ทำความรู้จักท่อเลนส์ของคุณ (1): เครื่องหมาย วงแหวน และสวิตช์ที่เป็นประโยชน์
คุณรู้จักท่อเลนส์ของคุณดีแค่ไหน ในตอนที่ 1 ของบทความชุดนี้ เราจะมาศึกษาคุณสมบัติส่วนหนึ่งที่มีประโยชน์ซึ่งพบได้ในเลนส์ส่วนใหญ่หรืออาจจะแทบทุกรุ่น อ่านต่อไปแล้วคุณอาจค้นพบฟังก์ชั่นที่คุณไม่เคยรู้ว่ามีมาก่อน!
1) เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์
2) ระยะโฟกัสใกล้สุด
3) ดัชนีสำหรับติดตั้งเลนส์
4) เครื่องหมายบอกตำแหน่งการใส่เลนส์ฮูด
5) วงแหวนซูม
6) วงแหวนโฟกัส
7) วงแหวนควบคุม
8) สวิตช์โหมดโฟกัส
9) สวิตช์ระบบป้องกันภาพสั่นไหว
10) ก้านล็อควงแหวนซูม
11) สวิตช์เลือกโฟกัส/ควบคุม
12) หน้าสัมผัสของเมาท์เลนส์
ตัวเลขและสัญลักษณ์บนเลนส์คืออะไร
1) เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าขนาดฟิลเตอร์ หมายถึงเส้นผ่านศูนย์กลางของเกลียวยึดฟิลเตอร์ที่ช่วยให้คุณติดฟิลเตอร์ชนิดสวมหน้าเลนส์ เช่น ตัวป้องกันรังสียูวี ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ (PL) และฟิลเตอร์ Neutral Density (ND) เข้ากับเลนส์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ฟิลเตอร์ 77 มม. จะติดเข้ากับเลนส์นี้ได้พอดี
ข้อควรรู้: เลนส์บางรุ่นไม่สามารถรองรับฟิลเตอร์ชนิดสวมหน้าเลนส์ได้เนื่องจากขนาดหรือรูปทรงชิ้นเลนส์ด้านหน้า คุณจะต้องใช้เลนส์ดังกล่าวร่วมกับฟิลเตอร์แบบ Drop-in หรือระบบตัวล็อคฟิลเตอร์
2) ระยะโฟกัสใกล้ที่สุด
ระยะโฟกัสใกล้สุดช่วยให้คุณรู้ว่าตัวแบบสามารถอยู่ใกล้เซนเซอร์ภาพได้มากที่สุดแค่ไหนก่อนที่เลนส์จะไม่สามารถโฟกัสได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพมาโคร!
ระยะโฟกัสที่ว่านี้จะแตกต่างกันไปในเลนส์แต่ละรุ่น แต่ไม่ต้องกังวลเพราะคุณไม่จำเป็นต้องท่องจำ สำหรับเลนส์รุ่นใหม่ๆ นั้น ระยะโฟกัสใกล้สุดจะมีระบุไว้ที่ด้านข้างของท่อเลนส์ EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM ที่เห็นอยู่นี้มีระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 0.093 เมตร (9.3 ซม.)
3) ดัชนีสำหรับติดตั้งเลนส์
ดัชนีสำหรับติดตั้งเลนส์เป็นเครื่องหมายบนเมาท์เลนส์ที่ช่วยให้คุณติดตั้งเลนส์เข้ากับตัวกล้องได้อย่างแน่นหนา เลื่อนเครื่องหมายนี้ให้ตรงกับเครื่องหมายที่เหมือนกันบนเมาท์กล้อง จากนั้นหมุนเลนส์จนกว่าจะได้ยินเสียงคลิก
ข้อควรรู้: เลนส์รุ่นต่างๆ มีตัวบ่งชี้ดัชนีสำหรับติดตั้งเลนส์ที่ต่างกันออกไป
หากคุณกำลังใช้กล้อง DSLR แบบ APS-C คุณจะเห็นเครื่องหมายสองแบบที่แตกต่างกันบนเมาท์กล้อง เนื่องจากกล้อง EOS DSLR แบบ APS-C สามารถรองรับเลนส์ EF (ซึ่งออกแบบมาสำหรับกล้อง DSLR แบบฟูลเฟรม) ได้นอกเหนือจากเลนส์ EF-S ปกติ แต่ตำแหน่งการติดตั้งจะแตกต่างกัน ให้หมุนเครื่องหมายบนเลนส์ให้ตรงกับเครื่องหมายที่สอดคล้องกันบนเมาท์กล้อง
เลนส์ EF: จุดสีแดง
เลนส์ RF: เส้นสีแดง
เลนส์ EF-S: สี่เหลี่ยมจตุรัสสีขาว
เลนส์ EF-M: จุดสีขาว
ทำเช่นเดียวกันเมื่อคุณใช้เมาท์อะแดปเตอร์
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมาท์ต่างๆ ได้ที่: https://global.canon/en/c-museum/history/lens-mount.html (ฉบับภาษาอังกฤษ)
ข้อควรรู้:
- เมื่อคุณติดตั้งเลนส์ EF-S ในระบบ EOS R ผ่านเมาท์อะแดปเตอร์ กล้องจะเปลี่ยนเป็นโหมดครอป 1.6 เท่าโดยอัตโนมัติ
- เมื่อคุณติดตั้งเลนส์ EF (แบบฟูลเฟรม) เข้ากับกล้อง DSLR แบบ APS-C หรือกล้องซีรีย์ EOS M ผ่านเมาท์อะแดปเตอร์ มุมรับภาพจะถูกครอปเป็น 1.6 เท่าของทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรม
4) เครื่องหมายบอกตำแหน่งการใส่เลนส์ฮูด
จุดสีแดงที่ปลายท่อเลนส์บ่งบอกตำแหน่งที่จะติดตั้งเลนส์ฮูด
เมื่อติดตั้งเลนส์ฮูดเข้ากับเลนส์แล้ว ตรวจสอบให้แน่ใจว่าจุดสีแดงบนเลนส์ฮูดอยู่ในแนวเดียวกับจุดที่อยู่บนเลนส์ หลังจากนั้น หมุนเลนส์ฮูดตามเข็มนาฬิกาจนกว่าจะได้ยินเสียงคลิก เพียงเท่านี้เลนส์ฮูดจะติดแน่นเข้ากับเลนส์ของคุณ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
เหตุผล 3 ข้อว่าทำไมคุณควรหันมาใช้เลนส์ฮูด
วงแหวนและสวิตช์บนเลนส์มีหน้าที่อะไรบ้าง
วงแหวน
ต่อไปนี้คือวงแหวนที่คุณจะพบในเลนส์ส่วนใหญ่:
(1) วงแหวนซูม (เลนส์ซูม)
(2) วงแหวนโฟกัส
(3) วงแหวนควบคุม (เลนส์ RF)
หมายเหตุ: จำนวนวงแหวนและตำแหน่งบนท่อเลนส์จะแตกต่างไปขึ้นอยู่กับรุ่นของเลนส์ หากไม่แน่ใจ ควรตรวจสอบคู่มือเลนส์จะดีที่สุด
(1) วงแหวนซูม
อยู่บนเลนส์ซูม การหมุนวงแหวนซูมจะเปลี่ยนทางยาวโฟกัส ตัวเลขบนดัชนีตำแหน่งซูมคือทางยาวโฟกัสที่ใช้กันทั่วไปและช่วยในการประเมินมุมรับภาพปัจจุบันของคุณ
หมุนวงแหวนซูมทวนเข็มนาฬิกาเพื่อซูมเข้า
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ก้านล็อควงแหวนซูม
ข้อควรรู้: เมื่อหมุนวงแหวนซูมระหว่างที่เปิดรับแสงเป็นเวลานาน คุณจะได้เอฟเฟ็กต์เจ๋งๆ ไม่น้อย อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการระเบิดซูมได้ที่นี่
(2) วงแหวนโฟกัส
สำหรับบางฉาก การใช้โหมด MF จะช่วยให้คุณโฟกัสได้อย่างแม่นยำมากขึ้นเพื่อให้ได้ภาพตามต้องการ ไม่ว่าจะออกแบบมาอย่างไร เลนส์ทุกรุ่นจะมีวงแหวนโฟกัส ซึ่งช่วยให้สามารถโฟกัสแบบแมนนวลได้ (MF) การหมุนวงแหวนโฟกัสจะขยับกลุ่มเลนส์โฟกัสภายในเลนส์ (ไม่ว่าด้วยกลไกหรืออิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นอยู่กับการออกแบบเลนส์) ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโฟกัส
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: สวิตช์โหมดโฟกัส
เลนส์เดี่ยว เช่น EF-M32mm f/1.4 STM ไม่จำเป็นต้องมีวงแหวนซูม แต่จะมีวงแหวนโฟกัสอย่างแน่นอน!
เคล็ดลับ:
- หากคุณกำลังใช้กล้องมิเรอร์เลสที่เข้ากันได้ คุณสามารถใช้ MF Peaking และ Focus Guide เพื่อช่วยในการโฟกัสแบบแมนนวลได้
- สำหรับระบบ EOS R คุณสามารถปรับแต่งความไววงแหวนโฟกัสของเลนส์ RF ได้
ข้อควรรู้: แมนนวลโฟกัสแบบ Full-time
หากเลนส์ของคุณรองรับแมนนวลโฟกัสแบบไฟฟ้า (โปรดศึกษาคู่มือการใช้งานเลนส์) คุณสามารถยกเลิก AF เพื่อทำการปรับอย่างละเอียดด้วยแมนนวลโฟกัสแม้ว่าคุณจะยังคงอยู่ในโหมด AF ซึ่งเรียกว่า ‘แมนนวลโฟกัสแบบ Full-time’
สำหรับการใช้งานแมนนวลโฟกัสแบบ Full-time คุณจำเป็นจะต้องเปลี่ยนการตั้งค่ากล้องและเปิดใช้งานหนึ่งในสองตัวเลือกตามที่ลูกศรชี้ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมในคู่มือการใช้งานกล้องของคุณ สำหรับเลนส์ส่วนใหญ่ แมนนวลโฟกัสแบบ Full-time จะรองรับในโหมด One-Shot AF เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เลนส์บางรุ่น เช่น RF400mm f/2.8L IS USM และ RF600mm f/4L IS USM ยังรองรับในโหมด Servo AF อีกด้วย
เรียนรู้ว่าแมนนวลโฟกัสสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์เจ๋งๆ ในเลนส์บางรุ่นได้อย่างไรที่:
RF24-105mm f/4-7.1 IS STM: โลกเหนือจริงของเอฟเฟ็กต์ Centre Focus Macro
(3) วงแหวนควบคุม
วงแหวนควบคุมมีเฉพาะในเลนส์ RF เท่านั้น วงแหวนควบคุมสามารถกำหนดให้ควบคุมรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ความไวแสง ISO หรือการชดเชยแสงระหว่างโหมดแมนนวลได้
เลนส์บางรุ่น เช่น RF50mm f/1.8 STM รวมฟังก์ชั่นวงแหวนโฟกัสกับวงแหวนควบคุมไว้ด้วยกันในวงแหวนวงเดียวเพื่อให้การออกแบบเลนส์เรียบง่ายยิ่งขึ้น สามารถใช้สวิตช์เลือกโฟกัส/ควบคุมเพื่อสลับใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ ได้
วงแหวนควบคุมทั้งหมดมีลวดลายพื้นผิวข้าวหลามตัดเฉพาะที่ทำให้รู้สึกแตกต่างไปจากวงแหวนอื่นๆ บนเลนส์
สวิตช์
หากต้องการใช้โฟกัสอัตโนมัติ (AF) ให้ตั้งค่าสวิตช์ไปที่ ‘AF’ หรือหากต้องการถ่ายภาพในโหมดแมนนวลโฟกัส (MF) เต็มรูปแบบ ให้ตั้งค่าไปที่ ‘MF’ หากเลนส์ของคุณรองรับแมนนวลโฟกัสแบบไฟฟ้า การตั้งค่ากล้องให้เปิดใช้งานแมนนวลโฟกัสแบบ Full-time จะช่วยให้คุณโฟกัสแบบแมนนวลได้แม้สวิตซ์จะถูกตั้งค่าไว้ที่ ‘AF’ ก็ตาม
หากเลนส์ของคุณไม่มีสวิตช์นี้ คุณจะต้องใช้กล้องในการสลับระหว่าง AF และ MF
2) สวิตช์ระบบป้องกันภาพสั่นไหว
สวิตซ์นี้จะช่วยในการเปิดและปิด IS แบบออพติคอล การปิด IS ของเลนส์เมื่อคุณไม่ใช้งานจะช่วยประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ นอกจากนี้อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นขณะใช้ขาตั้ง
เลนส์ซูมเทโลโฟโต้และเลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้มีสวิตช์ระบบป้องกันภาพสั่นไหวที่ปรับแต่งแล้ว ซึ่งเราจะได้ศึกษากันในบทความฉบับอื่น
สวิตช์นี้พบได้บนเลนส์ RF ที่มีวงแหวนซูม/ควบคุมรวมกัน เมื่อต้องการใช้วงแหวนเป็นวงแหวนโฟกัส ให้ตั้งค่าสวิตช์ไปที่ “โฟกัส” เมื่อต้องการใช้วงแหวนเป็นวงแหวนควบคุม ให้ตั้งค่าสวิตช์ไปที่ “ควบคุม”
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด: หน้าสัมผัสเมาท์เลนส์
ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการเปิดรับแสงและ AF ไปจนถึงระบบป้องกันภาพสั่นไหว การแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเลนส์แบบเรียลไทม์ ฯลฯ จะเกิดการสื่อสารมากมายระหว่างเลนส์กับตัวกล้องขณะที่คุณถ่ายภาพ และการสื่อสารทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นผ่านหน้าสัมผัสเมาท์เลนส์ หน้าสัมผัสเหล่านี้มีความบอบบาง และอาจส่งผลกระทบต่อฟังก์ชั่นต่างๆ ของเลนส์หากมีรอยขีดข่วนหรือสกปรก แม้แต่รอยนิ้วมือก็ตาม! ควรทำความสะอาดด้วยผ้าเนื้อนุ่มหากหน้าสัมผัสสกปรก และปกป้องด้วยฝาปิดกันฝุ่นเมื่อไม่ได้ติดตั้งเลนส์เข้ากับกล้อง
ข้อควรรู้: เลนส์ RF มีขาเชื่อมต่อ 12 ขา ส่วนเลนส์ EF มี 8 ขา
ยิ่งมีขาเชื่อมต่อมากขึ้นพร้อมด้วยโปรโตคอลการส่งสัญญาณที่ดียิ่งขึ้น การสื่อสารระหว่างเลนส์ RF กับตัวกล้องระบบ EOS R ก็จะยิ่งเร็วยิ่งขึ้นและมีความจุสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับกล้องและเลนส์
---
คุณสมบัติต่างๆ ที่เราแนะนำไปข้างต้นเป็นคุณสมบัติที่พบได้บ่อยที่สุด เลนส์รุ่นพิเศษบางรุ่นมีคุณสมบัติเฉพาะที่เหมาะกับลักษณะเฉพาะของเลนส์หรือสถานการณ์ที่มีการใช้เลนส์นั้นบ่อยๆ ในบทความถัดไปเราจะมาศึกษาคุณสมบัติและฟังก์ชั่นที่คุณสามารถพบได้ในเลนส์เทเลโฟโต้และเลนส์มาโคร
หากคุณสนใจเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับเลนส์ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์: ชื่อเลนส์มีความหมายอย่างไรและทำไมเลนส์บางรุ่นจึงเป็นสีขาว
In Focus: Lenses FAQs
หรือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์แบบต่างๆ รวมถึงเทคนิคการใช้เลนส์ได้ใน:
จุดโฟกัส: พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์
นอกจากนี้ คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับส่วนต่างๆ ของกล้องได้ที่นี่
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!