ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: เปลี่ยนภาพถ่ายให้เป็นภาพเขียนสีน้ำแนวแอ็บสแตรกต์
การหาวิธีใหม่ๆ ในการถ่ายภาพสถานที่ที่คุ้นเคยอาจเป็นเรื่องยาก แต่หากลองคิดนอกกรอบสักเล็กน้อย คุณอาจพบว่าคำตอบนั้นง่ายดายกว่าที่คาดไว้ Toshiki Nakanishi ช่างภาพทิวทัศน์จะมาอธิบายรายละเอียดให้เราฟังว่าเขาสร้างเอฟเฟ็กต์ที่ดูเหมือนพู่กันระบายสีน้ำในภาพนี้ได้อย่างไรโดยยังคงความสวยงามของสีฟ้าและเขียวของบ่อน้ำสีฟ้าอันมีชื่อเสียงของฮอกไกโดเอาไว้ (เรื่องโดย: Toshiki Nakanishi, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark IV/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 400 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1.3 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
บ่อน้ำสีฟ้า (ฉบับภาษาอังกฤษ) ในบิเอะ ฮอกไกโดได้กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเราถ่ายภาพสถานที่เช่นนี้ เรามักจะถ่ายภาพเพื่อรักษาและแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดอันเป็นเสน่ห์ของสถานที่เหล่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณได้ถ่ายภาพในสถานที่แห่งเดิมหลายๆ ครั้ง คุณจะรู้สึกว่าอยากให้ภาพต่อไปมีความพิเศษมากกว่าเดิมสักเล็กน้อย
นี่คือวิธีที่ช่างภาพอีกท่านหนึ่งใช้ในการถ่ายภาพบ่อน้ำสีฟ้าในฤดูหนาว:
2 ภาพฤดูหนาวอันงดงามในบิเอะ ฮอกไกโด (พร้อมเคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพ)
ขั้นแรก - โยนความคิดเดิมๆ ทิ้งไปก่อน
ผมต้องการถ่ายภาพบ่อน้ำสีฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะตัวและสามารถถ่ายทอดสีฟ้าสดใสออกมาได้
ด้วยความเป็นช่างภาพทิวทัศน์ เรามักจะถ่ายภาพโดยตั้งใจให้เห็นรายละเอียดของฉากได้ชัดเจน กฎอัน “เป็นที่รู้กัน” นี้คือสิ่งแรกที่ผมต้องการจะฝ่าฝืน ผมจึงตัดสินใจว่าจะถ่ายภาพให้มีสีสันเต็มทั้งเฟรมแทน
ผมยังคงต้องการให้ภาพแสดงรายละเอียดของทิวทัศน์อยู่ แต่เพียงแค่ให้ผู้ชมรับรู้ได้ถึงสถานที่เท่านั้น
เมื่อได้แนวคิดดังนี้ ผมจึงขยับกล้องไปด้วยในขณะที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ผลลัพธ์คือภาพนี้ซึ่งผสมผสานสีฟ้าของบ่อน้ำเข้ากับสีสันของต้นไม้จนเกิดเป็นเอฟเฟ็กต์เหมือนภาพเขียนสีน้ำแนวแอ็บสแตรกต์
เคล็ดลับ: ผมต้องลองใช้ความเร็วชัตเตอร์และทิศทางการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างภาพเบลอที่แตกต่างกันอยู่หลายครั้งจึงจะได้เอฟเฟ็กต์ที่ต้องการ
จุดสำคัญในรายละเอียด
อุปกรณ์และการตั้งค่า
เลนส์: เลนส์ซูมเทเลโฟโต้ เนื่องจากผมต้องการให้ทั้งเฟรมเต็มไปด้วยสีสันของบ่อน้ำ
ตำแหน่งและมุมการถ่ายภาพ: ผมติดตั้งอุปกรณ์ไว้ที่ริมบ่อน้ำเพื่อให้เลนส์ชี้ลงไปยังผิวน้ำ ภาพหลักนี้ถ่ายโดยขยับกล้องขึ้นลง
ทำไมต้องใช้ขาตั้งกล้อง: ผมต้องการสร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียว และขาตั้งกล้องจะช่วยให้ขยับกล้องในแนวตรงได้อย่างมั่นคง
เคล็ดลับ: หัวขาตั้งกล้องแบบสามทิศทางหรือแบบหัวบอลจะช่วยให้คุณขยับกล้องไปมาได้ง่าย หากคุณใช้ขาตั้งกล้องแบบหัวบอล อาจขยับกล้องเป็นแนวเส้นตรงได้ยากกว่า แต่นั่นก็อาจทำให้คุณได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจเช่นกัน
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้เช่นกัน:
การเริ่มต้นถ่ายภาพทิวทัศน์: 5 สิ่งที่ควรทราบ
เทคนิค: ทดลองใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่างๆ กัน โดยเน้นให้เห็นสีสันแต่ยังคงรายละเอียดไว้เล็กน้อย
นอกจากสีสันต่างๆ แล้ว ผมยังต้องการให้ภาพสื่อถึงการเคลื่อนไหวด้วย นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมจึงต้องขยับกล้องและสร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวในระหว่างเปิดรับแสง
ผมลองถ่ายภาพโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่แตกต่างกัน และพบว่าภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วประมาณ 1 วินาทีนั้นใกล้เคียงกับภาพที่ผมต้องการสร้างสรรค์มากที่สุด เพราะมีความสมดุลระหว่างความเป็นจริงกับจินตนาการที่ผมต้องการถ่ายทอดออกมาในภาพ ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่านี้ทำให้สีกลมกลืนกันมากเกินไปจนผู้ชมไม่อาจทราบได้ว่าฉากจริงๆ คืออะไร
อย่างไรก็ตาม ความเร็วชัตเตอร์แต่ละแบบอาจเหมาะกับฉากที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือให้ทดลองใช้ความเร็วและทิศทางการเคลื่อนไหวในแบบต่างๆ
ข้อควรรู้: ความแตกต่างของความเร็วชัตเตอร์เพียงไม่กี่มิลลิวินาทีก็มีความหมาย!
ความแตกต่างของความเร็วชัตเตอร์เพียงไม่กี่มิลลิวินาทีและการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของกล้องสามารถทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมากในภาพที่ได้ ในภาพที่ถ่ายด้วยความเร็ว 1.6 วินาทีด้านบน ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวที่เด่นชัดกว่าทำให้สีฟ้าและเขียวอันสดใสเปื้อนไปด้วยสีน้ำตาลของต้นไม้
เคล็ดลับ: หากมีความสว่างมากเกินไป ให้ใช้ฟิลเตอร์ ND
การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำในวันที่มีแดดจ้าอาจทำให้ภาพของคุณดูสว่างเกินไป คุณควรพกฟิลเตอร์ ND ติดตัวไว้สำหรับสถานการณ์เช่นนี้ ฟิลเตอร์ ND 3 สต็อป (ฟิลเตอร์ ND8) นับว่าเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพในฉากทั่วไปส่วนมาก หากฟิลเตอร์ทำให้ความเร็วชัตเตอร์ของคุณต่ำเกินไป ให้เพิ่มความไวแสง ISO เพื่อเป็นการชดเชย
หากคุณเป็นมือใหม่ในการถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ลองอ่านบทความพื้นฐานต่อไปนี้
การตั้งค่ากล้องเพื่อใช้ถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์ต่ำที่ยอดเยี่ยม
เรียนรู้เทคนิคอื่นๆ ในการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำอย่างสร้างสรรค์ได้ที่:
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: การใช้ระเบิดซูมเพื่อเปลี่ยนดวงดาวบนท้องฟ้าให้เป็นฝนดาวตก
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: การสร้างภาพเบลอแบบหมุนที่เหนือจริง
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: 3 เคล็ดลับอันยอดเยี่ยมในการถ่ายภาพโดยใช้เทคนิคการวาดภาพด้วยแสง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1971 ในโอซาก้า หลังจากศึกษาการถ่ายภาพด้วยตัวเอง Nakanishi ย้ายสถานที่ดำเนินกิจกรรมถ่ายภาพของตนไปยังเมือง Biei ที่อำเภอ Kamikawa-gun ในฮอกไกโด นอกจากถ่ายภาพทิวทัศน์ที่โฟกัสที่แสงเป็นหลักแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นถึงความงามของธรรมชาติในจินตนาการอีกด้วย เขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้า PHOTO OFFICE ของ atelier nipek