เทคนิคการถ่ายภาพมาโคร: การสร้างพื้นที่ว่างและความลึกลวงตา
รู้หรือไม่ว่าการใช้ความเปรียบต่างและโบเก้อย่างได้ผลจะช่วยเพิ่มมิติพื้นที่ว่างและความลึกในภาพมาโครได้ ช่างภาพทิวทัศน์ GOTO AKI จะมาบอกเล่าให้ทราบกัน (เรื่องโดย: GOTO AKI, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark III/ EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ FL: 100 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/250 วินาที, EV -1.3)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
หยดน้ำที่ปลายใบเฟิร์นคือตัวแบบหลักของภาพถ่ายด้านบน แต่ผมก็อยากสื่อถึงมิติพื้นที่ว่างและความลึกด้วย และต่อไปนี้คือวิธีที่ผมใช้ในการถ่ายภาพ
ขั้นตอนที่ 1: ใส่ส่วนที่มืดไว้ในแบ็คกราวด์ แล้วใช้ความเปรียบต่างเพื่อดึงดูดสายตาไปทางด้านหลัง
คนเรามักจะสนใจส่วนที่สว่างก่อน จากนั้นจะเปลี่ยนไปสนใจส่วนที่มืดกว่า เมื่อใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้แล้ว เราจะสามารถใช้ความเปรียบต่างในภาพเพื่อสร้างมิติพื้นที่ว่างได้
A: ส่วนที่มืด
B: ส่วนที่สว่าง
สำหรับภาพด้านบน ผมจับโฟกัสไปที่หยดน้ำที่ผมต้องการให้เป็นตัวแบบหลัก แล้วจัดองค์ประกอบภาพในเฟรมเพื่อให้แบ็คกราวด์ส่วนใหญ่ดูมืด วิธีนี้จะสร้างความเปรียบต่างที่ช่วยดึงดูดสายตาจากด้านหน้าไปด้านหลัง
เอฟเฟ็กต์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากแบ็คกราวด์เป็นสีเขียวสดทั้งหมด เนื่องจากจะไม่มีสิ่งใดมา “ขยับ” เส้นนำสายตาและภาพจะดูแบนมากขึ้นมากด้วย
เคล็ดลับ: แนวคิดนี้ยังเป็นเหตุผลที่คุณควรให้ความสนใจกับเงาเมื่อถ่ายภาพตัวแบบที่สว่าง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีใช้สีเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์แบบต่างๆ ได้ในบทความ:
ทำความเข้าใจทฤษฎีสี: คู่มือที่เป็นมิตรกับช่างภาพ
ควรใช้สีสันอย่างไรเพื่อดึงความสนใจไปที่ตัวแบบ
ขั้นตอนที่ 2: เพิ่มความลึกด้วยการวางตัวแบบไว้ระหว่างโบเก้ในแบ็คกราวด์กับในโฟร์กราวด์
การใช้โบเก้ในแบ็คกราวด์และในโฟร์กราวด์ร่วมกันจะช่วยกระตุ้นจินตนาการของผู้ชม และยังสามารถสร้างมิติความลึกได้อีกด้วย
ควรใช้ค่า f ที่ค่อนข้างกว้าง แต่เพียงพอที่จะรักษาตัวแบบหลักให้อยู่ในโฟกัส โดยปกติแล้ว เราสามารถใช้ค่าใดก็ได้ตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุดไปจนถึงค่าประมาณ f/5.6 สำหรับภาพนี้ ผมใช้ f/3.5 จับโฟกัส (และตัวแบบ) ที่ระยะมิดเดิลกราวด์ แล้วภาพที่ได้ควรมีทั้งโบเก้ในโฟร์กราวด์และในแบ็คกราวด์ซึ่ง “ประกบ” ตัวแบบอยู่ ทำให้ภาพดูมีความลึกมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้
เคล็ดลับที่ไม่ควรพลาดจากมืออาชีพในการเพิ่มความลึกให้กับภาพ
เคล็ดลับ: เลนส์มาโครเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างเอฟเฟ็กต์นี้เนื่องจากคุณสามารถใช้เลนส์ชนิดนี้ถ่ายภาพโคลสอัพ และระยะชัดตื้นที่ได้ก็ช่วยให้ง่ายต่อการจัดสิ่งต่างๆ ให้อยู่นอกโฟกัส!
หากต้องการทราบเคล็ดลับและบทเรียนเกี่ยวกับการถ่ายภาพมาโคร โปรดอ่านบทความเหล่านี้:
การถ่ายภาพมาโครในสภาพแสงน้อย: การป้องกันปัญหากล้องสั่นไหว
บทเรียน: ดอกไม้ที่สะท้อนบนหยดน้ำ
ภาพมาโครชวนน้ำลายสอ: ศิลปะแห่งการถ่ายภาพอาหารแบบโคลสอัพ
เรียนรู้วิธีอื่นๆ ในการควบคุมการดึงความสนใจของผู้ชมได้ใน:
การจัดองค์ประกอบภาพที่มีประสิทธิภาพ: ดึงความสนใจไปยังกบตัวจิ๋วในดอกไม้
สร้างฉากตระการตาด้วยเส้นนำสายตาระยะเทเลโฟโต้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "LAND ESCAPES" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "water silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation