EF16-35mm f/4L IS USM: ถ่ายภาพทิวทัศน์ได้อย่างน่าทึ่งแม้ถ่ายแบบถือกล้องด้วยมือ
ขณะที่เลนส์ซูม EF มุมกว้างสามารถใช้งานร่วมกับกล้องฟูลเฟรมได้ เลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM คือเลนส์ตัวแรกที่ติดตั้งระบบป้องกันการสั่นไหวของภาพ เลนส์นี้ใช้สำหรับถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือได้อย่างดีเยี่ยม และมุ่งพัฒนาคุณภาพบริเวณขอบภาพ มาลองดูคำอธิบายถึงความน่าสนใจของเลนส์รุ่นนี้ด้วยผลงานภาพถ่ายของ GOTO AKI ช่างภาพที่เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วญี่ปุ่นกัน (เรื่องโดย GOTO AKI)
EOS 5DS R/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/200 วินาที, EV+0.3)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
รายละเอียดคมชัดสูงอย่างน่าทึ่งแม้ที่บริเวณขอบภาพ
ในฐานะช่างภาพทิวทัศน์ เลนส์โปรดของผมคือเลนส์ซูมมุมกว้าง ผมเคยใช้เลนส์ EF17-40mm f/4L USM (อ่านรีวิวที่นี่) มาอย่างยาวนาน เลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระของบทความนี้ มีมุมรับภาพที่กว้างขึ้นอีก 1 มม. ซึ่งทำให้ผมถ่ายภาพทิวทัศน์กว้างขวางได้มากยิ่งขึ้นจากที่สายตามองเห็น ผมถ่ายภาพฉากตามธรรมชาติต่างๆ ที่สมบุกสมบัน ตั้งแต่ภูเขาไฟและทะเลไปจนถึงป่าไม้และแม่น้ำในประเทศญี่ปุ่น และเลนส์ถือเป็นอปกรณ์คู่ใจชิ้นสำคัญของผม
ภาพถ่ายด้านบนเป็นภาพของภูเขายุฟุดาเกะในจังหวัดโออิตะ ซึ่งมีน้ำพุร้อนมากที่สุดในประเทศถึง 4,788 แห่ง เพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์อันยิ่งใหญ่ตระการตาของภูเขาไฟสูงตระหง่านที่ยังคงประทุอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างน้ำพุร้อนเบปปุกับยุฟุอินชื่อดัง ผมตั้งทางยาวโฟกัสไว้ที่ 16 มม. และสังเกตรายละเอียดต่างๆ ของทิวทัศน์ตั้งแต่ก้ิอนหินใต้ฝ่าเท้าของผมไปจนถึงเมฆบนท้องฟ้าเหนือศีรษะ
เลนส์รุ่นนี้ใช้ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม สามชิ้นและชิ้นเลนส์ UD สองชิ้น ซึ่งช่วยลดการเกิดความคลาดของความบิดเบี้ยวและความคลาดสี ฯลฯ ตลอดจนให้ความละเอียดสูงกว่าชิ้นเลนส์ของ EF17-40mm f/4L USM และมีความบิดเบี้ยวที่มุมของภาพเกิดขึ้นน้อยมาก จึงสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของทิวทัศน์ได้อย่างคมชัด
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้งานร่วมกับกล้องตัวหลักของผมอย่าง EOS 5DS R ที่มีความละเอียดสูงเป็นพิเศษได้อย่างยอดเยี่ยม ผมจึงสามารถจัดองค์ประกอบภาพเพื่อถ่ายทอดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของหินและท้องฟ้าเพื่อให้เหมาะกับมุมของภาพถ่ายได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความบิดเบี้ยว อีกทั้งยังรู้สึกว่าอิสระในการถ่ายภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก
สนุกกับการใช้งานทั้งในการถ่ายภาพทิวทัศน์และการถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือ
ในวันที่ถ่ายภาพ เนื่องจากบนสันเขามีลมค่อนข้างแรง กล้องจึงเกิดอาการสั่นแม้ว่าจะใช้ขาตั้งกล้องช่วยก็ตาม ดังนั้น ผมจึงเปิดระบบป้องกันการสั่นไหวของภาพ และถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือโดยจับกล้องไว้ให้มั่น
เมื่อใช้ฟิลเตอร์ PL ความเร็วชัตเตอร์จะช้าลงก็จริง แต่เราจะได้ระบบป้องกันการสั่นไหวของภาพแบบ 4 สต็อปที่ช่วยลดการสั่นไหวของกล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผมจึงสามารถโฟกัสไปที่การถ่ายภาพได้อย่างไร้กังวล
การสั่นไหวของกล้องจะสังเกตเห็นได้น้อยลงเมื่อใช้เลนส์มุมกว้าง เช่น เลนส์รุ่นนี้ เนื่องจากทางยาวโฟกัสที่สั้น อย่างไรก็ดี เมื่อคุณใช้กล้องที่มีความละเอียดเกิน 50 ล้านพิกเซล เช่น กล้อง EOS 5DS R คุณจำเป็นต้องอาศัยตัวช่วยทุกอย่างเท่าที่จะหาได้เพื่อให้กล้องสั่นไหวน้อยที่สุด ดังนั้น ระบบ IS จึงเป็นกลไกที่จำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยลดการสั่นไหวเล็กๆ น้อยๆ นอกจากนี้ การเคลือบฟลูออไรต์จะช่วยทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บนพื้นผิวด้านหน้าเลนส์ได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อใช้งานในสภาพแวดล้อมการถ่ายภาพที่สมบุกสมบัน ความสะดวกสบายที่มากขึ้นในการบำรุงรักษาหลังการถ่ายภาพเช่นนี้จึงสร้างความประทับใจให้อย่างมาก
ประเทศญี่ปุ่นคือหนึ่งในภูิมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่รวดเร็วมากที่สุดในโลก เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณที่แผ่นเปลือกโลกที่สำคัญ 4 ใน 10 แผ่นมาบรรจบกัน และเทือกเขา หิน และลักษณะทางธรรมชาติอื่นๆ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้งในช่วงหลายหมื่นปีที่ผ่านมา การนำเอาพื้นผิวที่สวยงามและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวแบบเหล่านี้ออกมาถ่ายทอดอย่างครบถ้วนคือสิ่งที่เลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงหวังที่จะพกพาเลนส์รุ่นนี้ไปในภารกิจต่างๆ เพื่อเก็บภาพรายละเอียดของวิวทิวทัศน์ทั่วประเทศญี่ปุ่น
ภาพถ่ายทั้ง 3 ภาพต่อไปนี้คือบันทึกการท่องเที่ยว ของผมในภูมิภาคคิวชู ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณภาพในการถ่ายทอดภาพอันยอดเยี่ยมของเลนส์รุ่นนี้
EOS 5DS R/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/250 วินาที, EV-0.3)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
การถ่ายภาพทิวทัศน์มหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาลในภาพเดียวโดยใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟที่เกินจริง
บรรยากาศยามเย็นที่เกาะอามามิ โอชิม่าในจังหวัดคาโกชิมะดูโดดเด่นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น หินปูนที่เคยมองเห็นได้ชัดก่อนหน้านี้จมลงใต้ผิวน้ำในชั่วพริบตา รายละเอียดของผิวน้ำที่ไหลผ่านเข้ามาจากมหาสมุทรเปิด พื้นผิวของก้อนหิน และท้องฟ้าที่แผ่ขยายลึกเข้าไปในภาพ รายละเอียดทั้งหมดเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในภาพเดียวด้วยเอฟเฟ็กต์ความบิดเบี้ยวเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริง ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ทางยาวโฟกัส 16 มม.
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของเลนส์มุมกว้างและวิธีใช้ประโยชน์จากเลนส์ชนิดนี้ได้ที่บทความต่อไปนี้
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 1: เอฟเฟ็กต์ภาพถ่าย
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพ
EOS 5DS R/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 28 มม./ Aperture-priority AE (f/18, 30 วินาที, EV±0)/ ISO 50/ WB: แสงแดด
การถ่ายทอดความสงบนิ่งและพลังของก้อนหินและทะเลไปพร้อมกัน
ภาพนี้ถ่ายที่อามาคุสะ เมียวเคนกาอุระ ในจังหวัดคุมาโมะโตะ สำหรับภาพนี้ ผมตั้งใจที่จะถ่ายทอดพื้นผิวของหินที่ถือกำเนิดจากพลังธรรมชาติตลอดระยะเวลาอันยาวนานให้ออกมาสมจริง ผมจึงลดขนาดรูรับแสงลงเหลือ f/18 ผสานกับการโฟกัสทั่วทั้งภาพ ในอีกทางหนึ่ง ผมเก็บภาพผิวน้ำทะเลที่สงบและราบเรียบโดยใช้การถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนาน 30 วินาที และแน่นอนว่าเนื่องจากการใช้เลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM ความละเอียดสูง ผมจึงสามารถถ่ายทอดความสงบนิ่งและพลังที่ตัดกันไปพร้อมกันได้
EOS 5DS R/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/50 วินาที, EV-0.7)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
การถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือในถ้ำที่มืดสลัวเกิดขึ้นได้ด้วยระบบป้องกันภาพสั่นไหว
ภาพนี้ถ่ายภายในถ้ำมืดในทาคาชิโนะ อามาโนะยะซุกะวาระในจังหวัดมิยาซากิ สถานที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีบริเวณค่อนข้างจำกัดซึ่งไม่สามารถใช้ขาตั้งกล้องได้ ผมจึงถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือ เพื่อบันทึกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ภายในถ้ำได้อย่างคมชัดและครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ผมตั้งค่ารูรับแสงไว้ที่ f/8 ส่วนความเร็วชัตเตอร์ที่ลดลงซึ่งเกิดจากรูรับแสงที่แคบลงนั้นจะถูกชดเชยด้วยกลไกป้องกันภาพสั่นไหว
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
EF16-35mm f/4L IS USM
โครงสร้างของเลนส์: 16 ชิ้นเลนส์ใน 12 กลุ่ม
ระยะการถ่ายภาพต่ำสุด: 0.28 ม.
ถ่ายภาพได้สูงสุด: 0.23 เท่า
อัตราส่วนฟิลเตอร์: φ77 มม.
เส้นผ่านศูนย์กลาง x ความยาวสูงสุด: ประมาณ φ82.6×112.8 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 615 กรัม
EOS 5DS R (เฉพาะตัวกล้อง)
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ GOTO จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography ในฐานะช่างภาพทิวทัศน์ที่มากประสบการณ์ เขาเผยแพร่คอลเลคชันภาพถ่ายที่มีชื่อว่า “Land Escapes” ในปี 2012 และได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายขึ้นหลายครั้งที่ Canon Gallery นับตั้งแต่ปี 2010 นอกจากนี้ เขายังฝากผลงานภาพถ่ายทิวทัศน์ในประเทศญี่ปุ่นไว้ในปฏิทิน Canon เมื่อปี 2015 อีกด้วย