ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 11: เปลี่ยนงานพิมพ์ให้เป็นงานศิลป์
หลังใช้เวลาและความความพยายามทั้งหมดไปกับการสร้างสรรค์และตกแต่งภาพถ่าย งานพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ก็ใกล้เสร็จสมบูรณ์ และขั้นตอนสุดท้ายในการเตรียมกระดาษ รีทัชจุดฝุ่นละออง ลงลายเซ็น และนำภาพใส่กรอบนับเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนงานพิมพ์ให้เป็นผลงานศิลปะ
การเตรียมกระดาษก่อนพิมพ์
กระดาษสำหรับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ที่ดีที่สุดมักทำจากใยฝ้าย ซึ่งบนพื้นผิวกระดาษอาจมีผงแป้งที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการตัดกระดาษ นอกจากนี้ การเสียดสีระหว่างกระดาษกับผงแป้งที่หลุดออกมาเพิ่มในระหว่างกระบวนการผลิตกระดาษยังมีส่วนทำให้เกิดผงแป้งด้วยเช่นกัน
ผงแป้งนี้ทำให้คุณภาพงานพิมพ์เสียหาย เนื่องจากจะป้องกันไม่ให้หมึกซึมลงบนพื้นผิวเคลือบ ส่งผลให้เกิดเป็นจุดสีขาวบนผิวงานพิมพ์ และเมื่อผงแป้งสะสมในเครื่องพิมพ์ก็จะทำให้เครื่องพิมพ์เสียหายด้วยเช่นกัน
วิธีการทำความสะอาดผงแป้งบนกระดาษก่อนทำการพิมพ์สามารถทำได้สองวิธีคือ
1) เคาะกระดาษเบาๆ กับโต๊ะ แรงสั่นสะเทือนจะทำให้ผงแป้งหลุดออกจากผิวกระดาษ
2) ใช้เครื่องเป่าลมเพื่อกำจัดผงแป้งส่วนใหญ่ออก จากนั้นใช้แปรงขนสัตว์ปัดพื้นผิว ไม่ควรใช้แปรงไนลอน เนื่องจากทำให้เกิดการเสียดสีเกินไปและอาจทำให้พื้นผิวที่เคลือบเสียหายได้
การรีทัชจุดต่างๆ ด้วยมือ
ภาพโดย Tsiklonaut จาก http://4nalog.blogspot.sg
แม้จะพยายามอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม แต่อาจมีจุดผงแป้งหลงเหลืออยู่ และเกิดเป็นคราบจุดสีขาวกระจายทั่วงานพิมพ์ในขั้นสุดท้าย คุณจึงเหลือทางเลือกเพียงสองทาง นั่นคือพิมพ์ภาพใหม่ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย หรือปรับแต่งจุดสีขาวด้วยมือ โชคดีที่แปรงทาสีคุณภาพดีและหมึกที่เหลือจากตลับหมึกช่วยปิดจุดสีขาวได้ค่อนข้างง่าย
ขั้นตอนที่หนึ่ง – ดึงหมึกด้วยแปรง
จุ่มแปรงคุณภาพดีพิเศษลงในช่องเปิดของตลับหมึกเพื่อดึงหมึกออกมาใช้ สำหรับภาพขาวดำ ให้ใช้หมึกสีเทาหรือเทาอ่อน
ขั้นตอนที่สอง – ตรวจสอบความหนาแน่นของหมึก
ทาหมึกบนเล็บหรือข้อมือเพื่อตรวจสอบความเข้มของสี และนำไปเจือจางกับน้ำหากจำเป็น
ขั้นตอนที่สาม – ใช้หมึก
ใช้ปลายขนแปรงแตะบนกระดาษเบาๆ ห้ามใช้แปรงทาบนกระดาษ
การลงลายเซ็นของช่างภาพ
มีอีกวิธีหนึ่งในการใช้งานหมึกที่เหลือจากตลับหมึก และเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่จะประยุกต์ใช้ลายเซ็นของคุณกับงานพิมพ์ สิ่งที่คุณต้องการมีเพียงแค่ปากกาคอแร้งหรือปากกาหมึกซึมสำหรับเขียนอักษรประดิษฐ์เท่านั้น
ภาพโดย John Dunne จาก https://www.johndunne.ie
ใช้ปากกาคอแร้งหรือปากกาหมึกซึม
ดูดหมึกจากตลับเข้าไปในปากกาหมึกซึม หากคุณใช้ปากกาคอแร้งก็ใช้วิธีจุ่มปลายปากกาลงในตลับหมึก
เขียนบนพื้นผิวเคลือบ
เขียนลายเซ็นตามปกติ แต่ควรใช้ความระมัดระวังสำหรับกระดาษพิมพ์แบบวิจิตรศิลป์ที่ทำจากฝ้าย เพราะหมึกมักจะไหลไปเล็กน้อย
จดบันทึกการตั้งค่าการพิมพ์
ในระหว่างปรับแต่งงานพิมพ์อาจจำเป็นต้องพิมพ์ทดสอบหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น คุณอาจใช้โปรไฟล์การปรับค่าสีต่างๆ หรือพิมพ์จากซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพต่างๆ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ ทำเครื่องหมายหรือติดป้ายงานพิมพ์ทดสอบแต่ละงานที่มีการตั้งค่าการพิมพ์เพื่อความสะดวกในการจำแนก ขั้นตอนนี้อาจดูเหมือนไม่สำคัญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราอาจลืมได้ง่ายๆ ว่างานพิมพ์แต่ละงานใช้การตั้งค่าอะไรบ้าง คุณสามารถบันทึกการตั้งค่าการพิมพ์บนภาพถ่ายได้โดยใช้ลายน้ำดิจิทัลหรือทำบันทึกด้วยดินสอที่ด้านหลังของกระดาษพิมพ์ ไม่ว่าด้วยวิธีไหนบันทึกเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรการเรียนรู้อันมีค่าอย่างแน่นอน
การใส่กรอบงานพิมพ์
งานพิมพ์ภาพถ่ายมักนิยมใช้กรอบอะลูมิเนียมหรือกรอบไม้แบบง่ายๆ เพราะทำให้งานพิมพ์ดูสง่างามโดยไม่เด่นเกินภาพ และเมื่อใช้ร่วมกับเทคนิคการซ้อนภาพและขึ้นภาพ ภาพที่ใส่กรอบสมบูรณ์แล้วจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับงานพิมพ์ได้ การซ้อนภาพ หมายถึง การใช้แผ่นกระดาษแข็งหนาซ้อนบนงานพิมพ์จริง ซึ่งมีเทคนิคต่อไปนี้ให้ช่างภาพเลือกใช้งาน
Float Mounting
เมื่องานพิมพ์สัมผัสกับแผ่นอะคริลิกหรือกระจกของกรอบโดยตรง จะเกิดวงแหวนของนิวตันที่ดูไม่น่ามอง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้จึงมักใช้ Float Mounting ในกรอบไม้เพื่อสร้างช่องว่างระหว่างงานพิมพ์และแผ่นกระดาษที่อยู่ด้านบนสุด ในขณะเดียวกัน การแยกงานพิมพ์และแผ่นด้านบนออกจากกันนี้จะช่วยเพิ่มความลึกให้กับงานพิมพ์และทำให้ภาพดูเป็นสามมิติ
(ซ้าย) วงแหวนนิวตัน
(ขวา) ตัวอย่างของ Float Mounting
ความสำคัญของการซ้อนภาพ
การซ้อนภาพจะทำให้เกิดขอบบริเวณรอบๆ งานพิมพ์ และทำให้ภาพดูมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่องว่างควรมีขนาดที่เหมาะสมสำหรับงานพิมพ์เพื่อช่วยสื่ออารมณ์อย่างเด่นชัดมากขึ้น
ขนาดของการซ้อนภาพที่แนะนำสำหรับกระดาษแต่ละขนาดมีดังต่อไปนี้:
A4 - 50 มม. (ความกว้างของกรอบ)
A3 - 60-70 มม. (ความกว้างของกรอบ)
A2 - 60-70 มม. (ความกว้างของกรอบ)
ท้ายที่สุดแล้ว ศิลปะการใส่กรอบเป็นเรื่องของการสร้างมุมมอง เราขอแนะนำให้ใช้กระดาษ Mat board ที่มีความกว้างหนึ่งในสามหรือครึ่งหนึ่งของความกว้างภาพ (สำหรับภาพทรงสี่เหลี่ยม) ความกว้างของ Mat board จะช่วยให้ภาพสื่ออารมณ์ได้มากขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนภาพพิมพ์เป็นหน้าต่างสู่มุมมองของช่างภาพ นอกจากนี้ ช่องว่างของของกระดาษควรมีขนาดใหญ่กว่าพื้นผิวของงานพิมพ์ เพื่อเผยให้เห็นพื้นผิวกระดาษรวมถึงกระบวนการคิดของช่างภาพ
การใช้ Mat board อย่างสร้างสรรค์
ภาพจาก http://www.logangraphic.com
เพื่อให้เห็นว่าการซ้อนภาพส่งผลต่อภาพถ่ายอย่างมาก ลองพิจารณาจากกรอบรูปด้านบน สังเกตเห็นเงาจางๆ ที่เกิดจากกระดาษแข็งด้านบนสุดหรือไม่ เงานี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพงานพิมพ์อย่างมากและยังสื่ออารมณ์ภาพได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถสร้างลูกเล่นเช่นนี้ได้อย่างง่ายดายโดยการใส่แผ่นโฟมเพื่อทำให้แผ่นกระดาษด้านบนสุดสูงขึ้น
สำหรับภาพที่มีโทนสีมืดเป็นส่วนใหญ่ ช่างภาพอาจพิจารณาใช้ Mat board สีถ่านหรือสีมืด ขอบสีที่มืดจะเสริมให้ภาพถ่ายสมบูรณ์และทำให้ภาพและกรอบดูเป็นเนื้อเดียวกัน
เห็นได้ว่าการเพลิดเพลินกับงานพิมพ์นั้นเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ต้องอาศัยเวลา ความอดทน และความรู้เชิงเทคนิคเล็กน้อยจึงจะเข้าใจถึงศักยภาพอย่างเต็มที่ เราหวังว่าความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์นี้จะทำให้คุณสนใจในงานพิมพ์เพิ่มขึ้น หากต้องการทราบวิธีเริ่มต้นสร้างงานพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ด้วยตัวคุณเอง โปรดปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องพิมพ์ Canon ในประเทศของคุณ
บทความก่อนหน้านี้:
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 2: ปริภูมิสี
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 3: โปรไฟล์สีและการปรับค่าสี
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 4: แสงส่งผลต่อสีสันอย่างไร
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 5: การปรับเทียบจอภาพของคุณ
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 6: การปรับเทียบเครื่องพิมพ์
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 7: การเลือกกระดาษสำหรับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 8: การทดสอบกระดาษ
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 9: การกำหนดสไตล์การใช้สีและโทนสี
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 10: บทสัมภาษณ์ Edgar Su มืออาชีพด้านกล้อง EOS
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!