3 คุณสมบัติของกล้องสำหรับการจัดการรายละเอียดของภาพบริเวณสว่างและโทนน้ำหนักกลาง
การรักษาและฟื้นฟูรายละเอียดจากบริเวณสว่างอาจทำได้ยาก พอถึงเวลาที่คุณจะใช้คอมพิวเตอร์ปรับแต่งภาพ ก็สายเกินไปแล้วที่จะแก้ไขบริเวณสว่างที่สว่างโพลน! ในบทความนี้ เราจะมาบอกเล่าคุณสมบัติที่มีประโยชน์สองข้อซึ่งจะช่วยรักษารายละเอียดของบริเวณสว่าง และคุณสมบัติอีกหนึ่งข้อที่จะปรับโทนน้ำหนักกลาง ซึ่งในบางฉากสามารถช่วยทำให้รายละเอียดดูโดดเด่นขึ้นมาได้ (เรื่องโดย: Takashi Karaki, Kazuo Nakahara, Digital Camera Magazine)
1. เตือนบริเวณสว่างโพลน
หาการตั้งค่านี้ได้ที่: เมนู PLAY
ช่องมองภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EVF) มีประโยชน์อย่างมากในการช่วยคุณประเมินระดับแสง และช่องมองภาพที่มีความละเอียดสูงเช่นรุ่นที่มีในกล้องระบบ EOS R ระดับสูง จะทำให้มองเห็นฉากได้สว่างและชัดเจนเป็นพิเศษ แต่ในบางสถานการณ์ก็อาจยังคงเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ในโทนสีและหลีกเลี่ยงแสงสว่างโพลนที่ไม่จำเป็น ปัญหานี้สามารถแก้ไขด้วยการเปิดใช้งานการเตือนบริเวณสว่างโพลน หรือที่เรียกกันว่า “แสงกะพริบ” หรือ “ลายม้าลาย”
เมื่อคุณเปิดดูภาพ บริเวณใดก็ตามที่มีแสงสว่างโพลนจะกะพริบเป็นสีดำ นับเป็นเครื่องมือที่ดีที่ควรเปิดใช้งานตลอดเวลา เพื่อให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนการตั้งค่าที่จำเป็นและถ่ายภาพใหม่ได้ทันที!
ข้อควรรู้: หากกล้องของคุณไม่มีคุณสมบัติการเตือนบริเวณสว่างโพลน ก็ไม่ต้องกังวลไป ในโหมดดูภาพ ให้กดปุ่ม INFO เพื่อสลับไปยังหน้าจอที่แสดงฮิสโตแกรม แล้วคุณจะเห็นการเตือนบริเวณสว่างโพลน แม้ภาพที่ปรากฏจะเล็กลง!
2. เน้นโทนภาพบริเวณสว่าง
หาการตั้งค่านี้ได้ที่: เมนู SHOOT
อีกหนึ่งคุณสมบัติที่มีประโยชน์ในการรักษารายละเอียดภาพบริเวณสว่างคือ ‘เน้นโทนภาพบริเวณสว่าง’ ซึ่งใช้สะดวกเป็นพิเศษสำหรับฉากที่มีแสงจากด้านหลังและฉากอื่นๆ ที่มีความเปรียบต่างเด่นชัด เมื่อตั้งค่าเป็น ‘ใช้งาน’ หรือ ‘เพิ่มขึ้น’ แล้ว คุณสมบัตินี้จะจำกัดโทนสีในบริเวณสว่าง จึงลดโอกาสที่จะเกิดแสงสว่างโพลน
เมื่อพูดถึงเรื่องแสงสว่างโพลน การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ย่อมดีกว่าการแก้ไขทีหลัง ฟังก์ชั่น ‘เน้นโทนภาพบริเวณสว่าง’ จะรักษารายละเอียดของบริเวณสว่างในฉากที่มีความเปรียบต่างสูงดังเช่นในภาพนี้
ข้อควรรู้: เมื่อเปิดฟังก์ชั่น ‘เน้นโทนภาพบริเวณสว่าง’ ความไวแสง ISO ขั้นต่ำจะอยู่ที่ 200 และอาจมีจุดรบกวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในบริเวณที่มืด แต่ถือว่ายังคงมีประโยชน์อยู่ เพียงแต่ต้องระมัดระวังเวลาถ่ายภาพ
ดูว่าช่างภาพนกใช้ฟังก์ชั่นเน้นโทนภาพบริเวณสว่างเพื่อคงรายละเอียดของขนนกสีขาวได้ใน:
นกโผบิน: การตั้งค่ากล้องเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการถ่ายภาพ
3. ความคมชัด
หาการตั้งค่านี้ได้ที่: เมนู SHOOT
คุณอาจจะคุ้นเคยกับแถบเลื่อนปรับความคมชัดในซอฟต์แวร์ปรับแต่งภาพ ฟังก์ชั่นนี้จะทำให้รายละเอียดดูชัดเจนขึ้นและคมชัดมากขึ้นด้วยการเพิ่มความเปรียบต่างบริเวณขอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่มีโทนน้ำหนักกลาง ซึ่งมีประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับฉากหลายประเภท เช่น การถ่ายภาพดวงดาวหรือทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่มีความละเอียด
ปัจจุบัน ฟังก์ชั่นนี้เป็นคุณสมบัติในกล้อง EOS ระดับสูงรุ่นใหม่ๆ เช่น EOS-1D X Mark III, EOS R5 และ EOS R6 ซึ่งช่วยให้คุณสามารถดูตัวอย่าง เปรียบเทียบ และปรับเปลี่ยนเอฟเฟ็กต์ได้ทันทีโดยไม่ต้องนำเข้าไฟล์เข้าซอฟต์แวร์ปรับแต่งภาพ คุณอาจพบว่าฟังก์ชั่นนี้ให้ผลลัพธ์ที่ดูราบรื่นมากกว่าซอฟต์แวร์ที่คุณใช้เป็นประจำ!
มีระดับเอฟเฟ็กต์ให้เลือกแปดระดับ การเลื่อนแถบเลื่อนไปทางซ้ายจะทำให้ภาพดูนุ่มนวลยิ่งขึ้น และการเลื่อนแถบเลื่อนไปทางขวาจะทำให้ขอบภาพดูเด่นชัดและชัดเจนกว่าเดิม
เอฟเฟ็กต์ของแถบเลื่อนความคมชัด
ความคมชัด: -2
ความคมชัด: 0
ความคมชัด: +2
ในภาพฉากเขตอุตสาหกรรมยามค่ำคืนนี้ การตั้งค่าความคมชัดไปที่ +2 ขับเน้นผิวสัมผัสของโลหะ แต่การลดระดับเอฟเฟ็กต์ทำให้ผิวสัมผัสดูแนบเนียนกว่าเดิม
ดูตัวอย่างเอฟเฟ็กต์การปรับความคมชัดได้ใน:
ทำไมกล้อง EOS R5 ถึงเป็นกล้องในอุดมคติสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ของผม
---
กล้องของคุณคือเครื่องมือในการถ่ายภาพ และการคุ้นเคยกับคุณสมบัติของกล้องอาจทำให้คุณถ่ายภาพได้ดียิ่งขึ้น! ค้นพบคุณสมบัติที่คุณอาจพลาดไปได้ในบทความต่อไปนี้:
การตั้งค่ากล้อง 7 แบบที่ช่วยให้ถ่ายภาพได้ราบรื่นขึ้นแต่มักถูกมองข้าม
5 การตั้งค่าพื้นฐานของกล้อง EOS R5/ EOS R6 ที่ปรับแต่งได้ตามต้องการตั้งแต่ต้น
หรือทบทวนความรู้พื้นฐานได้ใน:
จุดโฟกัส: พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย
หลังจากผ่านประสบการณ์การเป็นโค้ชกีฬา ต่อด้วยการทำงานในแวดวงการผลิตนิตยสารและบรรณาธิการมาเป็นเวลา 10 ปี Karaki ก็ย้ายไปยังเมืองโยนาโงะในจังหวัดท็อตโตริ ซึ่งเขาได้กลายเป็นที่รู้จักจากผลงานการถ่ายภาพทิวทัศน์ในภูมิภาคซันอินของญี่ปุ่น ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน จุลสาร Amazing Village ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านสวยๆ ในญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือ CANON × Discover Japan ในปี 2017 และภาพทะเลหมอกที่ช่องเขาอาเคชิในจังหวัดท็อตโตริก็เป็นหนึ่งใน 12 ภาพที่ได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ให้เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น
Instagram: @karakky0918