4 สิ่งสำคัญในการถ่ายภาพใต้น้ำให้สวยงามน่ารักท่ามกลางสีสันใต้ท้องทะเลลึก
วิธีการจัดแสงของคุณสามารถเปลี่ยนโทนสีของภาพถ่ายใต้น้ำได้ ต่อไปนี้คือวิธีที่ช่างภาพคนหนึ่งใช้แสงในการถ่ายภาพใต้น้ำให้ดูสวยงามน่ารัก ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงฝูงปลาถูกแต่งแต้มด้วยโทนสีเขียวน้ำเงินอ่อนโดยไม่ต้องใช้ฟิลเตอร์ (เรื่องโดย: Yasuaki Kagii)
EOS 5D Mark III/ EF35mm f/1.4L USM/ FL: 35 มม./ Manual Exposure (f/2.5, 1/200 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ รูปแบบภาพ: ทิวทัศน์
ผมรู้สึกทึ่งที่ได้เห็นฝูงปลาสีเขียวอมฟ้าแหวกว่ายในน้ำอย่างอิสระ และอยากเก็บภาพบรรยากาศในฉากนี้อย่างเที่ยงตรง โดยพยายามรักษาความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในภาพ ผมเลือกบริเวณที่มีผืนทรายตื้นๆ ซึ่งมีน้ำทะเลสีฟ้าจางๆ อันเนื่องมาจากแสงแดดที่ส่องลงมา จากนั้นจึงใช้แฟลชที่มีความเข้มของแสงต่ำ เพื่อให้ได้โทนสีที่ต้องการ
จุดสำคัญที่ 1: การใช้แสง – ถ่ายภาพฝูงปลาโดยใช้แสงที่ส่องลงมาโดยตรง
แสงจากแฟลชช่วยให้คุณแสดงสีสันในภาพถ่ายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าการถ่ายทอดสีสันที่คุณมองเห็นด้วยตาเปล่านั้นมีความแม่นยำมากที่สุด ให้ใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาโดยตรง คุณควรพยายามถ่ายภาพในบริเวณน้ำตื้นซึ่งแสงแดดส่องถึง
แสงที่ส่องโดยตรงไม่เพียงพอ
EOS 5D Mark III/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 17 มม./ Manual exposure (f/8.0, 1/40 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ/ รูปแบบภาพ: ทิวทัศน์
ตะกรับฟ้า-เขียวเป็นปลาที่มีสีฟ้าอ่อน แต่เมื่ออยู่ใต้น้ำในบริเวณที่แสงส่องลงไปไม่ถึง ปลาจะไม่ดูเป็นสีฟ้า
จุดสำคัญที่ 2: สถานที่ถ่ายภาพ - บริเวณที่เป็นผืนทรายจะสะท้อนแสง ควรนำมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่
ผืนทรายใต้น้ำบางแห่งจะสะท้อนแสงได้ดีมากจนทำให้กลายเป็นสถานที่ถ่ายภาพที่สว่างกว่าบนบก ควรมองหาพื้นที่ลักษณะนี้และนำมาใช้ประโยชน์ เพราะจะช่วยให้คุณแสดงโทนสีฟ้าในภาพได้อย่างสวยงาม
ไม่ใช่เฉดสีฟ้าที่ต้องการ
EOS 5D/ EF100mm f/2.8 Macro USM/ FL: 100 มม./ Manual exposure (f/7.1, 1/13 วินาที)/ ISO 100/ WB: แสงแดด/ รูปแบบภาพ: ทิวทัศน์
ในบริเวณที่มีโขดหิน น้ำทะเลดูมีสีฟ้าเข้ม ในภาพนี้ผมใช้แฟลชและความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลงซึ่งทำให้แบ็คกราวด์สว่างขึ้น แต่ภาพที่ได้ไม่ใช่โทนสีฟ้าใส สำหรับฉากเช่นนี้ คุณสามารถใช้การตั้งค่าเดียวกันได้และแพนกล้องเล็กน้อยเพื่อเพิ่มการเบลอจากการเคลื่อนไหว ซึ่งช่วยสร้างรูปลักษณ์ที่แตกต่างออกไป (อ่านต่อได้ที่นี่)
จุดสำคัญที่ 3: ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพ - ใช้รูปแบบภาพเพื่อให้สีสันดูสดใสขึ้น
ตั้งค่ารูปแบบภาพเป็น “ภาพทิวทัศน์” เมื่อคุณต้องการถ่ายทอดสีฟ้าของน้ำทะเลให้มีสีสันสดใสขึ้น ซึ่งอาจเป็นสีฟ้าที่สว่างกว่าสีที่คุณมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่จะได้ความเปรียบต่างที่ดียิ่งขึ้น ฝูงปลาและปะการังจะดูเป็นสามมิติมากขึ้น และฝูงปลาดูโดดเด่นยิ่งขึ้นในน้ำ
รูปแบบภาพ - มาตรฐาน
รูปแบบภาพ - ภาพทิวทัศน์
ทั้งสองภาพ: EOS 5D Mark III/ EF35mm f/1.4L USM/ FL: 35 มม./ Manual Exposure (f/2.5, 1/200 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
จะเห็นได้ว่าภาพที่ถ่ายด้วยรูปแบบภาพ - มาตรฐาน ดูมีสีซีดจางกว่า
จุดสำคัญที่ 4: อุปกรณ์ - ใช้แฟลชเพื่อทำให้ตัวแบบของคุณดูเป็นสามมิติมากยิ่งกว่าเดิม
เรามักถ่ายภาพสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ฉลามวาฬและโลมา โดยใช้เพียงแสงแดดเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในทะเลลึก วิธีดังกล่าวอาจทำให้ภาพของคุณดูธรรมดาเกินไป ควรใช้แฟลชเพื่อทำให้ตัวแบบต่างๆ เช่น ปลาและปะการัง ดูเป็นสามมิติมากขึ้น สำหรับภาพในตอนต้นของบทความนี้ ผมใช้แฟลชที่มีความเข้มของแสงลดลงเพื่อไม่ให้สีสันในภาพขาดหายไป
เรียนรู้ว่าแฟลชเสริมสามารถทำอะไรให้คุณได้บ้างในบทความ:
แฟลชเสริมมีประโยชน์อะไรบ้าง
ไม่ใช้แฟลช: ราบเรียบเกินไปและไม่ชัดเจน
EOS 5D Mark III/ FL: 35 มม./ Manual Exposure (f/2.5, 1/160 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ รูปแบบภาพ: ทิวทัศน์
เมื่อถ่ายภาพโดยไม่ใช้แฟลช ฝูงปลาดูขาดมิติมากจนคุณเห็นเพียงรูปร่างของปลาอย่างรางๆ
ต่อไปนี้คือเทคนิคเพิ่มเติมที่ควรลองใช้เมื่อถ่ายภาพใต้น้ำ:
เทคนิคการใช้เลนส์มาโคร: สร้างชีวิตชีวาให้กับภาพใต้น้ำด้วยจุดโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์!
4 วิธีในการสร้างภาพใต้น้ำของคุณให้เต็มไปด้วยสีสัน
นี่คือวิธีที่จะช่วยให้คุณสามารถทำพื้นหลังสีดำในการถ่ายภาพใต้น้ำ
คุณชอบเทคนิคใดมากที่สุด เล่าให้เราฟังว่าผลเป็นอย่างไร: แบ่งปันภาพถ่ายของคุณกับเราได้ที่ My Canon Story
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่จังหวัดเฮียวโงะในปี 1971 Kagii เป็นช่างภาพใต้น้ำ และเคยฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพใต้น้ำ Katsutoshi Ito ระหว่างที่เขาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เขาผันตัวเป็นช่างภาพอิสระในปี 1998 และมีความเชี่ยวชาญในสไตล์การถ่ายภาพที่ช่วยให้เขาได้ใกล้ชิดกับลีลาท่วงท่าตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตโดยที่ไม่กดดันสัตว์เหล่านั้นจนเกินไป
Kagii เป็นตัวแทนของ Clé et Photos มาตั้งแต่ปี 2013