ในฐานะกล้อง DSLR ระดับมืออาชีพรุ่นเรือธงใหม่ล่าสุดของ Canon กล้อง EOS-1D X Mark III จึงมีความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องที่น่าทึ่งและรองรับการบันทึกภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบ RAW 5.5K อีกทั้งยังมีคุณสมบัติการถ่ายภาพนิ่งต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ในบทความนี้ เราจะมาดูความสามารถในการรองรับภาพรูปแบบ HDR PQ HEIF ซึ่งเป็นการยกระดับการถ่ายภาพนิ่งขึ้นไปอีกขั้น
1) ความรู้เบื้องต้น
2) ความแตกต่างระหว่างภาพแบบ RAW, JPEG และ HEIF
3) ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ HDR PQ HEIF
4) การถ่ายภาพรูปแบบ HEIF ด้วยกล้อง EOS-1D X Mark III
5) การแสดงภาพ HEIF
6) คุณจะลองใช้ภาพ HEIF ในอนาคตหรือไม่
EOS-1D X Mark III: ความเร็วและคุณภาพของภาพเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น
กล้องในซีรีย์ EOS-1D เป็นกล้อง DSLR แบบฟูลเฟรมชั้นนำของ Canon ตลอดเวลาที่ผ่านมา กล้องรุ่นนี้ได้รับความไว้วางใจจากช่างภาพมืออาชีพในการถ่ายภาพหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นภาพกีฬา ข่าว ชีวิตสัตว์ป่า ภาพพอร์ตเทรต แฟชั่น และการถ่ายภาพทิวทัศน์ จึงไม่น่าแปลกใจที่กล้องรุ่นใหม่ล่าสุดในซีรีย์อย่าง EOS-1D X Mark III จะมีคุณทั้งคุณสมบัติใหม่และคุณสมบัติที่ได้รับการปรับปรุงมากมายซึ่งเป็นการมุ่งพัฒนาคุณภาพของภาพให้ดียิ่งขึ้น
คุณสมบัติเหล่านี้ได้แก่:
- - เซนเซอร์ CMOS ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นในการลดจุดรบกวนจากความไวแสง ISO สูง
- - ฟิลเตอร์ Low-Pass ความละเอียดสูงแบบใหม่ ซึ่งป้องกันการเกิดเอฟเฟ็กต์มอเร่และสีเพี้ยนเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจน คมชัด และสมจริงมากยิ่งขึ้น
- - ระบบประมวลผลภาพ DIGIC X ใหม่ ซึ่งให้การประมวลผลความคมชัดความละเอียดสูงและลดการเกิดจุดรบกวนได้มากขึ้น
คุณสามารถอ่านเกี่ยวกับคุณสมบัติเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่:
แนะนำกล้อง EOS-1D X Mark III (1): ประสิทธิภาพแห่งการถ่ายภาพนิ่ง
แน่นอนว่าภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS-1D X Mark III นั้นจะมีความชัดเจนและคมชัดยิ่งกว่าที่เคย แต่หากเราบอกว่าแค่นี้ยังไม่สามารถสะท้อนถึงประสิทธิภาพที่แท้จริงของกล้องได้ล่ะ
การถ่ายภาพไม่ได้เป็นเรื่องของสิ่งที่คุณถ่ายได้เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถมองเห็นได้ด้วย
เมื่อเราพูดถึงคุณสมบัติในการถ่ายภาพนิ่งของกล้อง สิ่งที่เรามักจะลืมนึกถึงในบางครั้งก็คือ ภาพถ่ายนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของข้อมูลที่คุณสามารถบันทึกได้เท่านั้น แต่สิ่งที่คุณสามารถมองเห็นเมื่อแสดงภาพนั้นบนหน้าจอก็สำคัญเช่นกัน หากข้อมูลเกี่ยวกับสีและโทนสีของภาพที่เซนเซอร์บันทึกไว้ไม่อยู่ภายในช่วงที่อุปกรณ์แสดงภาพของคุณสามารถแสดงได้ คุณก็จะไม่สามารถเห็นภาพที่แท้จริงได้เช่นกัน
JPEG เป็นหนึ่งในรูปแบบที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดในวงการภาพดิจิตอลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาพถ่าย แต่รูปแบบภาพนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1992 ความเป็นที่นิยมก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะในขณะที่อุปกรณ์แสดงภาพได้รับการพัฒนาอยู่เสมอ รูปแบบภาพ JPEG กลับไม่ได้มีวิวัฒนาการเพื่อตามให้ทัน
หน้าจอแบบ HDR (High Dynamic Range) จึงได้รับความนิยมมากกว่าในระยะหลังนี้ หน้าจอเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีสีที่ทำให้สามารถแสดงสีสันและความเปรียบต่างได้ในช่วงที่กว้างกว่าหน้าจอ SDR (Standard Dynamic Range) แบบดั้งเดิม ซึ่งหมายความว่าจะสามารถแสดงรายละเอียดในส่วนที่สว่างและมืดได้ชัดเจนกว่าด้วย ด้วยเหตุนี้ ภาพที่แสดงบนหน้าจอ HDR จึงมีความสมจริงมากกว่า เหมือนกับคุณได้เห็นฉากนั้นด้วยตาของตนเอง
ภาพดิจิตอลมักจะถูกจัดเก็บในรูปแบบ JPEG เป็นส่วนใหญ่เนื่องจากสามารถแสดงได้บนอุปกรณ์แสดงผลได้ทุกแบบแม้เป็นรุ่นเก่า แต่พิกัดสีและไดนามิกเรนจ์ของไฟล์ JPEG 8 บิต นั้นไม่สามารถใช้คุณสมบัติที่หน้าจอ HDR รุ่นใหม่ๆ มีได้
ความแตกต่างระหว่างภาพแบบ RAW, JPEG และ HEIF
ปริภูมิสีและความลึกของสีหมายถึงอะไร
ปริภูมิสี: ช่วงของสีที่สามารถถ่ายทอดหรือแสดงออกมาได้
ความลึกของสี: จำนวนเฉดสีเฉพาะตัวที่สามารถถ่ายทอดหรือแสดงออกมาได้
หน้าจอทีวีและคอมพิวเตอร์แบบเก่ามักจะมีปริภูมิและความลึกของสีแบบเดียวกัน ถึงแม้ว่าภาพของคุณจะมีข้อมูลสีมากกว่าปริภูมิและความลึกสีนี้ คุณก็จะยังคงไม่เห็นความแตกต่างบนหน้าจออยู่ดีเนื่องจากหน้าจอของคุณไม่สามารถแสดงข้อมูลเหล่านั้นได้
รูปแบบภาพ RAW, JPEG และ HEIF สามารถรองรับข้อมูลสีได้เท่าใด
RAW
เซนเซอร์ภาพ CMOS ในกล้อง EOS ของคุณจะจับภาพและภาพที่ได้จะมีปริภูมิและความลึกของสีมากกว่าไฟล์ JPEG ซึ่งก็คือข้อมูลสี 14 บิต ข้อมูลนี้คือสิ่งที่ถูกบันทึกในไฟล์แบบ RAW แต่คุณจะต้องทำการปรับแต่งภาพเพื่อให้แสดงและมองเห็นรายละเอียดได้
JPEG
หากคุณทำการบันทึกในรูปแบบ JPEG ข้อมูล 14 บิต จะถูกบีบอัดให้อยู่ในรูปแบบ 8 บิต ซึ่งหมายความว่ามีข้อมูลสีหายไปและพิกัดสีจะแคบลงมากด้วย เช่น sRGB
ดูข้อมูลเกี่ยวกับความแตกต่างของรูปแบบภาพ JPEG และ RAW ได้ที่:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #5: ภาพถ่ายแบบ RAW จะคงคุณภาพไว้เช่นเดิมหลังจากรีทัชหรือไม่
HEIF
เมื่อเปรียบเทียบกัน การบันทึกในรูปแบบ HEIF ด้วยกล้อง EOS-1D X Mark III จะทำให้คุณได้ความลึกของสี 10 บิต ภายในไฟล์ขนาดเดียวกับ JPEG เนื่องจากข้อมูลถูกแสดงออกมาเช่นนี้ ซึ่งต่างจากภาพ RAW คุณจึงสามารถเห็นความแตกต่างได้โดยไม่ต้องปรับแต่งภาพก่อน หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ คุณสามารถเพลิดเพลินไปกับผลของไดนามิกเรนจ์ที่กว้างกว่าในภาพได้จากกล้องโดยตรง
ความงดงามของรูปแบบภาพ HDR PQ HEIF: รองรับมาตรฐาน HDR ใหม่
บอกลาภาพที่ดูเหมือนปรับแต่งมากจนเกินไป
เรามาลองย้อนเวลากลับไปในช่วงที่คุณพยายามจะสร้างภาพนิ่งแบบ HDR กัน ไม่ว่าคุณจะปรับแต่งภาพด้วยตนเองหรือใช้โหมด HDR ในกล้อง เป็นไปได้ว่าวิธีการที่ใช้คือถ่ายภาพเดียวในหลายระดับแสงแตกต่างกัน จากนั้นจึงนำภาพมาซ้อนกัน วิธีนี้จะช่วยขยายไดนามิกเรนจ์ที่ถ่ายทอดออกมาในภาพได้มากขึ้นและคงรายละเอียดในส่วนที่เป็นไฮไลต์และเงาเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ภาพส่งผลต่ออารมณ์ได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะถ่ายภาพ HDR แบบเดิมด้วยวิธีใด ข้อมูลสีจะถูกบันทึกลงในช่วงสี SDR ที่แคบกว่า ซึ่งทำให้โทนสีและความเปรียบต่างดูนุ่มนวลน้อยกว่า ภาพที่ได้จึงมักมีลักษณะเหมือนถูกปรับแต่งมากจนเกินไป
ถ้าอย่างนั้น ทำไมภาพเคลื่อนไหวและวิดีโอจึงดูสวยงามและสมจริงได้ทั้งๆ ที่ใช้แสงเพียงระดับเดียว นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขาบันทึกภาพด้วยปริภูมิสีที่กว้างและความลึกของสีที่สูงกว่า ซึ่งกล้องดิจิตอลแบบเก่ายังไม่สามารถทำได้จนกระทั่งปัจจุบันนี้
JPEG / 8 บิต / sRGB
HDR PQ HEIF / 10 บิต / BT.2020*
ทั้งสองภาพนี้ถูกแปลงมาจากไฟล์แบบ RAW เหมือนกัน ไฟล์ JPEG 8 บิต แบบเดิมดูสว่างแต่แบนกว่า ในขณะที่ในไฟล์ HEIF* คุณจะสามารถเห็นรายละเอียดในส่วนไฮไลต์และเงาได้มากกว่า และยังดูมีมิติมากกว่าด้วย ทั้งนี้เนื่องมาจากรูปแบบภาพ HDR PQ HEIF นั้นสามารถรองรับข้อมูลภาพที่บันทึกในไฟล์แบบ RAW ได้ดีกว่า
*ข้อควรรู้: ภาพ JPEG ที่มีลักษณะเหมือน HDR PQ
เพื่อให้สามารถแสดงภาพในเว็บไซต์ได้ ภาพตัวอย่าง “HEIF” ในบทความนี้จึงเป็นไฟล์ HEIF ที่ถูกแปลงมาให้เป็นภาพ JPEG ที่มีลักษณะเหมือน HDR PQ นี่เป็นไฟล์ JPEG รูปแบบพิเศษซึ่งสามารถแสดงภาพที่มีลักษณะเหมือนที่คุณจะเห็นเมื่อดูจากหน้าจอ HDR แต่ภาพยังคงเป็นไฟล์ 8 บิต และมีขีดจำกัดเช่นเดียวกับหน้าจอแบบ SDR ดังนั้น หากคุณทึ่งกับความแตกต่างที่ได้เห็นในขณะนี้ คุณจะต้องทึ่งกว่าแน่นอนเมื่อเห็นภาพ HEIF จริงบนหน้าจอ HDR!
มาตรฐาน HDR แบบต่างๆ: HDR PQ คืออะไร
ในปัจจุบันมีมาตรฐาน HDR หลักๆ อยู่สองแบบ:
- Hybrid Log-Gamma (HLG) ใช้งานได้ง่ายกับหน้าจอแบบ SDR
- Perceptual Quantizer (PQ) มีประสิทธิภาพเหมาะสำหรับหน้าจอ HDR มากที่สุด
กล้อง EOS-1D X Mark III ใช้มาตรฐานแบบ HDR PQ ซึ่งใช้ในรูปแบบ HDR สำหรับวิดีโอด้วย เช่น HDR10, HDR10+ และ Dolby Vision เนื่องจากมาตรฐานนี้บันทึกความเปรียบต่างด้วยค่าสัมบูรณ์ คุณภาพของภาพจึงมีความเสถียรกว่า ไม่ว่าจะใช้หน้าจอแบบใด มาตรฐานนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในการผลิตภาพยนตร์ แต่ก็สามารถใช้ในการถ่ายภาพนิ่งได้ด้วยเช่นกัน
HDR PQ ผสมผสาน PQ gamma ซึ่งทำให้ภาพสามารถแสดงช่วงไดนามิกเรนจ์ใกล้เคียงกับที่ตามนุษย์มองเห็นด้วยความละเอียดสูงเป็นพิเศษที่กล้อง EOS ของคุณมี (เคล็ดลับน่ารู้ : “4K” จะอยู่ที่ราว 8 ล้านพิกเซล และกล้องรุ่นใหม่ทั่วไปก็มีจำนวนพิกเซลมากกว่านี้มาก!) ภาพที่ได้จึงดูสมจริงและมีความเปรียบต่างที่ใกล้เคียงกับที่เรามองเห็นในชีวิตจริง
ขั้นตอนการสร้างภาพนิ่งของกล้อง EOS-1D X Mark III
คุณจะใช้ไฟล์ HEIF ได้อย่างไร
ตารางด้านล่างแสดงความแตกต่างของรูปแบบการบันทึกต่างๆ ของกล้อง EOS-1D X Mark III แม้จะมีข้อมูลมาก แต่ไฟล์ HEIF (HDR PQ) ก็ยังมีขนาดเท่ากับไฟล์ JPEG และคุณยังสามารถบันทึกไฟล์ได้สองรูปแบบพร้อมกัน เช่น
- RAW+HEIF
- C-RAW+HEIF
- RAW+JPEG
- C-RAW+JPEG
ปริมาณข้อมูลที่มีในไฟล์ HEIF ยังทำให้คุณสามารถแปลงไฟล์ให้อยู่ในรูปแบบอื่นที่รองรับข้อมูลน้อยกว่าได้ด้วย ดังนั้น:
- คุณสามารถแปลงไฟล์ RAW/C-RAW ให้เป็น HEIF (HDR PQ) หรือ JPEG ได้
- สามารถแปลง HEIF (HDR PQ) ให้เป็น JPEG ได้
รูปแบบการบันทึกไฟล์ภาพนิ่งของกล้อง EOS-1D X Mark III
* ขนาดเมื่อปิด HDR PQ
**12 บิต ระหว่างการถ่ายภาพด้วยชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์
^ ขนาดไฟล์จริงขึ้นอยู่กับสภาวะการถ่ายภาพ
การแสดงภาพ HEIF
หากคุณไม่มีหน้าจอ HDR
ในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มีหน้าจอแบบ SDR ซึ่งไม่สามารถแสดงคุณภาพของภาพแบบ HEIF ได้อย่างเต็มที่ และหน้าจอ LCD ด้านหลังของกล้อง EOS-1D X Mark III ก็เป็นแบบนี้เช่นกัน แต่ถึงจะไม่มีอุปกรณ์แสดงภาพ HDR คุณก็ยังสามารถแสดงภาพที่มีความใกล้เคียงกับภาพ HEIF ได้บนหน้าจอ HDR…
- ในกล้องของคุณ: เมื่อคุณแสดงภาพในหน้าจอ LCD ด้านหลังโดยใช้ฟังก์ชัน “View Assist”
- ใน Digital Photo Professional: เมื่อคุณปรับแต่งหรือแปลงภาพจากรูปแบบ RAW ที่ถ่ายโดยตั้งค่า HDR PQ ไปที่ “เปิด”
และคุณยังสามารถแปลงไฟล์ HEIF เป็นไฟล์ JPEG ที่มีลักษณะเหมือน HDR PQ ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่เหมือนกับไฟล์ HEIF
หากคุณมีหน้าจอ HDR
หากคุณใช้คอมพิวเตอร์:
- ตรวจดูให้แน่ใจว่าคอมพิวเตอร์ของคุณมีการ์ดจอที่รองรับไฟล์แบบ HDR PQ
- เปิดไฟล์ HEIF ใน Digital Photo Professional
หากคุณเชื่อมต่อกล้องเข้ากับหน้าจอโดยตรง:
- ใช้สาย HDMI ในการเชื่อมต่อกล้องเข้ากับหน้าจอ
- คุณจะสามารถแสดงไฟล์ HDR PQ HEIF และไฟล์ RAW ที่ถ่ายด้วย “HDR PQ: เปิด” ที่ถูกจัดเก็บไว้ในการ์ดหน่วยความจำในกล้องของคุณได้
สรุป: รูปแบบไฟล์ที่น่าจับตามอง
ภาพแบบ HEIF ไม่ได้มีข้อดีเพียงแค่ไดนามิกเรนจ์ที่กว้างขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีมิติที่น่าทึ่งด้วย ซึ่งทำให้ภาพดูมีความสมจริงใกล้เคียงกับภาพแบบสามมิติ หน้าจอแบบ SDR ของเรานั้นไม่ดีพอสำหรับไฟล์เหล่านี้ แต่หากลองจินตนาการถึงภาพตัวอย่างในบทความนี้ ซึ่งสมจริงกว่า และยังมีโทนสีและความเปรียบต่างที่ดีกว่า ไฟล์ภาพเหล่านี้จะใช้ศักยภาพของอุปกรณ์แสดงภาพ HDR ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
นอกจากนี้ยังมีข้อดีอื่นๆ อีกด้วย:
- ไม่จำเป็นต้องปรับแต่งภาพ (เว้นแต่คุณจะต้องการ): ไฟล์รูปแบบนี้ให้ช่วงโทนสีที่กว้างอย่างเหลือเชื่อ (สี 10 บิต!) จากกล้องโดยตรง จึงช่วยประหยัดเวลาในการปรับแต่งภาพ แต่ก็ยังมีขนาดไฟล์เทียบเท่ากับ JPEG จึงเหมาะสำหรับช่างภาพที่ต้องการถ่ายภาพคุณภาพสูงและส่งผลงานให้เร็วที่สุด
- รองรับรายละเอียดได้มากกว่าไฟล์ JPEG แบบเดิม: หากคุณชอบเล่นกับขีดจำกัดของภาพแบบ RAW ในกระบวนการปรับแต่ง การนำภาพที่ปรับแต่งออกมาในรูปแบบ HEIF จะช่วยให้คงรายละเอียดของโทนสีและความเปรียบต่างไว้ได้มากขึ้น ความจริงแล้ว หากยังมีไฟล์ RAW อยู่ คุณจะสามารถแปลงภาพเป็นไฟล์ HDR PQ HEIF เมื่อใดก็ได้ที่ต้องการ เช่น เมื่อคุณเป็นเจ้าของหน้าจอที่ดูภาพ HDR ได้ในที่สุด
เตรียมพบกับคุณภาพของภาพในแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนด้วยรูปแบบไฟล์ HEIF ลองใช้ดูสักครั้ง แล้วคุณจะได้ก้าวไปสู่อนาคตพร้อมๆ กัน
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกล้อง EOS-1D X Mark III ได้ที่:
EOS-1D X Mark III: ถ่ายภาพให้ได้อย่างมืออาชีพ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำเร็จที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของกล้อง EOS DSLR ได้ที่:
ฉลองครบรอบ 30 ปี ผลิตภัณฑ์ระบบ EOS (1): EOS 650 คือกล้อง EOS รุ่นแรก
ฉลองครบรอบ 30 ปี ผลิตภัณฑ์ระบบ EOS (2): ก้าวแห่งการพัฒนาเพื่อการเติบโตของ EOS
ฉลองครบรอบ 30 ปี ผลิตภัณฑ์ระบบ EOS (3): Digital EOS กับการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!