นอกจากโหมด One Shot AF ที่เป็นค่าเริ่มต้นในกล้องมิเรอร์เลสแล้ว คุณคงจะรู้จักโหมดขับเคลื่อน AF อีกแบบ นั่นคือ Servo AF หากจะพูดง่ายๆ โหมดนี้ก็คือโหมดที่คุณควรใช้สำหรับถ่ายภาพตัวแบบที่เคลื่อนไหว พบคำตอบได้ในบทความนี้! (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara, Digital Camera Magazine)
1. One Shot AF สำหรับตัวแบบที่อยู่นิ่งกับที่ ส่วน Servo AF สำหรับตัวแบบที่เคลื่อนไหว
ตามค่าเริ่มต้นแล้ว กล้องของคุณจะถูกตั้งค่าไว้ที่ One Shot AF ในโหมดนี้ เมื่อคุณกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งและจับโฟกัส (กรอบ AF สีขาวเปลี่ยนเป็นสีเขียว) กล้องจะ “ล็อกโฟกัส” และหยุดค้นหาตัวแบบ แม้ตัวแบบจะเคลื่อนที่ แต่ตราบใดที่คุณยังกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งอยู่ กรอบ AF สีเขียวจะอยู่ที่ตำแหน่งเดิมในเฟรมภาพจนกว่าคุณจะกดปุ่มชัตเตอร์ลงสุดเพื่อถ่ายภาพ
วิธีนี้จะเหมาะกับการจับโฟกัสตัวแบบที่อยู่นิ่งกับที่ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าตัวแบบเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ เช่น เด็กที่ไม่อยู่นิ่ง นก หรือรถไฟที่กำลังแล่นผ่านไป คุณย่อมต้องการให้ AF ล็อกอยู่ที่ตัวแบบเสมอแม้ตัวแบบจะขยับไปตำแหน่งอื่นในเฟรมภาพ
ในกรณีนี้โหมด Servo AF จะมีประโยชน์มาก เพราะเมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง โหมดนี้จะไล่ตาม (ติดตาม) ตัวแบบตลอดเวลาจนกระทั่งคุณถ่ายภาพ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #9: โหมด AF
One Shot AF
ภาพโคลสอัพของดอกไม้ที่มีเกสรสีเหลืองสด ในสถานการณ์นี้ การโฟกัสจะทำได้ง่ายขึ้นด้วย One Shot AF เพราะกรอบ AF จะอยู่ในตำแหน่งเดิมเมื่อจับโฟกัสแล้ว แม้จะถ่ายด้วยระยะโฟกัสใกล้สุดและระยะชัดตื้น
เคล็ดลับ: หากต้องการให้โฟกัสแม่นยำยิ่งขึ้น ควรใช้ AF 1 จุดและขนาดของกรอบ AF - 'ขนาดเล็ก’ เหมือนที่ผมใช้ในภาพนี้ หรือใช้โหมด AF จุดเล็กถ้ากล้องของคุณมี คุณสามารถแตะหน้าจอสัมผัสเพื่อเลื่อนกรอบ AF ไปยังตำแหน่งที่คุณต้องการได้
Servo AF
ผมใช้ Servo AF เพื่อถ่ายภาพฟองสบู่ที่เปลี่ยนรูปทรงไปเรื่อยๆ เมื่อพัดพาไปกับสายลม แม้ว่าฟองสบู่จะมีลักษณะใสและคาดเดาการเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่กล้องยังคงรักษาโฟกัสบนตัวแบบไว้ได้ ใน Servo AF เมื่อจับโฟกัสแล้ว กรอบ AF จะกลายเป็นสีฟ้า
FL: 200 มม. (เทียบเท่า 320 มม.)/ Aperture-priority AE (f/6.3, 1/1,250 วินาที, EV +0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
หลังจากที่เครื่องบินเข้ามาในเฟรมภาพแล้ว ผมใช้ Servo AF เพื่อติดตามและกดปุ่มชัตเตอร์ทันทีที่เครื่องบินแล่นเข้าไปถึงบริเวณกึ่งกลางเฟรม กล้องจึงรักษาโฟกัสไว้ที่ตัวแบบได้อย่างคมชัด
2. Servo AF ยังคาดเดาการเคลื่อนที่ของตัวแบบด้วย
Servo AF ไม่เพียงจับโฟกัสที่ตัวแบบขณะกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ยังนำการหน่วงเวลามาร่วมวิเคราะห์ขณะที่คาดเดาการเคลื่อนที่ของตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหวอีกด้วย โหมดนี้ใช้ได้ผลดีเป็นพิเศษสำหรับตัวแบบที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่คาดเดาได้ เช่น รถไฟและรถยนต์ และยังใช้ได้ผลแม้แต่กับตัวแบบที่เคลื่อนที่เข้าหาหรือออกห่างจากกล้อง
การคาดเดาการเคลื่อนที่ของตัวแบบยังช่วยให้กล้องรักษาโฟกัสไว้ที่ตัวแบบได้อย่างแม่นยำระหว่างการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
โหมดชัตเตอร์และโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง: ควรใช้แต่ละโหมดเมื่อใด
FL: 70 มม. (เทียบเท่า 112 มม.)/ Shutter-priority AE mode (f/5, 1/640 วินาที, EV +0.3)/ ISO 160/WB: อัตโนมัติ
เมื่อใช้ Servo AF กล้องยังคงจับโฟกัสไปที่รถไฟซึ่งกำลังแล่นเข้ามาในภาพต่อเนื่องกันนี้
การกำหนดค่า Servo AF
1. กดปุ่ม [Quick Set menu]
2. เลือก “SERVO” ในโหมด AF
ข้อควรรู้: สำหรับกล้องระดับสูง คุณสามารถปรับแต่งลักษณะการติดตามตัวแบบของ Servo AF ได้
กล้องระดับสูงจะมีแท็บเมนูกล้องแยกต่างหากสำหรับการตั้งค่า AF ในแท็บนี้ คุณจะพบตัวเลือกเมนูสำหรับปรับแต่งการทำงานของ Servo AF เมื่อติดตามตัวแบบ การตั้งค่าเริ่มต้นควรใช้ได้ผลดีในฉากส่วนใหญ่ แต่ถ้าคุณต้องถ่ายฉากที่เจาะจงหรือตัวแบบที่ท้าทาย (เช่น การแข่งขันกีฬา นกโผบิน หรือสุนัขที่พลังงานล้นเหลือ) การปรับแต่งที่มากขึ้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพให้ประสบความสำเร็จ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย