ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ด้วยกล้อง Canon EOS (3): วิธีตัดต่อและถ่ายวิดีโอให้ยอดเยี่ยมกว่าที่เคย
ใน 4 บทเรียนที่ผ่านมาของชุดวิดีโอสอนการถ่ายภาพยนตร์ด้วยกล้อง Canon EOS ของ Simeon Quarrie เราเรียนรู้เกี่ยวกับการเลือกเลนส์ การจับโฟกัส การตัดต่อ รวมถึงเคล็ดลับและเทคนิคอื่นๆ เกี่ยวกับวิธีถ่ายวิดีโอให้ยอดเยี่ยมกว่าที่เคย
7. การเลือกเลนส์
ในบทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 7 เราเรียนรู้ว่าเลนส์ซูม เลนส์เดี่ยว รวมทั้งทางยาวโฟกัสที่เราใช้ ล้วนส่งผลกระทบต่างกันต่อภาพถ่าย การเลือกใช้เลนส์ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถ่ายอะไร และตัดสินใจสร้างสรรค์ผลงานแบบใด เป้าหมายสูงสุดคือการใช้ทางยาวโฟกัสที่หลากหลายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวและทำให้การจัดองค์ประกอบของภาพที่เรียงลำดับกันดูน่าสนใจ
ช่างบันทึกภาพวิดีโอมักจะเริ่มต้นฉากด้วย "ช็อตภาพแนะนำสถานที่” (Establishing Shot) แบบมุมกว้าง เพื่อดึงความสนใจของผู้ชมไปที่ฉากและจุดที่พวกเขาอยู่ หลังจากนั้น พวกเขาจะถ่ายภาพโคลสอัพเพื่อถ่ายทอดรายละเอียดและอารมณ์ความรู้สึกที่สำคัญ
หนึ่งในปัญหาหนักใจที่สุดในกลุ่มช่างภาพวิดีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายแบบถือกล้องด้วยมือคือ ปัญหากล้องสั่น ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดปัญหาวิดีโอสั่นและทำให้ผู้ชมรู้สึกหงุดหงิด เลนส์ EF บางรุ่นมาพร้อมกับระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัว ซึ่งมีประโยชน์สำหรับการบันทึกวิดีโอ เนื่องจากช่วยลดการสั่นของกล้องให้เหลือน้อยที่สุด
Simeon Quarrie ระบุว่าแม้ว่าเลนส์ซูมถ่ายภาพจะสามารถปรับทางยาวโฟกัสได้อย่างยืดหยุ่น แต่การเปลี่ยนภาพได้อย่างราบรื่นเมื่อซูมภาพขณะบันทึกวิดีโอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเลนส์ถูกออกแบบมาให้ซูมก่อนที่จะถ่ายภาพ เขาจึงแนะนำให้เรากำหนดทางยาวโฟกัสก่อนกดปุ่มบันทึกภาพ เมื่อเราต้องการภาพจากทางยาวโฟกัสอื่นๆ เราควรหยุดบันทึกภาพ เปลี่ยนทางยาวโฟกัส และเริ่มบันทึกภาพใหม่อีกครั้ง เขากล่าวว่า ตนเองมักใช้กล้องมากกว่าหนึ่งตัว หากต้องการมุมกว้างและภาพโคลสอัพในช่วงเวลาเดียวกัน จากนั้น วิดีโอที่ถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสที่แตกต่างกันสามารถนำมาเรียงต่อเข้าด้วยกันเพื่อทำให้ภาพวิดีโอไหลลื่นในช่วงตัดต่อ
อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งาน เลนส์ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM สามารถใช้ Power Zoom Adapter PZ-E1 ของ Canon ซึ่งช่วยให้ได้การซูมที่ราบรื่นนุ่มนวลขณะถ่ายวิดีโอเมื่อนำมาใช้ร่วมกับกล้อง EOS 80D
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 7: การเลือกเลนส์
8. การรักษาโฟกัส
บทเรียนที่ 8 เกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ของ Simeon Quarrie จะกล่าวถึงเรื่องโฟกัส
โฟกัสทำหน้าที่เหมือนวิธีที่นำความสนใจของผู้ชมไปสู่พื้นที่เฟรมภาพ และในวิดีโอ โฟกัสสามารถเปลี่ยนได้ในช่วงเวลาที่ถ่ายภาพ ดังนั้น ช่างภาพวิดีโอส่วนใหญ่จึงถ่ายวิดีโอโดยใช้แมนนวลโฟกัส (MF) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องใช้การฝึกฝนอย่างมาก แต่สามารถฝึกจนเกิดความชำนาญได้
การถ่ายภาพโดยใช้ค่ารูรับแสงที่กว้างมากๆ เช่น f/1.2 อาจส่งผลให้เกิดระยะชัดลึกที่ตื้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกล้องฟูลเฟรม แต่ยังทำให้ยากต่อการจับโฟกัสด้วยตนเองบนตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหว Simeon Quarrie จึงแนะนำให้ใช้ค่ารูรับแสงที่แคบลง เช่น ค่า f/4 เพื่อให้จับโฟกัสได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี เขาไม่แนะนำให้ใช้ค่ารูรับแสงที่แคบจนเกินไป เช่น ค่า f/16 เนื่องจากจะทำให้มองเห็นไม่ถนัดนักว่าตัวแบบใดคมชัดและตัวแบบใดนุ่มนวลเล็กน้อย
เทคโนโลยี Dual Pixel CMOS AF ของ Canon มีประสิทธิภาพสำหรับการโฟกัสอัตโนมัติเมื่อถ่ายวิดีโอ จึงช่วยให้การติดตามโฟกัสบนตัวแบบที่เคลื่อนไหวทำได้อย่างราบรื่น ระบบ AF แบบตรวจจับใบหน้าเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ใช้งานสะดวก และเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการถ่ายบทสัมภาษณ์ เราสามารถล็อคหรือเลื่อนพื้นที่โฟกัสได้โดยการแตะเฉพาะบางพื้นที่บนหน้าจอ (อ่านประสิทธิภาพของระบบ AF ใน EOS 7D Mark II)
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 8: การรักษาโฟกัส
9. การตัดต่อวิดีโอ
บทเรียนที่ 9 ของบทช่วยสอนชุดนี้จะเกี่ยวกับการตัดต่อวิดีโอ
การตัดต่อวิดีโอเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งจะใช้ซอฟต์แวร์ตัดต่อเพื่อรวมวิดีโอ เสียง เสียงเอฟเฟ็กต์ และกราฟิกเข้าด้วยกัน และใช้การแก้ไขสี จากนั้นจึงส่งออกในรูปแบบที่ต้องการเพื่อเผยแพร่ต่อไป
ตามทฤษฎีแล้ว เราต้องนึกถึงการแก้ไขวิดีโอแม้แต่ในขณะที่ถ่ายภาพยนตร์ อันดับแรก จัดเรียงคลิปวิดีโอแต่ละคลิปที่คุณถ่ายโดยวางบนเส้นเวลาตามลำดับเพื่อให้สอดคล้องกับการเล่าเรื่อง ซึ่งขั้นตอนนี้เรียกว่า "การเรียงซีนขั้นแรก” (Rough Assembly) ใช้การเปลี่ยนภาพเพื่อเชื่อมภาพเข้าด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งวิธีที่ใช้กันทั่วไปคือการจางภาพเข้าก่อนที่จะเริ่มคลิปแรก และการจางภาพออกสำหรับคลิปสุดท้าย
เราสามารถตัดต่อเสียงได้เช่นกัน โดยสามารถตัดเสียงที่ไม่ต้องการออกไปจากวิดีโอ (และเก็บภาพไว้) หรือในทางกลับกัน เราสามารถตัดภาพออกจากวิดีโอพร้อมกับเก็บเสียงไว้ได้ จากนั้น เลือกเพลงและเสียงเอฟเฟ็กต์ที่เหมาะสมเพื่อสร้างฉาก อารมณ์ และความรู้สึกแก่ผู้ชม พร้อมๆ กับทำให้วิดีโอและเสียงทำงานอย่างกลมกลืน
เมื่อตัดต่อวิดีโอ การเปลี่ยนภาพ และเสียงเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปเราจะกำหนดวิธีการเผยแพร่วิดีโอ และเลือกอัตราบิตที่เหมาะสมสำหรับส่งออก/เข้ารหัสวิดีโอ อัตราบิตที่สูงทำให้สามารถเล่นวิดีโอคุณภาพสูงบนคอมพิวเตอร์ได้ แต่ส่งผลให้ขนาดของไฟล์ใหญ่ขึ้น การส่งวิดีโอโดยใช้การบีบอัดจะทำให้จำนวนอัตราบิตและคุณภาพของวิดีโอลดลง แต่ขนาดของไฟล์ที่เล็กลงทำให้การอัพโหลดวิดีโอไปยังโซเชียลมีเดียทำได้ง่ายขึ้น
หลังจากวิดีโอของเราออนไลน์แล้ว ผู้ชมทั่วโลกก็สามารถรับชมได้ทันที
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 9: การตัดต่อวิดีโอ
10. สรุป
ในวิดีโอสอนชุดสุดท้ายนี้ Simeon Quarrie สรุปบทเรียนต่างๆ ก่อนหน้านี้ และย้ำเตือนว่าการถ่ายวิดีโอไม่ใช่สิ่งที่สามารถเกิดความชำนาญได้ในชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาและการฝึกฝนอย่างมาก และรางวัลที่ได้นับว่าคุ้มค่า เขาสนับสนุนให้เราเรียนรู้ต่อไป และย้อนกลับไปศึกษาวิดีโอสอนใหม่อีกครั้งหากมีหัวข้อใดที่เราไม่แน่ใจ และค้นคว้าเพิ่มเพื่อศึกษารายละเอียดมากขึ้น
ควรจดจำไว้ว่าวิดีโอไม่ใช่เพียงเรื่องของการตั้งค่าทางเทคนิคเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้ากล้องอีกด้วย Simeon Quarrie เน้นย้ำให้เราแสดงเป้าหมายในการบันทึกวิดีโอและบอกเล่าเรื่องราวหากทำได้
ในบทความนี้ เขาโบกมือลาจากเราเพื่อเริ่มต้นสิ่งที่เขาหวังว่าจะเป็นการเดินทางที่สนุกสนานและบรรลุเป้าหมายตามต้องการในการถ่ายวิดีโอด้วยกล้อง EOS ของ Canon
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 10: สรุป
บทช่วยสอนของ Simeon Quarrie เกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์มีทั้งหมด 10 บทด้วยกัน คลิกลิงก์เพื่อดูบทช่วยสอนแต่ละบท
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 1: ทำไมจึงต้องถ่ายวิดีโอ
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 2: วิธีร้อยเรียงเรื่องราว
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 3: ความสำคัญของอัตราเฟรมและความละเอียด
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 4: วิธีเปิดรับแสงสำหรับวิดีโอ
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 5: การเคลื่อนที่ของกล้องและการป้องกันการสั่นไหว
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 6: การใช้เสียงและดนตรี
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 7: การเลือกเลนส์
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 8: การรักษาโฟกัส
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 9: การตัดต่อวิดีโอ
บทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ 10: สรุป
ต่อไปนี้คือบทความอื่นๆ ของ SNAPSHOT เกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอและภาพเคลื่อนไหว:
Canon Singapore ประกาศอัพเกรดเฟิร์มแวร์ Canon Log สำหรับกล้อง EOS 5D Mark IV
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวใน EOS สำหรับผู้ใช้งานกล้อง EOS 5D Mark IV (ตอนที่ 1)
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวใน EOS สำหรับผู้ใช้งานกล้อง EOS 5D Mark IV (ตอนที่ 2)
คุณสมบัติการถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่ใช้งานได้สะดวกในกล้อง EOS 80D
รีวิวทดสอบการถ่ายภาพด้วยกล้อง EOS 80D: ประสิทธิภาพในการติดตามตัวแบบระหว่างการถ่ายภาพเคลื่อนไหว
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!