ท้องฟ้าสีครามอมทองตระการตายามอาทิตย์อัสดง: การประมวลผลในตัวกล้องและการปรับแต่งภาพ
การตัดสินใจที่ดีตั้งแต่ในกล้องช่วยให้คุณได้ภาพถ่ายที่สวยงาม ส่วนการปรับแต่งภาพที่ดีสามารถยกระดับการสื่ออารมณ์ของภาพที่สวยงามภาพนั้นให้กลายเป็นผลงานชิ้นเอกได้ ในบทความนี้ ช่างภาพทิวทัศน์รายหนึ่งจะมาอธิบายการตัดสินใจหลักๆ ที่ทำให้ได้ภาพอันน่าทึ่งนี้ ตั้งแต่การจัดองค์ประกอบภาพไปจนถึงการเลือกใช้ฟิลเตอร์ และสุดท้ายคือ การปรับปรุงภาพด้วยกระบวนการปรับแต่งเพื่อให้ออกมาดูดีที่สุด (เรื่องโดย: Jiro Tateno, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 19 มม./ Manual exposure (f/14, 1 วินาที)/ ISO 100/ WB: 4,800K/ ฟิลเตอร์ GND
สถานที่: อ่าวนางุระ เกาะอิชิงากิ (ฉบับภาษาอังกฤษ) จังหวะโอกินาวา/ เวลา: 18:59 น. ต้นเดือนมิถุนายน
อ่าวนางุระซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายภาพนี้มีน้ำที่ตื้นมาก เนื่องจากอ่าวเว้าเข้ามาในแผ่นดิน น้ำจึงมีความสงบนิ่งกว่าในทะเลเปิดมาก โดยปกติแล้วจะไม่มีคลื่นเลยหากสภาพอากาศไม่ย่ำแย่จริงๆ
ภาพนี้ถ่ายหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปเพียงเล็กน้อย ก้อนเมฆที่ยังคงอยู่บนท้องฟ้าสว่างเรืองรองด้วยแสงอาทิตย์ที่ยังเหลืออยู่ ทำให้เกิดเป็นการไล่ระดับสีน้ำเงินอมส้มที่งดงาม
ขั้นตอนที่ 1: เลือกการจัดองค์ประกอบภาพที่ดีที่สุดสำหรับการแสดงสีสัน
สำหรับภาพนี้: รวมเงาสะท้อนบนผิวน้ำไว้ในภาพ และใช้การจัดองค์ประกอบแบบใช้คู่สีตรงข้าม
ผมรู้สึกว่าการจะแสดงให้เห็นถึงความงดงามของท้องฟ้าให้ได้ดีที่สุดนั้น จะต้องถ่ายภาพออกมาในรูปแบบสมมาตรโดยให้มีเงาสะท้อนบนผิวน้ำอยู่ด้วย การจัดองค์ประกอบภาพแบบใช้สีคู่ตรงข้าม เหมาะที่จะใช้กับภาพนี้มากที่สุด
เพื่อให้แน่ใจว่าภาพของผมจะมีปริมาณเงาสะท้อนของท้องฟ้าในส่วนที่มีสีสันสวยงามบนผิวน้ำเท่าๆ กันกับตัวท้องฟ้าเอง ผมจึงถ่ายภาพนี้จากมุมสูง
หากผมใช้กฎสามส่วน
องค์ประกอบภาพที่แตกต่างกันสามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องราวที่ภาพจะสื่อได้ ผมถ่ายภาพด้านบนภายใต้สภาวะเช่นเดียวกันกับภาพหลักในบทความนี้เกือบทุกอย่าง ความแตกต่างเพียงประการเดียวคือ ผมจัดเฟรมภาพนี้โดยใช้กฎสามส่วน และรวมเอาพระจันทร์ พระอาทิตย์ตก และท้องทะเลเข้ามาในภาพด้วย ด้วยการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ภาพใหม่จึงกำลังบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาจากยามเย็นเป็นกลางคืน
ขั้นตอนที่ 2: ใช้ฟิลเตอร์ Graduated ND เพื่อปรับความแตกต่างของความสว่างให้เสมอกัน
สำหรับภาพนี้: ใช้ฟิลเตอร์ ND4 ซึ่งช่วยลดส่วนที่สว่างในฉากลงได้ 2 สต็อป
เมื่อผมถ่ายภาพนี้ในเวลาใกล้ค่ำ ท้องฟ้าและทะเลก็เกือบมีความสว่างที่เท่ากันแล้ว แต่ท้องฟ้ายังคงสว่างกว่าเล็กน้อย
ฟิลเตอร์ Graduated ND (ฟิลเตอร์ GND) เหมาะสำหรับการปรับให้ความสว่างที่แตกต่างกันเล็กน้อยดูเสมอกันมากขึ้นได้ แน่นอนว่าผมสามารถแก้ไขจุดนี้ได้ในกระบวนการปรับแต่งภาพ แต่ผมชอบการที่สามารถตรวจดูภาพที่ได้ทันทีเลยมากกว่า
สำหรับภาพนี้ ผมใช้ฟิลเตอร์ ND4 โดยใส่ลงไปให้ส่วนที่มืดของฟิลเตอร์ครอบคลุมภาพขึ้นไปจากส่วนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้าลงมาเล็กน้อย
ภาพตัวอย่างที่ “ไม่ใช้ฟิลเตอร์” เปิดรับแสงสำหรับเงาสะท้อนของพระอาทิตย์ตก ท้องฟ้าดูสว่างเกินไป และความเปรียบต่างของสีสันก็ดูไม่ชัดเจน ส่วนที่สว่างที่สุดในภาพกลายเป็นแสงสว่างโพลน
ภาพ GIF ด้านล่างแสดงให้เห็นว่าการใช้ฟิลเตอร์ GND สามารถรักษารายละเอียดของท้องฟ้าไว้ได้มากขึ้นและเพิ่มความเปรียบต่างสีได้อย่างไร
ดูอีกตัวอย่างสำหรับการใช้ฟิลเตอร์ GND ได้ที่บทความ:
6 คุณสมบัติของกล้อง EOS R ที่เป็นประโยชน์ต่อการถ่ายภาพภูเขาและก้อนเมฆ
ขั้นตอนที่ 3: เสริมการไล่ระดับสีให้งดงามยิ่งขึ้นในกระบวนการปรับแต่งภาพ RAW
ขั้นตอนสุดท้ายของผมคือการเก็บรายละเอียดของภาพในกระบวนการปรับแต่งภาพ เพื่อให้การไล่สีของท้องฟ้าและผิวน้ำดูน่าประทับใจมากยิ่งขึ้น
กระบวนการปรับแต่งภาพขั้นตอนที่ 1: ปรับความสว่างให้สม่ำเสมอยิ่งขึ้นด้วยฟิลเตอร์ไล่ระดับ
แม้ผมจะปรับลดความสว่างของท้องฟ้าลงด้วยฟิลเตอร์ GND แล้ว แต่ท้องฟ้าก็ยังคงสว่างกว่าที่ต้องการ คุณสามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้หากพอใจกับภาพที่ได้จากฟิลเตอร์ GND แล้ว
ผมใช้เครื่องมือฟิลเตอร์ไล่ระดับในจุดที่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้าเล็กน้อย (ในจุดที่เงาสะท้อนบนผิวน้ำมีความสว่างมากที่สุด) และลดความสว่างลงจนกระทั่งเท่ากับผิวน้ำในส่วนอื่นๆ จากนั้นจึงเพิ่มความเปรียบต่างจนกระทั่งเห็นรายละเอียดต่างๆ ได้ชัดเจนพอ
การใช้เครื่องมือฟิลเตอร์ไล่ระดับและการปรับความสว่างไปที่ “-0.15” และความเปรียบต่างไปที่ “+18” นั้น ช่วยปรับสมดุลความสว่างระหว่างท้องฟ้ากับทะเลในภาพนี้
กระบวนการปรับแต่งภาพขั้นตอนที่ 2: ใช้เครื่องมือฟิลเตอร์วงกลมเพื่อดึงความสนใจไปยังสีสันของพระอาทิตย์ตก
ในขั้นตอนถัดมา ผมใช้เครื่องมือฟิลเตอร์วงกลมเพื่อเลือกพื้นที่ในภาพที่มีอาทิตย์อัสดงสีสันสวยงาม จากนั้นจึงลดความสว่างในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งเป็นการดึงเส้นนำสายตาของผู้ชมไปยังกึ่งกลางภาพ ทำให้สีที่ไล่ระดับกันของพระอาทิตย์ตกดูน่าประทับใจมากขึ้นอีก
เพื่อให้การไล่ระดับสีดูสวยงามมากขึ้นและดึงความสนใจของผู้ชมไปยังกึ่งกลางภาพ ผมจึงใช้ฟิลเตอร์วงกลมเพื่อเลือกพื้นที่ดังแสดงและลดความสว่างลง ค่าที่ใช้ในภาพนี้คือ “-0.20”
---
ศึกษาบทเรียนอื่นเกี่ยวกับการถ่ายภาพเงาสะท้อนบนผิวน้ำของท้องฟ้าและพระอาทิตย์ตก พร้อมทั้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพเงาสะท้อนได้ที่:
ภาพสะท้อน: ท้องทะเลไกลสุดสายตาในยามอาทิตย์อัสดง
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้เช่นกัน:
การประมวลผลภาพ RAW: วิธีขับเน้นโทนสีน้ำเงินในภาพถ่ายช่วง Blue Hour
การเริ่มต้นถ่ายภาพทิวทัศน์: 5 สิ่งที่ควรทราบ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่กรุงโตเกียวในปี 1975 ตั้งแต่ราวปี 1990 เขาสัมผัสธรรมชาติผ่านทางการตกปลา และเริ่มถ่ายภาพ เขาเดินทางถ่ายภาพไปทั่วประเทศในหัวข้อ "ความงดงามของธรรมชาติ” ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ปัจจุบัน เขาเป็นผู้จัดส่งภาพถ่ายเพื่อเผยแพร่ในนิตยสาร หนังสือ โปสเตอร์ ปฏิทิน และอื่นๆ อีกมากมาย เขาจัดงานนิทรรศการภาพถ่าย "Okinawa" ขึ้นในปี 2010 และจัดนิทรรศการภาพถ่าย "Northern Lights - Journey of Light/ Iceland" ในปี 2017