เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ให้มุมมองที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้ถ่ายภาพกีฬา ช่างภาพมือใหม่สามารถใช้ประโยชน์จากเลนส์ 70-200mm f/2.8L ได้หลายอย่าง แต่เมื่อคุณชำนาญขึ้น คุณจะรู้ว่ามีข้อจำกัดบางอย่างที่เลนส์เดี่ยวซูเปอร์เทเลโฟโต้อย่างเลนส์ 300 มม. และ 400 ม. สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ Yong Teck Lim (IG: @yongtecklim (ฉบับภาษาอังกฤษ)) ช่างภาพข่าวกีฬาและบรรณาธิการภาพ Getty Images ผู้เคยถ่ายภาพการแข่งขันกีฬามาแล้วทั่วโลก จะมาเล่าว่าทำไมเลนส์เดี่ยวซูเปอร์เทเลโฟโต้จึงเป็นเลนส์ที่ช่างภาพกีฬามืออาชีพขาดไม่ได้ (เรื่องโดย Yong Teck Lim และภาพถ่ายสำหรับ Getty Images)
1. เลนส์นี้ช่วยให้คุณมีทางเลือกในการถ่ายภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ขนาดใหญ่
ในฐานะช่างภาพกีฬา คุณย่อมต้องการถ่ายภาพที่น่าสนใจของนักกีฬาและจุดสูงสุดของการแข่งขันเสมอ หากคุณอยู่ในสถานที่เปิดโล่งขนาดใหญ่ เช่น สนามเบสบอลหรือสนามฟุตบอล แม้แต่เลนส์ 70-200 มม. ก็อาจอยู่ไกลเกินกว่าจะถ่ายภาพที่น่าประทับใจได้ ในจุดนี้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ (300 มม. ขึ้นไป) จะช่วยได้มาก
สำหรับกีฬาบางประเภทและในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อมีข้อจำกัดด้านการเว้นระยะห่างเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ช่างภาพอาจถูกจำกัดให้อยู่ในตำแหน่งการถ่ายภาพบนอัฒจันทร์ที่อยู่ห่างไกลและเคลื่อนไหวได้จำกัด ในกรณีนี้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ไม่เพียงแต่มีประโยชน์เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้อีกด้วย
©Yong Teck Lim/Getty Images
EOS-1D X Mark II/ EF400mm f/2.8 IS II USM @ f/2.8, 1/5000 วินาที, ISO 800
ในสนามเบสบอลที่ถ่ายภาพจากที่พักผู้เล่น ต้องใช้เลนส์ 400 มม. เพื่อซูมเข้าใกล้ผู้เล่นแต่ละคนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของสนาม
เคล็ดลับระดับมือโปร: การเข้าใกล้ตัวแบบได้มากขึ้นช่วยให้คุณถ่ายภาพได้คล่องตัวมากขึ้น
เมื่อใช้เลนส์เทเลโฟโต้ทั่วไป เช่น เลนส์ 70-200 มม. ในสถานที่ขนาดใหญ่ คุณมักจะต้องรอให้ฉากการเคลื่อนไหวขยับเข้ามาใกล้เพื่อถ่ายภาพให้ได้เต็มเฟรม ความสามารถของเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ในการครอปภาพได้แคบลงช่วยให้คุณควบคุมได้มากขึ้นว่าควรถ่ายอะไรและเมื่อใด ซึ่งจะช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่มีเอกลักษณ์มากขึ้น
ทำไมถึงไม่ครอปภาพหลังถ่าย
©Yong Teck Lim/Getty Images
EOS-1D X Mark II/ EF70-200mm f/2.8 IS III USM @ 200 มม., f/2.8, 1/5000 วินาที, ISO 800
ความเปรียบต่างระหว่างเนินขว้างลูกสีเบจกับสนามหญ้าสีเขียวช่วยเพิ่มองค์ประกอบแบบเรขาคณิตให้กับภาพถ่ายที่ระยะ 200 มม. นี้ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผมนึกอยากครอปภาพผู้เล่นให้ใกล้ขึ้น
ภาพถ่ายแบบโอเวอร์ครอป
ไม่ว่ากล้องจะมีกี่ล้านพิกเซล คุณก็สามารถครอปภาพได้ระดับหนึ่งเท่านั้นก่อนที่คุณภาพของภาพจะเริ่มลดลง ในภาพถ่ายแบบโอเวอร์ครอปนี้ คุณจะเห็นว่าเส้นเค้าโครงและรายละเอียดดูไม่ชัดเจน เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากๆ จะมีประโยชน์ในการถ่ายภาพสีหน้าท่าทางในแบบโคลสอัพได้ดียิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแต่รักษาคุณภาพของภาพเอาไว้ แต่ยังช่วยให้คุณติดตามผู้เล่นได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นอีกด้วย
ในบางครั้ง ระยะ 400 มม. ก็อาจไม่เพียงพอ
สำหรับสนามกีฬาขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ที่ผมเคยถ่ายในภูมิภาคนี้ เลนส์ 400 มม. ถือว่าเพียงพอแล้ว ผมแทบไม่ต้องใช้เลนส์ 600 มม. เลย ผมมักจะพกตัวแปลงเลนส์ (หรือที่เรียกกันว่า ท่อต่อเลนส์) ติดตัวไปด้วยเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการถ่ายภาพ
©Yong Teck Lim/Getty Images
EOS-1D X Mark II/ EF400mm f/2.8 IS II USM + ท่อต่อเลนส์ EF1.4x III @ 560 มม., f/4, 1/4000 วินาที, ISO 250
ตัวแปลงเลนส์ช่วยให้คุณเข้าใกล้ตัวแบบได้มากขึ้น แต่จะลดค่ารูรับแสงสูงสุดและความเร็ว AF ซึ่งเป็นการจำกัดความสามารถของคุณในการหยุดการเคลื่อนไหวภายใต้สภาวะแสงน้อย การมีเลนส์ความไวแสงสูงและกล้องที่สามารถถ่ายภาพที่คมชัดได้แม้จะใช้ความไวแสง ISO สูงเป็นวิธีที่ช่วยได้เสมอ
©Yong Teck Lim/Getty Images
EOS-1D X Mark II/ EF400mm f/2.8 IS II USM + ท่อต่อเลนส์ EF1.4x III @ 560 มม., f/4, 1/2000 วินาที, ISO 3200
ในบางครั้ง การใช้ตัวแปลงเลนส์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการถ่ายภาพให้สื่ออารมณ์อย่างที่คุณต้องการ สำหรับภาพนี้ ข้อจำกัดด้านตำแหน่งการถ่ายภาพทำให้ผมอยู่ห่างจากฉากความเคลื่อนไหวมากจนแม้จะถ่ายที่ระยะ 560 มม. ผมก็ยังต้องครอปภาพจนถึงขีดจำกัด โดยที่ด้านยาวที่สุดยาว 3000 พิกเซลซึ่งเท่ากับประมาณ 50% ของภาพต้นฉบับ
2. คุณภาพด้านความสวยงาม
เรามักจะชอบแบ็คกราวด์ที่ดูสะอาดตาในการถ่ายภาพกีฬา และวิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือการใช้โบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์เพื่อเบลอสิ่งรบกวนความสนใจออกไป เมื่อใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ เอฟเฟ็กต์การบีบอัดเทเลโฟโต้จะทำให้แบ็คกราวด์ใกล้ขึ้นและดูใหญ่ขึ้น* ซึ่งยังทำให้โบเก้ดูสวยงามขึ้นและภาพถ่ายโดยรวมดูดียิ่งขึ้น
*เมื่อเทียบกับเลนส์ที่สั้นกว่า ในกรณีที่ปัจจัยที่ส่งผลต่อโบเก้ปัจจัยอื่นๆ เช่น ระยะห่างระหว่างแบ็คกราวด์กับตัวแบบ ยังคงเหมือนเดิม
ถ่ายที่ระยะ 155 มม., f/2.8
©Yong Teck Lim/Getty Images
ถ่ายที่ระยะ 400 มม., f/2.8
©Yong Teck Lim/Getty Images
โบเก้ที่เด่นชัดในแบ็คกราวด์ช่วยให้แบ็คกราวด์ดูเรียบง่ายขึ้นและตัวแบบดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
3. เลนส์นี้เป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมในการสร้างความแตกต่างให้ตัวคุณเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับสายตา ทักษะ และประสบการณ์ที่เฉียบแหลม
หากทุกคนมีเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้และสามารถจับภาพความเคลื่อนไหวแบบเดียวกันได้ คุณจะทำให้ภาพถ่ายของตัวเองโดดเด่นได้อย่างไร คำตอบนั้นมาจากหลายองค์ประกอบร่วมกัน ซึ่งรวมถึงความเข้าใจในงานที่ได้รับมอบหมายและตัวแบบ ตลอดจนการฝึกฝนตัวเองให้มีสายตาและประสบการณ์ในเชิงสร้างสรรค์
วิธีนี้ใช้ได้แม้แต่ในกีฬาอย่างบาสเก็ตบอล ซึ่งโดยปกติเลนส์ 70-200 มม. ถือว่าเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพความเคลื่อนไหวทั่วไป เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้สามารถช่วยให้คุณมองเห็นภาพที่ต่างออกไป เช่น รายละเอียดและลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น
ภาพต่อไปนี้เป็นภาพส่วนหนึ่งที่เรามักจะถ่ายด้วยเลนส์ 70-200 มม. และภาพอื่นๆ ที่ถ่ายในการแข่งขันเดียวกันด้วยเลนส์ 400 มม. คุณสังเกตเห็นหรือไม่ว่าเลนส์ 400 มม. ช่วยเติมเต็มเลนส์ 70-200 มม. อย่างไร
จุดสูงสุดของการแข่งขันที่ระยะ 70 มม.
©Yong Teck Lim/Getty Images
ในสนามบาสเก็ตบอลนั้น การถ่ายภาพด้วยทางยาวโฟกัส 70 มม. ของเลนส์ 70-200 มม. เพียงพอแล้วที่จะหยุดการเคลื่อนไหวในเกมบนสนาม เหมือนภาพนี้ที่ LeBron James (ซ้าย) นักบาสเก็ตบอลชื่อดังระดับโลกกำลังเลี้ยงลูกผ่านคู่แข่งระหว่างเกม NBA
จับภาพอารมณ์ในระยะใกล้ที่ระยะ 400 มม.
©Yong Teck Lim/Getty Images
EOS-1D X/ EF400mm f/2.8 IS II USM @ f/2.8, 1/1200 วินาที, ISO 5000
ขณะที่ผมถ่ายภาพด้วยเลนส์ 70-200 มม. ผมสังเกตเห็นว่า LeBron กำลังครุ่นคิดอะไรบางอย่างกับตัวเอง สัญชาตญาณบอกให้ผมเข้าไปใกล้และแยกเขาออกมาจากองค์ประกอบอื่นๆ เนื่องจาก Lebron อยู่ไกลออกไปหลายฟุต เลนส์ 400 มม. ของผมจึงเหมาะมากสำหรับการจับภาพที่ผมต้องการไปจนถึงเหงื่อที่ไหลลงมาตามหน้าผากของเขา
ภาพความเคลื่อนไหวแบบเต็มตัวและครึ่งตัวที่ระยะ 200 มม.
©Yong Teck Lim/Getty Images
นักเทนนิส Evan King ตีลูกแบ็คแฮนด์
©Yong Teck Lim/Getty Images
Fabrizio Ornago กำลังเสิร์ฟ
สำหรับการแข่งขันเทนนิสในร่ม เลนส์ 70-200 มม. สามารถช่วยให้คุณได้ภาพครึ่งตัวถึงเต็มตัว ขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างผู้เล่นกับตำแหน่งการถ่ายภาพของคุณ
รายละเอียดที่ไม่เหมือนใครที่ระยะ 400 มม.
©Yong Teck Lim/Getty Images
EOS-1D X Mark III/ EF400mm f/2.8 IS II USM @ f/2.8, 1/1600 วินาที, ISO 4000
ด้วยทางยาวโฟกัส 400 มม. ผมสามารถเข้าใกล้ทรงผมที่สะดุดตาของ Evan King ได้…
©Yong Teck Lim/Getty Images
EOS-1D X Mark III/ EF400mm f/2.8 IS II USM @ f/2.8, 1/1600 วินาที, ISO 4000
…และองค์ประกอบภาพที่ไม่ธรรมดานี้ซึ่งแสดงให้เห็นเหงื่อที่กระเซ็นของ Fabrizio Ornago
เคล็ดลับระดับมือโปร: รู้จักเทคนิคของตัวเองให้ดี
ควรทำความคุ้นเคยกับเอฟเฟ็กต์ประเภทต่างๆ ที่สามารถใช้ได้กับสภาพแสง องค์ประกอบแบ็คกราวด์นั้นๆ ฯลฯ เพื่อให้ถ่ายภาพออกมาได้น่าประทับใจที่สุด ตัวอย่างเช่น ช่างภาพจำนวนไม่น้อยมองข้ามแสงย้อนจากด้านหลังเพราะถือว่าเป็นสภาพแสงที่ไม่ดี ทว่าแสงจากด้านหลังในภาพการแข่งเทนนิสด้านบนกลับช่วยให้ทรงผมของ King และเหงื่อของ Ornago ดูโดดเด่น การเข้าไปใกล้ตัวแบบทั้งสองนี้แสดงให้เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสร้างความแตกต่างจากภาพถ่ายความเคลื่อนไหวทั่วไป
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (3): ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
3 ขั้นตอนในการถ่ายภาพระยะใกล้อันน่าประทับใจของนักกีฬาขณะเคลื่อนไหว
เคล็ดลับการใช้งานเลนส์เดี่ยวซูเปอร์เทเลโฟโต้
1. ถ่ายภาพโดยเปิดตาทั้งสองข้างให้กว้าง และใช้ตาข้างที่ไม่ได้มองช่องมองภาพคอยจับตามองความเคลื่อนไหว
กำลังขยายของเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้จะทำให้ผู้ใช้มือใหม่บางคนรู้สึกเวียนหัว คล้ายกับความรู้สึกเวลาคุณใส่คอนแทคเลนส์หรือแว่นตาคู่ใหม่ครั้งแรก การมองหาตัวแบบและติดตามความเคลื่อนไหวผ่านมุมมองแบบขยายใหญ่ก็อาจเป็นเรื่องยากเช่นกัน
วิธีแก้ก็คือ เวลามองผ่านช่องมองภาพ ให้ฝึกตัวเองให้ลืมตาอีกข้างหนึ่งไว้และคอยจับตามองความเคลื่อนไหว แม้ว่าอาจต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างมากเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย แต่วิธีนี้ไม่เพียงช่วยแก้อาการวิงเวียนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณรับรู้ความเคลื่อนไหวในสนามตลอดเวลาเพื่อให้พร้อมที่จะกดชัตเตอร์ทันทีในช่วงเวลาสำคัญ เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว!
2. ใช้ขาตั้งกล้องแบบขาเดียวเมื่อมีโอกาส
รูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ทำให้เลนส์เดี่ยวซูเปอร์เทเลโฟโต้ระดับมืออาชีพมีความสามารถรอบด้าน แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เลนส์มีน้ำหนักมากเช่นกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้เลนส์รุ่นใหม่ๆ มีขนาดเล็กลง เบาขึ้น และจับถือได้ง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้นควรใช้ขาตั้งกล้องแบบขาเดียว ขาตั้งแบบขาเดียวพกพาสะดวกกว่าและเป็นที่นิยมมากกว่าขาตั้งแบบสามขา เนื่องจากมีกีฬาบางประเภทที่ช่างภาพสามารถเคลื่อนที่ไปรอบๆ ได้อย่างอิสระ
อ่านเคล็ดลับเกี่ยวกับการถ่ายภาพกีฬาอื่นๆ เพิ่มเติมที่:
วิธีถ่ายภาพกีฬาเอ็กซ์ตรีมให้สวยงามที่สุด
นักไตรกีฬากลางสายฝน: 2 เทคนิคเพื่อถ่ายทอดบรรยากาศความตึงเครียดและความเร็ว
การถ่ายภาพกีฬา: วิธีเน้นความเร็วโดยการถ่ายทอดความสงบนิ่งตัดกับการเคลื่อนไหว
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เป็นนักข่าวมัลติมีเดียและผู้คลั่งไคล้กีฬา Yong Teck ก้าวเข้าสู่วงการถ่ายภาพวารสารศาสตร์เป็นครั้งแรกในฐานะนักศึกษาการถ่ายภาพวารสารศาสตร์โดยทำงานให้กับเว็บไซต์ข่าวกีฬา Red Sports ซึ่งเขารับหน้าที่ถ่ายภาพในงานกีฬาท้องถิ่น หลังจบการศึกษาพร้อมปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการสื่อสารจาก SUNY Buffalo ในฤดูใบไม้ผลิปี 2015 แล้ว เขาได้ร่วมงานกับสำนักข่าวมากมาย เช่น Getty Images, Associated Press และ Reuters รวมถึงองค์กรต่างๆ อย่าง Fédération Equestre Internationale, Red Bull, Lagardère Sports and Entertainment, Singapore National Olympic Council และ Sport Singapore