การตั้งค่ากล้องเพื่อใช้ถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์ต่ำที่ยอดเยี่ยม
โดยพื้นฐานแล้ว การถ่ายภาพช่วยให้เราเก็บภาพสิ่งต่างๆ ในแบบที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่า แต่นั่นอาจไม่เพียงพอที่จะเก็บภาพมุมมองบางอย่างในฉาก ตัวอย่างเช่น คุณจะถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับคนที่กำลังวิ่งอย่างรวดเร็วได้อย่างไร เพราะการใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดจะไม่สื่อถึงการเคลื่อนไหวหรือความเร็ว ต่อไปนี้คือสองเทคนิคในการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าว รวมถึงเคล็ดลับบางประการในการใช้งานให้เกิดประโยชน์ที่สุด (บรรณาธิการโดย studio9)
ภาพนักวิ่งบนลู่วิ่งที่ถ่ายแบบแพนกล้อง
เทคนิคที่ 1: ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเมื่อวัตถุเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วสัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์ (เวลาการเปิดรับแสง) ของกล้องจนเกิดเป็นภาพเบลอ ภาพเบลอนี้อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญพร้อมกับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เมื่อตัวแบบบุคคลเคลื่อนที่ในช่วงที่ลั่นชัตเตอร์พอดี แต่คุณสามารถใช้เอฟเฟ็กต์แบบเดียวกันนี้ให้เกิดประโยชน์ได้ เพียงควบคุมความเร็วชัตเตอร์ ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวก็จะเป็นเครื่องมือในการแสดงถึงการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี
เทคนิคนี้ค่อนข้างง่าย เพียงคุณตั้งเป้าหมายที่จะ
- ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าเพียงพอจนกระทั่งทำให้ตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหวดูเบลอและสร้างความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว
- ทำให้แบ็คกราวด์ดูนิ่งและคมชัด เพราะหากทั้งตัวแบบที่เคลื่อนไหวและแบ็คกราวด์ดูเบลอ ภาพจะดูหลุดโฟกัส
FL: 35 มม./ f/6.3/ 1/8 วินาที/ ISO 125
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ในภาพนี้คือ 1/8 วินาที ซึ่งช้ากว่าความเร็วแนะนำที่ 1/10 วินาที เล็กน้อย
ควรตั้งค่าพื้นฐานอะไรบ้างเพื่อสร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
โหมดการถ่ายภาพ: โหมด Tv
ในการสร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว คุณจำเป็นต้องควบคุมความเร็วชัตเตอร์ โหมดการระบุค่าความเร็วชัตเตอร์ (โหมด TV) ช่วยให้คุณสามารถกำหนดความเร็วชัตเตอร์ด้วยตัวเอง ขณะที่กล้องตั้งค่ารูรับแสงอัตโนมัติ
ความเร็วชัตเตอร์: ลองเริ่มต้นที่ 1/10 วินาที
ความเร็วชัตเตอร์ที่จะใช้ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเคลื่อนที่ของตัวแบบรวมถึงความชอบส่วนตัวเป็นอย่างมาก แต่หากคุณไม่แน่ใจว่าจะเริ่มที่ค่าไหนดี ให้ลองใช้ 1/10 วินาที
จากประสบการณ์เราพบว่าความเร็ว 1/10 วินาทีจะสร้างภาพเบลอได้อย่างเพียงพอ แม้ว่าตัวแบบกำลังเดินอยู่ก็ตาม ในขณะเดียวกันก็น่าจะเร็วเพียงพอที่จะทำให้คุณสามารถเก็บภาพแบ็คกราวด์นิ่งๆ ได้ ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่า
- ระบบป้องกันภาพสั่นไหว (โหมด IS) เปิดอยู่
- จับถือกล้องอย่างมั่นคง และ
- ไม่ใช้เลนส์ในระยะเทเลโฟโต้ (ทางยาวโฟกัสมีความสำคัญ ซึ่งเราจะอธิบายเหตุผลให้ทราบในภายหลัง)
จากนั้น คุณสามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ได้ตามที่จำเป็น หากคุณคิดว่าภาพออกมาเบลอเกินไป ลองปรับความเร็วชัตเตอร์ให้เร็วขึ้น 1 สต็อป (1/13 วินาที) และหากคุณต้องการให้ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ให้ลดความเร็วลง 1 สต็อป (1/8 วินาที)
ความไวแสง ISO: ใช้ ISO อัตโนมัติหากคุณไม่แน่ใจ
การได้ระดับแสงที่เหมาะสมเมื่อใช้โหมด Tv อาจเป็นเรื่องยากเล็กน้อย หากคุณไม่มั่นใจที่จะใช้งานหรือรู้สึกไม่คุ้นเคยกับแนวคิดเรื่องความไวแสง ISO เท่าใดนัก คุณก็สามารถตั้งความไวแสงเป็น “อัตโนมัติ” ได้ และหากคุณเป็นผู้กำหนดการตั้งค่าด้วยตนเอง โปรดระวังอย่าปรับค่าจนเกินขีดจำกัดการปรับระดับแสงอัตโนมัติ
การโฟกัส: โฟกัสล่วงหน้า จากนั้นล็อคโฟกัส
FL: 24 มม./ f/22/ 1/8 วินาที/ ISO 160
การโฟกัส: โฟกัสไปที่แบ็คกราวด์หรือโฟกัสล่วงหน้าไปยังจุดที่ตัวแบบจะเคลื่อนผ่านไป
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ในภาพนี้คือ 1/8 วินาที (FL: 24 มม.) คุณจะเห็นว่าพื้นถนนจะนิ่ง ในขณะที่ขาของคนที่เดินไปมาจะเบลอ ในภาพนี้ ผมใช้เทคนิคโฟกัสล่วงหน้า โดยประเมินว่าตัวแบบจะผ่านไปที่จุดใด จากนั้นปรับโฟกัสของกล้องไปที่จุดดังกล่าว ล็อคโฟกัสโดยกดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง จากนั้นจึงลั่นชัตเตอร์เมื่อตัวแบบเคลื่อนมายังจุดนั้น อีกวิธีหนึ่งคือจับโฟกัสไปที่แบ็คกราวด์ ตัวแบบจะเบลอเนื่องจากการเคลื่อนไหว
เคล็ดลับ: อย่าเข้าใจผิดว่า 1/10 วินาทีคือ 10 วินาที
กล้องบางรุ่นจะไม่แสดงตัวเลขเศษส่วนเป็น 1/10 วินาที แต่แสดงเพียงแค่เลข 10 เท่านั้น ส่วน 10 วินาทีจะแสดงเป็น 10” (สังเกตเครื่องหมายอัญประกาศข้างหลัง) โปรดระวังอย่าสับสน
ทำอย่างไรให้ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวดูสวยงามขึ้น
การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำจะเพิ่มโอกาสในการเกิดปัญหากล้องสั่น เมื่อทุกสิ่งดูเบลอจึงยากที่จะบอกได้ว่าภาพเคลื่อนไหวนั้นเบลออย่างตั้งใจหรือไม่ เพราะภาพดูไม่คมชัดทั้งภาพ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการป้องกันปัญหากล้องสั่นไหวจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการได้ภาพเบลอสวยๆ จากการเคลื่อนไหว
1. ตั้งกล้องให้มั่นคงอยู่เสมอ หาตำแหน่งการถ่ายที่มั่นคงและใช้ขาตั้งกล้องหากจำเป็น
2. กดปุ่มชัตเตอร์อย่างนุ่มนวล คุณอาจลองพิจารณาใช้การตั้งเวลาถ่ายภาพหรือรีโมทสวิตช์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเปิดรับแสงนานขึ้น
3. ทางยาวโฟกัสมีความสำคัญ ยิ่งคุณถ่ายภาพระยะไกลมากขึ้นเท่าใด ยิ่งมีโอกาสสูงขึ้นที่จะเกิดปัญหากล้องสั่น และเพื่อป้องกันปัญหานี้ เราขอแนะนำให้ใช้ช่วงทางยาวโฟกัสระหว่าง 24 ถึง 50 มม. เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม. (16 ถึง 35 มม. ในกล้องที่มีเซนเซอร์ APS-C)
FL: 85 มม./ f/32/ 1/10 วินาที/ ISO 199
ผมถือกล้องถ่ายภาพนี้ การใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/10 วินาทีนับว่าเพียงพอที่จะเบลอสายน้ำไหลจากน้ำพุและน้ำตก และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดูเนียนตาขึ้น ผมอาจถ่ายที่ความเร็วชัตเตอร์ 1 วินาที ซึ่งควรใช้ขาตั้งกล้องจึงจะเหมาะที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้ทางยาวโฟกัสที่มากขึ้นเช่น 85 มม.
ต่อไปเป็นตัวอย่างเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้ด้วยภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
การถ่ายภาพกีฬา: วิธีเน้นความเร็วโดยการถ่ายทอดความสงบนิ่งตัดกับการเคลื่อนไหว
[เทคนิคขั้นสูง] ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: การสร้างภาพเบลอแบบหมุนที่เหนือจริง
เทคนิคที่ 2: การแพนกล้อง
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคในระดับสูงขึ้นอีกเล็กน้อย โดยเป็นการทำให้ตัวแบบดูค่อนข้างคมชัดขณะที่คุณเบลอแบ็คกราวด์ ซึ่งจะตรงข้ามกับเทคนิคก่อนหน้านี้ เทคนิคนี้เราเรียกว่า “การแพนกล้อง”
FL: 33 มม./ f/2.8/ 1/10 วินาที/ ISO 2500
ควรตั้งค่าพื้นฐานอะไรบ้างสำหรับการแพนกล้อง
การตั้งค่ากล้อง: ใช้การตั้งค่าเดียวกับเทคนิคภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
เช่นเดียวกับเทคนิคภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว เริ่มแรกคุณอาจใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/10 วินาที ซึ่งเป็นค่าที่ผมใช้ถ่ายภาพนักวิ่งด้านบน (FL: 33 มม.)
คุณอาจจำเป็นต้องฝึกฝนเพิ่มอีกสักนิด เนื่องจากเทคนิคการแพนกล้องต้องอาศัยความสามารถเชิงเทคนิคเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แม้ว่าคุณจะยังไม่สามารถทำได้ในทันที ก็อย่าเพิ่งหมดหวัง ขอให้หมั่นฝึกฝนต่อไป
หัวใจสำคัญอยู่ที่เทคนิค: ขยับกล้องให้พร้อมกับตัวแบบ
การแพนกล้องเป็นการขยับกล้องไปตามตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ แม้ฟังดูง่าย แต่เทคนิคนี้ต้องใช้ความนิ่งและการประสานงานอย่างมาก หากต้องการอ่านคำแนะนำอย่างละเอียดเกี่ยวกับระยะการถ่ายภาพที่คุณควรใช้และวิธีขยับกล้อง โปรดดูที่ ฉันจะถ่ายภาพแบบแพนกล้องได้อย่างไร
หากความเร็วของตัวแบบเท่ากับความเร็วที่คุณขยับ (แพน) กล้องพอดี ตัวแบบที่เคลื่อนไหวจะหยุดนิ่งและแบ็คกราวด์ที่หยุดนิ่งจะดูเบลอ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการสร้างความรู้สึกถึงความเร็ว
การโฟกัส: โฟกัสที่ตัวแบบ ใช้โหมดโฟกัสล่วงหน้าหรือการติดตาม AF
เทคนิคนี้แตกต่างจากเทคนิคภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว เนื่องจากคุณต้องการทำให้ตัวแบบดูค่อนข้างคมชัด ดังนั้น คุณต้องจับโฟกัสที่ตัวแบบ
การจับโฟกัสทันทีไปที่ตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหวอาจเป็นเรื่องยากพอสมควร ดังนั้นมีสองวิธีที่คุณสามารถทำได้ นั่นคือ
ตัวเลือกที่ 1 ใช้เทคนิคโฟกัสล่วงหน้าเหมือนที่คุณใช้สร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
ขั้นตอนที่ 1: คาดเดาจุดที่ตัวแบบจะเคลื่อนผ่านไป จากนั้นจับโฟกัสที่จุดดังกล่าว
ขั้นตอนที่ 2: กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งขณะที่รอให้ตัวแบบเข้ามาใกล้ หากวิธีนี้ทำได้ยาก ให้เปลี่ยนโหมดกล้องเป็น MF (แมนนวลโฟกัส) ซึ่งจะล็อคโฟกัสไว้ไม่ให้เปลี่ยนไป
ขั้นตอนที่ 3: เมื่อตัวแบบเคลื่อนมาที่จุดดังกล่าว ให้กดปุ่มชัตเตอร์ลงเต็มที่
ตัวเลือกที่ 2: ใช้ฟังก์ชั่นการติดตาม AF ในกล้อง (AI Servo AF หรือ Servo AF ในกล้อง Canon)
วิธีนี้จะใช้ได้ผลดีเพียงใดขึ้นอยู่กับกล้องของคุณและฉาก หากคุณใช้กล้องไฮเอนด์รุ่นใหม่ๆ คุณจะสามารถปรับแต่งลักษณะเฉพาะในการติดตามให้เหมาะกับตัวแบบและฉากได้ดีขึ้น เพราะในกล้องรุ่นเก่าบางรุ่น การติดตามอาจทำงานได้ไม่ดีนักในฉากบางฉาก หากคุณพบปัญหาในการโฟกัสด้วยวิธีนี้ ให้กลับไปที่ตัวเลือกที่ 1:
FL: 47 มม./ f/13/ 1/10 วินาที/ ISO 1250
ปลาที่อพยพย้ายถิ่น เช่น ปลาทูน่าและปลาสำลีญี่ปุ่น ว่ายในทิศทางที่ตายตัวด้วยความเร็วคงที่ การมีความรู้ในเรื่องนี้จะช่วยให้คุณโฟกัสล่วงหน้าและถ่ายภาพโดยการแพนกล้องได้ง่ายขึ้น
ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง
แม้แต่ช่างภาพที่มีความชำนาญในการถ่ายภาพแบบแพนกล้องยังพบว่าการหยุดวัตถุที่เคลื่อนไหวด้วยการถ่ายภาพครั้งเดียวนั้นทำได้ยาก การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงจำนวนมากจึงช่วยได้มากทีเดียว
เคล็ดลับ: ถ่ายภาพในมุมกว้างขึ้นเล็กน้อยในครั้งแรก และจากนั้นค่อยตัดบางส่วนของภาพออก เพื่อเผื่อพื้นที่ของภาพไว้เมื่อคุณแพนกล้อง
ทำอย่างไรให้ถ่ายภาพแบบแพนกล้องได้สวยขึ้น
1. ไม่ใช่แค่ขยับกล้องด้วยมือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายของคุณตั้งแต่ช่วงเอวลงไปพร้อมกับให้มือและศีรษะอยู่นิ่งๆ ด้วย เพื่อให้ตำแหน่งถ่ายภาพมั่นคงขึ้น
2. ฝึกการเคลื่อนไหวด้วยการแพนกล้องของคุณให้สอดคล้องกับตัวแบบ
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ได้ภาพแบบแพนกล้องที่สวยงาม แต่ต้องใช้การฝึกฝนอย่างมากเช่นกัน อย่ากังวลเกินไปเกี่ยวกับการลองจัดองค์ประกอบภาพแบบต่างๆ ในทีแรก เพียงแค่ลองจัดให้ตัวแบบอยู่ที่กึ่งกลางก่อน การหมั่นฝึกฝนจะทำให้คุณประสบความสำเร็จในที่สุด
FL: 105 มม./ f/22/ 1/10 วินาที/ ISO 50
ผมไม่สามารถติดตามตัวแบบได้เหมือนกับที่ต้องการในภาพด้านบน แต่คุณคงเห็นแล้วว่าแม้ว่าจะใช้การถ่ายภาพแบบแพนกล้อง ภาพอีกาก็ยังดูน่าสนใจ ผมถ่ายภาพนี้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ปกติที่ 1/10 วินาที (105 มม.) สิ่งที่คุณสามารถทำได้ด้วยความเร็วดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก
อ่านบทความเหล่านี้เพื่อดูตัวอย่างเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำได้ด้วยการแพนกล้อง:
เคล็ดลับการแพนกล้องสำหรับการถ่ายภาพที่สื่อถึงการเคลื่อนไหวของนกป่าที่กำลังโผบิน
ฉันจะใช้การแพนกล้องเป็นวงกลมเพื่อสร้างภาพที่โดดเด่นไม่ซ้ำใครได้อย่างไร
วิธีถ่ายภาพกีฬาเอ็กซ์ตรีมให้สวยงามที่สุด
การแก้ไขปัญหา: ปัญหาความเร็วชัตเตอร์ต่ำโดยทั่วไปและวิธีการแก้ไข
1. ค่า f กะพริบสว่างและดับ
หากใช้โหมด Tv อยู่ นั่นหมายความว่าความเร็วชัตเตอร์ที่คุณตั้งไว้สูงเกินไป คุณอาจจำเป็นต้องตั้งค่ารูรับแสงให้อยู่นอกช่วงของกล้องเพื่อให้ได้ระดับแสงที่เหมาะสม
โหมด Tv ช่วยให้คุณสามารถตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้อยู่ในช่วงความเร็วชัตเตอร์ของกล้อง (1/4000 วินาทีถึง 30 วินาทีในกล้องส่วนใหญ่) ไม่ว่าถ่ายภาพในสภาพแวดล้อมแบบใด หากคุณกำลังถ่ายภาพโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ นั่นหมายความว่ากล้องจะปล่อยให้คุณตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำมากๆ ได้ ซึ่งจะทำให้แสงเข้าสู่กล้องมากเกินไปและทำให้ภาพสว่างจ้า
ซึ่งคุณอาจมีคำถามว่า “กล้องจะตั้งค่า f ที่เหมาะสมเพื่อควบคุมระดับแสงไม่ใช่หรือ” แม้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง แต่ก็อาจมีแสงเข้าสู่เลนส์มากเกินไปจนค่า f ต่ำสุดไม่เพียงพอ ในกรณีเช่นนี้ ค่า f ที่แสดงขึ้นในช่องมองภาพและบนหน้าจอ LCD จะกะพริบสว่างและดับ
หมายเหตุ: กรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นเช่นกันหากคุณตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์เร็วเกินไปจนค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ภาพดูมืดทึบ
สิ่งที่ต้องทำ:
ลองลดความไวแสง ISO อย่างไรก็ดี วิธีนี้อาจยังคงไม่ได้ผล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม อีกวิธีหนึ่งคือ ใช้ฟิลเตอร์ ND ที่เหมาะสม ซึ่งจะลดปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์ โดยช่วยให้คุณสามารถตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลงได้
2. ความเร็วชัตเตอร์ไม่ช้าลงไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม
ปัญหานี้มักเกิดในวันที่แดดจ้าขณะที่ใช้โหมด Tv เมื่อมีแสงเข้าสู่เลนส์มากเกินไป กล้องจะไม่ให้คุณตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้ช้ากว่าค่าระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นความพยายามของกล้องในการป้องกันไม่ให้ภาพถ่ายดูสว่างโพลน
สิ่งที่ต้องทำ:
เมื่อเกิดปัญหาข้างต้น ให้ลองใช้ฟิลเตอร์ Neutral Density (ND) เคล็ดลับ: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีฟิลเตอร์ที่พอดีกับเส้นผ่านศูนย์กลางเลนส์
เกี่ยวกับฟิลเตอร์ ND
ฟิลเตอร์ ND มีหลากหลายชนิด และช่วยลดปริมาณแสงในระดับที่ต่างกัน หากคุณกำลังใช้ฟิลเตอร์ ND เป็นครั้งแรก ฟิลเตอร์ ND8 คือตัวเลือกที่เหมาะมาก เพราะจะช่วยลดปริมาณแสงลงเท่ากับความเร็วชัตเตอร์ 3 สต็อป นั่นคือ คุณจะถ่ายภาพได้ที่ 1/60 วินาทีเท่านั้นหากไม่ใช้ฟิลเตอร์นี้ แต่หากมีฟิลเตอร์ คุณจะถ่ายภาพได้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ถึง 1/8 วินาที ซึ่งความเร็ว 3 สต็อปนับว่าเพียงพอสำหรับฉากส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน
เมื่อซื้อฟิลเตอร์ ND ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าฟิลเตอร์พอดีกับเส้นผ่านศูนย์กลางเลนส์ของคุณ คุณสามารถซื้อฟิลเตอร์ที่พอดีกับเลนส์ใหญ่ที่สุดของตัวเอง แล้วใช้วงแหวน Step-down เพื่อแปลงให้ใช้ได้กับเลนส์ที่มีขนาดเล็กกว่า แต่วิธีนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาบางอย่างได้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!