ในตอนที่ 1 เราได้เรียนรู้เทคนิคการแพนกล้องเพื่อถ่ายภาพกีฬาแข่งรถให้ดียิ่งขึ้นไปบ้างแล้ว ในตอนที่ 2 ของบทความ 2 ตอนนี้ เราจะยกระดับขึ้นไปอีกด้วยเคล็ดลับและเทคนิคโดยละเอียดในการถ่ายภาพ 2 ประเภทที่มีความท้าทายเป็นพิเศษ (เรื่องโดย: Hirohiko Okugawa จากคู่มือการถ่ายภาพด้วย EOS R7 โดย Digital Camera Magazine)
EOS R7/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 164 มม. (เทียบเท่า 262 มม.)/ Shutter-priority AE (f/5, 1/30 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
3. ให้ยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงข้ามเข้ามาอยู่ในภาพด้วย
ดังที่เราได้เห็นในตอนที่ 1 ความรู้สึกของความเร็วที่สื่อออกมาจากภาพถ่ายแบบแพนกล้องนั้นไม่ได้มาจากตัวยานพาหนะ แต่มาจากภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวขององค์ประกอบที่อยู่โดยรอบ สิ่งใดก็ตามที่เคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงข้ามกับการแพนกล้องของคุณจะทำให้เกิดภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนกว่าองค์ประกอบที่อยู่นิ่ง เช่น สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้รู้สึกถึงความเร็วได้มากยิ่งขึ้น เมื่อโอกาสมาถึง ให้ถ่ายภาพโดยใช้มุมกว้างขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้รถยนต์คันที่สองเข้ามาอยู่ในเฟรมภาพด้วย ดังภาพที่ผมถ่ายไว้ด้านบน
รถยนต์ 1 คัน
รถยนต์ 2 คัน
การจัดองค์ประกอบภาพดูน่าสนใจและมีพลังมากกว่าเมื่อมีรถยนต์คันที่ 2 อยู่ในโฟร์กราวด์
เคล็ดลับระดับมือโปรข้อที่ 1: พิจารณาถึงลักษณะของการแข่งขัน เช่น จำนวนรถที่เข้าแข่งขัน ฯลฯ
ในการถ่ายฉากดังกล่าว คุณจะต้องให้รถ 2 คันซึ่งเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงข้ามกันอยู่ใกล้กันมากพอเพื่อให้สามารถถ่ายไว้ในเฟรมเดียวกันได้ ส่วนหนึ่งอาจขึ้นอยู่กับดวง แต่ลักษณะบางอย่างของการแข่งขันจะช่วยให้คุณมีโอกาสถ่ายภาพได้มากขึ้น เช่น
- มีรถเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก
- ต้องแข่งขันด้วยจำนวนรอบที่มากขึ้น
หากการแข่งขันนั้นมีรถยนต์น้อยมาก โอกาสในการถ่ายภาพของคุณอาจไม่มีวันมาถึงไม่ว่าจะอดทนรอนานสักเท่าใด! Super GT เป็นตัวอย่างการแข่งขันที่มักจะมีคุณสมบัติทั้งสองข้อข้างต้น
เคล็ดลับระดับมือโปรข้อที่ 2: ปรับหน้าจอ Live View ของคุณให้เรียบง่าย
หากคุณมีสมาธิในการแพนกล้องได้เป็นอย่างดี โอกาสในการถ่ายภาพได้ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ผมพบว่าการลบข้อมูลทั้งหมดที่ไม่จำเป็นออกไปจากหน้าจอนั้นช่วยได้ คุณสามารถลบข้อมูลดังกล่าวได้โดยเข้าไปที่เมนู “แสดงข้อมูลการถ่ายภาพ”
องค์ประกอบหนึ่งบนหน้าจอที่ผมเปิดทิ้งไว้คือตาราง 3x3 ซึ่งช่วยให้ผมแน่ใจว่าจะได้เส้นแนวนอนที่ตรง การที่สามารถแสดงตารางในช่องมองภาพได้คือประโยชน์ข้อหนึ่งของกล้องมิเรอร์เลส เช่น กล้องในระบบ EOS R!
4. ภาพจากด้านหน้าที่หยุดรายละเอียดไว้ขณะอยู่บนโค้งรูปตัว S
EOS R7/ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM/ FL: 300 มม. (เทียบเท่า 480 มม.)/ Shutter-priority AE (f/5.6, 1/800 วินาที, EV -0.3)/ ISO 320/ WB: อัตโนมัติ
เทคนิคทั้ง 3 ข้อที่เราได้อธิบายไปแล้ว รวมถึงเทคนิค 2 ข้อในตอนที่ 1 ต่างก็เป็นเทคนิคการแพนกล้องที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แต่เทคนิคสุดท้ายของเราใช้วิธีตรงข้าม นั่นคือเราจะกลับไปใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของยานพาหนะ เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่การถ่ายภาพยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ แต่เป็นภาพจากด้านหน้ารถที่กำลังเคลื่อนตัวผ่านโค้งรูปตัว S หรือโค้งชิเคน*แบบอื่นๆ
*โค้งชิเคน: ช่วงหนึ่งในสนามแข่งรถที่มีความท้าทายเนื่องจากมีส่วนโค้งในทิศตรงข้ามติดต่อกัน
กล้องมิเรอร์เลสทำให้การถ่ายภาพเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
กล้องมิเรอร์เลสทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นในการถ่ายภาพหน้าตรงบนโค้งรูปตัว S หรือโค้งชิเคน
ในยุคของกล้อง DSLR ซึ่งพื้นที่ครอบคลุม AF นั้นจำกัดกว่านี้มาก ช่างภาพส่วนใหญ่จะใช้ AF จุดเดียวเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถโฟกัสได้ดีที่สุดในฉากเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม นั่นหมายความว่าเราจะต้องเลือกว่าจุดตัดใดที่เราต้องการใส่เข้ามาในภาพ ด้านซ้ายหรือด้านขวา แล้วตัดอีกฝั่งหนึ่งทิ้งไป
แต่สำหรับกล้องแบบ EOS R7 คุณสมบัติการติดตามตัวแบบนั้นรวดเร็วและน่าเชื่อถือพอที่จะติดตามยานพาหนะได้ทันในขณะที่กำลังเข้าโค้งติดต่อกัน ปัจจุบันนี้เราจึงสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสในการถ่ายภาพแต่ละครั้งได้อย่างเต็มที่
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง: การจัดองค์ประกอบภาพทำได้ง่ายขึ้นในกล้องมิเรอร์เลสใช่หรือไม่
รู้จักกับเทคโนโลยีของ Canon: Dual Pixel CMOS AF คืออะไร
เคล็ดลับระดับมือโปร: ใช้ฟังก์ชั่นการเลื่อนค่าเองเพื่อจัดการกับความสว่างที่ผันผวนอย่างรุนแรงโดยอัตโนมัติ
ควบคุมความเร็วชัตเตอร์และความไวแสง ISO ได้แม้รูรับแสงบนเลนส์ของคุณจะมีข้อจำกัด
การใช้โหมดเปิดรับแสงกึ่งอัตโนมัติ เช่น โหมด Shutter-priority AE (Tv) ช่วยให้ผมสามารถใช้สมาธิไปกับส่วนที่ต้องอาศัยความสร้างสรรค์ได้ ผมสามารถควบคุมความเร็วชัตเตอร์ได้ และกล้องจะปรับการตั้งค่าอื่นๆ เพื่อให้ได้ระดับแสงที่เหมาะสม ผมตั้งค่าความไวแสง ISO แบบแมนนวลเพื่อให้เกิดเม็ดเกรนน้อยที่สุดและให้รายละเอียดคมชัดสูงสุด
อย่างไรก็ตาม หากความสว่างเกิดการผันผวนไปมาอย่างรุนแรงขณะถ่ายภาพต่อเนื่อง (เช่นในภาพนี้) และคุณใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดหรือเกือบกว้างสุดอยู่แล้ว ก็ยังมีโอกาสที่คุณจะได้ภาพที่ดูมืดเกินไปอยู่ดี
ฟังก์ชั่นการเลื่อนค่าเองจึงเป็นวิธีที่มีประโยชน์สำหรับสถานการณ์นี้ เมื่อคุณใช้โหมดกึ่งอัตโนมัติและภาพที่ได้ดูมืดหรือสว่างเกินไปเนื่องจากข้อจำกัดของอุปกรณ์ ฟังก์ชั่นนี้จะยกเลิกค่าการเปิดรับแสงที่ตั้งแบบแมนนวลเพื่อให้ได้ระดับแสงที่ถูกต้อง
ฟังก์ชั่นการเลื่อนค่าเองจะอยู่ในเมนูสีส้มของกล้องระดับสูง
ผมตั้งค่าฟังก์ชั่นการเลื่อนค่าเองเพื่อปรับความไวแสง ISO
เมื่อใช้ฟังก์ชั่นการเลื่อนค่าเองร่วมกับโหมด Tv ผมจึงสามารถควบคุมความเร็วชัตเตอร์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งต่างจากการตั้งค่า “ความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดระหว่างใช้ ISO อัตโนมัติ” กล้องจะเพิ่มค่าความไวแสง ISO เมื่อไม่สามารถตั้งค่าที่ต้องการเพื่อให้มีระดับแสงที่เหมาะสมได้เท่านั้น นอกเหนือจากนี้ กล้องจะใช้ค่าที่ผมตั้งไว้
4B (แบบต่างๆ): ภาพถ่ายจากด้านหลัง
EOS R7/ EF300mm f/2.8L IS II USM/ FL: 300 มม. (เทียบเท่า 480 มม.)/ Shutter-priority AE (f/3.5, 1/800 วินาที, EV -0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ในการถ่ายภาพจากด้านหลัง รถยนต์จะพุ่งเข้ามาในเฟรมภาพทันที จึงทำให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่าสำหรับทั้งช่างภาพและตัวกล้อง เมื่อเทียบกับการถ่ายภาพจากด้านหน้าตรงซึ่งตัวรถจะเคลื่อนที่เข้าหาคุณ
เคล็ดลับ: อย่าลืมเปิดฟังก์ชั่นติดตามตัวแบบ!
สำหรับกล้องอย่าง EOS R7 คุณสมบัติการติดตามตัวแบบทำให้การถ่ายภาพอย่างแม่นยำและคมชัดเป็นเรื่องที่ง่ายดายขึ้นมาก เมื่อเปิดใช้งานโหมด Vehicle-priority ในเมนู “ตัวแบบที่ต้องการตรวจจับ” กรอบติดตามตัวแบบจะปรากฏขึ้นที่ตัวยานพาหนะทันทีที่เข้ามาในเฟรมภาพ!
ในภาพนี้ ผมไม่จำเป็นต้องจัดองค์ประกอบภาพใหม่เพื่อติดตามยานพาหนะ เนื่องจากกล้องคอยติดตามตัวแบบอยู่ไม่ว่าที่จุดใดในเฟรม แม้ในขณะเคลื่อนไปทางซ้ายและขวา ซึ่งจะไม่สามารถทำได้เลยหากใช้วิธี AF จุดเดียวแบบดั้งเดิม
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
เผยโฉมคุณสมบัติ AF ของกล้อง EOS R3
เคล็ดลับพิเศษ: ควรใช้เลนส์รุ่นใดในการถ่ายภาพกีฬาแข่งรถ
เลนส์ RF คือเลนส์ที่ดีที่สุดสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพและความเร็วของ AF สำหรับกล้องในระบบ EOS R เลนส์ซูมเทเลโฟโต้จะให้ความยืดหยุ่นสูงสุดในการจัดเฟรมไม่ว่าจากฝั่งใดของสนาม
ด้านล่างนี้คือเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ RF สองรุ่นที่โดดเด่น ทั้งสองรุ่นมาพร้อมกับเมาท์ขาตั้งกล้องและสามารถใช้ได้กับอุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ Extender RF1.4x และ Extender RF2x เพื่อระยะที่เพิ่มขึ้น
เลนส์ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM มีความสามารถครอบคลุมฉากเกือบทุกแบบที่คุณต้องการในการถ่ายภาพกีฬาแข่งรถ หากใช้กับกล้อง APS-C เลนส์นี้จะให้ช่วงโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรมที่ 160-800 มม.
หากคุณต้องถ่ายภาพในอาคารหรือในสภาวะแสงน้อยอยู่บ่อยครั้ง เลนส์ RF100-300mm f/2.8L IS USM ซึ่งมีรูรับแสงคงที่จะเป็นการลงทุนที่ดี หากใช้กับกล้อง APS-C เลนส์นี้จะให้ช่วงโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรมที่ 160-480 มม. เมื่อใช้กับอุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ คุณจะได้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/4 หากใช้ Extender RF1.4x และ f/5.6 หากใช้ Extender RF2x
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เส้นทางการเป็นช่างภาพของ Okugawa เริ่มตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียน ตอนที่เขาต้องการถ่ายภาพกีฬาแข่งรถ ผลงานของเขาได้รับเลือกให้จัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่ายกีฬาแข่งรถของ Canon Japan เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และเขายังได้ถ่ายภาพการแข่งรถฟอร์มูล่าวัน เจแปนนิส กรังด์ปรีซ์ ทุกครั้งตั้งแต่ปี 2530 ที่สนามซูซูกะและสนามฟูจิ โดยได้แบ่งเวลาถ่ายภาพและทำงานประจำด้านประชาสัมพันธ์จนกระทั่งเขาก่อตั้งบริษัทประชาสัมพันธ์ของตนเองในปี 2549 ปัจจุบัน Okugawa รับหน้าที่ถ่ายภาพกีฬาแข่งรถให้กับพอร์ทัลข่าว Car Watch ที่ดำเนินงานโดย Impress Corporation