พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #14: ตำแหน่งกล้องและมุมกล้อง
ตำแหน่งกล้องและมุมกล้องคือองค์ประกอบสองประการที่มีผลอย่างมากต่อภาพถ่าย เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพอย่างเห็นได้ชัด การใช้ตำแหน่งกล้องและมุมกล้องที่หลากหลายจะทำให้คุณได้เอฟเฟ็กต์ที่แตกต่างกันในภาพถ่ายของคุณ ในส่วนถัดไป เราจะไปดูตำแหน่งกล้องและมุมกล้อง ซึ่งแต่ละส่วนจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเด็นด้วยกัน (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)
ตำแหน่งกล้อง: ระดับที่ถือกล้องถ่าย
มุมกล้อง: ทิศทางที่ตั้งกล้องกับวัตถุที่ถ่าย
สิ่งที่ควรจดจำ
- คุณสามารถเปลี่ยนองค์ประกอบภาพของภาพถ่ายได้ตามตำแหน่งกล้องและมุมกล้อง
- ควรกำหนดตำแหน่งกล้องก่อนเลือกมุมกล้อง
ตำแหน่งกล้อง หมายถึง ระดับความสูงในการถือกล้องถ่ายที่สัมพันธ์กับพื้นดิน การถือกล้องในตำแหน่งปกติที่ระดับสายตาเรียกว่า ‘ระดับสายตา’ ส่วนการถือกล้องในตำแหน่งที่สูงกว่าระดับสายตาเรียกว่า ‘ระดับสูง’ และการถือกล้องในระดับต่ำกว่าสายตา เช่น เมื่อคุณอยู่ในท่านั่งยองๆ เรียกว่า ‘ระดับต่ำ’
มุมกล้อง หมายถึง ระดับองศาที่เล็งกล้องไปที่ตัวแบบ การเล็งกล้องในระดับแนวนอนไปทางตัวแบบเรียกว่า ‘มุมระดับสายตา การเล็งกล้องโดยหันหน้ากล้องลงเรียกว่า ‘มุมสูง’ และการเล็งกล้องโดยหันหน้ากล้องขึ้นเรียกว่า ‘มุมต่ำ’
ประการแรก เมื่อคุณลงมือถ่ายภาพ ให้สังเกตตัวแบบอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจว่าจะถ่ายภาพจากตำแหน่งใด จากนั้น จึงค่อยตัดสินใจเรื่องมุมกล้อง การเปลี่ยนตำแหน่งถ่ายภาพและมุมกล้องช่วยให้คุณได้องค์ประกอบภาพที่ต่างไปจากเดิม เพื่อเน้นถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของตัวแบบ คุณจำเป็นต้องมีแนวทางการนำเสนอภาพในมุมมองที่ต่างออกไป และปรับเปลี่ยนตำแหน่งและมุมกล้องให้สอดรับกัน
ตำแหน่งของกล้อง
ระดับสูง
ถือกล้องในระดับสูงโดยยกแขนขึ้นเหนือกว่าระดับสายตา หรือยื่นอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นโดยใช้วิธียืนบนสตูลหรือแท่นวางเท้า ตำแหน่งถ่ายภาพนี้จะช่วยเพิ่มความลึกให้กับแบ็คกราวด์ที่คุณถ่าย เมื่อใช้วิธีนี้ร่วมกับมุมสูงจะช่วยเน้นมุมมองเปอร์สเปคทีฟให้เด่นชัด
ระดับสายตา
นี่คือตำแหน่งถ่ายภาพมาตรฐานในระดับความสูงที่คุณมองผ่านช่องมองภาพขณะยืนถ่ายภาพ ดังนั้น ภาพที่ปรากฏจะเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่คุณเห็น และนำเสนอสภาพของตัวแบบที่คุณกำลังถ่ายได้อย่างสมจริงที่สุด อย่างไรก็ดี การถ่ายภาพจากตำแหน่งระดับสายตานี้ ภาพที่ได้จะให้ความรู้สึกธรรมดาไม่โดดเด่น
ระดับต่ำ
การถ่ายภาพระดับต่ำคือ การถือกล้องในตำแหน่งที่ต่ำกว่าระดับสายตาของคุณ เนื่องจากวิธีนี้เป็นการถ่ายภาพในมุมที่ต่างออกไปจากที่มองเห็นตามปกติ ภาพที่ได้จึงดูมีพลังและส่งผลกระทบต่ออารมณ์อย่างมาก เมื่อใช้วิธีนี้ร่วมกับมุมต่ำจะช่วยเน้นเอฟเฟ็กต์ให้ดูยิ่งใหญ่ขึ้น
มุม
มุมสูง
มุมสูงคือ มุมที่คุณเอียงกล้องลงต่ำไปทางตัวแบบ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่ามุมมองนกหรือเบิร์ดอายวิว เนื่องจากวิธีนี้สามารถเก็บภาพของตัวแบบได้ทั้งหมด ภาพที่ปรากฏจึงแสดงรายละเอียดและถ่ายทอดบรรยากาศโดยรอบที่คุณเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากภาพลักษณะนี้มักมีพื้นดินเป็นแบ็คกราวด์ คุณอาจต้องการปรับการเลือกแบ็คกราวด์ด้วยเช่นกัน
มุมระดับสายตา
การใช้มุมระดับสายตาเป็นวิธีถ่ายภาพมาตรฐานที่ช่างภาพถือกล้องในระดับความสูงเท่ากับระดับสายตาของคุณแบบตรงๆ ขณะที่คุณถ่ายภาพในระดับสายตาเดียวกันกับตัวแบบ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับสายตาของมนุษย์ทั่วไป ภาพที่ได้จะดูเป็นธรรมชาติและคุ้นเคย และสื่อถึงความรู้สึกที่มั่นคง
มุมต่ำ
การถ่ายภาพมุมต่ำคือ วิธีที่คุณเงยกล้องขึ้นด้านบนไปที่ตัวแบบ การถ่ายภาพตัวแบบที่มีความสูงหรืออยู่สูงจากมุมต่ำจะช่วยสร้างมิติความลึกและความน่าเกรงขาม และสื่อถึงความโดดเด่นและหนักแน่นของตัวแบบได้ เนื่องจากภาพลักษณะนี้มักใช้ท้องฟ้าเป็นแบ็คกราวด์ การปรับองค์ประกอบภาพจึงทำได้ง่าย
หากต้องการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมกล้อง โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ถ่ายภาพจากมุมสูงหรือมุมต่ำ?
แนวคิดที่เกี่ยวข้อง: การเปลี่ยนมุมมองเปอร์สเป็คทีฟ
(ซ้าย)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/30 วินาที, EV+0.3)/ ISO 160/ WB: อัตโนมัติ
การถ่ายภาพในระดับสายตา
เมื่อถ่ายภาพจากตำแหน่งนี้ สะพานแขวนจะดูมีระยะทางสั้นลงและสูญเสียมิติความลึกไป ทำให้ภาพที่ได้ดูธรรมดาและไม่สื่อถึงความหนักแน่นเท่าใดนัก
(ขวา)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/40 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
การถ่ายภาพในระดับต่ำ
ภาพนี้ถ่ายในระดับสายตาขณะอยู่ในท่านั่งยองๆ โดยไม่เปลี่ยนมุมกล้อง สะพานแขวนจึงดูมีระยะทางที่ยาวขึ้นตั้งแต่ต้นจนถึงปลายสะพาน ทำให้สื่อถึงมิติความลึกได้ดี
(ซ้าย)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/40 วินาที, EV+0.7)/ ISO 500/ WB: แสงแดด
การถ่ายภาพที่มุมระดับสายตา
เมื่อใช้การถ่ายภาพที่มุมระดับสายตา ภาพจะดูเป็นธรรมชาติและสมจริงคล้ายกับที่เห็นด้วยตาของตนเอง เอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟจะเห็นได้ไม่ชัดเจนนักหากคุณไม่เปลี่ยนมุมกล้อง
(ขวา)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/30 วินาที, EV+0.7)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
การถ่ายภาพมุมสูง
ฉันเอียงกล้องลงไปที่มุมต่ำกว่าระดับสายตา แต่มุมมองเปอร์สเปคทีฟที่ได้ดูเกินจริง บริเวณด้านหน้าของภาพดูกว้างขึ้นและระยะไกลสุดของภาพดูเล็กลง
การเปลี่ยนตำแหน่งของกล้องและมุมที่หันไปทางตัวแบบแม้เพียงเล็กน้อยจะช่วยเพิ่มมุมมองเปอร์สเปคทีฟ ซึ่งทำให้อารมณ์ของภาพเปลี่ยนไปอย่างมาก หากคุณถือกล้องตามปกติเช่นที่เคยทำหรือโดยใช้สัญชาตญาณ คุณมักถ่ายภาพในท่าทางที่สบายๆ โดยใช้ตำแหน่งระดับสายตาและมุมกล้องระดับสายตา การถ่ายภาพลักษณะนี้จะถ่ายทอดความเป็นธรรมชาติของภาพถ่าย และทำให้ภาพดูสมจริงมากยิ่งขึ้นก็จริง แต่หากนำวิธีนี้ไปใช้กับตัวแบบบางประเภทอาจทำให้ภาพดูค่อนข้างธรรมดาและไม่น่าสนใจ ดังนั้น ก่อนถ่ายภาพควรศึกษาตัวแบบของคุณให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อกำหนดตำแหน่งและมุมกล้องที่ดีที่สุดสำหรับถ่ายภาพ
หากต้องการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งกล้องและมุมกล้อง โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #7: ตำแหน่งของกล้อง (ระดับ) และมุมกล้องแตกต่างกันอย่างไร
ผลของมุมกล้องบนภาพถ่าย
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง