คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง: ขีดจำกัดของ AF ในสภาวะแสงน้อยส่งผลต่อภาพอย่างไร
ขณะอ่านข้อมูลเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ คุณอาจจะเคยเห็นการกล่าวถึงขีดจำกัดของการโฟกัสในสภาวะแสงน้อย (หรือขีดจำกัดของ AF ในสภาวะแสงน้อย) ซึ่งมักเขียนโดยใช้คำว่าค่าการเปิดรับแสง (EV) ยกตัวอย่างเช่น กล้อง EOS R5 มีขีดจำกัดของ AF ในสภาวะแสงน้อยที่ EV-6 และกล้อง EOS R6 ที่ EV-6.5* แต่แท้จริงแล้ว ค่าเหล่านี้หมายความว่าอย่างไร และเราควรเข้าใจว่าอย่างไร เราจะมาหาคำตอบกันจากบทความนี้ (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara; นางแบบ: Honoka Kawata (Oscar Promotions))
*เมื่อใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.2
“EV” หมายความว่าอย่างไรเมื่อใช้อธิบายความสามารถในการโฟกัสในสภาวะแสงน้อย
เมื่อคุณใช้ระบบโฟกัสอัตโนมัติของกล้องภายใต้สภาวะที่มีแสงสลัวหรือความมืดที่แตกต่างกัน ระบบมีการทำงานเป็นอย่างไรหากเทียบกับการถ่ายภาพในเวลากลางวัน
ขีดจำกัดของการโฟกัสในสภาวะแสงน้อยของกล้องหมายถึงประสิทธิภาพของระบบโฟกัสอัตโนมัติ (ระบบ AF) ในการตรวจจับตัวแบบภายใต้สภาวะที่มีความมืด ซึ่งก็คือความสามารถของกล้องในการค้นหา (ไม่ใช่เพียงแค่มองเห็น!) สิ่งต่างๆ ในความมืด
ระดับของ “ความมืด” อาจแตกต่างกันไป และกล้องบางรุ่นก็สามารถโฟกัสอัตโนมัติในสภาวะแสงน้อยได้ดีกว่ากล้องรุ่นอื่น ค่า “EV” (ค่าการเปิดรับแสง) เป็นตัวบอกว่าในฉากมีแสงตามธรรมชาติอยู่มากน้อยเพียงใด ซึ่งหมายความว่าฉากนั้นมืดแค่ไหนนั่นเอง ยิ่งมีแสงน้อย ค่า EV จะยิ่งต่ำ ดังนั้น เมื่อเราพูดว่า กล้อง EOS R6 มีขีดจำกัดของ AF ในสภาวะแสงน้อยที่ EV-6.5 จึงหมายความว่าในบางสภาวะ ระบบ AF ของกล้อง EOS R6 จะสามารถตรวจจับตัวแบบได้ในสถานการณ์ที่มีความมืดถึง EV-6.5
สภาวะแสงน้อยและค่า EV โดยประมาณ | |
แสงดาว | EV -4 |
แสงจันทร์ (เต็มดวง) | EV -2 |
ภายในอาคารเวลากลางคืน | EV -1 |
พื้นที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืน | EV 0 |
ลองจินตนาการว่าคุณอยู่กลางแจ้งในคืนที่ไม่มีพระจันทร์และมีดวงดาวเป็นแหล่งกำเนิดแสงเพียงอย่างเดียว ทุกอย่างมืดมาก และในสถานการณ์เช่นนี้ก็มีค่าเท่ากับ EV-4 แล้ว แต่ระบบ AF ของกล้องในระบบ EOS R ระดับสูงรุ่นใหม่ของ Canon สามารถทำงานได้ในสภาวะที่มืดกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ค่า EV-6 ซึ่งมืดเสียจนคุณแทบจะมองอะไรไม่เห็นด้วยตาเปล่า
EOS R5/ RF50mm f/1.2L USM/ Aperture-priority AE (f/1.2, 1/60 วินาที)/ ISO 100
สถานการณ์การถ่ายภาพ
EOS R5 มีขีดจำกัดของ AF ในสภาวะแสงน้อยที่ EV-6 ซึ่งหมายความว่ากล้องสามารถโฟกัสอัตโนมัติที่ตัวแบบได้แม้ในสภาวะที่มีความมืดระดับเดียวกับภาพด้านบน หากผมไม่สามารถใช้ AF ได้ ผมจะต้องเปลี่ยนมาใช้การโฟกัสแบบแมนนวลแทน ซึ่งจะเสียเวลามากขึ้น และสิ่งที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือ การตรวจจับใบหน้าและ Eye Detection AF สามารถทำงานได้ด้วยอัลกอริธึมของ AF ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทำให้ถ่ายภาพได้ราบรื่นมากขึ้นอีก
ข้อควรรู้: อย่าสับสนระหว่าง “EV” กับการชดเชยแสง!
เราใช้ค่าการเปิดรับแสง (EV) ในการบรรยายความสว่างของการเปิดรับแสงของกล้องด้วยเช่นกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสง นี่จึงเป็นสาเหตุว่าเพราะเหตุใดการชดเชยแสงจึงถูกพูดถึงในแง่ของ “EV+3” หรือ “EV-3” เช่นกัน ในกรณีนี้ ค่าดังกล่าวหมายถึงจำนวนสต็อปที่คุณต้องการปรับให้ภาพได้รับแสงมากขึ้นหรือน้อยลงจากระดับแสงที่ “เหมาะสม” ที่กล้องกำหนดไว้ ซึ่งเป็นบริบทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง!
ฉันจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดให้กับ AF ในสภาวะแสงน้อยได้อย่างไร
EOS R5/ RF85mm f/1.2L USM/ Aperture-priority AE (f/1.2, 1/125 วินาที, EV -1.3)/ ISO 500
- ใช้เลนส์ที่มีความไวแสงสูง
- ใช้จุด AF กึ่งกลาง
ระบบ AF ใช้ข้อมูลจากแสงที่ผ่านเข้าสู่พิกเซลของเซนเซอร์ภาพในการจับโฟกัส เมื่อถ่ายภาพในความมืด คุณต้องทำให้แสงผ่านเข้ามาในเลนส์ให้มากที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่า AF จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
กล้องของ Canon ใช้ระบบวัดแสงด้วยรูรับแสงกว้างสุด ซึ่งหมายความว่าแม้คุณจะปรับค่ารูรับแสงกว้างสุดให้ลดลง ไดอะแฟรมรูรับแสงจะยังคงเปิดกว้างตามค่าเริ่มต้นและจะแคบลงเพียงชั่วคราวเมื่อลั่นชัตเตอร์เท่านั้น ดังนั้น ปริมาณแสงที่ผ่านเข้ามาในเซนเซอร์ภาพจึงถูกกำหนดโดยรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์
นอกจากนี้ พิกเซลที่อยู่ตรงกึ่งกลางเซนเซอร์ภาพจะได้รับแสงมากที่สุด คุณจึงควรใช้เลนส์ที่มีความไวแสงสูงสุดและจุด AF กึ่งกลางเมื่อต้องถ่ายภาพในที่มืด
ข้อควรรู้: สภาวะอย่างเป็นทางการสำหรับขีดจำกัดของ AF ในสภาวะแสงน้อย
คำอธิบายอย่างเป็นทางการมักระบุสภาวะสำหรับขีดจำกัดของ AF ในสภาวะแสงน้อยของกล้องในระบบ EOS R ไว้ดังนี้
- เลนส์ f/1.2
- จุด AF กึ่งกลาง
- ความไวแสง ISO 100
- One Shot AF
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ประสิทธิภาพของ AF ในสภาวะแสงน้อยจะดีที่สุดเมื่อใช้:
- เลนส์ที่มี AF ความเร็วสูง
- จุด AF กึ่งกลาง
- ความไวแสง ISO ต่ำ และ
- โหมด One Shot AF
และปัจจัยอื่นๆ เช่น อุณหภูมิโดยรอบก็สามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพของ AF ได้เช่นกัน
จะทำอย่างไรหากไม่ได้ใช้เลนส์ที่มีความไวแสงสูง
ขีดจำกัดต่ำๆ (มืดขึ้น) ของ AF ในสภาวะแสงน้อยน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของ AF ในสภาวะแสงน้อยได้แม้คุณจะใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดแคบๆ (เช่น f/4 ถึง f/11)
เคล็ดลับพิเศษ: ปรับความสว่างหน้าจอ EVF/LCD ของคุณ
กล้อง EOS สามารถปรับความสว่างของช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EVF) และหน้าจอ LCD ด้านหลังให้เหมาะสมกับสภาพแสงในขณะนั้นได้อัตโนมัติ จึงทำให้คุณมองเห็นฉากผ่านช่องมองภาพและหน้าจอได้ง่ายขึ้นเมื่อถ่ายภาพในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสลัวหรือมืด
อย่างไรก็ตาม หากสภาพแวดล้อมมืดมาก หน้าจอแสดงผลอาจสว่างเกินไป ซึ่งทำให้ไม่สบายตา นอกจากนี้ แม้แสงสะท้อนโดยทั่วไปอาจไม่ส่งผลต่อการมองเห็นของคุณในช่องมองภาพ แต่แสงอาจเล็ดลอดผ่านช่องว่างเข้ามาได้หากคุณสวมแว่นตา ในสถานการณ์เช่นนี้ การปรับระดับความสว่างเองจะช่วยให้คุณถ่ายภาพได้สะดวกสบายมากขึ้น
วิธีการปรับระดับความสว่างของหน้าจอ
1. ไปที่แท็บ การตั้งค่า (เมนูสีเหลือง)
2. หาตัวเลือก “ความสว่างของหน้าจอ”
หากต้องการปรับความสว่างของช่องมองภาพ ให้มองผ่านช่องมองภาพ:
ปรับแถบเลื่อนตามความจำเป็น
หากต้องการปรับความสว่างของหน้าจอ LCD ด้านหลัง ให้ถอนสายตาออกมาจาก EVF และมองไปที่หน้าจอ LCD:
ปรับแถบเลื่อนตามความจำเป็น
เมื่อใดจึงควรปรับระดับความสว่าง
- สภาพแวดล้อมการถ่ายภาพที่มืด (ยามดึก, การถ่ายภาพดวงดาว): ปรับ EVF/หน้าจอ LCD ด้านหลังให้มืดลง
- กลางแจ้งในวันที่มีแดดจ้า: ปรับหน้าจอ LCD ด้านหลังให้สว่างขึ้น
เคล็ดลับ: การลดความสว่างของหน้าจอให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสามารถช่วยลดปริมาณการใช้แบตเตอรี่ด้วย
ข้อควรรู้: ความสว่างของหน้าจอส่งผลต่อภาพที่คุณมองเห็น
ความสว่างของหน้าจออาจทำให้ระดับแสงในภาพดูสว่างหรือมืดกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณได้ทำการปรับไว้แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ภาพของคุณได้รับแสงมากหรือน้อยเกินไป จงอย่าเชื่อในสิ่งที่คุณเห็นบนหน้าจอ แต่ให้ดูที่ฮิสโตแกรมแทน เนื่องจากสามารถแสดงการกระจายตัวของบริเวณไฮไลต์และเงาได้อย่างถูกต้อง
หากต้องการทราบเคล็ดลับเพิ่มเติมในการใช้ระบบ AF ของกล้องให้ได้ผลดีที่สุด โปรดดู:
การปรับแต่ง AF แบบแตะและลากเพื่อการถ่ายภาพผ่าน EVF ที่ดียิ่งขึ้น
นกโผบิน: การตั้งค่ากล้องเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการถ่ายภาพ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง: Servo AF
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง: การจัดองค์ประกอบภาพทำได้ง่ายขึ้นในกล้องมิเรอร์เลสใช่หรือไม่
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย