วิธีใช้โบเก้ในโฟร์กราวด์ให้ได้ผลดีเมื่อถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้
เรามักจะเข้าใจกันว่าโบเก้ที่สวยงามเกิดจากเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง แต่ความจริงแล้วสามารถสร้างขึ้นได้อย่างง่ายดายด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ แม้ว่าเลนส์ของคุณจะไม่มีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ ช่างภาพสองท่านจะมาแบ่งปันวิธีการถ่ายภาพที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด (เรื่องโดย: HARUKI, Digital Camera Magazine, Neo Ng)
1. มุ่งความสนใจไปยังตัวแบบที่อยู่ไกล
EOS 5D Mark III/ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM/ FL:244 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/1600 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย: HARUKI
ผมอยู่ท่ามกลางทุ่งข้าวสาลีกว้างใหญ่ และกังหันลมเหล่านี้อยู่ห่างจากผมออกไปประมาณ 150 เมตร ซึ่งไกลมากจนเรียกได้ว่าอยู่ในแบ็คกราวด์ เพื่อให้ถ่ายภาพกังหันลมได้คมชัดแม้อยู่ในระยะที่ไกลมาก ผมจึงถ่ายภาพที่ระยะ 244 มม. และปรับโฟกัสให้อยู่ที่กังหันลมตรงกลาง
เมื่อวัตถุอยู่ไกลมาก บรรยากาศจะทำให้วัตถุต่างๆ ดูคมชัดน้อยลง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Atmospheric Perspective หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่ามุมมองแบบบรรยากาศ (Aerial Perspective) เพียงแค่ซูมเข้าหาตัวแบบเหล่านั้นด้วยเลนส์เทเลโฟโต้อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ตัวแบบโดดเด่นออกมาได้ เช่นในกรณีนี้
ส่วนใหญ่แล้ว เราจะนึกถึงการจับโฟกัสที่ตัวแบบด้านหน้าและทำให้แบ็คกราวด์อยู่นอกโฟกัสเพื่อสร้างโบเก้ที่สวยงามอยู่ด้านหลังซึ่งทำให้ตัวแบบโดดเด่นออกมา อย่างไรก็ตาม หากมีองค์ประกอบอื่นอยู่ด้านหน้าตัวแบบ การทำให้องค์ประกอบนั้นอยู่นอกโฟกัสเพื่อสร้างโบเก้ในโฟร์กราวด์ไม่เพียงแต่จะช่วยดึงความสนใจออกมาจากรายละเอียดในโฟร์กราวด์เท่านั้น แต่ยังช่วยนำสายตาให้ลึกเข้าไปในฉากด้วย
ดังนั้น สำหรับฉากนี้ผมจึงตัดสินใจเบลอทุ่งข้าวสาลีที่อยู่ในโฟร์กราวด์
ขั้นตอนที่ 1: ใช้เลนส์เทเลโฟโต้
ระยะห่างของตัวแบบทำให้จำเป็นต้องใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาว ซึ่งก็คือ 244 มม. ในภาพนี้ เนื่องจากเลนส์เทเลโฟโต้จะมีระยะชัดตื้นโดยธรรมชาติ ผมจึงได้โบเก้ที่สวยงามพอควรแม้ใช้ f/5.6 ซึ่งเป็นรูรับแสงกว้างสุดที่ทางยาวโฟกัสนั้น
ขั้นตอนที่ 2: ถ่ายภาพจากระดับต่ำและเข้าใกล้ตัวแบบในโฟร์กราวด์
เพื่อใช้ประโยชน์จากโบเก้ให้สูงสุด ผมจึงถ่ายภาพจากระดับต่ำ เพื่อให้ต้นข้าวสาลีเข้ามาอยู่ในเฟรมได้มากขึ้น จากนั้นจึงขยับเข้าใกล้ต้นข้าวสาลีขึ้นอีกเพื่อให้การเกิดการเบลอมากขึ้น
จึงได้ภาพที่มีกังหันลมและทุ่งข้าวสาลีที่กว้างไกลอยู่ชิดกัน โดยที่ทุ่งข้าวสาลีจะดึงสายตาของเราไปยังกังหันลม
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อโบเก้ได้ที่:
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้
เคล็ดลับ: ยิ่งระยะโฟกัสใกล้สุดยาวขึ้นเท่าใด ก็จะสร้างโบเก้ในโฟร์กราวด์ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
เลนส์เทเลโฟโต้มักจะมีระยะโฟกัสใกล้สุด ที่ยาวกว่าเมื่อเทียบกับเลนส์อื่นๆ นั่นหมายความว่า สิ่งที่อยู่ใกล้เลนส์มากกว่าจะอยู่นอกโฟกัสโดยอัตโนมัติ จึงเป็นเหมือนอาการสายตายาวของเลนส์! ยกตัวอย่างเช่น สำหรับเลนส์ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM ที่ใช้ถ่ายภาพนี้ ระยะโฟกัสใกล้สุดจะอยู่ที่ 1.2 ม.
หมายเหตุ:
- สำหรับเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ ระยะโฟกัสใกล้สุดอาจแตกต่างกันไปตามทางยาวโฟกัส ขึ้นอยู่กับการออกแบบเลนส์
- เลนส์เดี่ยวซูเปอร์เทเลโฟโต้ (300 มม. ขึ้นไป) มักจะมีระยะโฟกัสใกล้สุดที่ยาวกว่า
แนวคิดที่เกี่ยวข้อง: เลนส์ที่มีรูรับแสงแบบปรับได้
2. ถ่ายภาพย้อนแสงเพื่อสร้างวงโบเก้ที่เป็นประกายระยิบระยับ
EOS R6/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 106 มม./ Shutter-priority AE (f/5, 1/2000 วินาที, EV +1)/ ISO 200
ภาพโดย: Neo Ng (@_neo_ng_ig)
พื้นหญ้านั้นสามารถเป็นองค์ประกอบในโฟร์กราวด์ที่น่าทึ่งได้ หากมีสภาวะแสงที่เหมาะสม คุณสามารถเปลี่ยนสนามหญ้าธรรมดาๆ ให้กลายเป็นทะเลที่มีแสงระยิบระยับได้ ซึ่งในภาพนี้ ประกายเหล่านั้นแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความหวังและพลังในวัยเยาว์ของนักฟุตบอลหนุ่มได้อย่างสมบูรณ์แบบในภาพพอร์ตเทรตกีฬานี้
ขั้นตอนที่ 1: ถ่ายภาพย้อนแสง
การถ่ายภาพย้อนแสงเป็นเรื่องท้าทาย แต่ทุกความท้าทายคือโอกาส! เมื่อแสงจากด้านหลังสะท้อนจากใบหญ้าแต่ละใบ จะทำให้เกิดแหล่งกำเนิดแสงเป็นจุดซึ่งเหมาะสำหรับการสร้างวงโบเก้ที่เป็นประกายระยิบระยับ
ขั้นตอนที่ 2: ใช้การวัดแสงแบบจุด ล็อค AE และการชดเชยแสง
การวัดแสงแบบจุดและล็อค AE เป็นเทคนิคการถ่ายภาพย้อนแสงที่ผ่านการทดสอบและได้รับการพิสูจน์แล้ว เมื่อเพิ่มเทคนิคการจำลองระดับแสงเข้าไปด้วย คุณจะได้การผสมผสานที่มีประสิทธิภาพสูง ในขั้นตอนนี้ ผมให้ตัวแบบได้รับแสงจากนั้นจึงล็อคระดับแสงไว้ ใช้การชดเชยแสงเพื่อปรับระดับแสงโดยละเอียดตามต้องการ และสิ่งที่ดีที่สุดคือการที่สามารถดูผลลัพธ์ได้ในหน้าจอ Live View หรือ EVF!
ขั้นตอนที่ 3: ถ่ายจากระดับต่ำ
เพื่อให้ต้นหญ้าเข้ามาอยู่ในภาพได้มากขึ้น ผมจึงถ่ายภาพจากระดับต่ำและใช้มุมต่ำ ซึ่งต่ำมากจนกระทั่งกล้องของผมแทบจะอยู่บนพื้น ต้นหญ้าที่อยู่หน้ากล้องจะอยู่นอกโฟกัสโดยอัตโนมัติเนื่องจากอยู่ใกล้กว่าระยะโฟกัสใกล้สุด จึงกลายเป็นวงโบเก้ที่มีประกายระยิบระยับ เอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพที่ระยะเทเลโฟโต้ทำให้วงโบเก้ดูอัดแน่นมากขึ้น ซึ่งเป็นการเสริมเอฟเฟ็กต์นี้ให้ชัดเจนขึ้นอีก
ด้วยหน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้ของกล้อง EOS R6 ผมจึงไม่ต้องนอนคว่ำลงพื้นดินเพื่อให้มองเห็นภาพ
เคล็ดลับ: โบเก้จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นเมื่อหญ้าเปียก
ผมถ่ายภาพนี้ในขณะที่หญ้าแห้ง แต่ถ้าหากคุณถ่ายภาพหลังฝนตก หรือเมื่อมีน้ำค้างในยามเช้า แสงที่สะท้อนออกมาจากหยดน้ำบนใบหญ้าจะช่วยสร้างวงโบเก้ให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้นไปอีก
ดูเทคนิคการใช้เลนส์เทเลโฟโต้เพิ่มเติมได้ที่:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (3): ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
สร้างฉากตระการตาด้วยเส้นนำสายตาระยะเทเลโฟโต้
5 สิ่งที่ควรลองด้วยเลนส์เทเลโฟโต้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #7: อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเลนส์เทเลโฟโต้ 200 มม. และ 300 มม.
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1959 ที่ฮิโรชิมา Haruki เป็นช่างภาพและผู้กำกับภาพ เขาจบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย Kyushu Sangyo และร่วมงานในกิจกรรมเกี่ยวกับงานถ่ายภาพพอร์ตเทรตสำหรับสื่อเป็นหลัก ทั้งงานโฆษณา นิตยสาร และดนตรี
Neo Ng เป็นอดีตโค้ชบาสเก็ตบอลและอาศัยอยู่ในฮ่องกง ปัจจุบันเขาเป็นช่างภาพอิสระด้านกีฬา สัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่าผู้มุ่งมั่นที่จะจับภาพเสี้ยววินาทีสำคัญที่มีการเคลื่อนไหว ในฐานะช่างภาพอย่างเป็นทางการสำหรับทีมกีฬาฮ่องกงหลายทีม เขาได้ร่วมงานกับ Nike Hong Kong Sports Marketing ในยามว่าง อาจพบเห็นเขาทำสิ่งที่รักอย่างการถ่ายภาพนกป่า นอกจากจะเขียนบทความให้กับเว็บไซต์การถ่ายภาพที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงอย่าง DC Fever เป็นประจำแล้ว Neo ยังจัดเวิร์กช็อปการถ่ายภาพและทัวร์ถ่ายภาพนกอีกด้วย
https://500px.com/neong
https://www.facebook.com/neongphotography/