ทำความรู้จักการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางอีกครั้ง: 2 แบบฝึกหัดสำหรับการเดินถ่ายภาพครั้งต่อไปของคุณ
เป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ จะคิดว่าการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางเป็นเรื่องของมือสมัครเล่น เพราะไม่ว่าอย่างไร นี่อาจเป็นเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพที่ใช้ง่ายที่สุดแล้ว ทว่า เทคนิคเรียบง่ายเช่นนี้จะมีประโยชน์เวลาที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการจัดองค์ประกอบภาพโดยรวมกลับไปที่ตัวแบบหลักแทน มาลองทำแบบฝึกหัดสองแบบต่อไปนี้กัน คุณสามารถฝึกแยกกันหรือฝึกร่วมกันทั้งสองแบบก็ได้! (เรื่องโดย: Kazuyuki Okajima, Digital Camera Magazine)
EOS R/ RF50mm f/1.2L USM/ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/1300 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เป็นไปได้ว่าเราอาจให้ความสนใจกับการจัดองค์ประกอบภาพมากเกินไป
“การจัดองค์ประกอบภาพ” หมายถึงลักษณะการจัดเรียงองค์ประกอบของภาพภายในเฟรม ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในงานทัศนศิลป์ รวมไปถึงการถ่ายภาพ แต่หากเราคิดมากไปเกี่ยวกับวิธีจัดองค์ประกอบภาพ ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะลงเอยด้วยการให้ความสำคัญกับ “ภาพรวม” และละเลยตัวแบบหลักไป แม้สุดท้ายเราจะได้ภาพที่สมบูรณ์แบบในทางเทคนิค แต่ความสนใจของผู้ชมจะไปอยู่ที่ภาพรวมและไม่มีจุดใดที่ดึงดูดเป็นพิเศษ
มุ่งจุดสนใจไปที่ตัวแบบ ทั้งตามจริงและในเชิงเปรียบเทียบ
การจัดวางตัวแบบไว้กึ่งกลางภาพเป็นวิธีดึงดูดความสนใจที่ตรงไปตรงมาที่สุด เป็นวิธีที่ใช้ง่ายมากจนช่างภาพมือใหม่อย่างคุณอาจต้องเรียนรู้วิธีที่จะหยุดไม่ให้ใช้มากเกินไป! ทว่า ความเรียบง่ายนี้เองจะช่วยให้คุณฝึกสร้างความตระหนักรู้ถึงตัวแบบได้ง่าย เพราะคุณไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องอื่นมากเกินไป และความตระหนักรู้เช่นนี้จะช่วยให้คุณสร้างสรรค์ภาพถ่ายด้วยจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่แค่การออกไปถ่ายภาพทุกอย่างด้วยการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยการตั้งใจฝึกฝนเพื่อให้เห็นผลลัพธ์จริงๆ! มาลองทำแบบฝึกหัดสองแบบต่อไปนี้กัน ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงฝึกแต่ละแบบหรือสองชั่วโมงสำหรับการฝึกทั้งสองแบบ ซึ่งนับว่าเพียงพอแล้วที่จะทำให้เริ่มมองเห็นฉากต่างๆ แตกต่างไปจากเดิม
แบบฝึกหัดที่ 1: ฝึกการขยับเท้าภายใต้ข้อจำกัดสองประการ
วิธีคิดที่ “เน้นการจัดองค์ประกอบภาพเป็นหลัก” อาจก่อให้เกิดอุปนิสัยที่จำกัดความคิดสร้างสรรค์ของคุณในการถ่ายภาพที่จะดึงดูดความสนใจไปที่ตัวแบบ อุปนิสัยดังกล่าวนี้มีพบได้ทั่วไปสองแบบคือ
1) การมองดูฉากผ่านเลนส์เพียงอย่างเดียว
2) การปรับองค์ประกอบภาพด้วยมือเท่านั้น (โดยซูมหรือขยับกล้อง แต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งถ่ายภาพที่ตายตัวเหมือนเดิม)
ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการลองถ่ายภาพภายใต้ข้อจำกัดสองข้อดังต่อไปนี้
ข้อจำกัดที่ 1: ใช้เฉพาะกรอบ AF ตรงจุดกึ่งกลาง
ฝึกการตระหนักรู้ถึงตัวแบบ
หากคุณถนัดใช้กฎสามส่วนและการจัดองค์ประกอบภาพแบบอื่นๆ คุณอาจจะอยากเลื่อนกรอบ AF ให้ห่างจากจุดกึ่งกลาง แต่เมื่อทำเช่นนี้ สุดท้ายคุณจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ความสมดุลในการจัดองค์ประกอบภาพ และจะสนใจตัวแบบหลักน้อยลง
การตั้งใจใช้เฉพาะกรอบ AF ตรงจุดกึ่งกลางจะเป็นการบังคับให้คุณจัดวางตัวแบบไว้ตรงกึ่งกลาง จากนั้นคุณจะถ่ายภาพได้ไม่ยาก เพียงแค่ระบุตัวแบบ→จัดวางตัวแบบให้ตรงกับกรอบ AF→แล้วลั่นชัตเตอร์ ในท้ายที่สุด คุณจะพบว่าตนเองรับรู้ตัวแบบได้มากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์กับตัวแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น
ข้อจำกัดที่ 2: ใช้เลนส์เดี่ยว (หรือใช้เทปติดเลนส์ซูมให้แน่น)
สร้างความตระหนักรู้ของตัวคุณเองถึงระยะห่างและมุมต่างๆ
จริงอยู่ที่เลนส์ซูมใช้งานได้สะดวกสบาย เพียงหมุนวงแหวนซูมหนึ่งรอบ (หรือไม่กี่รอบ) คุณก็สามารถเปลี่ยนจากภาพมุมกว้างที่แสดงตัวแบบในบริบทโดยรวมให้กลายเป็นภาพโคลสอัพที่แสดงตัวแบบพร้อมรายละเอียดอันน่าทึ่ง ทว่า การพึ่งพาเลนส์ซูมมากเกินไปไม่เพียงจะจำกัดมุมมองภาพของคุณเท่านั้น แต่ยังปิดกั้นไม่ให้คุณสร้างความรู้สึกถึงระยะห่างที่จะช่วยให้คุณถ่ายภาพได้อย่างเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
ดังนั้น วิธีแก้ไขคือ การใช้เลนส์เดี่ยว คุณสามารถนำเทปกาวมาติดเลนส์ซูมไว้ก็ได้ แต่ผมพบว่าการใช้เลนส์เดี่ยวเป็นวิธีที่ดีกว่าเพราะจะทำให้คุณไม่มีทางเลือกอื่น! เลนส์ที่ใช้งานง่ายที่สุดคงจะเป็นเลนส์เดี่ยวมาตรฐานที่มีทางยาวโฟกัสระหว่าง 35 มม. ถึง 50 มม. เทียบเท่าฟูลเฟรม เพราะเลนส์ชนิดนี้มีขอบเขตการมองเห็นคล้ายกับสายตามนุษย์
น่าสนใจใช่ไหม คุณสามารถลองใช้เทคนิคอีกแบบได้ถ้าอยากพักจากการทำแบบฝึกหัดในบทความนี้!
เทคนิคการถ่ายภาพด้วยเลนส์มาตรฐาน: การใช้มุมมองเพื่อดึงให้คนดูเข้าไปอยู่ในภาพ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ภาพทิวทัศน์ระยะ 50 มม. ในสไตล์เฉพาะตัว: เลนส์ที่จุดประกายให้ทดลองสิ่งใหม่ๆ
ถอยออก
ขยับเข้าใกล้
เคลื่อนที่ไปรอบๆ
เมื่อคุณ “ใช้เท้าของตัวเองซูมเข้าออก” นั่นหมายความว่าคุณจะทดลองเล่นมุมกล้องและตำแหน่งต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติได้มากขึ้นในขณะที่พยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดในการถ่ายตัวแบบ
เคล็ดลับ: สังเกตฉากโดยไม่ต้องใช้กล้องก่อน
“เฟรม” ที่ได้จากช่องมองภาพหรือจอด้านหลังของกล้องจะจำกัดมุมมองของคุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การใช้สายตาตัวเองในการสังเกตก่อนจะช่วยให้คุณรู้สึกถึงฉากและบรรยากาศได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงมีไอเดียเกี่ยวกับสิ่งที่จะถ่ายมากขึ้น
การท้าทายตัวเองด้วยการใช้ทางยาวโฟกัสคงที่ตลอดทั้งวัน ทั้งสัปดาห์ หรือแม้แต่ทั้งเดือนก็เป็นวิธีจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ได้ดีเยี่ยมทีเดียว ต่อไปนี้คือวิธีอื่นๆ ที่คุณสามารถลองใช้ได้
3 โจทย์ท้าทายที่ดูเหมือนง่าย แต่ยกระดับทักษะการถ่ายภาพของคุณได้
แบบฝึกหัดที่ 2: สลัด “วิธีคิดที่เน้นการจัดเฟรม” ออกไปแล้วคิดในแง่ของจุดสนใจ
แทนที่จะให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของภาพ ลองให้ความสำคัญกับตัวแบบเป็นหลัก
เมื่อเรามัวแต่วุ่นอยู่กับการจัดองค์ประกอบภาพให้สวยงามมากเกินไป ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะยึดติดกับวิธีคิดที่เน้น “การจัดเฟรม” ซึ่งเราจะเห็นฉากนั้นๆ ในแง่ของเฟรมสองมิติ เราจะลืมไปว่าองค์ประกอบต่างๆ เป็นแบบสามมิติ ดังนั้น เมื่อเราขยับตัวเพื่อปรับองค์ประกอบภาพ ก็มักจะขยับเป็นเส้นตรงเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งขององค์ประกอบภายในเฟรม
หยุดใช้วิธีนี้: วิธีคิดที่เน้นการจัดเฟรม
ลักษณะที่เรามักขยับตัวเมื่อให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบภาพเป็นหลัก
แม้ว่า “วิธีคิดที่เน้นการจัดเฟรม” จะช่วยให้เราได้องค์ประกอบภาพที่สมดุล แต่ “ความสมดุล” ที่มากเกินไปอาจเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ชมไปที่มุมต่างๆ แทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่ตัวแบบที่เฉพาะเจาะจง ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการนำวิธีคิดที่เน้น “จุดสนใจ” มาใช้ ซึ่งคุณจะต้องระบุตัวแบบหลักหนึ่งอย่างและมองตัวแบบนั้นเป็นจุดสนใจแบบสามมิติ
ใช้วิธีนี้แทน: วิธีคิดที่เน้นจุดสนใจ
สำหรับวิธีคิดที่เน้นจุดสนใจ คุณจะให้ความสำคัญกับตัวแบบอยู่เสมอ ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกอะไรให้เป็นแบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเพิ่มเติมบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่าวิธีนี้สามารถช่วยให้คุณสื่อสารจุดมุ่งหมายของคุณให้ผู้ชมทราบได้ดียิ่งขึ้นอย่างไร
วิธีนี้เน้นการจัดองค์ประกอบภาพของคุณ
เมื่อวางตัวแบบของคุณไว้ตรงกึ่งกลาง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิดในจิตใต้สำนึกของคุณ นั่นคือ ตัวแบบจะกลายเป็นจุดรวมความสนใจของคุณ และคุณจะเริ่มจัดองค์ประกอบภาพรอบๆ ตัวแบบแทนที่จะจัดองค์ประกอบด้วยตัวแบบ ลักษณะการขยับตัวของคุณขณะปรับเปลี่ยนองค์ประกอบภาพก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย
วิธีคิดที่เน้นการจัดเฟรม
ในภาพนี้ ผมคิดเรื่องการสร้างสมดุลสีและองค์ประกอบภาพมากเกินไป บอกได้ยากว่าตัวแบบหลักคืออะไร ไม่ว่าหน้าต่าง อาคารสีแดง กิ่งไม้ และท้องฟ้าก็แย่งความสนใจไปหมด แต่ไม่มีอะไรที่โดดเด่นออกมาจริงๆ เลย
วิธีคิดที่เน้นจุดสนใจ (การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง)
มีการจัดองค์ประกอบภาพให้หน้าต่างของอาคารสีแดงอยู่ตรงกึ่งกลาง ภาพนี้ดูน่าประทับใจขึ้นมากใช่ไหม
วิธีนี้ดึงความสนใจของผู้ชมได้ง่ายยิ่งขึ้น
เมื่อมีจุดสนใจที่ตายตัว ทำให้สามารถจดจ่อกับการโฟกัสและการเปิดรับแสงได้ง่ายขึ้น และยังทำให้คุณรับรู้ถึงองค์ประกอบที่อาจเบี่ยงเบนความสนใจหรือกีดขวางเส้นนำสายตาของผู้ชมได้มากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น อย่าลืมใช้สายตาของคุณสังเกตฉากนั้นๆ ก่อนเพื่อสร้างความตระหนักรู้มากขึ้น เพราะคุณอาจพลาดรายละเอียดดังกล่าวได้เวลามองผ่านช่องมองภาพหรือจอด้านหลัง
วิธีคิดที่เน้นการจัดเฟรม
ตัวแบบหลักดูกลมกลืนไปกับแบ็คกราวด์ ในฉากเช่นนี้ สายตามักมองหาความเปรียบต่างและจะพบแหล่งที่สร้างสิ่งรบกวนความสนใจได้ง่ายในท้องฟ้าที่ใสกระจ่าง
วิธีคิดที่เน้นจุดสนใจ
เมื่อขยับไปรอบๆ ตัวแบบที่เป็นจุดสนใจของผม ผมพบว่าการถ่ายภาพจากด้านตรงข้ามทำให้มีแบ็คกราวด์ที่เน้นตัวแบบให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
เคล็ดลับพิเศษ: ตรวจดูให้แน่ใจว่าตัวแบบของคุณได้รับแสงอย่างเหมาะสม
ตัวแบบที่มืดเกินไป
ในสถานการณ์ที่มีความเปรียบต่างสูง เช่น เมื่อมีแสงย้อนจากด้านหลังนั้น การใช้โหมดการวัดแสงแบบประเมินทั้งภาพตามค่าเริ่มต้น ซึ่งกล้องจะวัดแสงโดยใช้ทั้งภาพเพื่อกำหนดการเปิดรับแสงที่ดีที่สุด อาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่นในภาพด้านบน โหมดดังกล่าวทำให้ตัวแบบได้รับแสงไม่เพียงพอ ส่วนแบ็คกราวด์สว่างจ้าจนเกินไป สายตาของเราถูกดึงไปที่แบ็คกราวด์ที่สว่างแทน
แน่นอนว่าคุณสามารถถ่ายภาพในรูปแบบ RAW และปรับความสว่างในขั้นตอนการปรับแต่งภายหลัง แต่สำหรับวัตถุประสงค์ของแบบฝึกหัดเหล่านี้ คุณควรฝึกขยับเท้าเพื่อหามุมที่มีความเปรียบต่างน้อยลงแทน คุณไม่มีทางรู้เลยว่าการขยับเท้าเล็กน้อยในจุดนั้นๆ จะนำไปสู่การค้นพบอะไรใหม่ๆ ได้เมื่อใด!
สิ่งอื่นที่ควรตรวจสอบ: สิ่งที่แย่งความสนใจ
ระวังองค์ประกอบที่เบี่ยงเบนความสนใจของผู้ชมหรือแย่งความสนใจไปจากตัวแบบหลัก หากองค์ประกอบดังกล่าวอยู่ที่ขอบภาพ คุณสามารถครอปออกได้ในภายหลัง แต่ถ้าองค์ประกอบนั้นบดบังหรืออยู่ใกล้ตัวแบบจนเกินไป วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือปรับมุมถ่ายภาพทันที
สิ่งรบกวนความสนใจบางอย่างที่ถูกมองข้ามได้ง่าย:
ข้อความในแบ็คกราวด์
สายตาของเราจับจ้องไปที่ข้อความ ไม่ใช่ต้นไม้
สีที่สว่างกว่า
ในภาพนี้ สายตาของเราถูกดึงดูดไปที่ประตูรถสีขาวเพราะมีสีที่สว่างกว่า
---
คุณสามารถใช้เลนส์เดี่ยวและการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางถ่ายภาพน่าสนใจแบบไหนบ้าง แท็กหาเราบน Instagram ที่ @canonasia หรือแบ่งปันภาพนั้นมาที่ My Canon Story แล้วร่วมลุ้นโอกาสในการตีพิมพ์กับเรา!
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Kazuyuki Okajima เกิดเมื่อปี 1967 ที่เมืองฟุกุโอกะ และจบการศึกษาจาก Tokyo School of Photography (ปัจจุบันชื่อ: Tokyo Visual Arts) หลังจากทำงานเป็นผู้ช่วยในสตูดิโอและผู้ช่วยช่างภาพ เขาก็ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ นอกจากจะทำงานเป็นช่างภาพโฆษณาและนิตยสารแล้ว เขายังเดินทางไปทั่วโลกเพื่อถ่ายภาพมากมายที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งราวกับบทกวี อีกทั้งยังตีพิมพ์สิ่งพิมพ์มากมาย รวมถึงคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า Dingle และจัดนิทรรศการแสดงผลงานมาแล้วหลายครั้ง รวมถึง “The Light and Wind of Dingle,” “Shio-sai” (Tidal Tints) และ “Let’s Go to School”