6 คุณสมบัติของกล้อง EOS R ที่เป็นประโยชน์ต่อการถ่ายภาพภูเขาและก้อนเมฆ
เมฆหมอกสามารถเพิ่มลักษณะเฉพาะให้กับภาพภูเขาของคุณได้ แต่การจะได้ภาพที่สวยสมบูรณ์แบบ โฟกัสและองค์ประกอบภาพของคุณจะต้องมีความพอเหมาะพอดีด้วย ช่างภาพภูเขาไฟฟูจิ Makoto Hashimuki จะมาเล่าให้เราฟังถึงคุณสมบัติของกล้อง EOS R ที่ช่วยให้เขาถ่ายภาพให้สวยงามได้ง่ายดายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (เรื่องโดย: Makoto Hashimuki, Digital Camera Magazine)
EOS R/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 47 มม./ Manual exposure (f/15, 3.2 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
สถานที่ถ่ายภาพ: จุดชมวิวพาโนรามาของทะเลสาบยามานะกะ
ฉาก 1: ภูเขาไฟฟูจิในขณะพระอาทิตย์ขึ้น
เมื่อผมตรวจสอบกับเว็บไซต์แสดงภาพถ่ายของภูเขาไฟฟูจิ (ฉบับภาษาอังกฤษ) ในตอนเช้าวันนั้น ก็พบว่าไม่สามารถมองเห็นภูเขาจากทะเลสาบยามานะกะได้เพราะมีหมอกหนา แต่สามารถเห็นภูเขาได้ในภาพที่ถ่ายด้วยกล้องบนที่สูงขึ้นไป นี่มักเป็นสัญญาณว่าจะเกิดทะเลหมอกซึ่งสามารถทำให้ภูเขาดูสวยงามและมีความเหนือจริงเป็นพิเศษ
ผมจึงรีบเดินทางไปที่จุดชมวิวพาโนรามาของทะเลสาบยามานะกะ (ฉบับภาษาอังกฤษ) และได้ถ่ายภาพภูเขาไฟฟูจินี้ซึ่งกำลังโผล่พ้นก้อนเมฆในขณะพระอาทิตย์ขึ้นได้ทันพอดี ผมชอบที่ความเปรียบต่างของแสงอันสวยงามสามารถทำให้รายละเอียดบนพื้นผิวของภูเขาดูโดดเด่นออกมา
#1: Focus Guide
ทุกครั้งที่ผมใส่ทะเลหมอกเข้ามาในภาพ ผมจะเตรียมการตั้งค่าทุกอย่างให้พร้อมและรอคอยที่จะเก็บภาพรายละเอียดที่สวยงามที่สุดในหมู่เมฆ และเพื่อป้องกันไม่ให้กล้องไล่หาโฟกัสในขณะที่ผมรอ ผมมักจะเปลี่ยนไปใช้การโฟกัสแบบแมนนวล (MF) แทน
การโฟกัสแบบแมนนวลให้สมบูรณ์แบบในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นอาจทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองเห็นภูเขาที่มีเมฆปกคลุมอยู่ได้ไม่ชัดเจน แต่ Focus Guide ในกล้อง EOS R ทำให้การโฟกัสเป็นเรื่องง่ายดายมาก เมื่อผมได้โฟกัสในจุดที่ต้องการแล้ว สิ่งที่ต้องทำมีเพียงแค่รอให้เมฆหนาขึ้น
เคล็ดลับ: กำหนดปุ่ม AF ON เพื่อเปิด Focus Guide
ผมไม่ค่อยได้ใช้ปุ่ม AF ON เท่าใดนัก จึงกำหนดปุ่มนี้ทำหน้าที่เปิดและปิด Focus Guide แทน ผมพบว่า Focus Guide มีประโยชน์เป็นพิเศษในการโฟกัสแบบแมนนวลในฉากที่ค่อนข้างสว่าง
ข้อควรรู้: Focus Guide ยังมีประโยชน์มากสำหรับการถ่ายภาพมาโคร ซึ่งระยะชัดที่ตื้นมากมักทำให้จำเป็นต้องโฟกัสแบบแมนนวล
#2: กระบวนการปรับแต่งภาพ RAW ภายในกล้อง
การที่สามารถปรับแต่งไฟล์ภาพ RAW ได้ภายในกล้องนั้นช่วยอำนวยความสะดวกได้มาก เพราะคุณสามารถทำได้เลยในทันที! ในภาพนี้ ผมได้เพิ่มค่าพารามิเตอร์ความเปรียบต่างในรูปแบบภาพ ซึ่งให้ผลสองประการคือ
1) รายละเอียดของแสงและเงาบนพื้นผิวของภูเขาโดดเด่นออกมาได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มความมีมิติให้กับภาพ
2) ตัวภูเขาโดดเด่นตัดกับท้องฟ้ามัวๆ ได้ดีขึ้น
เคล็ดลับ: คุณสามารถปรับค่าพารามิเตอร์อย่างละเอียดในรูปแบบภาพขณะถ่ายภาพ และตรวจดูผลได้ทันทีใน EVF หรือ Live View แต่ควรทำเฉพาะเมื่อมีเวลาพอเท่านั้น คุณคงไม่อยากพลาดโอกาสในการถ่ายภาพเพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับการลองปรับการตั้งค่ารูปแบบภาพในแบบต่างๆ
รูปแบบภาพ (มาตรฐาน) - การตั้งค่าเริ่มต้น
รูปแบบภาพ (มาตรฐาน) - ความเปรียบต่าง +2
ดูเพิ่มเติมได้ที่: เทคนิคในการใช้รูปแบบภาพเพื่อยกระดับการถ่ายภาพทิวทัศน์
อุปกรณ์เพิ่มเติม: ใช้ฟิลเตอร์ Graduated ND เพื่อปรับสมดุลความเปรียบต่างที่ไม่สม่ำเสมอ
ปรากฏการณ์ทะเลหมอกนั้นมักจะเกิดขึ้นบ่อยในยามฟ้าสาง ในช่วงเวลานี้ ดวงอาทิตย์จะอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้ภูเขาและท้องฟ้าสว่าง แต่แสงจะส่องไปไม่ถึงเมฆและแนวป่า จึงเกิดเป็นส่วนที่มืดในโฟร์กราวด์
เพื่อปรับสมดุลความเปรียบต่าง ผมใช้ฟิลเตอร์ Graduated ND (GND) โดยวางส่วนที่มืดมากกว่าไว้เหนือภูเขาไฟฟูจิเพื่อลดความสว่างในส่วนนั้นของฉาก วิธีนี้ยังเป็นการเพิ่มความเข้มของสีสันในฤดูใบไม้ร่วงของต้นไม้ในโฟร์กราวด์ด้วย
ใช้ฟิลเตอร์ GND
ไม่ใช้ฟิลเตอร์ GND
เคล็ดลับ: คุณสามารถดูเอฟเฟ็กต์ของฟิลเตอร์ GND ได้ใน EVF หรือ Live View ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถปรับตำแหน่งของฟิลเตอร์ได้อย่างละเอียดหากจำเป็น
ฉาก 2: ภูเขาไฟฟูจิยามค่ำคืน
EOS R/ EF70-200mm f/4L IS II USM/ FL: 200 มม. (เทียบเท่า 360 มม.)/ Bulb exposure (f/7.1, 60 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ภาพภูเขาไฟฟูจิที่โผล่พ้นแสงไฟจากท้องถนน รวมทั้งรายละเอียดของเมฆในภาพนี้ ทำให้ผมนึกถึงภาพเขียนน้ำหมึกแบบโบราณ ผมถ่ายภาพนี้โดยใช้การโฟกัสพีคแบบแมนนวลและฟังก์ชั่นครอปตัด 1.6 เท่า
#3: โฟกัสพีค
เช่นเดียวกับในฉาก 1 ผมใช้ MF เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กล้องไล่หาจุดโฟกัสในขณะที่ผมรอให้เมฆก่อตัว ที่ระยะเกือบ 100 กม. จากภูเขาไฟฟูจิ การโฟกัสแบบแมนนวลอาจทำได้ยากหากไม่ใช่วันที่มีอากาศสดใส
สำหรับการถ่ายภาพในเวลากลางคืน คุณก็สามารถใช้โฟกัสพีคได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่ต้องการจับโฟกัสที่พื้นที่เล็กๆ จุดใดจุดหนึ่ง ในภาพนี้ ผมใช้โฟกัสพีคเพื่อให้แสงไฟจากท้องถนนอยู่ในโฟกัส หากแสงไฟบนถนนถูกเมฆบดบัง คุณสามารถโฟกัสไปที่ดวงดาวแทนได้
เคล็ดลับ: หากคุณไม่สามารถมองเห็นโฟกัสพีคได้ชัดเจน ให้ลองเปลี่ยนสีโฟกัสพีคดู ในภาพนี้ ผมตั้งค่าเป็นสีน้ำเงินเพื่อให้มองเห็นได้ชัดขึ้นตัดกับเมฆและแสงไฟที่มีสีโทนอุ่น
#4: ฟังก์ชั่นครอปตัด 1.6 เท่า
1. ปกติ
2. ใช้ฟังก์ชั่นครอปตัด 1.6 เท่า
เมื่อตรวจดูภาพที่ได้ ผมรู้สึกว่าภาพน่าจะส่งผลต่ออารมณ์ได้มากกว่านี้หากครอปท้องฟ้าและโฟร์กราวด์ที่เกินมาออกไป กล้อง EOS R (และ EOS RP) มีฟังก์ชั่นครอปตัด 1.6 เท่า ซึ่งช่วยให้คุณเข้าใกล้ฉากได้มากยิ่งขึ้นแม้จะใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวที่สุดอยู่แล้วในเลนส์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณเข้าใกล้ฉากได้มากขึ้นในทันที แต่ผมยังชอบที่สามารถปรับองค์ประกอบภาพได้ทันทีเพื่อให้เหมาะกับภาพที่ครอปด้วย
ตำแหน่งของฟังก์ชั่นนี้: กดปุ่ม MENU > เมนู SHOOT1 > "อัตราส่วนภาพ/การครอปภาพ"
คุณสมบัติอื่นๆ ที่มีประโยชน์ของกล้อง
#5: ม่านป้องกันชัตเตอร์
เมื่อถ่ายภาพภูเขาไฟฟูจิ ผมจะพยายามถ่ายภาพให้หลากหลายและเห็นรายละเอียดในแบบต่างๆ นั่นหมายความว่าผมต้องคอยสลับใช้เลนส์มุมกว้างกับเลนส์เทเลโฟโต้บ่อยๆ ในขณะถ่ายภาพที่จุดเดิม
สำหรับกล้อง EOS R นั้น ม่านชัตเตอร์จะเคลื่อนตัวลงมาโดยอัตโนมัติเมื่อปิดกล้อง ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปถึงเซนเซอร์เมื่อไม่ได้ติดตั้งเลนส์ไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับการถ่ายภาพกลางแจ้ง เพราะผมมั่นใจได้ว่าเซนเซอร์ภาพจะได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี
#6: จอสัมผัสแบบปรับหมุนได้
จอภาพแบบปรับหมุนได้ช่วยให้ไม่จำเป็นต้องตั้งท่าถ่ายภาพในตำแหน่งที่เก้ๆ กังๆ เวลาถ่ายภาพจากมุมต่ำ เช่น ภาพที่มีเงาสะท้อนของภูเขาบนผิวน้ำ
การที่สามารถใช้งานกล้องด้วยจอสัมผัสนี้ให้ความสะดวกสบายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายภาพกลางแจ้งในเวลากลางคืน
สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพภูเขาและทิวทัศน์กว้างใหญ่ โปรดดูที่:
การถ่ายภาพภูเขาไฟฟูจิในฤดูหนาว: จุดถ่ายภาพและเคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพ
การถ่ายภาพทิวทัศน์ในยามเช้าตรู่: ถ่ายภาพก่อนหรือหลังพระอาทิตย์ตกดินดี?
วิธีการถ่ายภาพนี้: การเพิ่มความพิเศษให้กับภาพทิวทัศน์ในป่าอันกว้างใหญ่
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1977 ที่จังหวัดชิซุโอกะ Hashimuki เริ่มถ่ายภาพหลังจากซื้อกล้องมิเรอร์เลสในปี 2012 ความงดงามของภูเขาไฟฟูจิสะกดใจเขา หลังจากนั้นเขาจึงซื้อกล้อง EOS 6D และเลนส์อื่นๆ ของ Canon เพื่อพัฒนาการถ่ายภาพอย่างจริงจังยิ่งขึ้น ภาพภูเขาไฟฟูจิที่เขาถ่ายได้รับการเผยแพร่ในสิ่งพิมพ์มากมายในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งนิตยสารการถ่ายภาพและปฏิทิน
Instagram: @hashimuki
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation