หากคุณรู้สึกติดอยู่ในกรอบการถ่ายภาพแบบเดิมๆ หรือคิดว่าภาพทิวทัศน์ที่ตัวเองถ่ายดูน่าเบื่อ แต่ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนอย่างไร คุณไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคการถ่ายภาพหรือการปรับแต่งที่ซับซ้อนเพื่อสร้างความแตกต่างเสมอไป ต่อไปนี้คือวิธีใหม่ๆ ที่เรียบง่ายแต่น่าสนใจซึ่งคุณสามารถลองใช้ได้ง่ายๆ ในการถ่ายภาพครั้งหน้า!
1. องค์ประกอบภาพที่มีท้องฟ้าอย่างน้อย 70%
EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ FL: 31 มม./ Flexible-priority AE (f/11, 1/320 วินาที)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ภาพโดย: Toshiki Nakanishi
อ่านได้ที่ ภาพทิวทัศน์ที่มีท้องฟ้าสไตล์มินิมัลลิสต์
มีเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพบางเทคนิคที่เรามักจะใช้อยู่บ่อยครั้ง เช่น กฎสามส่วน การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง หรือความสมมาตร จนในบางครั้งเราติดนิสัยและไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้เทคนิคเหล่านี้อยู่! แม้จะไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ก็อาจเป็นปัจจัยขัดขวางไม่ให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ ในการจัดองค์ประกอบภาพได้ วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุดคือ การจงใจจัดองค์ประกอบภาพด้วยวิธีที่ต่างออกไปแทน
ต่อไปนี้คือเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพแบบใหม่ที่น่าจะนำไปใช้ได้ง่าย มาดูกันว่าคุณจะได้ภาพแบบไหนหากเติมท้องฟ้าเข้าไปในเฟรมภาพไม่น้อยกว่า 70% คำตอบคือ คุณจะได้ภาพสวยๆ สไตล์มินิมัลนั่นเอง!
ดูเคล็ดลับเชิงลึกและไอเดียเพิ่มเติมได้ใน
พื้นที่ว่างทางลบในการถ่ายภาพธรรมชาติ
2. แหกกฎ “ระดับแสงที่เหมาะสม”
EOS R5/ RF15-35mm f/2.8L IS USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/16, 3.2 วินาที)/ ISO 50/ WB: 5,100K
ภาพโดย: Takashi Karaki
อ่านได้ที่ การจัดแสงในการถ่ายภาพทิวทัศน์ (2): เปิดรับแสงน้อยเพื่อเพิ่มอารมณ์ให้กับภาพ
แนวคิด “น้อยแต่มาก” นำมาปรับใช้กับภาพถ่ายได้เช่นกัน คุณไม่จำเป็นต้องเปิดรับแสงให้รายละเอียดทุกจุดในภาพอย่างทั่วถึง! ภาพด้านบนจงใจถ่ายให้เปิดรับแสงน้อยกว่าปกติเพื่อให้ส่วนที่เป็นสีดำดูมืดยิ่งขึ้นและดึงสายตาของเราไปยังน้ำตกที่มีสายน้ำไหล หญ้ามอสโดยรอบ และส่วนโค้งเว้าและรูปทรงของถ้ำ
ลองถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงน้อยกว่าปกติหากคุณพบฉากที่มีความเปรียบต่างสูงในครั้งหน้า หรือหากส่วนใหญ่ในฉากนั้นสว่าง ให้ใช้วิธีกลับกันโดยเปิดรับแสงมากกว่าปกติ คุณน่าจะได้เห็นรูปทรงและความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ที่คุณอาจไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน!
เคล็ดลับในการตั้งค่ากล้อง: คุณไม่จำเป็นต้องใช้โหมดการเปิดรับแสงแบบแมนนวลสำหรับการถ่ายภาพแบบนี้ อีกทั้งยังสามารถใช้โหมด Av/Tv/P ที่มีการชดเชยแสงแทนได้ด้วย
ตัวอย่างและไอเดียเพิ่มเติมใน
2 เทคนิคง่ายๆ เพื่อการถ่ายภาพหิมะอย่างสร้างสรรค์ – ดูเทคนิคที่ 1
3. ใช้แฟลชแบบย้อนแสงเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์น่าประทับใจที่ไม่เหมือนใครเช่นนี้
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม./ Manual exposure (f/16, 1/200 วินาที)/ ISO 50/ WB: อัตโนมัติ/ แฟลชเสริม
ภาพโดย: Kazuo Nakahara
เมื่อพูดถึงการถ่ายภาพทิวทัศน์ เรามักจะไม่ค่อยนึกถึงการใช้แฟลช แต่แฟลชสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ที่ไม่ซ้ำใครโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณถ่ายภาพโคลสอัพโดยใช้เลนส์มุมกว้าง!
ภาพด้านบนถ่ายด้วยแฟลช Speedlite
- ขั้นตอนที่ 1: ตั้งค่าการเปิดรับแสงของกล้องเพื่อให้แบ็คกราวด์ได้รับระดับแสงที่เหมาะสม สำหรับภาพด้านบน ผมตั้งค่าการเปิดรับแสงไว้ที่ท้องฟ้า
- ขั้นตอนที่ 2: ปรับกำลังแสงแฟลช คุณสามารถใช้โหมด E-TTL และปรับการชดเชยระดับแสงแฟลชได้ สำหรับภาพด้านบน การชดเชยระดับแสงแฟลชถูกตั้งค่าไว้ต่ำกว่าปกติเพื่อให้ดอกไม้ดูไม่สว่างจนเกินไป
- ขั้นตอนที่ 3: ปรับระยะครอบคลุมของแสงแฟลช (มุมสะท้อนแฟลช) สำหรับภาพด้านบน ระยะครอบคลุมของแสงแฟลชถูกตั้งค่าไว้แคบกว่าทางยาวโฟกัสเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ขอบมืด (vignetting effect) ซึ่งบริเวณขอบจะดูมืดลง
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงคำแนะนำสำหรับการตั้งค่าแฟลชได้ที่
[เทคนิคการใช้แฟลช] วิธีการถ่ายภาพให้ได้สีสันน่าประทับใจในสภาพย้อนแสง
แม้ว่าเทคนิคนี้จะใช้ได้ผลที่สุดเมื่อใช้ร่วมกับแฟลชเสริมเพราะคุณสามารถตั้งค่าระยะครอบคลุมของแสงแฟลชได้ คุณอาจสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ที่ใกล้เคียงกันโดยใช้แฟลชติดกล้องได้เช่นกัน ดูเทคนิคการใช้แฟลชติดกล้อง #3: ถ่ายภาพพอร์ตเทรตให้น่าประทับใจด้วย Daylight Sync
ไม่ว่าคุณจะใช้แฟลชชนิดไหน ขอให้ลองการตั้งค่าต่างๆ กันแล้วดูผลลัพธ์ที่ได้!
หากคุณเพิ่งเคยถ่ายภาพโดยใช้แฟลช Speedlite สามารถศึกษาคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีตั้งค่าได้ใน
เริ่มถ่ายภาพโดยใช้แฟลชได้ใน 9 ขั้นตอน!
4. สร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
EOS 5D Mark IV/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 400 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1.3 วินาที, EV ±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ภาพโดย: Toshiki Nakanishi
อ่านได้ที่ ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: เปลี่ยนภาพถ่ายให้เป็นภาพเขียนสีน้ำแนวแอ็บสแตรกต์
เทคนิคการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะการถ่ายภาพสายน้ำไหลหรือก้อนเมฆที่กำลังเคลื่อนที่โดยเปิดรับแสงนานๆ หากคุณพบฉากที่มีสีสันสวยงามหลากสีในครั้งหน้า ขอให้ลดความเร็วชัตเตอร์ลง ขยับกล้อง แล้วสังเกตว่าทุกองค์ประกอบผสมผสานกันอย่างไรเพื่อสร้างภาพแนวแอ็บสแตรกต์ที่สวยงามราวกับภาพเขียนสีน้ำ ความเร็วชัดเตอร์ ทางยาวโฟกัส และการเคลื่อนไหวกล้องที่แตกต่างกันจะให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ขอให้ทดลองถ่ายภาพให้สนุก! ตัวอย่างด้านบนถ่ายโดยใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวเป็นเส้นตรง แต่คุณก็สามารถลองถ่ายโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องได้เช่นกัน
เคล็ดลับระดับมือโปร: พกฟิลเตอร์ ND ติดตัวไปด้วยเพื่อถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนานกลางแดด
5. ลองใช้เลนส์ใหม่ๆ หากอยากเพิ่มความท้าทาย ต้องลองใช้เลนส์เดี่ยว
EOS R5/ RF135mm f/1.8L IS USM/ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/5000 วินาที, EV -2.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย: Chikako Yagi
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ได้ใน
บทวิจารณ์เลนส์: RF135mm f/1.8L IS USM กับการถ่ายภาพธรรมชาติและทิวทัศน์
หากคุณถ่ายภาพทิวทัศน์บ่อยๆ ก็น่าจะมีเลนส์ที่ใช้เป็นประจำอยู่แล้วสักตัว หรืออาจจะสองตัว
การใช้เลนส์จนเชี่ยวชาญและรู้ว่าจะถ่ายภาพแบบใดออกมาได้ย่อมทำให้คุณรู้สึกอุ่นใจและพอใจเป็นพิเศษ แต่การอยู่ในกรอบความคุ้นเคยเดิมๆ ก็อาจจำกัดการถ่ายภาพของคุณได้เช่นกัน!
วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือ การถ่ายภาพโดยใช้เลนส์ประเภทอื่น ซึ่งโดยหลักการแล้วก็คือเลนส์ที่คุณไม่คิดว่าจะต้องใช้มาก่อน ยกตัวอย่างเช่น หากปกติคุณชอบใช้เลนส์มุมกว้าง ขอให้พกเลนส์เทเลโฟโต้ติดตัวไปด้วยในครั้งหน้าและคอยสังเกตเอฟเฟ็กต์การบีบอัดและรายละเอียด หรือใช้เลนส์เดี่ยว (หรือใช้เทปติดเลนส์ซูมให้แน่น) เพื่อทดสอบทักษะการจัดองค์ประกอบภาพของคุณ ซึ่งจะช่วยสร้างความแปลกใหม่ให้มุมมองของฉากที่คุณคุ้นเคยที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น ปกติแล้ว RF135mm f/1.8L IS USM มักใช้ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรต แต่บทความในลิงก์ด้านบนแสดงให้เห็นแล้วว่า เลนส์รุ่นนี้สามารถถ่ายภาพธรรมชาติแบบโคลสอัพให้น่าประทับใจพร้อมโบเก้ที่สวยงามได้อีกด้วย!
และหากคุณอ่านบทความ บทวิจารณ์เลนส์ RF24mm f/1.8 Macro IS STM กับการถ่ายภาพธรรมชาติ คุณจะได้เห็นภาพ “มาโครมุมกว้าง” ที่น่าสนใจของตั๊กแตนตำข้าวตัวน้อยที่กำลังยืนสบายๆ บนดอกไฮเดรนเยีย ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าเลนส์มุมกว้างไม่ได้มีไว้สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์อันกว้างใหญ่ไพศาลเสมอไป!
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
การจัดแสงธรรมชาติ: ภาพดอกไม้แบบมาโครเทเลโฟโต้ในแสงยามเย็น
ภาพทิวทัศน์ระยะ 50 มม. ในสไตล์เฉพาะตัว: เลนส์ที่จุดประกายให้ทดลองสิ่งใหม่ๆ
บทวิจารณ์เลนส์: RF70-200mm f/4L IS USM ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ
เลนส์ที่แตกต่าง ความรู้สึกที่แตกต่าง: การถ่ายภาพทิวทัศน์และธรรมชาติ
---
คุณได้ลองใช้เทคนิคใดแล้วบ้าง คุณมีเคล็ดลับอะไรในการถ่ายภาพให้ออกนอกกรอบเดิมๆ ที่จำเจ บอกเล่ากันได้ในช่องความคิดเห็น! และคุณยังสามารถแบ่งปันภาพถ่ายฝีมือตัวเองได้ใน My Canon Story!