EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM: เลนส์ที่ถ่ายภาพนกได้อย่างยอดเยี่ยมสำหรับผู้เริ่มใช้งาน
EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM คือเลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้ขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา ที่สามารถถ่ายภาพคุณภาพสูงได้เทียบเท่าเลนส์ซีรีย์ L เราจะมาดูประสิทธิภาพของเลนส์รุ่นนี้ในการถ่ายภาพนกกัน (เรื่องโดย Gaku Tozuka)
EOS 80D/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 300 มม. (เทียบเท่า 480 มม.)/ Manual exposure (f/5.6, 1/3200 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM ขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา และคล่องตัวเป็นพิเศษ
การถ่ายภาพนกเป็นการเก็บภาพความงดงามตามธรรมชาติของนกในธรรมชาติ หากคุณเป็นผู้เริ่มต้นใช้กล้องเพื่อถ่ายภาพแนวนี้ คุณอาจเริ่มด้วยการมองหานกในธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กในสวนสาธารณะตามเขตเมือง เนื่องจากนกเหล่านั้นมักไม่ค่อยตื่นกลัวผู้คนที่อยู่ใกล้ เมื่อถ่ายภาพ เลนส์คลาส 300 มม. ถือเป็นตัวเลือกที่ดี และ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM ก็เหลือเฟือสำหรับการถ่ายภาพ และด้วยน้ำหนักเพียง 710 กรัม ผู้ใช้จึงสามารถใช้เลนส์เพื่อถ่ายภาพแบบถือด้วยมือได้อย่างง่ายดาย
ในฐานะช่างภาพนกมืออาชีพ ผมมักใช้เลนส์เดี่ยวซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 3 กิโลกรัม แต่หลังจากทดลองใช้ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM แล้ว ผมก็รู้สึกทึ่งกับคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้ การถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ เช่น ขนนกของตัวแบบทัดเทียมกับคุณภาพของเลนส์ในซีรีย์ L ที่ผมใช้งานอยู่เป็นประจำ
ผมยังพบว่าเลนส์ซูมนี้มีประโยชน์อย่างมากในการจัดองค์ประกอบภาพ เนื่องจากมีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา และจัดองค์ประกอบภาพได้หลากหลาย นอกจากถ่ายภาพขนนกในระยะใกล้แล้ว ผมยังสามารถถ่ายภาพแนวทิวทัศน์ที่มีนกดูตัวเล็กๆ อยู่ไกลจากกล้อง เพียงแค่ควบคุมวงแหวนซูมเท่านั้น แต่สิ่งที่ผมชื่นชอบมากที่สุดเกี่ยวกับเลนส์นี้คือ น้ำหนักที่เบาเหมาะสำหรับการถือกล้องถ่ายอย่างรวดเร็ว รูปแบบการถ่ายภาพเช่นนี้มีแนวโน้มทำให้ภาพเบลอเพราะปัญหากล้องสั่น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้สำหรับช่างภาพมืออาชีพ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากเลนส์ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM กลับยอดเยี่ยม เพราะคุณสมบัติ IS อันทรงพลังช่วยลดการสั่นไหวที่เกิดขึ้นกับกล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นกเป็นตัวแบบที่ว่องไวปราดเปรียวและไม่สามารถคาดเดาการเคลื่อนไหวได้ ด้วยเหตุนี้ เลนส์ที่รองรับ AF ความเร็วสูงจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งในเลนส์ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM มาพร้อมกับ Nano USM ด้วย AF ความเร็วสูง ผมสามารถเก็บภาพทุกเสี้ยววินาทีสำคัญได้อย่างทันท่วงที
สำหรับตัวแบบที่ท้าทายมากขึ้นในการถ่ายภาพนก เช่น นกสายพันธุ์หายากที่กำลังเกาะกิ่งไม้อยู่ในระยะไกล หรือนกล่าเหยื่อที่ตื่นกลัวง่าย เราจำเป็นต้องใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ อย่างไรก็ดี หากคุณวางแผนที่จะเริ่มถ่ายภาพนกในธรรมชาติในสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น สวนสาธารณะ เลนส์นี้เป็นตัวเลือกที่เหมาะเมื่อพิจารณาถึงปัจจัย เช่น คุณภาพของภาพ น้ำหนัก และราคา
EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM
โครงสร้างเลนส์: 17 ชิ้นเลนส์ใน 12 กลุ่ม
ระยะการถ่ายภาพต่ำสุด: 1.2 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.25 เท่า
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: φ67 มม.
ขนาด: ประมาณ φ80×145.5 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 710 กรัม
เลนส์ซูมเทเลโฟโต้รุ่นนี้โดดเด่นด้วยขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา และคุณภาพของภาพสูง และสามารถใช้กับกล้องฟูลเฟรมได้ อีกทั้งยังมาพร้อม Nano USM ที่ใช้ AF ความเร็วสูงในการถ่ายภาพนิ่ง รวมทั้งขับเคลื่อน AF ได้อย่างเงียบเชียบและราบรื่นในระหว่างถ่ายภาพเคลื่อนไหว เมื่อใช้กับกล้อง DSLR ขนาด APS-C เช่น EOS 77D และ EOS 800D เลนส์ให้มุมรับภาพเทียบเท่าทางยาวโฟกัสที่ 112 ถึง 480 มม.
ต่อไปนี้ผมจะอธิบายเพิ่มเติมถึงจุดแข็งที่ผมสัมผัสได้ในเลนส์รุ่นนี้
1. คุณภาพภาพถ่ายที่สูงในทุกระยะการซูมและมีสีเบลอน้อยมาก
EOS 80D/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 300 มม. (เทียบเท่า 480 มม.)/ Manual exposure (f/5.6, 1/3200 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ขยายภาพใหญ่ 100%
ตัวแบบที่เป็นเป้าหมายของผมคือนกกระเรียนคอขาวซึ่งโผบินอยู่บนท้องฟ้าอย่างสง่างาม ภาพที่ออกมามีคุณภาพดีเยี่ยมจนอาจเข้าใจผิดได้ง่ายว่าเป็นภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ในซีรีย์ L สิ่งที่ผมคิดว่าน่าทึ่งมากคือ ความสามารถในการแสดงรายละเอียดของผิวสีแดงรอบๆ ดวงตาของนก
2. ให้สีสันที่มีความเปรียบต่างสูงพร้อมช่วงโทนสีที่สดใส
EOS 80D/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 300 มม. (เทียบเท่า 480 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/320 วินาที, EV-1)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
คุณสมบัติที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเลนส์ตัวนี้คือ การถ่ายทอดความเปรียบต่างสูง ในตัวอย่างนี้ ภาพแสดงสีสันที่สวยงามของใบไม้ได้ตรงตามความเป็นจริงพร้อมกับให้ความเปรียบต่างที่สมดุล ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชม
3. คุณสมบัติ IS ที่น่าเชื่อถือช่วยให้ถือกล้องถ่ายที่ระยะเทเลโฟโต้ 300 มม. ได้
EOS 80D/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 300 มม. (เทียบเท่า 480 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/200 วินาที, EV-0.7)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อใช้เลนส์กับกล้อง DSLR ขนาด APS-C เช่น EOS 80D มุมรับภาพจะเทียบเท่าทางยาวโฟกัสสูงสุด 480 มม. จึงสามารถรักษาระยะห่างระดับปานกลางจากตัวแบบเพื่อไม่ให้นกตื่นกลัวได้ แม้ว่าสภาพแวดล้อมรอบๆ จะมืด แต่ภาพที่ออกมาดูคมชัดแม้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/200 วินาที เนื่องจากคุณสมบัติ IS อันทรงพลัง
4. ทำงานได้ดีในสภาพย้อนแสง จึงใส่แหล่งกำเนิดแสงไว้ในเฟรมภาพได้
EOS 80D/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 155 มม. (เทียบเท่า 248 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/2000 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ในภาพนี้ ผมพยายามเก็บภาพทั้งดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นและนกกระเรียนหมวกขาวในท้องฟ้า แม้สภาพการถ่ายจะมีแสงย้อนเต็มๆ และมีดวงอาทิตย์อยู่ในเฟรมภาพ แต่ยังไม่พบแสงแฟลร์หรือแสงหลอกเลย อีกทั้งหมอกในตอนเช้าก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ความเห็นของ Gaku Tozuka
A: คุณภาพของภาพ
B: ความเร็วของ AF
C: คุณสมบัติ IS
D: ดีไซน์
E: ราคา
ปกติผมมักใช้แต่เลนส์ซีรีย์ L เท่านั้น อันที่จริง เลนส์ที่ผมมีล้วนแต่เป็นเลนส์ซีรีย์ L ทั้งหมด เพราะในฐานะช่างภาพมืออาชีพ ผมต้องแน่ใจว่าคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้จะสม่ำเสมอ นี่จึงเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายที่ผมจะนำไปใช้งานกับภาพถ่ายที่ผมจะไม่นำไปใช้ แม้ว่าเลนส์จะมีน้ำหนักเบาและราคาไม่สูง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะให้ภาพถ่ายคุณภาพสูงในฉากทุกแบบ
อย่างไรก็ดี EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM ทำให้ผมรู้สึกทึ่งเป็นอย่างมาก เมื่อมองดูภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ชนิดนี้ ผมพลางนึกไปว่าเป็นภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ซีรีย์ L ไม่เพียงเท่านั้น ขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักค่อนข้างเบายังเป็นประโยชน์สำหรับการถือกล้องถ่ายภาพเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จุดสำคัญที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือคุณสมบัติ IS ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมจึงถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องกังวลว่ากล้องจะสั่นไหว นอกจากนี้ AF ยังมีความเร็วและความแม่นยำเพียงพอที่จะรับมือกับการเคลื่อนไหวที่คาดเดาไม่ได้ของนก ภาพของนกที่โผบินอยู่บนท้องฟ้าจึงน่าพึงพอใจมาก
เมื่อดูจากประสิทธิภาพข้างต้นแล้ว ผมจึงมั่นใจว่า EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM จะเป็นตัวช่วยที่เพิ่มความมั่นใจในการถ่ายภาพ สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกพกพาอุปกรณ์ถ่ายภาพไปมากๆ เช่น การถ่ายภาพที่ต้องเดินทางไปยังภูเขาหรือเกาะ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว ผมแนะนำให้ผู้เริ่มต้นถ่ายภาพนึกถึงเลนส์นี้เป็นตัวแรกหากต้องการถ่ายภาพนก
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้เช่นกัน: รีวิวเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM
หากต้องการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพนก โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
รีวิวการใช้งาน EOS-1D X Mark II ตอนที่ 1: โฟกัสที่แม่นยำและสมรรถนะการติดตามตัวแบบของ AF ที่น่าทึ่ง
รีวิวการใช้งาน EOS-1D X Mark II ตอนที่ 2: Dual Pixel CMOS AF โฟกัสสมบูรณ์แบบแม้ในฉากที่มืด
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1966 ที่จังหวัดไอชิ Tozuka เริ่มสนใจในการถ่ายภาพขณะเรียนอยู่ไฮสคูลปีที่ 3 และหัดถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติรวมทั้งชีวิตสัตว์ป่ามานับแต่นั้น เมื่ออายุ 20 ปี เขากลายมาเป็นผู้ที่สนใจการถ่ายภาพนกธรรมชาติอย่างจริงจัง หลังจากถ่ายภาพติดนกหัวขวานโดยบังเอิญ ผลงานของเขาจำนวนมากมายหลายชิ้นได้รับการเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เช่น นิตยสาร วารสาร หนังสือ ปฏิทิน และโฆษณาโทรทัศน์