พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #4: การชดเชยแสง
การชดเชยแสงเป็นฟังก์ชันที่คุณสามารถใช้เพื่อเปลี่ยนการตั้งค่าการเปิดรับแสงของกล้อง (ระดับแสงที่เหมาะสมซึ่งกำหนดโดยกล้อง) ให้เป็นค่าที่คุณต้องการได้ ต่อไปนี้เราจะมาทำความรู้จักกับฟังก์ชันนี้กันให้มากขึ้น พร้อมกับเรียนรู้วิธีที่จะทราบว่าตัวแบบต่างๆ ควรมีการชดเชยแสงเป็นบวกหรือเป็นลบ (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)
การชดเชยแสงเป็นฟังก์ชันที่คุณสามารถใช้เพื่อเปลี่ยนค่าความสว่างของภาพ ("ระดับแสงที่เหมาะสม") ที่เกิดจากการตั้งค่าของกล้อง
สิ่งที่พึงจดจำ
- การเปิดรับแสงขึ้นอยู่กับการสะท้อนแสงของตัวแบบ
- ใช้การชดเชยแสงเป็นบวกเมื่อตัวแบบสะท้อนแสงได้ดีมากๆ และใช้การชดเชยแสงเป็นลบเมื่อตัวแบบสะท้อนแสงได้ไม่ดี
การชดเชยแสงเป็นฟังก์ชันที่ให้คุณสามารถเปลี่ยนค่าความสว่างที่เกิดจากระดับแสงที่เหมาะสมที่กำหนด โดยกล้องได้ (สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ โปรดดูที่ พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #3: การเปิดรับแสง) เพื่อให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ก่อนอื่นเราลองมาดูกันว่ากล้องสามารถวัดค่าการเปิดรับแสงได้อย่างไร
กล้องมีตัววัดปริมาณแสงในตัวซึ่งทำหน้าที่กำหนดระดับแสงที่ "เหมาะสม" โดยกำหนดตามปริมาณของแสงสว่างที่สะท้อนจากตัวแบบ (เช่น การสะท้อนแสงของตัวแบบ) ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า "การวัดแสง" การวัดแสงนี้สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน แต่โหมดวัดแสงที่นิยมใช้กันมากที่สุดเรียกว่า "การวัดแสงแบบประเมินทั้งภาพ" ในโหมดนี้ ระบบวัดแสงจะแบ่งพื้นที่ในภาพทั้งหมดออกเป็นโซนต่างๆ และวัดค่าความสว่างในแต่ละโซนเพื่อหาค่าเฉลี่ย การวัดแสงแบบประเมินทั้งภาพนี้มีประสิทธิภาพในการหาระดับแสงที่เหมาะสมที่กำหนดโดยกล้องในฉาก แทบทุกประเภท
อย่างไรก็ดี ระดับแสงที่เหมาะสมที่กำหนดโดยกล้องไม่ทำให้เราได้ค่าความสว่างที่เหมาะสมสำหรับฉากนั้นๆ เสมอไป หากตัวแบบมีสีดำ (หรือใกล้เคียงกับสีดำ) กล้องส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเปิดรับแสงมากเกินไป จึงทำให้ภาพออกมาสว่างจ้า ในทางกลับกัน หากตัวแบบมีสีขาว (หรือใกล้เคียงกับสีขาว) กล้องส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเปิดรับแสงน้อยเกินไป และส่งผลให้ภาพที่ออกมาดูมืด นั่นเป็นเพราะว่าสีขาวสามารถสะท้อนแสงได้สูง (สะท้อนแสงมาก) ขณะที่สีดำสะท้อนแสงได้ต่ำ (สะท้อนแสงน้อย)
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องใช้การชดเชยแสงเพื่อปรับค่าความสว่างด้วยตนเองเพื่อให้ได้ค่าที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยปกติ การชดเชยแสงจะถูกตั้งค่าไว้ที่ตำแหน่ง “0” แต่คุณสามารถปรับค่าโดยใช้วงแหวนหรือปุ่มชดเชยแสงได้ โดยเราจะชดเชยแสงไปที่ช่วงค่า “+” สำหรับตัวแบบที่สะท้อนแสงสูง และชดเชยแสงไปที่ช่วงค่า “-” สำหรับตัวแบบที่สะท้อนแสงต่ำ ถึงอย่างนั้น การชดเชยแสงไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ดังนั้น คุณจึงสามารถใช้ฟังก์ชันนี้เพื่อปรับความสว่างในภาพให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายเชิงสร้างสรรค์หรือตามความชอบของคุณได้เช่นกัน
ฉากที่ต้องใช้การชดเชยแสง
การชดเชยแสงเป็นบวก (+)
ตัวแบบที่ถ่ายในสภาวะย้อนแสง ตัวแบบที่สะท้อนแสงสูง (สีขาวหรือสีที่ใกล้เคียงสีขาว) และเลนส์ที่มีความสว่างจะส่งผลทำให้ภาพถ่ายที่ได้ดูมืดกว่าฉากที่ปรากฎจริงเมื่อเรามองด้วยตาเปล่า ในกรณีนี้ ให้ใช้การชดเชยแสงเป็นบวก
การชดเชยแสงเป็นลบ (-)
ตัวแบบที่สะท้อนแสงต่ำ (สีดำหรือสีที่ใกล้เคียงสีดำ) และฉากที่มืดจะทำให้ภาพดูสว่างกว่าฉากที่ปรากฎจริงเมื่อเรามองด้วยตาเปล่า ซึ่งจะทำให้รายละเอียดของสีดูสว่างจ้าเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ถ่ายฉากที่มีสภาพแวดล้อมมืดสลัว เช่น ยามพระอาทิตย์ตกดิน การใช้การชดเชยแสงเป็นลบจะช่วยให้คุณคืนสีสันในภาพถ่ายให้เหมือนเดิมได้
โดยปกติค่าการเปิดรับแสงจะระบุเป็นหน่วย EV
ช่วงการชดเชยแสงในกล้องแต่ละรุ่นจะแตกต่างกัน แต่โดยปกติแล้วจะมีค่าอยู่ระหว่าง EV-5.0 ถึง EV+5.0 การตั้งค่าการชดเชยแสงไปที่ 1 EV ในทิศทางบวก (EV+1.0) จะเพิ่มความสว่างถึงสองเท่าของปริมาณจริง ขณะที่การตั้งค่าไปที่ 1 EV ในทิศทางลบ (EV-1.0) จะทำให้ความสว่างลดลงครึ่งหนึ่งของปริมาณจริง โดย 1 EV จะเทียบเท่ากับ 1 f-stop
แนวคิดที่ 1: “+” สำหรับสีขาว, “-” สำหรับสีดำ
สีขาวหรือตัวแบบที่มีสีขาว เช่น หาดทรายสีอ่อนหรือฉากที่เต็มไปด้วยหิมะจะมีการสะท้อนแสงสูง นั่นหมายความว่าฉากเหล่านั้นจะดูมืดหากคุณถ่ายภาพในโหมดปรับระดับแสงอัตโนมัติ ดังนั้น สำหรับตัวแบบดังกล่าว ให้ใช้การชดเชยแสงเป็นบวก (+) หากส่วนที่มีสีขาวนั้นครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพ คุณอาจจำเป็นต้องตั้งค่าการชดเชยแสงเป็นบวกมากๆ
การชดเชยแสง: EV±0
การชดเชยแสง: EV+1.0
ซ้าย: EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/200 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: Manual
ขวา: EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/100 วินาที, EV+1.0)/ ISO 100/ WB: Manual
ในทางตรงกันข้าม ตัวแบบที่เป็นสีดำหรือใกล้เคียงกับสีดำ เช่น ภาพทิวทัศน์กลางคืนซึ่งมีส่วนที่มีเงาหลายจุดมักถ่ายออกมาดูสว่างและมีแสงจ้ามากกว่าฉากจริงที่เราเห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้น หากคุณต้องการให้ฉากดูเคร่งขรึมมากขึ้น ให้ใช้การชดเชยแสงเป็นลบ (-) อย่างเพียงพอ เพื่อให้ส่วนที่สว่างที่สุดของภาพดูมืดลงเล็กน้อย การชดเชยแสงเป็นลบยังเหมาะกับการทำให้สีสันในภาพดูเข้มขึ้น จึงควรทดลองใช้เมื่อถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดินในครั้งต่อไป
การชดเชยแสง: EV±0
การชดเชยแสง: EV-1.0
ซ้าย: EOS M/ EF-M22mm f/2 STM/ FL: 22 มม. (เทียบเท่าฟอร์ตแมตฟิล์ม 35 มม.)/ Aperture-priority AE (f/2, 1/50 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ขวา: EOS M/ EF-M22mm f/2 STM/ FL: 22 มม. (เทียบเท่าฟอร์ตแมตฟิล์ม 35 มม.)/ Aperture-priority AE (f/2, 1/100 วินาที, EV-1.0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
แนวคิดที่ 2: ระบบถ่ายภาพคร่อมอัตโนมัติ
สำหรับฉากที่ยากต่อการกำหนดค่าการเปิดรับแสง ให้ใช้ฟังก์ชันระบบถ่ายภาพคร่อมอัตโนมัติ (AEB) ฟังก์ชันนี้จะช่วยให้คุณสามารถถ่ายฉากเดียวกันได้ถึง 3 ภาพ (หรือมากกว่านั้น) โดยใช้การเปิดรับแสงที่แตกต่างกันในแต่ละภาพ ซึ่งขนาดความแตกต่างในการเปิดรับแสงระหว่างภาพแต่ละภาพนั้นจะขึ้นอยู่กับกล้องที่ใช้ แต่คุณสามารถถ่ายภาพที่มีความแตกต่างกันได้น้อยมากถึง 1/3 ของ f-stop และเมื่อคุณถ่ายภาพเสร็จแล้ว คุณสามารถเลือกภาพที่คุณคิดว่ามีการเปิดรับแสงที่สมบูรณ์แบบได้
การตั้งค่านี้ช่วยให้คุณถ่ายภาพได้ 2 ภาพ ที่ต่างกันระยะละละ EV±2.0
การชดเชยแสง: EV+1.0
EOS 5D Mark III/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 200 มม./ Program AE (f/8, 1/320 วินาที, EV+1.0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
การชดเชยแสง: EV±0
EOS 5D Mark III/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 200 มม./ Program AE (f/8, 1/640 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
การชดเชยแสง: EV-1.0
EOS 5D Mark III/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 200 มม./ Program AE (f/8, 1/1250 วินาที, EV-1.0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ฉันถ่ายฉากที่มีแสงย้อนโดยใช้ AEB ที่ต่างกันระยะละ EV±1.0 ค่าการเปิดรับแสงที่ดีที่สุดสำหรับภาพนี้คือ EV+1.0 การตั้งค่า AEB ที่ต่างกันระยะละ 1/3 หรือ 1/2 สต็อปจะช่วยให้ฉันสามารถถ่ายภาพที่มีการเปิดรับแสงที่แตกต่างกันเล็กน้อย และสามารถเลือกภาพที่เหมาะที่สุดในภายหลังได้
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง