EOS C70, R5 C, R5 หรือ R3: ควรเลือกกล้องรุ่นใดสำหรับการถ่ายวิดีโอ
หากคุณเป็นผู้ผลิตวิดีโอมือใหม่ที่กำลังมองหากล้องที่มีความสามารถในการถ่ายวิดีโอระดับสูงในงบประมาณใกล้เคียงกับกล้องมิเรอร์เลสระดับมืออาชีพ ปัจจุบันมีกล้องในกลุ่ม EOS ของ Canon อยู่ 4 รุ่นที่คุณอาจสนใจ รุ่นแรกจากกลุ่มกล้องมิเรอร์เลส EOS R ของ Canon คือ EOS R5 ซึ่งสามารถถ่ายวิดีโอ 8K ได้ และ EOS R3 ซึ่งสามารถถ่ายวิดีโอ 6K และยังมี EOS C70 จากกลุ่มกล้อง Cinema EOS ซึ่งสามารถซื้อได้ในราคาใกล้เคียงกับ EOS R3 และ EOS R5 C ที่มีทั้งจุดเด่นของกลุ่มกล้อง Cinema EOS และคุณสมบัติของกล้อง EOS R5 รวมถึงความสามารถในการถ่ายวิดีโอ 8K คุณจะเลือกกล้องให้เหมาะสมกับคุณและงานที่คุณต้องการสร้างสรรค์ได้อย่างไร มาหาคำตอบได้จากบทความนี้
ข้อมูลเบื้องต้น: สร้างสรรค์คุณภาพระดับภาพยนตร์
ข้อมูลเบื้องต้น: สร้างสรรค์คุณภาพระดับภาพยนตร์
ความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของการสตรีมภาพยนตร์ออนไลน์ วล็อก และการไลฟ์สดทำให้ความต้องการในการผลิตเนื้อหาวิดีโอพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ รสนิยมของผู้รับชมวิดีโอยังมีความซับซ้อนขึ้นด้วย อีกทั้งในขณะนี้ ผู้ชมจำนวนมากต้องการภาพวิดีโอคุณภาพสูงเช่นเดียวกับที่คุณคาดหวังจากภาพยนตร์
ขนาดของเซนเซอร์และผลต่อระยะชัดลึกสำหรับภาพยนตร์
ขนาดของเซนเซอร์และผลต่อระยะชัดลึกสำหรับภาพยนตร์
ในอดีต กล้องวิดีโอส่วนใหญ่แม้ในรุ่นระดับมืออาชีพจะมีเซนเซอร์แบบ 1/3 หรือ 2/3 นิ้วที่ค่อนข้างเล็ก (5-9 มม. ที่ระยะสุดฝั่งยาว) ในขณะที่ภาพยนตร์จะถูกบันทึกด้วยกล้องถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งมีฟอร์แมต Super 35 มม. (24 มม. ที่ระยะสุดฝั่งยาว) เป็นมาตรฐาน ขนาดของเซนเซอร์ที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้ระยะชัดตื้นขึ้นและง่ายขึ้นที่จะทำให้ตัวแบบแยกออกมาจากแบ็คกราวด์ได้ดี ความแตกต่างของความสามารถในการถ่ายทอดภาพนี้ส่งผลอย่างมากต่อบรรยากาศที่สร้างขึ้นในฟุตเทจ
EOS C70
กล้อง EOS C70 มีเซนเซอร์ภาพฟอร์แมต Super 35 มม. ตามมาตรฐานสำหรับภาพยนตร์ ด้วยขนาดประมาณ 26.2 × 13.8 มม. พื้นที่ผิวของเซนเซอร์นี้จึงมีขนาดใหญ่กว่าเซนเซอร์ที่ใช้ในกล้องถ่ายภาพโทรทัศน์ (Electronic News Gathering หรือ ENG) ที่ใช้ในการแพร่ภาพข่าวเกือบ 8 เท่า กล้องรุ่นนี้จึงสามารถถ่ายทอดระยะชัดตื้นแบบภาพยนตร์ได้
EOS R3 / EOS R5 / EOS R5 C
กล้องทั้งสามรุ่นนี้มีเซนเซอร์ภาพแบบฟูลเฟรม 35 มม. ซึ่งมีขนาดประมาณ 36.0 × 24.0 มม. และมีพื้นที่ผิวประมาณสองเท่าของเซนเซอร์ภาพในกล้อง EOS C70 ทำให้ได้เอฟเฟ็กต์ระยะชัดตื้นที่เห็นได้ชัดเจนกว่าและโบเก้ที่สวยงามกว่า
เนื่องจากเอฟเฟ็กต์ของระยะชัดตื้นขึ้นอยู่กับขนาดของเซนเซอร์ภาพและไม่เกี่ยวข้องกับความละเอียดของจำนวนพิกเซลในกล้อง ภายใต้สภาวะเดียวกันนั้นโบเก้ที่ได้จากกล้อง EOS R3, EOS R5 และ EOS R5 C จึงดูไม่แตกต่างกัน โดยทั่วไป EOS C70 จะสร้างโบเก้ที่เห็นได้ไม่ชัดเจนเท่า แต่ก็สามารถให้ภาพที่ใกล้เคียงกับกล้องเหล่านี้ได้เช่นกันเมื่อใช้เมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R 0.71x และเลนส์ EF
คุณควรทราบด้วยว่า เนื่องจากความแตกต่างของอัตราส่วนภาพระหว่างภาพแบบ 8K/6K กับภาพจากเซนเซอร์ฟูลเฟรม การบันทึกวิดีโอในกล้อง EOS R3 และ EOS R5/R5 C จึงใช้ความกว้างของเซนเซอร์ทั้งหมด แต่ไม่ใช้ความยาวทั้งหมดของเซนเซอร์ ดังนั้น แม้เซนเซอร์ภาพของกล้อง EOS R3 และ EOS R5/R5 C จะมีจำนวนพิกเซลที่ใช้จริงสูงสุด 24.1 และ 45 ล้านพิกเซลตามลำดับ แต่พื้นที่ของเซนเซอร์ที่ใช้ในขณะบันทึกวิดีโอด้วยความละเอียดสูงสุดของกล้องแต่ละรุ่นคือ 18.98 และ 35.38 ล้านพิกเซลตามลำดับ
ความละเอียดของภาพ: ขนาดและคุณภาพของภาพ
ความละเอียดของภาพ: ขนาดและคุณภาพของภาพ
กล้อง EOS R5 และ EOS R5 C สามารถถ่ายวิดีโอได้สูงสุด 8K DCI ในขณะที่ EOS R3 ถ่ายได้สูงสุด 6K และ EOS C70 ถ่ายได้สูงสุด 4K DCI
ความละเอียดสูงๆ ของกล้อง EOS R3, EOS R5 และ EOS R5 C ทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าในกระบวนการปรับแต่งภาพสำหรับเอาต์พุตแบบ 4K ยกตัวอย่างเช่น สำหรับวิดีโอ 8K คุณสามารถครอปพื้นที่ภาพออกไปได้สูงสุดถึง 75% แต่ยังคงมีพิกเซลเพียงพอสำหรับเอาต์พุต 4K และคุณภาพของภาพไม่ลดลง ซึ่งทำให้สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์การซูมแบบดิจิตอลและการแพนกล้องได้ นอกจากนี้ ขนาดกะทัดรัดรวมถึงราคาที่จับต้องได้ของกล้อง EOS R5 และ EOS R5 C ในฐานะกล้องที่มีความสามารถแบบ 8K ยังทำให้กล้องทั้งสองรุ่นนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับใช้เป็นกล้องสำรองลำดับสอง (หรือแม้แต่ลำดับสาม) เพื่อเสริมชุดอุปกรณ์กล้องความละเอียดสูง
หากการถ่ายวิดีโอในรูปแบบ 8K สำคัญสำหรับคุณ กล้อง EOS R5 C จะช่วยมอบตัวเลือกในการบันทึกที่หลากหลายกว่า ทั้งในรูปแบบ RAW และ MP4
ข้อควรพิจารณา: คุณต้องการลงทุนไปกับคุณสมบัติ 8K ในตอนนี้หรือไม่
8K: อเนกประสงค์และใช้ได้ในอนาคต…
ด้วยความคาดหวังว่าจะมีการรองรับสภาพแวดล้อมในการแสดงภาพ 8K มากขึ้นในอนาคต ความต้องการในการผลิตวิดีโอ 8K จึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การถ่ายวิดีโอแบบ 8K อาจเป็นวิธีที่ดีในการเก็บรักษาฟุตเทจของคุณให้ใช้ได้ในอนาคต! นอกจากไฟล์ 8K DCI RAW ที่สามารถนำมาประมวลผลได้เช่นเดียวกับไฟล์ภาพนิ่ง RAW แล้ว กล้อง EOS R5 และ EOS R5 C ยังบันทึกไฟล์ 8K DCI/UHD MP4 ที่สามารถเล่นแบบ 8K ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปรับแต่งภาพอีกด้วย ในขณะที่กล้อง EOS R3 บันทึกไฟล์ 6K ในรูปแบบ RAW ซึ่งจะต้องมีการปรับแต่งภาพก่อนการเล่น
…แต่คุณสมบัติพิเศษของกล้อง EOS C70 อาจตอบสนองความต้องการของคุณได้ดีกว่า
ความละเอียดที่สูงขึ้นทำให้คุณต้องใช้กำลังการประมวลผลและพื้นที่จัดเก็บที่มากขึ้นเพื่อจัดการกับไฟล์ขนาดใหญ่ที่ได้มา หากคุณไม่ได้มีฮาร์ดแวร์อยู่แล้ว อย่าลืมนำปัจจัยข้อนี้เข้าไปรวมในต้นทุนด้วย แต่เอาต์พุตแบบ 4K นั้นเพียงพอแล้วสำหรับการแสดงภาพและเสียงรวมถึงสภาพแวดล้อมการเล่นวิดีโอที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คุณอาจพบว่าคุณสมบัติของกล้อง EOS C70 เช่น ฟิลเตอร์ ND ในตัว คุณสมบัติของระบบเสียง และอายุแบตเตอรี่ที่ยืนยาวเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณในเวลานั้นๆ
ข้อควรรู้: รูปแบบ Cinema RAW Light
เมื่ออัปเดตเป็นเฟิร์มแวร์เวอร์ชัน 1.0.3.1 (ฉบับภาษาอังกฤษ) สำหรับ EOS C70 แล้ว กล้องทั้งสี่รุ่นจึงสามารถบันทึกวิดีโอ RAW ที่ 12 บิตแบบภายในได้แล้ว สำหรับกล้อง EOS C70 และ EOS R5 C ปัญหาการถ่ายโอนและประมวลผลไฟล์วิดีโอ RAW ขนาดใหญ่นอกสถานที่และในระหว่างการตัดต่อนั้นสามารถแก้ไขได้โดยการใช้รูปแบบ Cinema RAW Light ที่มีในกล้อง Cinema EOS ระดับสูง เช่น C300 Mark III รูปแบบนี้เหมาะสำหรับการเกลี่ยสีและจัดเก็บ และยังทำให้ได้ขนาดไฟล์ที่เล็กกว่าไฟล์วิดีโอ RAW แบบมาตรฐานอย่างมากโดยที่ยังคงความลึกของอัตราการสุ่มตัวอย่างที่ 12 บิตไว้เท่าเดิม และคุณสามารถเลือกได้จากสามโหมด ได้แก่ RAW HQ (คุณภาพสูง), RAW ST (มาตรฐาน) และ RAW LT (แบบ Light)
ความละเอียดและอัตราเฟรมของการบันทึกแบบ RAW
สเปคที่สำคัญในการถ่ายวิดีโอของกล้อง EOS R5, EOS R5 C, EOS R3 และ EOS C70
*เมื่อใช้เฟิร์มแวร์เวอร์ชัน 1.0.3.1 (ฉบับภาษาอังกฤษ) ขึ้นไป
ดาวน์โหลดข้อมูลนี้ในรูปแบบ PDF (ฉบับภาษาอังกฤษ)
ความลึกสีและการบีบอัดข้อมูลสีแบบ Chroma subsampling
ความลึกสีและการบีบอัดข้อมูลสีแบบ Chroma subsampling
ความลึกสี
เพื่อให้เข้าใจง่าย ความลึกสี (bit depth หรือ color depth) หมายถึง จำนวนสีที่ได้รับการบันทึก ความลึกสีสูงๆ หมายถึง จำนวนสีที่สามารถแสดงหรือฟื้นฟูได้มากขึ้นในการปรับแต่งภาพ กล่าวคือ ยิ่งมีจำนวนสีมาก จะยิ่งง่ายต่อการแสดงการเปลี่ยนแปลงของสีที่ดูลื่นไหล โหมดการบันทึกหลักๆ รวมถึงความลึกสีในกล้องทั้งสามรุ่นมีระบุไว้แล้วในตารางด้านบน EOS R3, EOS R5 และ EOS R5 C ให้ความลึกสีสูงสุดเนื่องจากรองรับการบันทึกไฟล์ RAW แบบ 12 บิต
การบีบอัดข้อมูลสีแบบ Chroma subsampling
ตัวเลข เช่น “4:2:0” ที่ปรากฏถัดจากข้อมูลความลึกสี หมายถึง การบีบอัดข้อมูลสีแบบ Chroma subsampling (ฉบับภาษาอังกฤษ) ซึ่งก็คือปริมาณความละเอียดของสีที่แต่ละพิกเซลบันทึกไว้ เช่นเดียวกับความลึกสี ความละเอียดสูงๆ จะช่วยให้คุณมั่นใจว่าฟุตเทจจะยังคงคุณภาพเดิมแม้ผ่านการดัดแปลงอย่างมากในกระบวนการปรับแต่ง
ในระหว่างการบันทึกแบบ 4K ทั้ง EOS C70 และ EOS R5 C ต่างรองรับการบีบอัดข้อมูลสี YCbCr 4:2:2 แบบ 10 บิต เทียบกับการบันทึก YCbCr 4:2:0 แบบ 8 บิตที่มีในกล้อง EOS R5 และ EOS R3 การบันทึกแบบ 8 บิตจะบันทึกสีประมาณ 16.77 ล้านสี ในขณะที่การบันทึกแบบ 10 บิตจะบันทึกสีเป็นจำนวนกว่า 1.07 พันล้านสี ซึ่งทำให้ได้คุณภาพที่สูงขึ้นโดยตรงจากฟุตเทจในกล้อง และการเปลี่ยนแปลงของสีที่ลื่นไหลกว่าเนื่องจาก YCbCr 4:2:2 ยังช่วยป้องกันเงาแปลกปลอม เช่น เอฟเฟ็กต์เฮโลได้ด้วยเมื่อใช้การจัดองค์ประกอบภาพกับฟุตเทจที่ใช้ฉากสีเขียว
ข้อควรพิจารณาในการบันทึกแบบ 4K
1) 4K แบบ Oversampled หรือจุดต่อจุด
เซนเซอร์ภาพที่มีความละเอียดสูงๆ ของกล้อง EOS R5 C, EOS R5 และ EOS R3 ทำให้สามารถสร้างสรรค์วิดีโอ 4K แบบ Oversampled ได้ ซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าฟุตเทจแบบ 4K ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ต่อไปนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราสร้างวิดีโอ 4K โดยการทำ Oversampling จากวิดีโอ 6K:
1. เซนเซอร์ภาพจะบันทึกข้อมูลภาพแบบ 6K ในรูปแบบ Bayer
2. ข้อมูลแบบ 6K จะถูกสร้างขึ้นสามชุด (แต่ละชุดจากพิกเซลที่สีแดง เขียว และน้ำเงินถูกกรองออกไป)
3. ชุดข้อมูลเหล่านี้จะผ่านการ De-mosaicking (หรือ Debayering) และประมวลผลด้วยระบบประมวลผลภาพเพื่อสร้างข้อมูล 6K ที่มีสีสันครบถ้วน
4. ข้อมูล 6K ที่มีสีสันครบถ้วนนี้จะถูกประมวลผลโดยระบบประมวลผลภาพอีกครั้งเพื่อลดขนาดให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ความละเอียด 4K
ไฟล์ความละเอียดระดับ 4K ที่ได้จะมีคุณภาพสูงขึ้นแต่มีเอฟเฟ็กต์มอเร่ เงาแปลกปลอม และจุดรบกวนน้อยลง
EOS R3 | การบันทึก 4K DCI แบบไม่ครอป: การทำ Oversampling แบบ 6K |
59.94p / 50.00p / 29.97p / 25.00p / 24.00p / 23.98p |
EOS R3 | การบันทึก 4K UHD แบบไม่ครอป: การทำ Oversampling แบบ 5.6K |
59.94p / 50.00p / 29.97p / 25.00p / 24.00p / 23.98p |
EOS R5/ R5 C | การบันทึก 4K DCI แบบไม่ครอป: การทำ Oversampling แบบ 8.2K |
29.97p / 25.00p / 24.00p / 23.98p |
EOS R5/ R5 C | การบันทึก 4K UHD แบบไม่ครอป: การทำ Oversampling แบบ 7.7K |
29.97p / 25.00p / 23.98p |
EOS R5/ R5 C | การบันทึก 4K DCI แบบไม่ครอป: การทำ Oversampling แบบ 5.1K |
59.94p / 50.00p / 29.97p / 25.00p / 24.00p / 23.98p |
EOS R5/ R5 C | การบันทึก 4K UHD แบบไม่ครอป: การทำ Oversampling แบบ 4.8K |
59.94p / 50.00p / 29.97p / 25.00p / 24.00p / 23.98p |
ในทางกลับกัน เซนเซอร์ภาพความละเอียด 8.85 ล้านพิกเซลของกล้อง EOS C70 มีความละเอียดที่ใช้ในการถ่ายวิดีโอ 4K DCI ได้ จึงทำให้สามารถบันทึกแบบจุดต่อจุดได้โดยที่พิกเซลในเซนเซอร์ภาพ 1 พิกเซลจะทำหน้าที่บันทึกความละเอียดวิดีโอ 1 พิกเซล ไม่จำเป็นต้องมีการแปลงใดๆ เพิ่มเติม และยังทำให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้นด้วย
การบันทึกแบบใดดีกว่ากัน Oversampling หรือจุดต่อจุด
ไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าวิธีใดให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากัน ระหว่างการบันทึกด้วยการทำ Oversampling และแบบจุดต่อจุด อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการทำ Oversampling แต่ละเฟรมในวิดีโอจะถูกประมวลผลทีละเฟรม ซึ่งต้องอาศัยระบบประมวลผลภาพที่มีสมรรถนะสูง แม้ใช้ระบบประมวลผลภาพที่ทรงพลังอย่าง DIGIC X ภาระในการประมวลผลยังมีส่วนทำให้เกิดความร้อนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำงานกับไฟล์ที่มีความละเอียดสูง
ช่วงไดนามิกเรนจ์: Canon Log และโหมดการบันทึก HDR
ช่วงไดนามิกเรนจ์: Canon Log และโหมดการบันทึก HDR
Canon Log
การบันทึก Log คือวิธีการบันทึกที่ช่วยเพิ่มช่วงโทนสีของเซนเซอร์ภาพให้มากที่สุด ระบบการบันทึก Log ของ Canon มีชื่อเรียกว่า Canon Log ซึ่งมี “โหมด” ต่างๆ 3 โหมดด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ได้แก่
|
|
ช่วงไดนามิกเรนจ์ | ประมาณ 12 สต็อป 800% |
คุณสมบัติเด่น | เกลี่ยสีได้ง่ายขึ้นเนื่องจากคุณภาพของภาพใกล้เคียงกับ ITU-R BT.709 |
|
|
ช่วงไดนามิกเรนจ์ | ประมาณ 15 สต็อป (สำหรับเซนเซอร์ DGO ระดับ 4K ของกล้อง EOS C70: เทียบเท่าสูงสุด 16 สต็อปขึ้นไป) 1600% |
คุณสมบัติเด่น | มีลักษณะเฉพาะใกล้เคียงกับฟิล์ม ให้โทนสีที่สูงขึ้นในส่วนที่สว่างปานกลางถึงมืด |
|
|
ช่วงไดนามิกเรนจ์ | ประมาณ 13.3 สต็อป (สำหรับเซนเซอร์ DGO ระดับ 4K ของกล้อง EOS C70: เทียบเท่าสูงสุด 14 สต็อป) 1600% |
คุณสมบัติเด่น | รักษาข้อดีของ Canon Log ไว้ ทว่ามีช่วงไดนามิกเรนจ์ที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่สว่าง |
การรองรับ Canon Log โหมดต่างๆ จะแตกต่างกันไปในกล้องแต่ละรุ่นดังนี้
EOS R5
เมื่อเปิดตัวเป็นครั้งแรก กล้อง EOS R5 รองรับเฉพาะ Canon Log เท่านั้น อย่างไรก็ตาม กล้องจะรองรับ Canon Log 3 ด้วยเมื่ออัปเกรดเฟิร์มแวร์เป็นเวอร์ชัน 1.3.0 ขึ้นไป
EOS R3 และ EOS R5 C
EOS R3 และ EOS R5 C รองรับเฉพาะ Canon Log 3 ในตัวกล้องเท่านั้น แต่ Canon Log 3 ก็มีข้อดีของ Canon Log ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นปัญหามากนัก สำหรับกล้อง EOS R5 C หากคุณบันทึกในรูปแบบ Cinema RAW Light คุณจะสามารถใช้ Canon Log 2 ได้ในซอฟต์แวร์ Cinema RAW Development ซึ่งเป็นวิธีแก้ไขที่มีประโยชน์หากคุณใช้ EOS R5 C ร่วมกับกล้องหลายตัวโดยที่กล้องอื่นๆ บันทึกในรูปแบบ Canon Log 2
EOS C70
เนื่องจากเป็นกล้อง Cinema EOS กล้อง EOS C70 จึงได้รับการออกแบบมาสำหรับผู้ใช้ที่มักจะใช้การเกลี่ยสีระดับสูงในฟุตเทจ ดังนั้น จึงรองรับ Canon Log 2 เพิ่มเติมจาก Canon Log 3 ด้วย นอกจากนี้ยังมีเซนเซอร์ภาพแบบ Dual Gain Output (DGO) ซึ่งใช้การอ่านผลแบบขยายสองแบบ (เน้นจุดรบกวนและความอิ่มตัวของสี) จากแต่ละพิกเซลและนำมารวมกันเพื่อขยายช่วงไดนามิกเรนจ์ ด้วยเหตุนี้จึงให้ช่วงไดนามิกเรนจ์กว้างกว่าที่ EOS R5, EOS R5 C และ EOS R3 สามารถทำได้ คือสูงสุดกว่า 16 สต็อปใน Canon Log 2 และสูงสุด 14 สต็อปใน Canon Log 3
Log และโหมด HDR ในกล้อง EOS R5/ R5 C/ R3/ C70
*เมื่อใช้เฟิร์มแวร์เวอร์ชัน 1.3.0 ขึ้นไป
โหมดการบันทึกวิดีโอ HDR
ในระยะหลังนี้มีการใช้โหมดการบันทึกวิดีโอ HDR เป็นมาตรฐานกันมากขึ้น โทรทัศน์และจอแสดงผลต่างรองรับมาตรฐาน HDR10 แบบเปิดมากขึ้น และยังทำให้ความต้องการเนื้อหาแบบ HDR เพิ่มสูงขึ้นด้วย จึงทำให้เกิดความต้องการที่สูงขึ้นสำหรับรูปแบบการบันทึกที่จะช่วยให้ขั้นตอนในกระบวนการปรับแต่งภาพง่ายดายขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตวิดีโอ HDR ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น PQ (Perceptual Quantization) และ HLG (Hybrid Log Gamma) คือสองรูปแบบข้างต้นที่ช่วยให้คุณบันทึกวิดีโอ HDR ที่สามารถเล่นในคุณภาพระดับ HDR บนหน้าจอ HDR ได้โดยไม่จำเป็นต้องเกลี่ยสี
กล้องทุกรุ่นรองรับรูปแบบ PQ อย่างไรก็ตาม กล้อง EOS C70 และ EOS R5 C ยังรองรับรูปแบบ HLG ด้วย ซึ่งมีคุณสมบัติรองรับการใช้งานกับอุปกรณ์รุ่นเก่าอย่างจอแสดงผล SDR UHDTV ในขณะที่รูปแบบ PQ ไม่สามารถรองรับการใช้งานกับหน้าจอ SDR ได้
ความสามารถในการบันทึกแบบเคลื่อนไหวเร็ว (อัตราเฟรมสูง)
ความสามารถในการบันทึกแบบเคลื่อนไหวเร็ว (อัตราเฟรมสูง)
*การบันทึกอัตราเฟรมสูงที่ 120p แบบ 4K DCI รองรับเฉพาะในกล้อง EOS R5 C เท่านั้น
**การบันทึกอัตราเฟรมสูงที่ 120p แบบ 4K UHD และ 2K FHD รองรับเฉพาะในกล้อง EOS R5 C และ EOS C70 เท่านั้น
ความสามารถในการรองรับการบันทึกแบบอัตราเฟรมสูงของกล้องเป็นตัวกำหนดความสามารถในการผลิตวิดีโอแบบสโลโมชั่นที่ลื่นไหล แม้กล้องทั้ง 4 รุ่นจะรองรับการบันทึกแบบ 4K DCI และ 4K UHD ที่ 119.88p/100.00p เป็นอย่างต่ำ แต่ก็มีความแตกต่างกันในการรองรับโหมดการครอป ความลึกสีในการบันทึก และวิธีการบีบอัด
โหมดครอปและไม่ครอป
แม้การบันทึกอัตราเฟรมสูงที่สูงสุด 119.88p/100.00p จะมีรองรับในโหมดการบันทึกแบบครอปและไม่ครอปในกล้อง EOS R3 แต่กล้อง EOS R5 นั้นรองรับเฉพาะโหมดการบันทึกแบบไม่ครอปเท่านั้น ในขณะที่ทั้งโหมด PAL และ NTSC ของกล้อง EOS C70 รองรับสูงสุดที่ 120p ในการถ่ายแบบไม่ครอป (4K UHD) และสูงสุด 180p ในการถ่ายแบบ 2K/Full HD (ครอปแบบ Super 16 มม.)
สำหรับกล้อง EOS R5 C การถ่ายอัตราเฟรมสูงที่ 120p มีรองรับในโหมด 4K แบบไม่ครอปและ 2K แบบครอป (ครอปแบบ Super 16 มม.) ในรูปแบบ XF-AVC และ MP4 รวมถึงในโหมดครอป Super 16 มม. ในรูปแบบ RAW
คุณภาพของภาพ
ความสามารถในการประมวลผลภาพที่สูงขึ้นของกล้อง EOS R3 ทำให้ฟุตเทจอัตราเฟรมสูง 119.88p/100.00p ที่ถ่ายด้วยกล้องรุ่นนี้ดูสวยงามกว่าฟุตเทจจากกล้อง EOS R5 ทั้ง EOS R5 และ EOS R3 ไม่รองรับการทำ Oversampling
อัตราการเคลื่อนไหวแบบสโลโมชั่นและแบบเร็ว
ในกล้อง EOS R5 และ EOS R3 ฟุตเทจอัตราเฟรมสูงจะถูกบันทึกในรูปแบบไฟล์วิดีโอ 29.97p/25.00p จึงกลายเป็นวิดีโอสโลโมชั่นความเร็ว 1/4 เท่าเมื่อเล่นวิดีโอ
สำหรับกล้อง EOS C70 และ EOS R5 C คุณจะมีตัวเลือกที่แตกต่างกันสำหรับอัตราเฟรมที่บันทึกของฟุตเทจอัตราเฟรมสูง ได้แก่ 59.94p/29.97p/23.98p/24.00p/50.00p/25.00p ซึ่งหมายความว่าเมื่อใช้กล้อง EOS C70 คุณจะสามารถสร้างวิดีโอสโลโมชั่นความเร็ว 1/7.5 เท่าได้หากคุณบันทึกวิดีโอแบบ 2K/180p และบันทึกฟุตเทจในรูปแบบไฟล์ 23.98p
สำหรับกล้อง EOS C70 และ EOS R5 C คุณยังสามารถถ่ายวิดีโอ 12p หรือ 15p ได้ด้วย ซึ่งทำให้สามารถสร้างวิดีโอแบบเคลื่อนไหวเร็วที่เพิ่มความเร็วขึ้นประมาณ 4 เท่า
การบันทึกเสียงอัตโนมัติและ AF
กล้อง EOS R5 C มี AF และการบันทึกเสียง (ในรูปแบบไฟล์ WAV แยกกัน) สำหรับการบันทึกแบบสโลโมชั่นและเคลื่อนไหวเร็ว กล้องรุ่นอื่นจะไม่มี AF และการบันทึกเสียงในโหมดเหล่านี้
เวลาในการถ่ายต่อเนื่องสูงสุด
“เวลาในการถ่ายต่อเนื่องสูงสุด” ของกล้องโดยทั่วไป หมายถึง เวลาตั้งแต่เริ่มต้นการบันทึกจนการบันทึกสิ้นสุดลง คุณสมบัตินี้เป็นสิ่งที่หลายคนกังวลเมื่อต้องถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงพิเศษ (4K ขึ้นไป) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณต้องการถ่ายวิดีโอเป็นระยะเวลานานหรือเปิดกล้องทิ้งไว้
เพราะเหตุใดเวลาในการถ่ายต่อเนื่องจึงมีขีดจำกัด
การถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงพิเศษแบบคุณภาพสูงทำให้ระบบประมวลผลภาพต้องรับภาระหนัก การใช้งานเช่นนี้ทำให้เกิดการสร้างความร้อน ซึ่งอาจทำให้การประมวลผลช้าลงหรือมีจุดรบกวนเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันปัญหานี้ ระบบตรวจสอบของกล้องอาจหยุดการบันทึกวิดีโอโดยอัตโนมัติหากอุณหภูมิภายในกล้องสูงเกินไป ในกล้องบางรุ่น อาจมีขีดจำกัดสูงสุดของระยะเวลาในแต่ละคลิป แต่ถึงแม้คลิปของคุณจะไม่ได้ยาวเกินไป หากคุณถ่ายหลายคลิปต่อเนื่องกันโดยที่ไม่หยุดพักนานพอให้กล้องเย็นลง คลิปก็อาจได้รับผลกระทบจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นได้
ขีดจำกัดของระบบ
(ต่อไปนี้คือระยะเวลาการถ่ายต่อเนื่องที่นานที่สุดที่กล้องแต่ละรุ่นสามารถทำได้โดยยังไม่คำนึงถึงความจุของการ์ดหน่วยความจำและอายุแบตเตอรี่)
- EOS R5: 29 นาที 59 วินาที
- EOS R5 C: 6 ชม.
- EOS R3: 6 ชม. (1 ชม. 30 นาทีในระหว่างการถ่ายอัตราเฟรมสูง)
- EOS C70: 6 ชม.
กล้อง EOS R5 สามารถถ่ายต่อเนื่องได้นานกว่า 29 นาที 59 วินาทีไม่ว่าสภาวะในการบันทึกจะเป็นอย่างไร คุณจำเป็นต้องทราบคุณสมบัตินี้หากต้องการใช้กล้องในการบันทึกการสัมภาษณ์ กิจกรรมต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต งานสัมมนา และการไลฟ์สด
ระบบทำความเย็น
การบันทึกวิดีโอที่ความละเอียดสูงจะทำให้เกิดความร้อนภายในกล้อง เนื่องจากเป็นกล้อง Cinema ทั้ง EOS R5 C และ EOS C70 จึงมีระบบพัดลมทำความเย็นภายในที่สามารถลดการเกิดความร้อนภายในกล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถบันทึกวิดีโอได้โดยแทบไม่ต้องหยุดพักไม่ว่าจะถ่ายในโหมดใด
ในขณะที่ EOS R3 และ EOS R5 ได้รับการออกแบบมาโดยให้ความสำคัญกับการป้องกันสภาพอากาศและบอดี้ที่มีน้ำหนักเบา จึงมีขีดจำกัดความร้อนสูงภายในกล้องซึ่งทำหน้าที่เป็นกลไกจัดการความร้อน EOS R3 สามารถทนต่อความร้อนภายในกล้องได้ดีกว่า EOS R5 และสามารถบันทึกวิดีโอโดยไม่ต้องหยุดพักได้ในโหมดความละเอียดที่ต่ำกว่า (4K 30p ALL-I และต่ำกว่า)
ข้อควรรู้: อายุแบตเตอรี่
ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องอาศัยความคล่องตัวสูงสุด คุณอาจต้องคำนึงถึงอายุแบตเตอรี่ ซึ่ง EOS C70 มีข้อได้เปรียบเหนือกว่า EOS R5 C เนื่องจาก สามารถถ่ายวิดีโอ 4K DCI แบบ 60p ได้สูงสุดประมาณ 170 นาทีด้วยชุดแบตเตอรี่ BP-A30 ของกล้อง* เทียบกับระยะเวลา 35 นาทีของ EOS R5 C เมื่อใช้ LP-E6NH**
* สภาพการตรวจวัด: ปิดฟังก์ชันการบันทึกของการ์ดที่สองและตั้งค่าความสว่างของจอ LCD ไว้ที่ระดับปกติ เลนส์: RF35mm f/1.8 Macro IS STM
** สภาพการตรวจวัด: การบันทึกด้วยการ์ด CFexpress (การบันทึกแบบสองช่อง: ปิด), ใช้หน้าจอ LCD (ความสว่าง: ปกติ) เลนส์: RF50mm f/1.2L USM
ฟิลเตอร์ ND และการทำงานของเลนส์
ฟิลเตอร์ ND
ขณะถ่ายวิดีโอ เพื่อหลีกเลี่ยงแสงสั่นไหวและทำให้เล่นวิดีโอได้ลื่นไหลยิ่งขึ้น คุณจะมีความยืดหยุ่นน้อยลงในการใช้ความเร็วชัตเตอร์เพื่อควบคุมระดับแสงเมื่อเทียบกับการถ่ายภาพนิ่ง ฟิลเตอร์ Neutral Density (ND) จึงมีความจำเป็นสำหรับการควบคุมระดับแสง
EOS C70
กล้อง EOS C70 มีระบบฟิลเตอร์ ND แบบบางพิเศษในตัวที่ควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีเอฟเฟ็กต์ให้เลือกได้ถึง 5 ระดับ คือ 2, 4 และ 6 สต็อปตามค่าเริ่มต้น รวมถึง 8 และ 10 สต็อปเมื่อมีการขยายช่วง ND
EOS R5, EOS R5 C, EOS R3
สำหรับกล้อง EOS R5, EOS R5 C และ EOS R3 คุณสามารถใช้เมาท์อะแดปเตอร์ฟิลเตอร์แบบ Drop In กับฟิลเตอร์ ND แบบปรับได้ ซึ่งให้ช่วงเอฟเฟ็กต์ 1.5 ถึง 9 สต็อป (ND3 ถึง ND500)
เลนส์และมุมรับภาพที่ใช้จริง: เซนเซอร์ภาพแบบฟูลเฟรมกับ Super 35 มม.
กล้อง EOS R3, EOS R5, EOS R5 C และ EOS C70 มีเมาท์ RF ดังนั้นจึงรองรับเลนส์ RF อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กล้อง EOS R3, EOS R5 และ EOS R5 C มีเซนเซอร์ภาพแบบฟูลเฟรม กล้อง EOS C70 มีเซนเซอร์แบบ Super 35 มม. จึงให้มุมรับภาพที่แตกต่างกัน
EOS C70, เซนเซอร์ Super 35 มม. และเมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R 0.71x
เซนเซอร์ภาพ Super 35 มม. ในกล้อง EOS C70 ทำให้มีคุณสมบัติการครอป 1.45 เท่า ซึ่งจะทำให้ภาพดูเหมือนถูกซูมเข้าไปมากกว่าเมื่อเทียบกับกล้องฟูลเฟรม แม้คุณสมบัตินี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับการถ่ายในระยะใกล้ แต่ก็ทำให้คุณไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเลนส์มุมกว้างได้อย่างเต็มที่เช่นกัน
เพื่อแก้ไขในจุดนี้ คุณสามารถใช้เมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R 0.71x ได้ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้คุณสามารถติดตั้งเลนส์ EF ลงไปบนเมาท์ RF ได้เท่านั้น แต่ยังมีออพติคที่ช่วยลดวงภาพที่เลนส์ฉายลงไปบนขนาด Super 35 มม. ด้วย จึงทำให้คงมุมรับภาพดั้งเดิมของเลนส์เอาไว้ได้ และวงภาพที่ลดลงนี้ยังช่วยรวมแสงที่ผ่านเข้ามาในเลนส์ ทำให้เกิดเป็นเอฟเฟ็กต์ “เร่งความเร็ว” ซึ่งภาพที่ได้จะมีความสว่างมากกว่าขณะใช้เลนส์หลักเพียงชิ้นเดียวอยู่หนึ่ง f สต็อป
EOS R3, EOS R5, EOS R5 C: เซนเซอร์ภาพแบบฟูลเฟรม
กล้องอีก 3 รุ่นมีเซนเซอร์ภาพแบบฟูลเฟรม ทำให้สามารถใช้เลนส์ RF และ (เมื่อใช้เมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R) เลนส์ EF กับมุมรับภาพเดิมได้ นอกจากนั้นยังมีโหมดการถ่ายครอปแบบ Super 35 มม. สำหรับเวลาที่คุณต้องการถ่ายวิดีโอด้วยมุมรับภาพ Super 35 มม. ด้วย
** สภาพการตรวจวัด: การบันทึกด้วยการ์ด CFexpress (การบันทึกแบบสองช่อง: ปิด), ใช้หน้าจอ LCD (ความสว่าง: ปกติ) เลนส์: RF50mm f/1.2L USMสรุป: อะไรสำคัญที่สุดสำหรับคุณ
สรุป: อะไรสำคัญที่สุดสำหรับคุณ
ท้ายที่สุดแล้ว กล้องที่ดีที่สุดสำหรับคุณขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการซื้อกล้องและประเภทของงานที่คุณสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างเช่น ช่างภาพวิดีโอที่สนใจในคุณสมบัติการทำงานของระบบ Cinema EOS อาจเลือกใช้กล้อง EOS R5 C เนื่องจากความสามารถในการถ่ายวิดีโอแบบ 8K และประสิทธิภาพในการถ่ายภาพนิ่ง หรือเลือกใช้กล้อง EOS C70 เนื่องจากคุณสมบัติบางอย่าง เช่น ระบบเสียงที่ล้ำสมัย Canon Log 2 ภายในกล้อง และฟิลเตอร์ ND ในตัว ในขณะที่ช่างภาพนิ่งและวิดีโอที่ยังคงถ่ายภาพเป็นหลักอาจพบว่าคุณสมบัติในการถ่ายวิดีโอของกล้อง EOS R3 และ EOS R5 นั้นเพียงพอต่อความต้องการแล้ว
|
|
การถ่ายภาพแบบ 8K | EOS R5, EOS R5 C |
เวลาในการถ่ายต่อเนื่องที่นานขึ้น | EOC C70, EOS R5 C, EOS R3 |
วิดีโอ 4K แบบ Oversampled | EOS R3, EOS R5, EOS R5 C |
ระบบฟิลเตอร์ ND ในตัว | EOS C70 |
ช่วงไดนามิกเรนจ์กว้างสุด | EOS C70 |
การบันทึก HLG | EOS C70, EOS R5 C |
คุณสมบัติการทำงานของกล้องถ่ายภาพยนตร์/ การควบคุมวิดีโอสำหรับมืออาชีพโดยเฉพาะ |
EOS C70, EOS R5 C |
ความสามารถในการถ่ายภาพนิ่งที่โดดเด่น | EOS R3, EOS R5, EOS R5 C |
หากสงสัยว่ากล้อง EOS C70 เป็นอย่างไร อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
6 สิ่งเกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพยนตร์ที่นักสร้างวิดีโอมืออาชีพควรทราบ
หากต้องการเปรียบเทียบความสามารถในการถ่ายภาพนิ่งของกล้อง EOS R3 และ EOS R5 ดูได้ที่บทความ:
EOS R3 กับ EOS R5: ควรเลือกรุ่นไหนดี
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!