พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้
โบเก้ หมายถึง การเบลอในส่วนต่างๆ ของภาพที่อยู่นอกพื้นที่โฟกัส (อ่านได้ที่: พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #19: ระยะชัดของภาพ) โบเก้ทำให้ภาพมีความลึก และเป็นวิธีที่ขาดไม่ได้ในการดึงความสนใจไปที่ตัวแบบที่อยู่ในโฟกัส ในบทความนี้ เราจะมาดู 4 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราควบคุมระดับความเบลอของโบเก้ในภาพได้
EOS R6 Mark II + RF70-200mm f/2.8L IS USM ที่ 177 มม., f/5, 1/1600 วินาที, ISO 1000
วิธีทำให้ได้โบเก้ที่สวยงามขึ้น
มี 4 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเด่นชัดของโบเก้ (ความเบลอของแบ็คกราวด์และ/หรือโฟร์กราวด์)
1. รูรับแสง
ยิ่งใช้ค่ารูรับแสงกว้างขึ้น (ค่า f ต่ำลง) เอฟเฟ็กต์โบเก้จะยิ่งชัดเจนขึ้น และสัมพันธ์กันเช่นนี้ในทางกลับกัน
2. ทางยาวโฟกัส
ยิ่งทางยาวโฟกัสยาวขึ้น เอฟเฟ็กต์โบเก้จะยิ่งชัดเจนขึ้น
3. ระยะการถ่ายภาพ
ยิ่งตัวแบบอยู่ใกล้ เอฟเฟ็กต์โบเก้จะยิ่งชัดเจนขึ้น
4. ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์
ยิ่งแบ็คกราวด์อยู่ไกล เอฟเฟ็กต์โบเก้จะยิ่งชัดเจนขึ้น
อีกนัยหนึ่งคือ เพื่อให้ได้โบเก้ที่เด่นชัดมากที่สุด คุณจำเป็นต้อง
- ใช้เลนส์เทเลโฟโต้
- ตั้งค่ารูรับแสงกว้างสุด
- ขยับเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้นจนกระทั่งคุณอยู่ที่ระยะโฟกัสใกล้สุด และ
- ปรับมุม/ตัวแบบ/แบ็คกราวด์เพื่อให้แบ็คกราวด์และตัวแบบอยู่ห่างกันให้มากที่สุด
แน่นอนว่าการทำทั้งหมดนี้พร้อมกันอาจไม่ช่วยให้ได้ผลลัพธ์ตามที่คุณต้องการเสมอไป ดังนั้น ความสามารถในการทราบว่าต้องปรับสิ่งใดและมากน้อยเพียงใดเพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ของคุณคือทักษะการถ่ายภาพที่ขาดไม่ได้!
เรามาดู 4 ปัจจัยที่ว่านี้ในการสร้างโบเก้กัน
แนวคิดที่เกี่ยวข้อง: ระยะชัดของภาพ
1. ใช้รูรับแสงกว้างขึ้น
ตัวอย่างด้านล่างถ่ายจากตำแหน่งเดียวกัน แต่ใช้ค่ารูรับแสงต่างกัน โบเก้ดูชัดเจนขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงกว้างขึ้น (f/4) และเมื่อใช้รูรับแสงแคบลง (f/16) ใบไม้ที่อยู่รายล้อมดอกไม้จะอยู่ในระยะโฟกัสมากขึ้น
รูรับแสงกว้าง (f/4)
EOS R6 Mark II/ RF24-105mm f/4L IS USM
FL: 105 มม. ที่ f/4
รูรับแสงแคบ (f/16)
EOS R6 Mark II/ RF24-105mm f/4L IS USM
FL: 105 มม. ที่ f/16
2. ใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น
ทั้งสองภาพนี้ถ่ายจากตำแหน่งเดียวกันที่ f/4 แต่ใช้ทางยาวโฟกัสต่างกัน โฟกัสจับไปที่ต้นไม้ในส่วนโฟร์กราวด์ ภาพที่ใช้ทางยาวโฟกัส 105 มม. มีโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์มากกว่า และจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเราครอปภาพทางยาวโฟกัส 24 มม. ให้มีขอบเขตภาพเท่ากันกับภาพ 105 มม.
ทางยาวโฟกัสสั้นลง (24 มม.)
EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM
FL: 24 มม. ที่ f/4
ทางยาวโฟกัสยาวขึ้น (105 มม.)
EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM
FL: 105 มม. ที่ f/4
24 มม. (ครอปภาพให้เหลือพื้นที่เท่ากัน)
3. ถ่ายตัวแบบในระยะใกล้ขึ้น
ตัวอย่างด้านล่างถ่ายโดยใช้ค่ารูรับแสงที่เท่ากัน (f/1.4) แต่ถ่ายจากระยะที่ต่างกัน เมื่อกล้องอยู่ใกล้ตัวแบบมากขึ้น โบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์จะเห็นได้ชัดขึ้น เมื่อกล้องอยู่ไกลจากตัวแบบมากขึ้น จะเห็นโบเก้ได้ชัดน้อยลง
ใกล้ตัวแบบมากขึ้น
EOS R50/ RF35mm f/1.4L VCM
FL: 35 มม. (เทียบเท่า 56 มม.) ที่ f/1.4
ไกลจากตัวแบบมากขึ้น
EOS R50/ RF35mm f/1.4L VCM
FL: 35 มม. (เทียบเท่า 56 มม.) ที่ f/1.4
ข้อควรรู้: ระยะที่คุณสามารถเข้าใกล้ตัวแบบได้นั้นขึ้นอยู่กับระยะการถ่ายต่ำสุดของเลนส์ (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ระยะโฟกัสใกล้สุด")
4. เพิ่มระยะห่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์
ตัวอย่างทั้งสองภาพนี้ถ่ายที่ 105 มม. และ f/4 แต่มีระยะห่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์ต่างกัน โบเก้จะชัดเจนขึ้นเมื่อแบ็คกราวด์อยู่ไกลจากตัวแบบมากขึ้น และชัดน้อยลงเมื่ออยู่ใกล้ตัวแบบ สำหรับตัวอย่างด้านล่าง เราแค่ปรับมุมกล้องเล็กน้อยเท่านั้น
แบ็คกราวด์ใกล้ตัวแบบมากขึ้น
EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM
FL: 105 มม. ที่ f/4
แบ็คกราวด์ไกลจากตัวแบบมากขึ้น
EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM
FL: 105 มม. ที่ f/4
สำหรับตัวอย่างข้างต้น เราแค่ปรับมุมกล้องเล็กน้อยเท่านั้น หากฉากเอื้ออำนวย (เช่น การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์หรือภาพพอร์ตเทรตกลางแจ้ง) คุณสามารถจัดตำแหน่งตัวแบบและ/หรือแบ็คกราวด์ใหม่ได้เช่นกัน!
เคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับโบเก้
1. พิจารณาว่าคุณต้องการแสดงบริบทมากน้อยเพียงใด
แม้ว่าโบเก้ช่วยดึงดูดความสนใจไปที่ตัวแบบโดยการลดความยุ่งเหยิงขององค์ประกอบที่ดึงความสนใจไปจากภาพ แต่บางครั้งรายละเอียดของบริบทแวดล้อมจะบอกเล่าเรื่องราว และคุณจะเสียโอกาสหากเพลิดเพลินกับการใช้โบเก้มากเกินไปและทำให้รายละเอียดเหล่านั้นเบลอจนมองไม่เห็น! คุณจึงควรเปิดใจให้กว้างเพื่อรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ และมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนในการปรับความชัดของโบเก้
บริบทมากขึ้น (f/8)
EOS R50 + RF35mm f/1.4L VCM
FL: 35 มม. (เทียบเท่า 56 มม.) ที่ f/8
บริบทน้อยลง (f/1.4)
EOS R50 + RF35mm f/1.4L VCM
FL: 35 มม. (เทียบเท่า 56 มม.) ที่ f/1.4
2. อย่าลืมโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์!
EOS R8 + RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 100 มม./ Aperture-priority AE (f/5, 1/1000 วินาที)/ ISO 100
เราสามารถใช้องค์ประกอบที่เบลอในส่วนโฟร์กราวด์เพื่อยกระดับภาพถ่ายของคุณได้ในหลายวิธี โดยสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มสีสันหรือความน่าสนใจได้โดยไม่ดึงความสนใจของผู้ชมไปจากตัวแบบหลัก ในภาพด้านบน องค์ประกอบเหล่านี้ช่วยให้ฉากมีมิติความลึกมากเป็นพิเศษ
อ่านรายละเอียดตัวอย่างเพิ่มเติมได้ใน
ถ่ายภาพพอร์ตเทรตแสนสวยได้อย่างง่ายดาย: 3 เทคนิคการถ่ายภาพที่สะดวกรวดเร็ว
วิธีใช้โบเก้ในโฟร์กราวด์ให้ได้ผลดีเมื่อถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้
คุณสามารถสร้างโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์ได้ง่ายๆ และสามารถทำได้แม้ใช้รูรับแสงที่แคบ เพียงแค่ถ่ายภาพให้ใกล้กับตัวแบบในโฟร์กราวด์มากจนเลนส์ไม่สามารถจับโฟกัสได้ แต่เช่นเดียวกับโบเก้ในแบ็คกราวด์ โบเก้ในโฟร์กราวด์จะเบลอมากขึ้นเมื่อใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น เมื่อโฟร์กราวด์อยู่ไกลจากตัวแบบหลักมากขึ้น และเมื่อใช้ค่า f ที่ต่ำลง
f/4
EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM
FL: 85 มม. ที่ f/4
f/11
EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM
FL: 85 มม. ที่ f/11
ข้อควรรู้: หากคุณเบลอโฟร์กราวด์ได้มากพอ องค์ประกอบในส่วนโฟร์กราวด์จะหายไป ซึ่งนี่เป็นเทคนิคโดยทั่วไปของวิธีถ่ายภาพสัตว์ในสวนสัตว์ผ่านรั้วตาข่าย
เอฟเฟ็กต์โบเก้ช่วยให้คุณได้ภาพเช่นนี้!
EOS R6 Mark II/ RF100-400mm f/5.6-8 IS STM/ FL: 200 มม./ Flexible-priority AE (f/11, 1/200 วินาที, ISO 400)
การถ่ายภาพระยะใกล้โดยใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวสามารถสร้างโบเก้ได้แม้ใช้รูรับแสงแคบ
แบ็คกราวด์ในภาพนี้เบลอมากจนคุณอาจแปลกใจเมื่อได้ทราบว่าถ่ายด้วยค่า f/11 เมื่อถ่ายภาพโคลสอัพ เรามักจะต้องการใช้รูรับแสงแคบลง (ค่า f-stop สูงขึ้น) เพื่อให้แน่ใจว่าตัวแบบอยู่ในโฟกัสอย่างเหมาะสม แต่เนื่องจากมีปัจจัยอื่นอย่างน้อย 2 ข้อสำหรับการสร้างโบเก้ เราจึงยังคงได้โบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ที่สวยงาม
อ่านแรงบันดาลใจในการสร้างโบเก้เพิ่มเติมได้ที่
เทคนิคการใช้แฟลชติดกล้อง #6: วงกลมโบเก้ที่น่ามหัศจรรย์ในวันฝนตก
4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการถ่ายภาพวงกลมโบเก้ที่เข้าใจยาก!
วิธีสร้างแบ็คกราวด์ภาพฟรุ้งฟริ้งด้วยวงกลมโบเก้สำหรับภาพถ่ายของตกแต่งชิ้นเล็กน่ารัก
วิธีถ่ายภาพไฟประดับตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศชวนฝัน