ตั้งแต่ EOS R กล้องบางรุ่นของ Canon ก็เริ่มมีโหมด Flexible-priority AE (Fv) ร่วมกับโหมดถ่ายภาพแบบเดิม เช่น โหมดแมนนวล (M) โหมด Aperture-priority AE (Av) และโหมด Shutter-priority AE (Tv) โหมดนี้คืออะไรและมีวิธีการใช้งานอย่างไร พบคำตอบได้ในบทความนี้ (เรื่องโดย Kazuo Nakahara, Digital Camera Magazine)
1) โหมด Fv คืออะไร
2) คู่มือตามขั้นตอนในการใช้โหมด Fv
3) ตัวอย่างการใช้งาน
4) เทคนิคพิเศษ
โหมดการถ่ายภาพในรูปแบบใหม่: โหมด Fv คืออะไร
ในโหมดโปรแกรม (P) คุณจะสามารถตั้งค่าความไวแสง ISO และให้กล้องเป็นตัวกำหนดรูรับแสง (ค่า f) และความเร็วชัตเตอร์
ในโหมด Aperture-priority (Av) คุณจะสามารถตั้งค่ารูรับแสงและความไวแสง ISO และให้กล้องเป็นตัวกำหนดความเร็วชัตเตอร์
ในโหมด Shutter-priority (Tv) คุณจะสามารถตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์และความไวแสง ISO และให้กล้องเป็นตัวกำหนดค่ารูรับแสง
ในโหมดแมนนวล (M) คุณจะสามารถตั้งค่ารูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และความไวแสง ISO ได้
แล้วโหมด Flexible-priority (Fv) คืออะไร โหมดนี้คือ โหมดถ่ายภาพทั้งหมดรวมกัน:
*ตั้งค่าไม่ได้หากตั้งค่าความไวแสง ISO แบบแมนนวล
**ตั้งค่าไม่ได้หากตั้งค่าการเปิดรับแสงอื่นๆ แบบแมนนวล
ดังนั้น คุณจึงสามารถเลือกได้ว่าจะให้กล้องทำหน้าที่กำหนดค่าทั้งหมด หรือตั้งค่าที่คุณต้องการแบบแมนนวลโดยไม่ต้องเปลี่ยนโหมดการถ่ายภาพ และคุณสามารถเลือกใช้การชดเชยแสงได้เช่นเดียวกับโหมดการถ่ายภาพแบบเดิม
แต่โหมดใหม่นี้ใช้วิธีการถ่ายภาพที่แตกต่างไปจากเดิมและอาจต้องอาศัยการฝึกฝนเล็กน้อยให้เกิดความคุ้นเคย แต่เมื่อคุณใช้เป็นแล้วตามสไตล์การถ่ายภาพและความชอบของคุณ คุณจะไม่รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนโหมดการถ่ายภาพอีกเลย
โหมด Fv ช่วยให้คุณเลือกเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ความไวแสง ISO และ/หรือการชดเชยแสงที่เหมาะกับความต้องการถ่ายภาพของคุณได้และปล่อยให้กล้องจัดการในส่วนที่เหลือ และทั้งหมดทำได้ภายในโหมดการถ่ายภาพเดียวกัน
คำแนะนำแบบทีละขั้นตอน: วิธีการใช้โหมด Fv
ขั้นตอนที่ 1: เลือกพารามิเตอร์ที่คุณต้องการตั้งค่า
หากต้องการเปลี่ยนพารามิเตอร์...
ใน Live View: ให้เลือกพารามิเตอร์ที่คุณต้องการเปลี่ยนจากจอสัมผัส
ระหว่างการถ่ายผ่านช่องมองภาพ: หมุนวงแหวน Quick Control ไอคอนวงแหวนสีส้มจะปรากฏบนพารามิเตอร์ที่เลือก ในภาพด้านบน เราได้เลือกการตั้งค่ารูรับแสงเอาไว้
ขั้นตอนที่ 2: เปลี่ยนการตั้งค่า
ใน Live View (ใช้จอสัมผัส): เลือกค่าที่คุณต้องการจากรายการที่ปรากฏขึ้นมา คุณสามารถหมุนวงแหวนควบคุมหลักได้ด้วยเพื่อเลื่อนไปยังค่าที่ต้องการ
ระหว่างการถ่ายผ่านช่องมองภาพ (ใช้วงแหวนและปุ่มต่างๆ): หมุนวงแหวนควบคุมหลักเพื่อเปลี่ยนค่า
เคล็ดลับ: วิธีไปถึงค่าที่ต้องการให้เร็วขึ้น
เมื่อคุณเปลี่ยนการตั้งค่าโดยตรงจาก “อัตโนมัติ” คุณจะต้องเลื่อนผ่านค่าต่างๆ ตั้งแต่ 30 วินาทีหรือค่ารูรับแสงกว้างสุด เพื่อให้ไปถึงค่าที่คุณต้องการได้เร็วขึ้น ให้กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งก่อนเพื่อวัดค่าในฉาก ค่าที่กล้องกำหนดจะแทนที่ค่า “อัตโนมัติ” และคุณจะสามารถปรับการตั้งค่าได้จากจุดนั้น
ขั้นตอนที่ 3: กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อวัดการตั้งค่าใหม่
กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อวัดค่าในฉากตามการตั้งค่าที่คุณได้เลือกไว้ กล้องจะปรับค่าการเปิดรับแสงอื่นๆ เพื่อทำการชดเชย
ข้อควรรู้ 1: ค่าที่ถูกตั้งให้อยู่ในโหมด “อัตโนมัติ” จะมีเส้นขีดไว้ด้านล่าง
ขีดเส้นใต้: การตั้งค่าแบบอัตโนมัติ
ไม่ขีดเส้นใต้: การตั้งค่าแบบแมนนวล
หลังจากวัดค่าในฉากแล้ว การตั้งค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะปรากฏแทนที่คำว่า “อัตโนมัติ” ในข้อมูลการถ่ายภาพที่อยู่ด้านล่างของหน้าจอ
พารามิเตอร์ที่กล้องตั้งให้โดยอัตโนมัติจะมีการขีดเส้นใต้ แต่พารามิเตอร์ที่คุณตั้งแบบแมนนวลจะไม่มีเส้นใต้
ไอคอนวงแหวนสีส้ม: การหมุนวงแหวนควบคุมจะเปลี่ยนค่าในพารามิเตอร์ด้วยไอคอนนี้ ดู ขั้นตอนที่ 2
ข้อควรรู้ 2: วิธีการรีเซ็ตค่ากลับไปยังโหมด “อัตโนมัติ” อย่างรวดเร็ว
หากต้องการรีเซ็ตค่า ให้ใช้ปุ่ม 4 ทิศทาง
A (ลูกศรบน/ซ้าย): กดปุ่มใดปุ่มหนึ่งเพื่อรีเซ็ตเฉพาะพารามิเตอร์ที่เลือกให้กลับไปเป็น “อัตโนมัติ”
B (ลูกศรล่าง/ขวา): กดปุ่มใดปุ่มหนึ่งเพื่อรีเซ็ตพารามิเตอร์ทั้งหมดกลับไปเป็น “อัตโนมัติ”
ข้อควรรู้ 3: การชดเชยแสงไม่สามารถเป็น “อัตโนมัติ” ได้
ค่าการชดเชยแสงเริ่มต้นคือ EV ±0 และค่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงหากคุณไม่ปรับแบบแมนนวล หากต้องการรีเซ็ตกลับไปเป็นค่าเริ่มต้น ให้กดปุ่มลูกศรซ้ายหรือล่างบนปุ่ม 4 ทิศทาง
หมายเหตุ: หากคุณตั้งค่าอื่นๆ แบบแมนนวล จะไม่สามารถปรับการชดเชยแสงได้เลย
เคล็ดลับพิเศษ: หากคุณใช้ระบบ EOS R คุณสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าได้เร็วยิ่งขึ้นด้วยวงแหวนควบคุม
สำหรับ ระบบ EOS R หากคุณใช้เลนส์ RF หรือเมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R และวงแหวนควบคุม คุณจะสามารถกำหนดให้วงแหวนควบคุมทำหน้าที่ควบคุมการตั้งค่าการเปิดรับแสงอย่างหนึ่งได้
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณกำหนดให้วงแหวนควบคุมทำหน้าที่ควบคุมการชดเชยแสง คุณเพียงแค่ต้องหมุนวงแหวนควบคุมและค่าการชดเชยแสงก็จะเปลี่ยนไป วิธีการนี้ใช้ได้กับโหมดการถ่ายภาพกึ่งอัตโนมัติทุกโหมด ไม่เฉพาะโหมด Fv เท่านั้น และยังช่วยให้คุณถ่ายภาพที่ต้องการได้รวดเร็วขึ้นด้วย
ตัวอย่างการใช้งาน: แล้วฉันควรใช้โหมด Fv เมื่อใด
เนื่องจากโหมด Fv คือโหมดการถ่ายภาพเดิมทุกโหมดรวมกัน คุณจึงสามารถใช้ได้กับทุกฉาก ทุกเวลา นี่คือตัวอย่างบางส่วน:
1. ใช้เหมือนโหมด P ระดับสูง
เมื่อคุณใช้โหมด P ได้คล่องแล้วและอยากรู้ว่าการเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงจะส่งผลต่อภาพอย่างไร คุณสามารถใช้โหมด Fv เป็น “โหมดฝึกฝน” ก่อนเริ่มการตั้งค่าแบบแมนนวลทั้งหมด
ฉากที่ 1: เปลี่ยนค่ารูรับแสงเพื่อเปลี่ยนระยะชัด
ก่อน: f/2
หลัง: f/4
สำหรับการถ่ายภาพในร่มนี้ เมื่อกล้องทำหน้าที่กำหนดการตั้งค่าทั้งหมด (เทียบเท่าโหมด P) ค่า f คือ f/2 อย่างไรก็ตาม ระยะชัดนั้นตื้นเกินไปและอาหารในจานบางส่วนก็อยู่นอกระนาบโฟกัส ผมจึงเลือกควบคุมค่ารูรับแสงด้วยตนเองและตั้งค่าไว้ที่ f/4 เพื่อเพิ่มระยะชัด กล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์และความไวแสง ISO ตามเพื่อชดเชย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่าค่ารูรับแสงต่างๆ สามารถทำอะไรได้บ้างที่:
จุดโฟกัส: การตั้งค่ารูรับแสงสำหรับฉากต่างๆ
ฉากที่ 2: การเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
ก่อน: 1/60 วินาที
หลัง: 1/5 วินาที
ฉากบนท้องถนนนี้ดูธรรมดาเกินไปเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่กล้องกำหนดให้ ผมจึงตัดสินใจว่าจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ (1/5 วินาที) เพื่อเบลอการเคลื่อนไหวของคนที่เดินผ่านไปมา และเพื่อสร้างจุดสนใจ กล้องจะปรับค่ารูรับแสงและความไวแสง ISO ตามค่าที่ผมตั้ง
ดูข้อมูลเพิ่มเติมว่าคุณสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่างๆ กันทำอะไรได้บ้างในบทความ:
ความเร็วชัตเตอร์ที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตผมสะบัด
คู่มือตามขั้นตอนสำหรับการถ่ายภาพคลื่นที่สาดกระเซ็นด้วยการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์สูง
ฉันจะใช้การแพนกล้องเป็นวงกลมเพื่อสร้างภาพที่โดดเด่นไม่ซ้ำใครได้อย่างไร
การถ่ายภาพกีฬา: วิธีเน้นความเร็วโดยการถ่ายทอดความสงบนิ่งตัดกับการเคลื่อนไหว
2. ใช้เป็นโหมด M ที่ง่ายขึ้น
หากคุณคุ้นเคยกับผลที่ได้จากการใช้ความเร็วชัตเตอร์และค่ารูรับแสงที่แตกต่างกันแล้ว แต่กำลังพยายามทำความเข้าใจวิธีการสร้างสมดุลระหว่างค่าต่างๆ เพื่อให้เปิดรับแสงได้ดีที่สุด โหมด Fv อาจมีประโยชน์มากสำหรับคุณเช่นกัน เพียงตั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ และปล่อยให้ค่าความไวแสง ISO เป็นอัตโนมัติ กล้องจะทำการปรับค่าให้เพื่อให้คุณได้ระดับแสงที่เหมาะสมที่สุด
ตั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ด้วยตนเองโดยที่ยังมีระดับแสงที่เหมาะสม
รูรับแสง: f/11
ความเร็วชัตเตอร์: 3 วินาที
การชดเชยแสง: EV ±0
ความไวแสง ISO: 100 (อัตโนมัติ)
ผมต้องการถ่ายภาพเส้นแสงจากรถยนต์ที่พาดผ่านทั้งเฟรมภาพ ผมจึงตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไปที่ 3 วินาที เพื่อคงรายละเอียดของแบ็คกราวด์และถนนยางมะตอยเอาไว้ ผมจึงตั้งค่ารูรับแสงไว้ที่ f/11 และปล่อยให้ค่าความไวแสง ISO เป็น “อัตโนมัติ” เพื่อให้กล้องสามารถปรับค่าเพื่อชดเชยได้ จึงเกิดเป็นระดับแสงที่เหมาะสม การถ่ายภาพเช่นนี้เหมือนกับการใช้โหมด M แบบเดิมที่มีค่าความไวแสง ISO เป็นอัตโนมัติ
---
เทคนิคพิเศษ: ใช้โหมด Fv ในการตั้งค่าโหมด C1/C2/C3 ที่คุณกำหนดเอง
โหมดกำหนดเองมีหน้าที่อะไร
หากคุณใช้การตั้งค่ากล้องที่แน่นอนสำหรับฉากบางฉากเป็นประจำ คุณสามารถจัดเก็บการตั้งค่าเหล่านั้นเอาไว้สำหรับใช้ในอนาคตได้อย่างง่ายดายโดยจัดเก็บโหมดแบบกำหนดเองไว้ในช่อง C1, C2, หรือ C3
เมื่อคุณทำเช่นนี้ การตั้งค่ากล้องทั้งหมดในขณะนั้นจะถูกบันทึกไว้ ซึ่งหมายความว่า เมื่อคุณหมุนวงแหวนปรับโหมดไปที่ C1, C2, หรือ C3 (ช่องใดก็ได้ที่คุณบันทึกการตั้งค่าไว้) กล้องจะจำ ทุกอย่างได้ ไม่ใช่เพียงแค่ค่าการเปิดรับแสงเท่านั้น แต่รวมถึงโหมด AF การควบคุมแบบกำหนดเอง รูปแบบภาพ และแม้กระทั่งความสว่างของ EVF และหน้าจอ LCD ด้วย จึงไม่ต่างจากการสร้างค่าล่วงหน้าที่เหมาะสำหรับคุณมากที่สุดเอาไว้ในกล้อง
โหมด Fv มีประโยชน์อย่างไร
คุณอาจต้องการความยืดหยุ่นที่มากขึ้นในการปรับค่าการเปิดรับแสงเมื่อจำเป็น* ขึ้นอยู่กับว่าการตั้งค่าที่บันทึกไว้แบบใดที่มีความสำคัญต่อคุณมากที่สุด หากคุณบันทึกการตั้งค่าไว้ในโหมดการถ่ายภาพเดิม คุณจะพบว่า:
ในโหมด Av: คุณไม่สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ได้
ในโหมด Tv: คุณไม่สามารถปรับค่ารูรับแสงได้
ในโหมด M: เมื่อเปลี่ยนการตั้งค่าหนึ่ง คุณจะต้องเปลี่ยนค่าการเปิดรับแสงอื่นๆ ด้วยเพื่อคงความสว่างไว้ให้เท่าเดิม
ในโหมด P: คุณสามารถเปลี่ยนได้แค่ค่าความไวแสง ISO และการชดเชยแสงเท่านั้น
หากคุณบันทึกการตั้งค่าไว้ในโหมด Fv คุณจะสามารถปรับค่าการเปิดรับแสงทุกค่าที่ต้องการได้ตลอดเวลาโดยไม่ส่งผลต่อการตั้งค่ากล้องอื่นๆ ที่บันทึกไว้ นับว่าสะดวกสบายอย่างมาก
*การตั้งค่าที่บันทึกไว้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปหากคุณไม่บันทึกข้อมูลทับลงไป
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย