พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #5: เปอร์สเป็คทีฟ
เปอร์สเป็คทีฟ คือ ปรากฏการณ์ที่ทำให้วัตถุที่อยู่ใกล้ดูมีขนาดใหญ่ขึ้น และวัตถุที่อยู่ไกลดูมีขนาดเล็กลง เปอร์สเป็คทีฟเป็นแนวคิดหนึ่งที่สำคัญในการถ่ายภาพ ซึ่งหากหมั่นฝึกฝนและสร้างเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริงได้ ภาพของคุณจะส่งผลทางอารมณ์มากขึ้น ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ 3 องค์ประกอบที่มีผลต่อเปอร์สเป็คทีฟกัน (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)
3 ปัจจัยที่มีผลต่อเปอร์สเป็คทีฟ
3 ปัจจัยที่ช่วยให้ได้เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่ชัดเจนขึ้น
1. ใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้นลง
2. ขยับเข้าใกล้ตัวแบบให้มากที่สุด
3. ถ่ายภาพจากมุมรับภาพแนวทแยงที่ชันยิ่งขึ้น
เปอร์สเป็คทีฟ หมายถึง ปรากฏการณ์ของภาพที่วัตถุซึ่งอยู่ใกล้ตัวเราดูมีขนาดใหญ่ขึ้น และวัตถุที่อยู่ไกลจากเราดูมีขนาดเล็กลง ในการถ่ายภาพ ปัจจัยที่มีผลต่อเปอร์สเป็คทีฟมีอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ ทางยาวโฟกัส ระยะการถ่ายภาพ และมุมถ่ายภาพ
1. ทางยาวโฟกัส: ยิ่งคุณใช้ทางยาวโฟกัสที่สั้น เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟจะยิ่งชัดเจนขึ้น ในทางกลับกัน ยิ่งคุณใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟจะยิ่งด้อยลง
2. ระยะห่างจากตัวแบบ (ระยะการถ่ายภาพ หรือ "ระยะโฟกัส"): ยิ่งกล้องอยู่ใกล้ตัวแบบมากเท่าใด เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟจะยิ่งชัดเจนขึ้น ยิ่งกล้องอยู่ห่างจากตัวแบบมากเท่าใด เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟจะยิ่งด้อยลง
3. มุมถ่ายภาพ: ยิ่งกล้องของคุณขนานกับตัวแบบมากเท่าใด (มุมถ่ายภาพตื้นขึ้น) เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟจะยิ่งด้อยลง ในทางกลับกัน ถ้าคุณวางกล้องไว้ในมุมที่ชันมากขึ้นจากตัวแบบ คุณจะได้เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่ชัดเจนขึ้น
สรุปแล้ว วิธีง่ายที่สุดที่จะได้เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่ชัดเจนที่สุดคือ การใช้เลนส์มุมกว้าง ขยับเข้าใกล้ตัวแบบให้มากที่สุด และถ่ายภาพจากมุมรับภาพแนวทแยงที่ชัน เอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงที่เป็นเอกลักษณ์ของเลนส์มุมกว้างช่วยคุณสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่สวยงาม พร้อมสื่อถึงความลึก ความมีมิติ และขนาดได้อย่างชัดเจน เอฟเฟ็กต์นี้จึงเหมาะกับการใช้ร่วมกับโฟกัสชัดลึก
เราลองมาดูรายละเอียดของปัจจัย 3 ประการที่ส่งผลต่อเปอร์สเป็คทีฟกัน
ทางยาวโฟกัส
ภาพด้านล่างถ่ายด้วยเลนส์ซูมมาตรฐานจากตำแหน่งเดียวกัน แต่ใช้ทางยาวโฟกัสต่างกัน เมื่อถ่ายด้วยทางยาวโฟกัสที่สั้นลง (24 มม.) เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่ได้จะค่อนข้างชัดเจน องค์ประกอบในภาพที่อยู่ใกล้ผู้ชมมากกว่าจะดูมีขนาดใหญ่ขึ้น และองค์ประกอบที่อยู่ไกลกว่าจะดูมีขนาดเล็กลง ในขณะเดียวกัน เมื่อถ่ายด้วยทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น (ตัวอย่างที่ระยะ 70 มม.) เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่ได้จะไม่ชัดเจนนัก
ทางยาวโฟกัสสั้นลง (24 มม.)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/30 วินาที, EV+0.7)/ ISO 1250/ WB: อัตโนมัติ
ทางยาวโฟกัสยาวขึ้น (70 มม.)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 70 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/80 วินาที, EV+0.7)/ ISO 3200/ WB: อัตโนมัติ
ระยะห่างจากตัวแบบ
ตัวอย่างด้านล่างถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสที่เท่ากัน (50 มม.) แต่ระยะห่างจากตัวแบบที่ต่างกัน ในตัวอย่างด้านล่าง ลองสังเกตว่าส่วนของตึกที่อยู่ใกล้เราจะดูมีขนาดใหญ่กว่าตามสัดส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับการถ่ายภาพโดยขยับออกห่างจากตัวแบบมากขึ้น (ตัวอย่างที่ระยะ 3 เมตร) สิ่งนี้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเรามองดูแนวเส้นที่ด้านบนและด้านล่างของป้ายโฆษณาในแต่ละภาพ ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมโดยมีขอบด้านขวาของภาพเป็นฐาน ในตัวอย่างที่ถ่ายที่ระยะ 2 เมตร รูปสามเหลี่ยมนี้มีฐานกว้างกว่า เมื่อเทียบกับตัวอย่างที่ถ่ายที่ระยะ 3 เมตร ซึ่งแนวเส้นบรรจบกันที่มุมมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีรูปทรงเพรียวบางพร้อมกับฐานที่แคบลง นี่แสดงว่ายิ่งกล้องอยู่ใกล้ตัวแบบมากเท่าใด เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น
ใกล้ขึ้น (2 เมตร)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/200 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: Manual
ไกลขึ้น (3 เมตร)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/200 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: Manual
มุมถ่ายภาพ
ตัวอย่างด้านล่างถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสที่เท่ากัน (50 มม.) แต่ต่างกันที่มุมถ่ายภาพ การถ่ายตัวแบบจากมุมรับภาพแนวทแยง (ตัวอย่างที่มุม 45° ) ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟซึ่งเปลี่ยนรูปทรงสี่เหลี่ยมของหน้าต่างไป ขณะที่การถ่ายภาพจากมุมที่ค่อนข้างแบน (ตัวอย่างภาพที่ถ่ายจากทางด้านหน้า) จะไม่เกิดเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟ ภาพจึงแสดงหน้าต่างสี่เหลี่ยมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามจริง
แนวทแยง (45°)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/320 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
แบน (กล้องและระนาบภาพอยู่ในแนวเดียวกัน)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 50mm/ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/250 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักในการเน้นเปอร์สเปคทีฟ
1. ตระหนักถึงเส้นนำสายตาให้มากเมื่อจัดองค์ประกอบภาพ
EOS 6D/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 17 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/160 วินาที, EV+1)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
การใช้เส้นแนวตั้งและแนวนอนร่วมกัน
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 24 มม./ Program AE (f/8, 1/250 วินาที)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
การใช้เส้นนำสายตาเพื่อสร้างความลึก
เมื่อคุณใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อถ่ายภาพที่ใช้ประโยชน์จากเปอร์สเปคทีฟ ควรตระหนักถึงเส้นนำสายตาในภาพถ่ายให้มาก การถ่ายภาพจากมุมมองที่โดดเด่นเพื่อให้เส้นนำสายตาในอาคาร ถนน ทางเดิน แม่น้ำ และองค์ประกอบอื่นๆ ดูเป็นแนวทแยงมุมมากขึ้น จะสามารถเพิ่มเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟได้ นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้เส้นนำสายตาเพื่อสร้างความลึกในภาพถ่าย หรือดึงความสนใจของผู้ชมไปยังจุดใดจุดหนึ่งได้
2. เล่นกับตำแหน่งและมุมกล้อง
EOS 6D/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/200 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ตำแหน่งที่ต่ำ
EOS 6D/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 25 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/80 วินาที)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
มุมสูง
หากคุณถ่ายภาพในระดับสายตา การได้เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย จึงขอแนะนำให้ลองถ่ายภาพจากตำแหน่งที่ต่ำหรือมุมสูงแทน แม้แต่การเอียงกล้องขึ้นหรือลงเพียงเล็กน้อยก็อาจสร้างความแตกต่างได้มากเช่นกัน
โปรดดูที่:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #14: ตำแหน่งกล้องและมุมกล้อง
เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟอาจช่วยให้คุณได้ภาพเช่นนี้!
EOS 6D/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/30 วินาที, EV+0.3)/ ISO 500/ WB: แสงแดด
จัดตำแหน่งตัวเองให้อยู่ใกล้กับตัวแบบและถ่ายภาพมุมกว้างจากมุมต่ำ
เก้าอี้ในห้องนั่งเล่นเป็นสีเขียวสวย ฉันขยับเข้าใกล้และถ่ายภาพโดยใช้มุมต่ำและทางยาวโฟกัสมุมกว้าง ส่วนของเก้าอี้ที่อยู่ใกล้ผู้ชมมากกว่าดูมีขนาดใหญ่ และค่อยๆ แคบขึ้นเมื่อมองลึกเข้าไปในภาพ ภาพนี้จึงแสดงให้เห็นถึงมิติความลึกของห้อง
สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพิ่มมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริง โปรดดูที่:
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง