การถ่ายภาพซ้อนของดอกไม้ไฟ: คำแนะนำอย่างละเอียดเพื่อถ่ายภาพสวยได้ดั่งใจ
ท้องฟ้าซึ่งเต็มไปด้วยดอกไม้ไฟดูงดงามก็จริง แต่บางครั้งคุณอาจเพียงต้องการจับภาพเอฟเฟ็กต์ที่คุณชอบมากที่สุดเท่านั้น ดังนั้น มาลองใช้โหมดถ่ายภาพซ้อนของกล้องเพื่อสร้างสรรค์ภาพมอนทาจของดอกไม้ไฟด้วยตัวคุณเองกัน ต่อไปนี้เราจะแนะนำวิธีสร้างภาพขึ้นมาใหม่โดยใช้เทคนิคดังกล่าว (เรื่องโดย Gensaku Izumiya)
EOS 5DS/ TS-E17mm f/4L/ FL: 17 มม./ Manual exposure (f/11, 1 วินาที ×3 ภาพ, EV±0)/ ISO 100/ WB: 3,000K
ถ่ายโดยใช้ขาตั้งกล้อง
สถานที่ถ่ายภาพ: งานแสดงดอกไม้ไฟ Asakawa-machi (จังหวัดฟุกุชิมะ)
ขั้นตอนที่ 1: การเตรียมความพร้อมเพื่อถ่ายภาพ
1. ทำการบ้าน
1) สำรวจพื้นที่ ออกสำรวจขณะที่ข้างนอกยังสว่างอยู่เพื่อทราบพื้นที่ที่จะจุดดอกไม้ไฟ
2) ลองหาโบรชัวร์ของงานหากมี โบรชัวร์สำหรับงานดอกไม้ไฟที่สำคัญๆ มักระบุขนาดและประเภทของดอกไม้ไฟ รวมถึงลำดับก่อนหลัง ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการวางแผนถ่ายภาพ
3) วางแผนเรื่องอุปกรณ์ (ดู 2. อุปกรณ์ที่จะใช้) งานแสดงดอกไม้ไฟมักแน่นขนัดไปด้วยผู้คน และคุณคงอยากเดินทางพร้อมสัมภาระที่น้อยที่สุด การทราบถึงขนาดของดอกไม้ไฟและระยะห่างจากตัวคุณจะช่วยให้คุณกำหนดทางยาวโฟกัสที่ต้องใช้ได้ สำหรับภาพด้านบน ผมตัดสินใจเลือกใช้เลนส์เดี่ยว 17 มม.
เคล็ดลับน่ารู้: ขนาดของดอกไม้ไฟ
งานแสดงดอกไม้ไฟขนาดเล็กถึงขนาดกลางดังเช่นงานที่ผมถ่ายภาพนี้มักใช้ดอกไม้ไฟที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 15 ซม. ซึ่งดอกไม้ไฟ 15 ซม. สามารถแตกกระจายในอากาศได้สูงถึง 190 ม. และกว้างสูงสุด 150 ม. ขณะเดียวกัน งานแสดงดอกไม้ไฟที่มีขนาดใหญ่มากๆ อาจใช้ดอกไม้ไฟที่ใหญ่ถึง 60 ซม. ซึ่งพุ่งสูงถึงระดับ 450 ม. และแตกออกจนมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 500 ม.
EOS 5DS
คุณไม่เพียงได้ภาพที่แสดงรายละเอียดอย่างดีเยี่ยมด้วยกล้องความละเอียดสูงพิเศษเช่นนี้ แต่จำนวนพิกเซลที่สูงยังมีประโยชน์หากคุณตัดสินใจที่จะครอปภาพในภายหลัง
TS-E17mm f/4L
แม้ไม่ถึงกับเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ แต่เลนส์ทิลต์-ชิฟต์สามารถกำจัดการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟที่อาจปรากฎขึ้นได้ ไม่ว่าคุณจะใช้เลนส์มุมกว้างหรือเทเลโฟโต้จะต้องขึ้นอยู่กับสภาวะในสถานที่ถ่ายภาพของคุณ
สายลั่นชัตเตอร์/รีโมทสวิตช์
สายลั่นชัตเตอร์หรือรีโมทสวิตช์เป็นตัวช่วยที่ดีเยี่ยมสำหรับการเปิดรับแสงนาน เพราะไม่เพียงช่วยควบคุมเวลาการเปิดรับแสงและช่วงเวลาในการลั่นชัตเตอร์เท่านั้น แต่ยังป้องกันไม่ให้กล้องสั่นไหวจากการใช้นิ้วกดปุ่มชัตเตอร์อีกด้วย และจะยิ่งดีขึ้นไปอีก หากรีโมทสวิตช์ของคุณมาพร้อมกับฟังก์ชั่นการตั้งเวลาถ่ายภาพ
ฟิลเตอร์ ND8
แม้คุณอาจจะเลือกใช้ความไวแสง ISO ต่ำสุดและลดขนาดรูรับแสงให้แคบที่สุดแล้ว แต่ดอกไม้ไฟยังคงสว่างจ้าจนภาพอาจดูสว่างเกินไปอยู่ดี ในกรณีนี้ ฟิลเตอร์ ND จะช่วยคุณลดความเข้มแสงและป้องกันการได้รับแสงมากเกินไป
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ข้อดีและข้อเสียของฟิลเตอร์ ND
ขั้นตอนที่ 2: ตั้งค่ากล้อง
1. การตั้งค่าพื้นฐาน
ผมใช้การตั้งค่าต่อไปนี้ในการถ่ายภาพดอกไม้ไฟที่จุดครั้งเดียว ซึ่งนำไปใช้กับการถ่ายภาพซ้อนได้เช่นกัน
1) ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ตั้งกล้องไว้ในตำแหน่งที่มั่นคงดีแล้ว
2) ต่อสายลั่นชัตเตอร์/รีโมทสวิตช์
3) ปิดคุณสมบัติการลดจุดรบกวนจากการเปิดชัตเตอร์นานเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดยิ่งขึ้น
4) ตั้งค่ารูปแบบภาพเป็น "ภาพทิวทัศน์" เพื่อให้สีสันของภาพดูสดใสขึ้น
5) ตั้งค่าโหมดการถ่ายภาพและการตั้งค่าต่างๆ การตั้งค่าที่ผมใช้ได้ผลเสมอคือ โหมด Bulb, ISO 100, f/11
สายลั่นชัตเตอร์หรือรีโมทสวิตช์ช่วยให้สั่งงานชัตเตอร์ได้ง่ายและป้องกันไม่ให้กล้องสั่นไหว
การเปิดรับแสงจะทำงานต่อเนื่องเมื่อกดปุ่มสายลั่นชัตเตอร์ค้างไว้เท่านั้น
อ่านข้อมูลสรุปเกี่ยวกับพื้นฐานการถ่ายภาพดอกไม้ไฟที่:
การถ่ายภาพพลุดอกไม้ไฟ: วิธีถ่ายภาพ
เคล็ดลับ: อย่าตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้เร็วเกินไป
ถ่ายที่ 1/15 วินาที
หากเวลาการเปิดรับแสงสั้นเกินไป เส้นแสงจากดอกไม้ไฟจะเห็นได้ไม่ชัดและภาพจะดูไม่น่าประทับใจนัก
ต่อไปนี้คือเคล็ดลับบางประการสำหรับการลั่นชัตเตอร์ในจังหวะที่เหมาะสมในการถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงเพียงครั้งเดียว และอื่นๆ:
4 เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายภาพดอกไม้ไฟที่จุดครั้งเดียวให้ดูสวยงาม
3 สิ่งที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับการถ่ายภาพดอกไม้ไฟ
2. เตรียมเลนส์ของคุณให้พร้อม
1) ใช้ MF เพื่อโฟกัส ด้วยวิธีนี้ จุดโฟกัสจะไม่เคลื่อนไปโดยไม่ตั้งใจเมื่อคุณกดปุ่มสายลั่นชัตเตอร์
2) ปรับโฟกัสไว้ที่ระยะอนันต์
3) การเคลื่อนไหวในวงแหวนโฟกัสอาจทำให้ภาพของคุณหลุดโฟกัส จึงควรหลีกเลี่ยงโดยใช้เทปกาวผ้าติดวงแหวนโฟกัสให้อยู่กับที่
ตั้งค่าไว้ที่ MF
ตั้งค่าไปที่ MF เพื่อไม่ให้จุดโฟกัสเคลื่อนไปโดยไม่ตั้งใจเมื่อคุณกดปุ่มสายลั่นชัตเตอร์
ตั้งโฟกัสไว้ที่ระยะอนันต์ ติดผนึกตัวเลนส์ด้วยเทปกาวผ้า
ใช้เทปกาวผ้าติดวงแหวนโฟกัสให้อยู่กับที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพที่ได้หลุดโฟกัส
เคล็ดลับพิเศษ: โฟกัสไปที่สถานที่จุดดอกไม้ไฟหากทำได้
หากเป็นช่วงเวลากลางวันและคุณเห็นภาชนะทรงกระบอกสำหรับดอกไม้ไฟซึ่งแสดงตำแหน่งที่จะจุด ให้ใช้ MF และตั้งโฟกัสไปที่จุดดังกล่าวล่วงหน้า
ขั้นตอนที่ 3: ก่อนถ่ายภาพ
1. จัดองค์ประกอบภาพสำหรับภาพซ้อนภาพแรกในแนวนอน เพื่อให้ภาพดอกไม้ไฟอยู่ทางด้านซ้ายของเฟรมภาพ
2. เฝ้าสังเกตดอกไม้ไฟดวงแรก เมื่อดอกไม้ไฟดวงแรกจุดขึ้น ลองตรวจสอบความสูงและขนาดของการกระจายผ่านกล้องของคุณ แม้ว่าจะเป็นการดีที่สุดถ้าดอกไม้ไฟที่คุณต้องการถ่ายมีขนาดเท่ากันและพุ่งขึ้นสูงในระดับและตำแหน่งเดียวกันบนท้องฟ้า แต่หากมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน
ขั้นตอนที่ 4: การถ่ายภาพซ้อนจริง
1. ก่อนกดชัตเตอร์…
1) เปิดโหมดการถ่ายภาพซ้อนและกำหนดจำนวนภาพซ้อนที่จะถ่าย สำหรับภาพนี้ ผมกำหนดไว้ที่ "3" ภาพ หากคุณยังเป็นช่างภาพดอกไม้ไฟมือใหม่ คุณอาจเลือกใช้วิธีคลุมด้วยผ้าสีดำได้เช่นกัน
การตั้งค่าของผม:
โหมดการถ่ายภาพซ้อน: ON: ระบบ/ควบฯ (เน้นระบบและการควบคุม)
การควบคุมการถ่ายภาพซ้อน: "สว่าง"
จำนวนภาพซ้อน: 3
*ภาพแสดงหน้าจอเมนูในกล้อง EOS 5DS/EOS 5DS R และอาจแตกต่างจากกล้องรุ่นอื่นๆ
2) อย่าเริ่มถ่ายภาพทันที ครั้งแรกที่คุณได้ยินเสียงดอกไม้ไฟแตกออก ให้รีบดูที่หน้าจอกล้องเพื่อเช็คความสูงและขนาดทันที และตรวจสอบว่าดอกไม้ไฟอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องในภาพถ่ายหรือไม่
เคล็ดลับ: มีเส้นแสงดีหรือไม่ดี
เมื่อดอกไม้ไฟถูกจุดขึ้น คุณจะเห็นเส้นแสงเกิดเป็น "ทาง" ขณะดอกไม้ไฟพุ่งสู่ท้องฟ้า คุณสามารถเลือกได้ว่าจะรวมเส้นแสงนี้ไว้ในองค์ประกอบดีหรือไม่ สำหรับภาพนี้ ผมเลือกที่จะตัดเอาเส้นแสงออกเพื่อดึงความสนใจของผู้ชมไปที่ดอกไม้ไฟหลักที่แตกออก
ควรกดชัตเตอร์เมื่อใด
ควรเริ่มถ่ายภาพซ้อนเมื่อ "เส้นแสง" ของดอกไม้ไฟหายไปแล้ว หากต้องการรวมเส้นแสงเข้าไปในองค์ประกอบภาพ ให้เริ่มถ่ายภาพซ้อนทันทีที่ได้ยินเสียงดอกไม้ไฟแตกออก
2. เปลี่ยนองค์ประกอบภาพเพื่อถ่ายภาพดอกไม้ไฟครั้งต่อๆ ไป
ภาพที่ได้จะขาดความสมดุลหากคุณแพนกล้องไปแบบสุ่มๆ หลังจากถ่ายภาพแรก ควรวางแผนว่าคุณต้องการให้ดอกไม้ไฟในภาพแต่ละภาพอยู่ในตำแหน่งใด และเปลี่ยนองค์ประกอบภาพให้สอดคล้องกัน
ผมถ่ายภาพซ้อนของดอกไม้ไฟสามภาพ พร้อมกับหมุนแท่นขาตั้งกล้อง 10° หลังจากถ่ายภาพแต่ละภาพ จากนั้นวางดอกไม้ไฟดวงแรก (A) ไว้ทางด้านซ้ายของเฟรมภาพ ดวงที่สอง (B) ไว้ตรงกลาง และดวงที่สาม (C) ไว้ทางด้านขวา
เมื่อนำภาพมารวมกันแล้ว ดอกไม้ไฟทั้งสามดวงจะมีขนาดเท่ากัน (เส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ซม.) B อยู่ที่ตำแหน่ง 10° ทางด้านขวาของ A และ C จะอยู่ที่ตำแหน่ง 10° ทางด้านขวาของ B คุณสามารถปรับเปลี่ยนมุมของตำแหน่งได้ตามทางยาวโฟกัสของเลนส์และขนาดของดอกไม้ไฟ
หากดอกไม้ไฟถูกยิงขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ต่อไปนี้เป็นวิธีเก็บภาพดอกไม้ไฟทั้งชุดไว้ในเฟรมเดียวกัน
เคล็ดลับเกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์: วิธีเก็บภาพดอกไม้ไฟทั้งชุดไว้ในเฟรมเดียวกัน
ขั้นตอนสุดท้าย: ระวังสิ่งที่อาจทำลายภาพถ่ายของคุณ
1. เต้นท์กลางแจ้งและองค์ประกอบอื่นๆ ที่อยู่กับที่และมีขนาดใหญ่
เมื่อคุณแพนกล้องในโหมดการถ่ายภาพซ้อน วัตถุใดที่อยู่กับที่ซึ่งถ่ายติดมาด้วยจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันในภาพซ้อนแต่ละภาพ ซึ่งอาจทำให้ "เห็นเป็นภาพซ้อน" กระจัดกระจาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุที่มีขนาดใหญ่อย่างเช่นเต็นท์และอาคารบ้านเรือนต่างๆ แต่ในภาพที่ใช้งานได้จะไม่เจอกับปัญหาดังกล่าวเนื่องจากมีการใช้แสงยามค่ำคืนเป็นฉากหลัง
2. การรับแสงมาก/น้อยเกินไป
ภาพสว่างเกินไป: แสงสว่างโพลน
ภาพมืดเกินไป: ดอกไม้ไฟดูมืดเกินไป
ระยะห่างไม่ว่าใกล้หรือไกลระหว่างดอกไม้ไฟกับกล้องส่งผลให้ได้เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่แตกต่างกัน ซึ่งท้ายที่สุดอาจเปลี่ยนความสว่างของภาพถ่ายได้ นอกจากนี้ ดอกไม้ไฟบางดอกอาจสว่างกว่าดอกอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จึงควรควบคุมการเปิดรับแสงโดยปรับรูรับแสงตามที่จำเป็น
ต่อไปนี้เป็นไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ภาพดอกไม้ไฟ:
ถ่ายภาพการแสดงดอกไม้ไฟด้วยมืออย่างไรให้มีศิลปะ!
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองอะกิตะเมื่อปี 1959 การถ่ายภาพดอกไม้ไฟคือความหลงใหลที่มีมายาวนานในชีวิตของ Izumiya เขาถ่ายภาพทิวทัศน์ งานโฆษณา ผู้คน สินค้า และการทำอาหาร และสร้างสรรค์ภาพถ่ายเกี่ยวกับไฟและน้ำเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของสมาคม Japan Professional Photographers Society