วนที่สว่างมีความสำคัญ (เช่น ชุดแต่งงานที่อยู่กลางแจ้ง)
- โปรดักชั่นที่จำเป็นต้องมีการเกลี่ยสี
เนื่องจากการบันทึก Canon Log รักษาข้อมูลโทนสีได้มากกว่าการบันทึกมาตรฐาน จึงเหมาะสำหรับฉากที่มีความเปรียบต่างสูง ซึ่งคุณต้องการคงรายละเอียดทั้งส่วนที่เป็นเงาและส่วนที่สว่างเอาไว้ ตัวอย่างเช่น ทิวทัศน์ที่ตัดกับพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตก หรือฉากที่ถ่ายจากที่ร่มซึ่งแสดงด้านในของสถานที่นั้นๆ ตลอดจนทิวทัศน์กลางแจ้ง
Canon Log ทำงานได้ดีเยี่ยมในการรักษารายละเอียดส่วนที่สว่างเอาไว้ คุณจึงสามารถใช้คุณสมบัตินี้ในฉากที่สว่างๆ ได้เช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งที่ดีคือ ในงานแต่งงานกลางแจ้ง ซึ่งสามารถเก็บรายละเอียดของชุดแต่งงานอันประณีตงดงามที่อาจดูสว่างโพลนเอาไว้ได้
ปริมาณข้อมูลที่ถูกรักษาไว้ยังช่วยให้มีอิสระในการเกลี่ยสีในกระบวนการปรับแต่งภาพมากขึ้น ส่งผลให้ฟุตเทจจึงยังคงมีคุณภาพสูงแม้ว่าจะผ่านการปรับแต่งมาอย่างหนักหน่วง
แม้ว่าฟุตเทจ Log จากกล้องจะดูค่อนข้างแบน แต่ก็เก็บรายละเอียดของส่วนที่สว่างและส่วนเงาได้มากกว่า ลองสังเกตว่าสามารถมองเห็นรายละเอียดของท้องฟ้ารอบดวงอาทิตย์ได้มากขึ้นในภาพหน้าจอจากฟุตเทจ Canon Log 3 โหมดนี้ช่วยให้การเปลี่ยนผ่านของโทนสียังคงความนุ่มนวลแม้จะเกลี่ยสีฟุตเทจแล้ว
รู้หรือไม่ว่า Canon Log ช่วยให้กล้องวิดีโอดิจิตอลได้ความสวยงาม “แบบภาพยนตร์” ฉบับดั้งเดิม
ฟิล์มเนกาทีฟแบบภาพยนตร์บันทึกช่วงไดนามิกเรนจ์ได้กว้างถึง 12 สต็อป ซึ่งช่วยให้ได้สีสันที่ดูเข้มขึ้นและมีมิติมากขึ้น กล้องวิดีโอดิจิตอลซึ่งถูกสร้างมาเพื่อบันทึกภาพสำหรับโทรทัศน์ จะบันทึกฟุตเทจให้มีสีสันสดใสและมีความเปรียบต่างสูง ทว่ามีช่วงไดนามิกเรนจ์ที่จำกัดยิ่งขึ้น แม้ว่าฟุตเทจเช่นนี้จะมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง แต่ความสวยงามทางภาพที่แตกต่างกันก็อาจทำให้ปรับเข้ากันได้ยากเมื่อต้องตัดต่อโปรดักชั่นแบบผสมที่มีการใช้ทั้งกล้องฟิล์มภาพยนตร์และกล้องวิดีโอดิจิตอล การบันทึก Log จะทำหน้าที่เชื่อมผสานความแตกต่างดังกล่าวโดยเลียนแบบวิธีที่ฟิล์มเนกาทีฟบันทึกแสง
กล้องรุ่นแรกที่มี Canon Log คือ EOS C300 ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ดิจิตอลรุ่นแรกจาก Canon ที่เปิดตัวในปี 2555 กล้อง Cinema EOS ทุกรุ่นล้วนใช้งาน Canon Log ได้ แต่กล้องมิเรอร์เลสระบบ EOS R ระดับกลางและระดับสูงรุ่นใหม่ๆ หลายรุ่นก็มีโหมด Canon Log อย่างน้อยหนึ่งโหมดเช่นกัน
Canon Log, Log 2 และ Log 3 แตกต่างกันอย่างไร
Canon Log, Canon Log 2 และ Canon Log 3 แตกต่างกันอย่างไร
Canon Log มีโหมดที่แตกต่างกันอยู่สามโหมด ได้แก่ Canon Log, Canon Log 2 และ Canon Log 3 ข้อแตกต่างหลักๆ ระหว่างโหมดแต่ละโหมดมีดังนี้
|
|
ช่วงไดนามิกเรนจ์ | ประมาณ 12 สต็อป 800% |
คุณสมบัติเด่น | เกลี่ยสีได้ง่ายขึ้นเนื่องจากคุณภาพของภาพใกล้เคียงกับ Rec.709 (ITU-R BT.709) |
|
|
ช่วงไดนามิกเรนจ์ | ประมาณ 15 สต็อป 1600% |
คุณสมบัติเด่น | มีลักษณะเฉพาะใกล้เคียงกับฟิล์ม เก็บรายละเอียดได้มากขึ้นในส่วนที่สว่างปานกลางถึงมืด |
|
|
ช่วงไดนามิกเรนจ์ | ประมาณ 13.3 สต็อป 1600% |
คุณสมบัติเด่น | รักษาข้อดีของ Canon Log ไว้ ทว่ามีช่วงไดนามิกเรนจ์ที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่สว่าง |
Canon Log 3
กล้อง Cinema EOS รวมถึงกล้องระบบ EOS R ระดับกลางและระดับสูงรุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะมี Canon Log 3 เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ปรับปรุงมาจาก Canon Log ดั้งเดิม และรักษารายละเอียดของส่วนที่สว่างได้ดีกว่าเวอร์ชันเดิม โหมดนี้เหมือนกับ Canon Log ดั้งเดิมตรงที่จะให้คุณภาพของภาพคล้ายกับ Rec.709 มาก ฟุตเทจที่ได้จากกล้องจะถูกลดความอิ่มสีค่อนข้างมากเช่นเดียวกับวิดีโอ Log ทั้งหมดแต่ต้องเกลี่ยสีเพียงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มสีสันกลับเข้าไป ฟุตเทจประเภทนี้จึงเป็นฟุตเทจ Log ที่เกลี่ยสีได้ง่ายที่สุด และเหมาะสำหรับโปรดักชั่นที่ต้องการขั้นตอนการตัดต่อที่เรียบง่ายขึ้น
Canon Log 2
Canon Log 2 ถ่ายช่วงไดนามิกเรนจ์ได้กว้างกว่า Canon Log 3 ที่เทียบเท่า 15 สต็อปโดยประมาณ โดยจะเก็บรายละเอียดของโทนสีกลางและเงาได้ดีกว่า Canon Log 3 นอกเหนือจากรายละเอียดของส่วนที่สว่าง แต่ด้วยเหตุนี้ ฟุตเทจ Canon Log 2 ที่ได้จากกล้องจึงมีสีสันและความเปรียบต่างน้อยกว่าฟุตเทจ Log 3 ซึ่งทำให้เกลี่ยสีได้ยากยิ่งขึ้น จึงเหมาะสำหรับโปรดักชั่นขนาดใหญ่ๆ ที่ต้องมีการเกลี่ยสีอย่างมากในขั้นตอนการตัดต่อ
การครอปภาพในบริเวณเงา
ในภาพครอปแบบโคลสอัพ รายละเอียดต่างๆ ในบริเวณเงา เช่น ต้นไม้ที่อยู่รอบบ้าน จะดูโดดเด่นในฟุตเทจ Canon Log 2 มากกว่าในฟุตเทจ Log 3
เครื่องมือสร้างภาพที่น่าประทับใจ
ช่วงไดนามิกเรนจ์กว้างๆ จากการถ่ายแบบ Canon Log ทำให้สามารถสร้างสรรค์โปรดักชั่นแบบ HDR (High Dynamic Range) ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว HDR ก็หมายถึงภาพที่มีช่วงไดนามิกเรนจ์ที่กว้างมากจนใกล้เคียงกับช่วงไดนามิกเรนจ์ที่ดวงตาของมนุษย์สามารถรับรู้ได้ และออกมาสมจริงยิ่งขึ้น HDR ในรูปแบบฟุตเทจความละเอียดสูงแบบ 4K หรือ 8K จึงเสริมให้ผลลัพธ์ดูสมจริงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ วิดีโอ Canon Log จะถูกบันทึกด้วยความลึกสี 10 บิตเสมอ ทำให้มีข้อมูลสีเพียงพอที่จะช่วยในการเกลี่ยสีได้มากขึ้น เมื่อใช้ประโยชน์จากช่วงไดนามิกเรนจ์กว้างที่ดูสมจริงมากสำหรับดวงตามนุษย์และใช้การเกลี่ยสีเพื่อสร้างบรรยากาศ คุณก็จะสามารถสร้างโปรดักชั่นที่มีภาพสวยน่าประทับใจ
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศัพท์ทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายวิดีโอและความหมายได้ในบทความต่อไปนี้
8K, 4K และ Full HD คืออะไร มีวิธีใช้อย่างไร
4:2:2 และ 4:2:0 หมายถึงอะไร
การแก้ไขความยาวโฟกัสเปลี่ยนตามระยะถ่ายภาพคืออะไร