การตัดสินใจในการจัดองค์ประกอบภาพ: แสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มความใสกระจ่างให้กับผืนน้ำ
แสงอาทิตย์งดงามชวนฝันส่องลงบนผืนน้ำใสสะอาดของแม่น้ำใต้ดินท่ามกลางใบไม้สีเขียวชอุ่ม สำหรับทิวทัศน์งดงามที่ดลใจให้ถ่ายภาพได้หลากหลายเช่นนี้ คุณจะสร้างความแตกต่างให้กับภาพของคุณได้อย่างไร ช่างภาพทิวทัศน์รายหนึ่งจะมาเล่าเรื่องการตัดสินใจต่างๆ ของเธอเพื่อถ่ายภาพที่แสดงถึงความใสกระจ่างของผืนน้ำกัน (เรื่องโดย: Chikako Yagi, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 45 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/25 วินาที, EV -0.7)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
อุปกรณ์อื่นๆ: ฟิลเตอร์ PL
สถานที่: แม่น้ำเอ็นบาระ เมืองยามากาตะ จังหวัดกิฟุ ประเทศญี่ปุ่น
การตัดสินใจเรื่องที่ 1: ทำให้ผืนน้ำเป็นตัวแบบหลักและแสงอาทิตย์เป็นองค์ประกอบเสริม
แสงอาทิตย์เป็นทิวทัศน์ที่น่าประทับใจ ตอนฉันเห็นมันส่องผ่านใบไม้ในป่าทึบ ฉันนึกอยากทำให้มันเป็นตัวแบบหลักในภาพถ่ายของฉัน แต่ฉันตัดสินใจที่จะท้าทายตัวเองและดูว่าจะสามารถใช้แสงอาทิตย์นี้เป็นตัวแบบรองเพื่อเสริมให้ผืนน้ำใสของแม่น้ำที่ไหลผ่านผืนป่านี้ดูดีขึ้นได้อย่างไรแทน
มีวิธีมากมายนับไม่ถ้วนที่คุณสามารถเลือกใช้เพื่อถ่ายทิวทัศน์นั้นๆ องค์ประกอบที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแบบหลักเสมอไป ต้องลองดูว่าคุณสามารถใช้องค์ประกอบเหล่านี้เพื่อยกระดับสิ่งอื่นได้อย่างไร
หากคุณต้องการให้แสงอาทิตย์เป็นตัวแบบหลักจริงๆ สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยได้ก็คือ… ร่มสีดำทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน! อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
2 สิ่งในชีวิตประจำวันที่สามารถเปลี่ยนโฉมภาพถ่ายของคุณ
การตัดสินใจเรื่องที่ 2: จัดองค์ประกอบภาพแบบเส้นโค้งรูปตัว S เพื่อไม่ให้องค์ประกอบที่สำคัญๆ กระจุกตัวกันอยู่ตรงกลางภาพ
ในภาพถ่ายของฉันมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 อย่าง ได้แก่
A: น้ำในแม่น้ำ (ตัวแบบหลัก)
B: แสงอาทิตย์ (ตัวแบบรอง)
C: ใยแมงมุม (สิ่งที่น่าสนใจ)
การรวมใยแมงมุมไว้ที่มุมบนซ้ายสร้างเส้นนำสายตารูปตัว S ที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้ลื่นไหลตั้งแต่แสงอาทิตย์ที่ด้านหลังไปจนถึงผืนน้ำใสกระจ่างในโฟร์กราวด์ และยังช่วยสร้างเอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเปคทีฟและความลึกอีกด้วย
จะเกิดอะไรขึ้นหากถ่ายภาพให้องค์ประกอบทั้งหมดอยู่ตรงกลาง
นี่คือลักษณะภาพธรรมดาของฉากนี้เมื่อองค์ประกอบสำคัญๆ ทั้งหมดอยู่ตรงกลาง ฉันคิดว่าภาพนี้ดูไม่น่าสนใจ เพราะทิวทัศน์ดูไม่มีมิติและแสงอาทิตย์ก็ไม่โดดเด่นนัก
แล้วคุณจะถ่ายภาพให้น่าสนใจด้วยการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางได้อย่างไร ค้นหาคำตอบได้ที่:
พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพ (3): การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง การจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตร
การตัดสินใจเรื่องที่ 3: ใช้ฟิลเตอร์ PL เพื่อเพิ่มแสงและความใสกระจ่างของน้ำ
ไม่ใช้ฟิลเตอร์ PL
ใช้ฟิลเตอร์ PL
เมื่อไม่ใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ (ฟิลเตอร์ PL) แสงที่สะท้อนออกมาจากใบไม้และผิวน้ำทำให้ภาพดูนุ่มนวลละมุนละไม อีกทั้งยังน่ามองมากเช่นกัน แต่การใช้ฟิลเตอร์ PL จะช่วยทำให้สีฟ้าของน้ำและสีเขียวของใบไม้เข้มขึ้น ซึ่งทำให้แสงอาทิตย์ดูโดดเด่น และยังทำให้แม่น้ำดูใสมากขึ้นจนคุณสามารถเห็นก้อนกรวดแทบทั้งหมดที่ด้านล่าง ซึ่งทั้งหมดนี้ยิ่งเพิ่มความงดงามที่เกิดจากการผสมผสานแสงกับผืนน้ำ
การตั้งค่ารูปแบบภาพจะช่วยให้คุณสามารถปรับโปรไฟล์สีได้ทันที อีกทั้งสามารถถ่ายโอนภาพถ่ายไปยังโทรศัพท์มือถือของคุณผ่านแอป Camera Connect ได้เพื่อแชร์ภาพทันทีโดยไม่ต้องรออัปโหลดในภายหลัง อ่านได้ที่:
เทคนิคในการใช้รูปแบบภาพเพื่อยกระดับการถ่ายภาพทิวทัศน์
Camera Connect: สนุกกับการถ่ายภาพได้ยิ่งกว่าที่เคย
เกี่ยวกับสถานที่และช่วงเวลาที่ถ่าย: แม่น้ำเอ็นบาระ เมืองยามากาตะ จังหวัดกิฟุ ประเทศญี่ปุ่น
ว่ากันว่าแม่น้ำเอ็นบาระเป็นแม่น้ำใต้ดินที่สวยที่สุดสายหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น แม่น้ำแห่งนี้มักถูกถ่ายภาพบ่อยที่สุดในฤดูร้อน ซึ่งมีแสงอาทิตย์และหมอกในแม่น้ำเกิดขึ้นบ่อยกว่าฤดูอื่นๆ แสงอาทิตย์อย่างเช่นในภาพหลักนั้นมักเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ช่วง 6 โมงถึง 9 โมงเช้า ขณะที่แม่น้ำไหลผ่านภูเขา แสงอาทิตย์จะตกกระทบลงบนบริเวณนั้นตั้งแต่ราว 6 โมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งช้ากว่าสถานที่ในพื้นที่ตอนล่างอยู่มาก โขดหินในบริเวณใกล้เคียงปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำ ดังนั้น นักท่องเที่ยวควรหลีกเลี่ยงการเหยียบหินเพื่อรักษาความงดงามของทิวทัศน์นี้เอาไว้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Chikako Yagi มีอายุเพียง 20 ปีตอนที่เธอเริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเองโดยใช้กล้องฟิล์ม SLR เธอออกจากงานประจำมาเป็นช่างภาพทิวทัศน์เต็มตัวในปี 2016 เธอเคยฝึกงานกับช่างภาพชื่อดังหลายราย เช่น Kiyoshi Tatsuno และ Tomotaro Ema และยังเป็นสมาชิกของชมรม Shizensou Club ซึ่งก่อตั้งโดย Kiyoshi Tatsuno และเป็นหนึ่งในชมรมช่างถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ในปี 2013 เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 10 อันดับช่างภาพฝีมือดีของชมรม Tokyo Camera Club
www.chikakoyagi.com
Instagram: @chikako_yagi