ทำอย่างไรหากเจ้าบ่าวเขินอายเมื่ออยู่หน้ากล้องและเคล็ดลับอื่นๆ ในการถ่ายภาพงานแต่งงาน
EOS-1D X/ EF70-200mm f/2.8L IS II USM/ FL: 102 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/640 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: 4650K
ก่อนวันงานจริง
ไปพบกับคู่บ่าวสาว
งานของ Anzawa เริ่มต้นด้วยการพบปะพูดคุยก่อนจะลงมือถ่ายภาพ ซึ่งในการพูดคุยนั้น คู่บ่าวสาวจะแบ่งปันความคิดเห็นต่างๆ ให้เขาฟัง “คู่รักทุกคู่ต่างก็มีเรื่องราวอยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ รวมไปถึงเรื่องทางครอบครัวที่ผมไม่ทราบมาก่อนด้วย การได้คุยกับคู่บ่าวสาวก่อนถ่ายภาพช่วยให้ผมเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาและคิดหาวิธีถ่ายภาพที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาได้ และที่สำคัญที่สุดคือ สร้างเรื่องราวในงานแต่งงานให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพวกเขา”
Takenao Anzawa ไม่เพียงสร้างแนวคิดในการถ่ายภาพงานแต่งงานให้แก่คู่รักแต่ละคู่เท่านั้น แต่ยังทำให้แนวคิดเหล่านั้นเป็นจริงในรูปของภาพถ่ายคุณภาพสูงอีกด้วย
อย่ามองข้ามความสำคัญของการถ่ายภาพหลังการหมั้น
แน่นอนว่าเรื่องราวในงานแต่งงานนั้นเริ่มต้นจากการถ่ายภาพหลังการหมั้น (หรือที่เรียกกันว่า การถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง) สำหรับ Anzawa ภาพหลังการหมั้นคือสิ่งที่บันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวันของคู่รักในช่วงใกล้ถึงวันแต่งงาน และเก็บภาพความสัมพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคู่รักคู่นั้นไว้ ดังนั้น ภาพหลังการหมั้นของเขามักจะเป็นภาพในแนวสบายๆ โดยอาจเป็นภาพคู่รักที่ไปเดทกันหรือกำลังพักผ่อนที่บ้าน เนื่องจากภาพที่ถ่ายนั้นดูไม่มีพิธีรีตอง และควรจะสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของคู่รัก การลดความวิตกกังวลหรือความรู้สึกขัดเขินในการถ่ายภาพที่อาจเกิดขึ้นกับคู่บ่าวสาวก่อนถึงวันงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากนี้ การถ่ายภาพหลังการหมั้นยังเป็นการอุ่นเครื่องและการเตรียมตัวรูปแบบหนึ่งก่อนถ่ายภาพในวันงานจริงด้วย Anzawa กล่าวว่า “ผมจะสามารถเข้าใจถึงความเป็นคู่รักคู่นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อสไตล์และเนื้อหาในภาพที่ผมถ่ายในวันแต่งงานจริง”
EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/2.8L USM/ FL: 170 มม./ Manual exposure (f/3.5, 1/100 วินาที, EV±0)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
Anzawa มักถ่ายภาพหลังการหมั้นในสถานที่แห่งความทรงจำของคู่บ่าวสาว และยังเป็นวิธีที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์กับคู่บ่าวสาวอีกด้วย
เตรียมอุปกรณ์ของคุณให้พร้อม
Anzawa ใช้กล้องสองตัว โดยแต่ละตัวจะใช้เลนส์ที่แตกต่างกัน เขาจึงไม่ต้องคอยเปลี่ยนเลนส์หรือถอดการ์ดหน่วยความจำออก ซึ่งอาจทำให้พลาดโอกาสในการถ่ายภาพดีๆ ไป แฟลช Speedlite 600EX II-RT ก็เป็นอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่เขาขาดไปไม่ได้
กล้องตัวหลักของเขาคือ EOS-1D X ซึ่งเขามักใช้คู่กับเลนส์ EF70-200mm f/2.8L IS II USM เพื่อจับภาพสีหน้าของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคู่บ่าวสาว ส่วน EOS 5D Mark III ซึ่งเป็นกล้องอีกตัวหนึ่งของเขา มักจะใช้เลนส์ EF24-105mm f/4L IS II USM เขาใช้เลนส์นี้ในการถ่ายภาพพิธีแต่งงานและบรรยากาศในงานโดยรวม
นอกจากนี้ ยังมีเลนส์อีกสองตัวที่เขาพกติดตัวไปด้วย ได้แก่
- EF50mm f/1.2L USM: เมื่อเขาต้องการเอฟเฟ็กต์โบเก้
- TS-E90mm f/2.8: เมื่อเขาต้องการเบลอขอบชุดเจ้าสาวเพื่อให้ภาพดูมีความงดงามชวนฝันในระหว่างการถ่ายภาพสไตล์แฟชั่น
แฟลช Speedlite 600EX II-RT ใช้สำหรับการถ่ายภาพสิ่งของชิ้นเล็กๆ เช่น แหวน หรือเมื่อเขาต้องการปรับแสงและรูปร่างของเงาให้แสดงรายละเอียดของชุดเจ้าสาวได้อย่างชัดเจน เขาจะติดตั้งแฟลชลงบนขาตั้งขนาดเล็กและใช้รีโมทคอนโทรลแบบไร้สายเพื่อควบคุมแฟลชนอกตัวกล้อง
Anzawa จำกัดปริมาณอุปกรณ์ต่างๆ ที่พกติดตัวไปเพื่อให้ใส่ลงไปได้ในกระเป๋าใบเดียว ในภาพคืออุปกรณ์ของเขา ได้แก่ กล้อง EOS-1D X, EOS 5D Mark III (พร้อมแบตเตอรี่กริป BG-E11), เลนส์ซูมสองตัว (EF70-200mm f/2.8L IS II USM และ EF24-105mm f/4L IS II USM), เลนส์มาตรฐานหนึ่งตัว (EF50mm f/1.2L USM) และเลนส์ทิลต์-ชิฟต์หนึ่งตัว (TS-E90mm f/2.8) นอกจากนี้ เขายังพกแฟลช Speedlite 600EX II-RT ไปด้วย
การถ่ายภาพจริง: เคล็ดลับและเทคนิคที่สามารถทดลองใช้ได้ทันที
1. ช่วยให้เจ้าบ่าวผู้ไม่ชอบการถ่ายรูปรู้สึกผ่อนคลาย
หากเจ้าบ่าวเป็นคนขี้อายเมื่ออยู่หน้ากล้อง Anzawa แนะนำให้คุณถ่ายภาพเขาโดยไม่เห็นหน้า เช่น อาจถ่ายภาพเขาจากด้านหลัง หรือถ่ายเพียงแขนข้างเดียว เขาให้เจ้าบ่าวเลือกได้หากไม่ต้องการอยู่ในภาพ เพราะเจ้าบ่าวจะรู้สึกผ่อนคลายมากกว่าหากรู้ว่าตนเองสามารถเลือกได้
และเมื่อเจ้าบ่าวเริ่มผ่อนคลายลงแล้ว คุณอาจสามารถถ่ายภาพใบหน้าบางส่วนของเจ้าบ่าวได้ ในบางครั้ง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการบันทึกภาพสีหน้าที่เป็นธรรมชาติของเจ้าบ่าว Anzawa เล่าว่า บางครั้ง เจ้าบ่าวบอกเขาว่ารู้สึกประทับใจในภาพที่ได้เป็นอย่างมากจนถึงขั้นขนลุกเลยทีเดียว!
EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/2.8L USM/ FL: 70 มม./ Shutter-priority AE (f/2.8, 1/50 วินาที, EV±0)/ ISO 3200/ WB: อัตโนมัติ
หากเจ้าบ่าวไม่ต้องการอยู่ในภาพ อย่าพยายามกดดันเขา แต่ให้ถ่ายภาพโดยโฟกัสไปที่เจ้าสาวแทน Anzawa ตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าบ่าวหลายคนจะลดกำแพงลงและยอมให้คุณถ่ายภาพได้ในที่สุด
อ่านเคล็ดลับในการถ่ายภาพตัวแบบที่ขี้อายเพิ่มเติมได้ที่นี่และที่นี่
2. เลือกสถานที่ที่มีความหมายสำหรับการถ่ายภาพหลังการหมั้น
การไปถ่ายภาพในสถานที่ที่สวยงามนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่สำหรับ Anzawa ภาพที่ถ่ายในสถานที่ที่มีความสำคัญต่อคู่บ่าวสาวนั้นมีผลต่อจิตใจมากกว่า ดังนั้น เขาจึงมักเสนอว่าจะถ่ายภาพที่ไหนหลังจากได้พูดคุยกับคู่บ่าวสาวเป็นครั้งแรก
ยกตัวอย่างเช่น สำหรับคู่รักที่มีความสัมพันธ์ระยะไกล เขาจะเสนอให้ถ่ายภาพที่สนามบินซึ่งเป็นสถานที่ที่ทั้งคู่ได้กลับมาพบกันอย่างมีความสุข และยังใช้สถานที่เป็นสัญลักษณ์ได้อีกด้วย เช่น หากคู่รักชอบชมทิวทัศน์ยามค่ำคืนด้วยกัน เขาจะเสนอให้ถ่ายภาพในเวลากลางคืนโดยมีเขตอุตสาหกรรมเป็นพื้นหลัง ซึ่งจะทำให้ได้ฉากหลังที่สวยงามตระการตา
3. ใช้ทางยาวโฟกัสต่างๆ กันเมื่อถ่ายภาพในพิธีแต่งงาน
เมื่อพิธีการเริ่มต้นขึ้น ให้เตรียมถ่ายภาพตั้งแต่ตอนที่คู่บ่าวสาวเดินเข้ามาในพิธีจนกระทั่งพ้นออกไป และใช้กล้องทั้งสองตัวสลับกันเมื่อจำเป็น หากคุณใช้ระยะเทเลโฟโต้หรือระยะมุมกว้างอย่างเหมาะสม คุณจะได้ภาพโคลสอัพของผู้คนที่ดูตระการตา ทั้งยังได้ภาพที่มองเห็นภาพรวมของฉากทั้งหมดด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือการมีมุมมองที่หลากหลาย
ตัวอย่างเช่น ในพิธีแต่งงานดังภาพด้านล่าง Anzawa เริ่มถ่ายภาพด้วยการใช้มุมกว้างเพื่อให้มองเห็นแขกในเฟรมในขณะที่เขาถ่ายภาพเจ้าบ่าวเดินมาตามทางเดินด้วยความเขินอาย จากนั้นเขาเปลี่ยนมาใช้ระยะเทเลโฟโต้เพื่อถ่ายภาพใบหน้าของเจ้าบ่าวที่ดูประหม่าและตื่นเต้นแบบโคลสอัพ หลังจากนั้น เขากลับไปใช้ระยะมุมกว้างอีก เพื่อถ่ายภาพที่คุณเห็นด้านล่าง ซึ่งพ่อของเจ้าสาวกำลังนำตัวเจ้าสาวไปส่งให้เจ้าบ่าวท่ามกลางแขกที่มาร่วมเป็นสักขีพยาน
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (f/11, 1/100 วินาที, EV+0.67)/ ISO 200/ WB: 4600K
คุณจะต้องเปลี่ยนกล้องที่ใช้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการถ่ายภาพเสี้ยววินาทีสำคัญ Anzawa จึงใช้วิธีห้อยกล้องตัวหนึ่งไว้ที่คอและสะพายกล้องอีกตัวหนึ่งพาดไหล่ไว้
Roberto Valenzuela ช่างภาพงานแต่งงานมือรางวัลนั้นก้าวนำไปอีกขั้นโดยให้คำแนะนำว่า “คิดอย่างนักถ่ายทำภาพยนตร์” อ่านเพิ่มเติมได้ที่
3 เคล็ดลับเพื่อยกระดับการถ่ายทอดเรื่องราวในงานแต่งงาน (และเหตุผลที่ EOS R ช่วยคุณได้)
4. คำนึงถึงแสงโดยรอบเพื่อให้ได้แสงในยามค่ำคืนที่ดูเป็นธรรมชาติ
เมื่อคุณถ่ายภาพในสถานที่สวยๆ ตอนกลางคืน คุณมักจำเป็นต้องใช้แฟลช แต่ถ้าหากใช้อย่างไม่เหมาะสม ภาพของคุณจะดูไม่เป็นธรรมชาติ
วิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงปัญหานี้คือ ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำและคำนึงถึงแสงโดยรอบ “จะมีความเร็วชัตเตอร์ระดับหนึ่งที่แสงจากแฟลชและแสงโดยรอบผสมผสานกันได้อย่างลงตัว” Anzawa กล่าว ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะการถ่ายภาพ แต่ถ้าคุณสามารถหามันพบ คุณจะได้ภาพที่สว่างพอและดูเป็นธรรมชาติ และหากคุณถือกล้องได้มั่นคง จะไม่เกิดการสั่นของกล้องมากนักแม้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/80 วินาที
อ่านเคล็ดลับการจัดแสงจาก Anzawa เพิ่มเติมได้ที่บทความต่อไปนี้
2 เทคนิคจัดแสงด้วยไฟดวงเดียวง่ายๆ สำหรับภาพพอร์ตเทรตงานแต่งงานกลางวัน/กลางคืนที่สวยงาม
การถ่ายภาพงานแต่งงานในร่มโดยใช้แสงที่มีอยู่: เทคนิคง่ายๆ 3 ข้อ
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้เช่นกัน:
ถ่ายภาพพอร์ตเทรตยามค่ำคืนให้สวยงามโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องและแฟลช
EOS-1D X/ EF70-200mm f/2.8L USM/ FL:100 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/60 วินาที, EV±0)/ ISO 1600/ WB: 5025K
เมื่อใช้แฟลชเสริมและควบคุมความเร็วชัตเตอร์ คุณจะสามารถถ่ายภาพโดยใช้ประโยชน์จากแสงโดยรอบได้
สิ่งที่ Anzawa รักมากที่สุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพงานแต่งงานคือ ความสนุกที่เขาได้รับเมื่อสามารถถ่ายภาพให้ออกมาเกินความคาดหมายของลูกค้า เขาหวังว่าเคล็ดลับเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างภาพงานแต่งงานมีความสุขกับการถ่ายภาพในงานแต่งงานได้มากขึ้น และถ่ายภาพที่สวยงามซึ่งจะกลายมาเป็นความทรงจำอันล้ำค่าของคู่บ่าวสาว
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเคล็ดลับและเทคนิคจากช่างภาพงานแต่งงานอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่บทความต่อไปนี้
Roberto Valenzuela: การจะเป็นช่างภาพงานแต่งงานมือหนึ่งนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง
หยุดเวลาเพื่อบันทึกภาพความรักไปกับ Ivan Natadjaja (ฉบับภาษาอังกฤษ)
ภาพงานแต่งงานผ่านเลนส์ของ Nguyen Long
การถ่ายภาพงานแต่งงาน:สัมภาษณ์ Raymond Phang
การถ่ายภาพงานแต่งงานที่แปลกไปจากเดิม
การถ่ายภาพงานแต่งงาน: เคล็ดลับจากผู้รอบรู้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดในปี 1975 Anzawa เติบโตมาพร้อมกับการได้เห็นผู้เป็นพ่อทำงานเป็นช่างภาพในสตูดิโอถ่ายภาพของครอบครัว แรงบันดาลใจในการเดินตามรอยเท้าพ่อทำให้เขาลาออกจากมหาวิทยาลัยและเข้าเรียนที่สถาบัน Nippon Photography Institute หลังจบการศึกษา เขาได้ทำงานที่บริษัท Hakuhodo Creative, Inc. (ปัจจุบันมีชื่อว่า Hakuhodo Products, Inc.) เป็นระยะเวลาไม่กี่ปี ด้วยความหวังที่จะถ่ายภาพงานแต่งงานอย่างจริงจังยิ่งขึ้น เขาจึงเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในปี 2006 และได้กลายเป็นลูกศิษย์ของศิลปินสาขาทัศนศิลป์ Shinichi Maruyama เมื่อเดินทางกลับมา เขาจึงก่อตั้ง An’z Photography (“Anz Photo” ตั้งแต่ปี 2009) ต่อมาในปี 2012 เขามีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมช่างภาพงานแต่งงานแห่งญี่ปุ่น ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งประธานคนปัจจุบัน ในเวลาที่ไม่ได้ถ่ายภาพงานแต่งงาน Anzawa เป็นอาจารย์ประจำที่สถาบัน Nippon Photography Institute