หากคุณกำลังตื่นเต้นที่จะได้สำรวจและถ่ายภาพทิวทัศน์ของสถานที่ท่องเที่ยวที่คุณกำลังจะเดินทางไปถึง กล้องมิเรอร์เลสที่พกพาสะดวกและมีขนาดกะทัดรัดจะเป็นเพื่อนที่รู้ใจของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเลือกใช้เลนส์ได้เหมาะสม นี่คือวิธีที่ผมใช้ถ่ายภาพในฉากที่แตกต่างกันห้าแบบด้วยกล้อง EOS RP (ฉบับภาษาอังกฤษ), เลนส์ซูมมาตรฐาน (RF24-105mm f/4L IS USM) และเลนส์เดี่ยวแบบมาโคร (RF35mm f/1.8 Macro IS STM) (เรื่องโดย Teppei Kohno)
1. ใช้แสงอันสวยงามยามเช้าให้เป็นประโยชน์ในการถ่ายภาพรายละเอียดบนท้องถนน
EOS RP/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/250 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ทิศทางของแสงจากพระอาทิตย์ในยามเช้าช่วยเพิ่มความมีมิติได้อย่างดีเยี่ยม
เพื่อเป็นการเริ่มต้นที่ดีในยามเช้า ลองหาจุดสูงๆ ที่สามารถชมวิวสวยๆ ของเมือง
หากคุณถ่ายภาพในตอนเช้าหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว แสงที่ได้จะเหมาะสำหรับการถ่ายภาพอาคารเนื่องจากพระอาทิตย์ไม่อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำจนเกินไป จึงได้มุมให้แสงในแนวทแยงซึ่งทำให้เกิดเงาลงบนที่ที่เหมาะสมในปริมาณที่พอเหมาะ ช่วยเพิ่มความมีมิติให้กับอาคารต่างๆ และท้องถนน
เคล็ดลับการใช้เลนส์ระดับมือโปร: ใช้ทางยาวโฟกัสยาวเพื่อให้องค์ประกอบภาพดูแน่นขึ้น
หลายๆ คนคงอยากจะใช้มุมกว้างในการถ่ายฉากเช่นนี้ แต่การใช้มุมกว้างมักทำให้ถ่ายติดส่วนที่ไม่จำเป็นเข้ามาด้วย ซึ่งอาจทำให้ภาพดูกระจัดกระจาย
จึงควรใช้ทางยาวโฟกัสที่ระยะเทเลโฟโต้แทนเพื่อถ่ายภาพส่วนที่น่าสนใจในฉากเพียงส่วนเดียว ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจเลือกถ่ายภาพอาคารที่เด่นๆ ในระยะที่ใกล้ขึ้น องค์ประกอบภาพที่ได้จะดูแน่นขึ้นและส่งผลต่ออารมณ์ได้มากขึ้น
105 มม.: เห็นตัวแบบที่เลือกได้ชัดเจน
40 มม.: มีทุกอย่างอยู่ในภาพ
ภาพตัวอย่างด้านบนแสดงให้เห็นว่าทางยาวโฟกัสที่ต่างกันให้ผลที่แตกต่างกันอย่างมาก การใช้มุมที่กว้างขึ้น (40 มม.) ทำให้รู้สึกถึงความกว้างใหญ่ ในขณะที่ทางยาวโฟกัสที่ยาวกว่า (105 มม.) จะดึงความสนใจไปยังบรรดาอาคารที่กระจุกตัวอยู่ใกล้กัน จึงได้ภาพที่มีพลัง
ดูเพิ่มเติมได้ที่: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (3): ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
2. เลนส์มาโคร: เหมาะสำหรับการถ่ายภาพในร้านอาหาร
EOS RP/ RF35mm f/1.8 Macro IS STM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (f/2.2, 1/250 วินาที, EV+0.3)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
หากจะถ่ายภาพรายละเอียดของอาหาร ต้องใช้เลนส์มาโคร แต่หากต้องการถ่ายให้เห็นรายละเอียดของสิ่งที่อยู่รอบๆ ด้วย ให้ลองใช้เลนส์มาโครมุมกว้างดู
หากได้แวะพักที่คาเฟ่หรือร้านอาหาร ความเป็นช่างภาพในตัวคุณจะต้องอยากถ่ายภาพอาหารอย่างแน่นอน คงไม่มีเลนส์ไหนถ่ายภาพอาหารแต่ละจานแบบโคลสอัพได้คมชัดและเห็นรายละเอียดอันเย้ายวนใจได้ดีไปกว่าเลนส์มาโคร
เลนส์มาโครมุมกว้างอย่าง RF35mm f/1.8 Macro IS STM ไม่เพียงแต่สามารถถ่ายรายละเอียดบนอาหารได้เท่านั้น แต่ยังถ่ายบรรยากาศที่อยู่ในแบ็คกราวด์ได้ด้วย จึงเหมาะสำหรับการบันทึกภาพความทรงจำว่าคุณได้ชิมเค้กแซนวิชครีมเนยแสนอร่อยชิ้นนี้ที่ไหน
เคล็ดลับ:
- หาที่นั่งติดหน้าต่าง แสงจากด้านข้างไม่ได้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพอาหารเท่านั้น แต่ยังเหมาะสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตด้วย
- หากคุณต้องการให้มีโบเก้ในแบ็คกราวด์ ให้ถ่ายภาพใกล้ตัวแบบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การโฟกัสที่ระยะชัดตื้นอาจทำได้ยากกว่า แต่การใช้ชัตเตอร์แบบแตะน่าจะช่วยได้
เคล็ดลับการใช้เลนส์ระดับมือโปร: อย่าลืมว่าเลนส์มาโครก็ใช้ในการถ่ายภาพที่ห่างจากตัวแบบได้เช่นกัน!
ที่ระยะโฟกัสใกล้สุด
ห่างจากตัวแบบออกมาเล็กน้อย
เลนส์มาโคร 35 มม. สามารถใช้ถ่ายภาพได้หลากหลายแบบ เมื่อคุณถ่ายภาพด้วยระยะโฟกัสใกล้สุด จะได้ภาพที่ดูแน่นซึ่งแสดงผิวสัมผัสของอาหาร หากคุณถ่ายภาพในระยะที่ไกลกว่าเดิม มุมรับภาพจะกว้างพอในการถ่ายรายละเอียดของสิ่งที่อยู่รอบๆ ด้วย นอกจากนี้ เลนส์นี้ยังมีรูรับแสงกว้าง ซึ่งช่วยให้คุณถ่ายภาพในร่มได้อย่างง่ายดาย
ดูเพิ่มเติมได้ที่: ภาพมาโครชวนน้ำลายสอ: ศิลปะแห่งการถ่ายภาพอาหารแบบโคลสอัพ
3. หากเห็นยวดยานพาหนะที่น่าสนใจ ลองหยุดการเคลื่อนไหวไว้ในภาพถ่าย
EOS RP/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/1,000 วินาที, EV+0.3)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
เพิ่มความไวแสง ISO เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดของตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่
ไม่ว่าจะเป็นยวดยานที่ดูน่าสนใจ หรือฝูงนกที่บินเป็นรูปขบวน… เป็นไปได้ว่า โอกาสหลายต่อหลายครั้งในการถ่ายภาพขณะที่คุณท่องเที่ยวจะมาพร้อมกับตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่
สำหรับตัวแบบขนาดใหญ่ (เช่น ยานพาหนะต่างๆ) และตัวแบบที่มักปรากฏตัวเป็นกลุ่ม (เช่น นก) คุณมักจะอยากเลือกใช้รูรับแสงแคบและถ่ายด้วยมุมกว้างเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ภาพที่คมชัด แต่กฎของการเปิดรับแสงมีอยู่ว่า หากต้องการแสงที่เพียงพอ จะต้องใช้รูรับแสงแคบคู่กับความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มโอกาสในการเกิดภาพเบลอไป
ปัญหานี้แก้ไขได้โดยการเพิ่มความไวแสง ISO เพื่อเพิ่มความเร็วชัตเตอร์
เคล็ดลับ: ตั้งค่าให้วงแหวนควบคุมที่กำหนดเองได้บนเลนส์ RF/เมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R ทำหน้าที่ควบคุมความไวแสง ISO เพื่อให้คุณเปลี่ยนการตั้งค่าความไวแสง ISO ได้ด้วยการหมุนวงแหวนเท่านั้น ทำให้คุณถ่ายภาพในเสี้ยววินาทีได้อย่างง่ายดาย!
เคล็ดลับการใช้เลนส์ระดับมือโปร: ใช้รูรับแสงที่แคบลงเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดขึ้น
ภาพคมชัดถ่ายที่ f/11, 1/1,000 วินาที, ISO 800
ภาพที่นุ่มนวลเกินไปถ่ายที่ f/4, 1/250 วินาที, ISO 100
ภาพรถบัสทั้งสองภาพนี้ถ่ายจากมุมที่ใกล้เคียงกัน ภาพที่ถ่ายด้วยรูรับแสงกว้างสุด (f/4) ที่ทางยาวโฟกัส 65 มม. มีระยะชัดที่ตื้นมาก ภาพจึงดูนุ่มนวล การถ่ายภาพด้วยโฟกัสชัดลึกโดยใช้รูรับแสงแคบจะช่วยให้ภาพดูคมชัดขึ้น
เคล็ดลับการตั้งค่ากล้อง: วิธีการเตรียมตัวสำหรับโอกาสในการถ่ายภาพที่อาจเกิดขึ้นแบบฉับพลัน
ตั้งค่ารูรับแสงเริ่มต้นให้แคบพอเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ระยะชัดที่กว้าง ด้วยวิธีนี้ เมื่อมีโอกาสในการถ่ายภาพเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด คุณจะสามารถถ่ายภาพที่คมชัดได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องกังวลว่าจะโฟกัสไปที่ใด
ดูเพิ่มเติมได้ที่: การตั้งค่ากล้องเพื่อเก็บภาพวินาทีสำคัญ: เครื่องบินที่กำลังบินผ่านรุ้งกินน้ำ
4. ถ่ายภาพเงา โดยเฉพาะยามพระอาทิตย์ตก
EOS RP/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 28 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/500 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ยามเย็น: ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพในสภาพแสงย้อน
แสงในยามเย็นจะมีความสวยงามเป็นพิเศษในช่วงพระอาทิตย์เริ่มตก หากคุณถ่ายภาพในสภาพแสงย้อน การถ่ายภาพเงาของคนที่เดินผ่านไปมาหรือตัวอาคารจะช่วยให้ภาพของคุณน่าประทับใจยิ่งขึ้น เนื่องจากดวงอาทิตย์ที่มีความสว่างจะตัดกับสิ่งที่อยู่ด้านหน้าอย่างสวยงามและทำให้เกิดเงา
เคล็ดลับ: ยิ่งพระอาทิตย์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากเท่าใด เงาก็จะยิ่งยาวขึ้นเท่านั้น
เคล็ดลับการใช้เลนส์ระดับมือโปร: เมื่อต้องถ่ายภาพในมุมต่ำ ประคองเลนส์ไว้เพื่อให้กล้องอยู่นิ่ง
ผมถ่ายภาพด้านบนในขณะที่คุกเข่าอยู่ที่พื้น เมื่อคุณต้องถ่ายภาพในตำแหน่งและมุมที่ต่ำเช่นนี้ ควรจับเลนส์ไว้ให้มั่นคงจากด้านล่างด้วยมือข้างหนึ่งเพื่อให้กล้องนิ่ง คุณจะเหลือมืออีกข้างหนึ่งไว้ใช้ควบคุมกล้อง
ภาพนี้ถ่ายด้วย Live View โดยใช้หน้าจอแบบปรับหมุนได้และชัตเตอร์แบบแตะ
ข้อควรรู้: เลนส์ RF ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดการเกิดแสงแฟลร์และแสงหลอก
เมื่อต้องถ่ายภาพในสภาพแสงย้อน แสงแฟลร์และแสงหลอกมักเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากทำให้คุณภาพของภาพลดลง แต่เลนส์ RF ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดการเกิดแสงทั้งสองประเภท คุณจึงสามารถถ่ายภาพในสภาพแสงย้อนได้โดยไม่มีปัญหามากนัก
ดูเพิ่มเติมได้ที่: วิธีการถ่ายภาพนี้: ช่วงเวลาทองบนท้องถนน
5. ถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำโดยถือกล้องด้วยมือ!
EOS RP/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 43 มม./ Shutter-priority AE (f/5.6, 1/4 วินาที, EV+0.6)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวสูงสุดถึง 5 สต็อปช่วยลดปัญหากล้องสั่นไหวได้อย่างมาก
เมื่อยามค่ำคืนมาถึง เมืองจะมีสเน่ห์ที่สว่างไสวไปอีกแบบ การถ่ายภาพทิวทัศน์นี้จะง่ายขึ้นด้วยระบบป้องกันภาพสั่นไหว (IS) บนเลนส์ RF24-105mm f/4L IS USM และ RF35mm f/1.8 Macro IS STM ระบบนี้และระบบ Dual Sensing IS ซึ่งใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์ภาพและเซนเซอร์ไจโรภายในเลนส์เพื่อแก้ปัญหากล้องสั่นไหว ทำให้ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันภาพสั่นไหวด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงสุดถึง 5 สต็อป
ผมใช้ความสามารถของระบบ IS อย่างเต็มที่ในการถ่ายภาพด้านบนโดยถือกล้องด้วยมือ ซึ่งผมใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อสร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวของไฟท้ายรถที่วิ่งผ่านมา เซนเซอร์ภาพแบบฟูลเฟรมช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถถ่ายทอดรายละเอียดในภาพได้อย่างดีเยี่ยมแม้ใช้ค่าความไวแสง ISO ค่อนข้างสูงที่ 800
เมื่อคุณต้องการความคล่องตัวในการเดินทาง คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่สามารถถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยได้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง
เคล็ดลับการใช้เลนส์ระดับมือโปร: หาความเร็วชัตเตอร์ที่ทำให้เกิดภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวของตัวแบบได้อย่างพอเหมาะ
1/4 วินาที
1/10 วินาที
ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวสามารถเพิ่มความน่าสนใจให้ภาพทิวทัศน์กลางคืนได้ แต่ต้องระวังไม่ให้เบลอมากเกินไป ในภาพตัวอย่างด้านบน คุณจะเห็นว่าความเร็วชัตเตอร์ 1/4 วินาทีทำให้เกิดภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวของรถมากขึ้น ทำให้รู้สึกถึงการเคลื่อนที่ของรถได้ชัดเจนขึ้น
ข้อควรระวัง: ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวที่มากเกินไปอาจทำให้มองไม่เห็นว่าอะไรอยู่ในภาพ ดังนั้น จึงควรระวังอย่าให้ภาพเบลอมากจนเกินไป
ดูเพิ่มเติมได้ที่: การตั้งค่ากล้องเพื่อใช้ถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์ต่ำที่ยอดเยี่ยม
อุปกรณ์ที่ใช้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ RF ได้ที่นี่:
6 คุณสมบัติที่สำคัญของเลนส์ RF
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย