ทำความรู้จักกับเลนส์ Canon ของคุณ (2): คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ของเลนส์เทเลโฟโต้และเลนส์มาโคร
ก่อนหน้านี้ เราได้ศึกษาคุณสมบัติต่างๆ ที่คุณพบได้ในเลนส์ส่วนใหญ่กันไปแล้ว รวมทั้งเลนส์คิทและเลนส์เดี่ยวมาตรฐาน ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกถึงคุณสมบัติที่คุณจะพบในเลนส์พิเศษ 2 ชนิด นั่นคือเลนส์เทเลโฟโต้และเลนส์มาโคร
คุณสมบัติที่เราจะมาดูกัน
1) ตัววัดระยะ
2) สวิตช์เลือกช่วงระยะโฟกัส
3) โหมด IS หลากหลายแบบ
4) แหวนคอลลาร์สำหรับยึดขาตั้งกล้อง
5) ปุ่มตั้งค่าโฟกัสล่วงหน้า
6) แฟลช Macro Lite ในตัว
7) วงแหวนปรับการซูมแบบสัมผัส
8) ช่องปรับฟิลเตอร์
9) วงแหวนควบคุม SA
1. ตัววัดระยะ
A: อัตราขยายภาพ
B: ระยะโฟกัส
ตัววัดระยะจะแสดงระยะโฟกัส ซึ่งหมายถึงระยะห่างจากเซนเซอร์ภาพจนถึงจุดโฟกัสในหน่วยเมตรหรือฟุต และอาจแสดงอัตราขยายภาพด้วย ขึ้นอยู่กับรุ่นของเลนส์ คุณจะใช้ค่าระยะโฟกัสที่อ่านได้จากเครื่องหมายดัชนีสีขาวที่อยู่ด้านล่างของตัววัด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตัววัดแสดงค่า ‘3 ม.’ ตัวแบบที่อยู่ห่างจากเครื่องหมายระนาบโฟกัสของกล้องสามเมตรจะอยู่ในโฟกัส
ในภาพด้านบน เลนส์ตั้งไว้ให้โฟกัสที่ระยะอนันต์ และอัตราในกรอบ ‘A’ คืออัตราขยายภาพ (ขนาดจริงของตัวแบบเทียบกับภาพของตัวแบบบนเซนเซอร์ภาพ) อัตราส่วน 1:5 หมายถึงกำลังขยาย 0.2 เท่า
สำหรับเลนส์มาโคร กำลังขยายสูงสุดมักจะเกิดขึ้นที่ระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์ เพื่อรักษากำลังขยายระดับนี้ไว้ ให้ใช้โฟกัสแบบแมนนวลและปรับระยะโฟกัสของคุณตามนั้น หลังจากนั้น คุณเพียงแค่ต้องขยับเลนส์ไปข้างหน้าและหลังจนกว่าตัวแบบของคุณจะอยู่ในโฟกัส
ความเป็นมาโดยย่อ
ช่องแสดงตัววัดระยะเป็นสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่จากสมัยที่ยังใช้โฟกัสแบบแมนนวลกันเป็นบรรทัดฐาน และมักจะใช้ร่วมกับตัววัดระยะชัดลึกที่ทำให้ผู้ใช้สามารถประมาณได้ว่าภาพจะอยู่ในโฟกัสมากเท่าใดที่รูรับแสงและทางยาวโฟกัสที่ใช้
เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การมาถึงของระบบโฟกัสอัตโนมัติ เลนส์ซูม และการออกแบบเลนส์ที่ทันสมัยยิ่งขึ้นทำให้เลนส์ในปัจจุบันมีเพียงแค่ช่องแสดงตัววัดระยะอย่างง่ายหรืออาจไม่มีเลย แต่ถึงแม้จะอยู่ในรูปแบบอย่างง่าย ตัววัดระยะก็ยังคงมีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพในฉากที่มืดจนกระทั่งมองตัวแบบแทบไม่เห็นในช่องมองภาพ หรือเมื่อคุณต้องการแน่ใจว่าโฟกัสอยู่ที่ระยะอนันต์ นอกจากนี้ยังเป็นการวัดที่มีประโยชน์ในฉากที่คุณต้องการจับโฟกัสที่ระยะโฟกัสหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับสวิตช์เลือกช่วงระยะโฟกัส
เคล็ดลับน่ารู้ (1): ตัววัดระยะในหน้าจอ LCD
เลนส์ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM มีหน้าจอ LCD ที่สามารถแสดงตัววัดระยะได้ รวมถึงข้อมูลประเภทอื่นๆ ด้วย
เคล็ดลับน่ารู้ (2): ในระบบ EOS R คุณสามารถแสดงตัววัดระยะใน EVF ได้
เลนส์ RF ไม่มีช่องแสดงตัววัดระยะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า Canon ได้ยกเลิกคุณสมบัตินี้ไปโดยสิ้นเชิง คุณยังสามารถดูตัววัดระยะได้ในช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์และหน้าจอแบบ Live View เมื่อใช้เลนส์ RF โดยเปิดใช้งานตัววัดระยะในเมนู Setup (หาเมนู “แสดงข้อมูลการถ่ายภาพ”) นี่จึงเป็นหนึ่งในข้อดีของการแสดงข้อมูลใน EVF และความสามารถในการสื่อสารที่รวดเร็วของเมาท์ RF
ข้อควรรู้: เส้นกรอบสีแดงในภาพหน้าจอด้านบนเกิดจากโฟกัสพีค ซึ่งช่วยให้คุณโฟกัสแบบแมนนวลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
2. สวิตช์เลือกช่วงระยะโฟกัส
สวิตช์เลือกช่วงระยะโฟกัสของ (จากซ้าย) เลนส์ RF100mm f/2.8L Macro IS USM, RF400mm f/2.8L IS USM และ RF70-200mm f/4L IS USM
สวิตช์นี้เรียกอีกอย่างว่าสวิตช์จำกัดโฟกัสหรือตัวจำกัดโฟกัส ซึ่งช่วยให้คุณสามารถจำกัด AF ให้ทำงานเฉพาะในช่วงโฟกัสที่เลือกได้ คุณสมบัตินี้ช่วยลดการไล่หาจุดโฟกัสในฉากที่ตัวแบบอยู่ในโฟกัสช่วงใดช่วงหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะค่อนข้างใกล้หรือไกลจากเลนส์
3. โหมด IS หลากหลายแบบ
นอกจากสวิตช์ระบบป้องกันภาพสั่นไหวที่ช่วยให้คุณเปิดปิดระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวเลนส์ได้แล้ว เลนส์เทเลโฟโต้ระดับมืออาชีพของ Canon ยังมีสวิตช์เลือกโหมดป้องกันภาพสั่นไหวด้วย ซึ่งช่วยให้คุณสามารถเลือกใช้โหมดป้องกันภาพสั่นไหวได้จาก 3 โหมดแตกต่างกัน (2 โหมดในเลนส์รุ่นเก่า) ระหว่างการถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือ
โหมดที่ 1: ตัวแบบที่อยู่นิ่ง
โหมดนี้จะแก้ไขการเบลอที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของกล้องในทุกทิศทาง
โหมดที่ 2: ตัวแบบที่เคลื่อนไหว/การแพนกล้อง (“โหมดแพนกล้อง”)
ในโหมดนี้ เลนส์จะตรวจจับทิศทางการแพนเมื่อคุณแพนกล้องในแนวนอนหรือแนวตั้ง และแก้ไขการสั่นของกล้องที่เกิดขึ้นในทิศทางที่ตั้งฉากกับการแพนกล้องเท่านั้น โหมดนี้ยังเหมาะสำหรับตัวแบบที่เคลื่อนที่ในทิศทางที่แน่นอนด้วย เช่น ยานพาหนะต่างๆ
โหมดที่ 3: ตัวแบบที่มีการเคลื่อนไหวแบบคาดเดาไม่ได้ (“โหมดกีฬา”)
ในโหมด IS ที่ 1 และ 2 การป้องกันภาพสั่นไหวจะเกิดขึ้นในขณะที่คุณกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าในขณะที่คุณมองดูตัวแบบ ภาพที่เห็นจากช่องมองภาพจะไม่เกิดการสั่นด้วย อย่างไรก็ตาม อาจทำให้เกิดมุมมองที่ไม่เป็นธรรมชาติได้หากคุณกำลังติดตามตัวแบบที่เคลื่อนที่แบบคาดเดาทิศทางไม่ได้ โหมด IS ที่ 3 แก้ปัญหานี้โดยทำการป้องกันการสั่นไหวในขณะเปิดรับแสงเท่านั้น
ถ่ายด้วยกล้อง EOS R5 และเลนส์ RF400mm f/2.8L IS USM โหมด IS ที่ 3 เหมาะสำหรับการถ่ายภาพตัวแบบที่คาดเดาไม่ได้ เช่น กีฬาที่ใช้ลูกบอลและสัตว์ป่า
4. แหวนคอลลาร์สำหรับยึดขาตั้งกล้อง
A: แหวนคอลลาร์สำหรับยึดขาตั้งกล้อง
B: ตัวล็อค
ความยาวและน้ำหนักของเลนส์เทเลโฟโต้ทั่วไปจะทำให้การติดตั้งอุปกรณ์มีน้ำหนักมากที่ด้านหน้า การติดตั้งอุปกรณ์เช่นนี้ลงบนขาตั้งกล้องโดยใช้ตัวกล้องไม่เพียงแต่ทำให้ขาดความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับเมาท์ของเลนส์ด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นคงสูงสุด จึงควรติดตั้งอุปกรณ์โดยใช้ตัวเลนส์แทน
เลนส์ซูมเทเลโฟโต้และซูเปอร์เทเลโฟโต้ในซีรีย์ L ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับแหวนคอลลาร์สำหรับยึดขาตั้งกล้อง (คอลลาร์ขาตั้งกล้อง) เพื่อวัตถุประสงค์นี้ แหวนคอลลาร์สำหรับยึดขาตั้งกล้องได้รับการออกแบบมาเพื่อให้คุณสามารถหมุนกล้องและเลนส์ในการถ่ายภาพโดยวางแนวกล้องได้ทุกแบบ
ให้การเปลี่ยนแนวกล้องเป็นเรื่องง่าย
คุณเพียงแค่ต้องคลายตัวล็อคที่อยู่บนตัวคอลลาร์ ปรับกล้องและเลนส์ให้อยู่ในตำแหน่งการถ่ายภาพที่คุณต้องการ จากนั้นจึงขันตัวล็อคให้แน่นอีกครั้ง ภาพด้านบนเป็นเลนส์ RF100mm f/2.8L Macro IS USM แต่วิธีเดียวกันนี้ก็ใช้ได้กับแหวนคอลลาร์สำหรับยึดขาตั้งกล้องที่มาพร้อมกับเลนส์เทเลโฟโต้ซีรีย์ L ส่วนใหญ่เช่นกัน
หมายเหตุ: สำหรับเลนส์รุ่นอื่น เช่น RF100mm f/2.8L Macro IS USM หรือเลนส์ที่ไม่ได้อยู่ในซีรีย์ L แหวนคอลลาร์สำหรับยึดขาตั้งกล้องจะมีจำหน่ายแยกต่างหาก เลนส์บางรุ่นจะมีคอลลาร์สำหรับยึดขาตั้งกล้องในตัวแทนการใช้กับแหวนคอลลาร์สำหรับยึดขาตั้งกล้อง
5. ปุ่มตั้งค่าโฟกัสล่วงหน้า
ผู้ใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้หลายคนถ่ายภาพสัตว์ป่าหรือการเคลื่อนไหวซึ่งต้องอาศัยการตอบสนองที่รวดเร็วเพื่อจับภาพในเวลาเสี้ยววินาที ฟังก์ชันนี้พบได้ในเลนส์เดี่ยวซูเปอร์เทเลโฟโต้ซีรีย์ L เวอร์ชันเมาท์ EF และ RF โดยจะช่วยให้คุณสามารถจัดเก็บและจดจำระยะโฟกัสที่ตั้งไว้ล่วงหน้าได้ เพื่อให้คุณสามารถโฟกัสที่ระยะหนึ่งได้ทันที
คุณสมบัติเฉพาะตัวอื่นๆ ของเลนส์แต่ละรุ่น
6. แฟลช Macro Lite ในตัว
พบได้ใน: เลนส์ EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM, EF-S35mm f/2.8 Macro IS STM
การถ่ายภาพระยะใกล้ด้วยเลนส์มาโครเป็นการเปิดโลกใบใหม่ให้คุณเห็น อย่างไรก็ตาม เมื่ออุปกรณ์ของคุณอยู่ใกล้กับตัวแบบมาก อาจเป็นการยากที่จะได้รับแสงในฉากอย่างเพียงพอ
หากคุณยังเป็นมือใหม่ในการถ่ายภาพมาโคร แฟลช Macro Lite ในตัวเลนส์ EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM และ EF-S35mm f/2.8 Macro IS STM จะช่วยให้คุณไม่ต้องกังวลกับการลงทุนซื้ออุปกรณ์จัดแสงเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการถ่ายภาพมาโครโดยเฉพาะ จึงทำให้คุณใช้ประโยชน์จากระยะโฟกัสใกล้สุดซึ่งใกล้มากที่ 9.3 ซม. และ 13 ซม. ตามลำดับให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ง่ายขึ้น
กดปุ่มเปิด Macro Lite เพื่อเปิดแฟลช Macro Lite
มีการตั้งค่าความสว่าง 2 ระดับให้เลือก ใช้ปุ่มเปิด Macro Lite เพื่อเปลี่ยนการตั้งค่าระหว่าง ปิด สว่าง และหรี่แสง คุณยังสามารถใช้ไฟด้านซ้ายและขวาแยกกันได้ด้วย หากต้องการสลับระหว่างโหมดไฟดวงเดียวและสองดวง ให้กดปุ่มเปิด Macro Lite ลงครึ่งหนึ่ง
ดูผลลัพธ์ที่ได้จากแฟลชและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์เหล่านี้ได้ที่:
รีวิวภาพถ่าย EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM
การทดลองใช้ EF-S35mm f/2.8 Macro IS STM
7. วงแหวนปรับการซูมแบบสัมผัส
พบได้ใน: EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM, RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM
วงแหวนนี้ช่วยให้คุณปรับแรงที่ใช้ในการหมุนวงแหวนซูมตามที่คุณต้องการ ‘SMOOTH’ จะทำให้ใช้แรงในการหมุนวงแหวนซูมน้อยลงในขณะที่ ‘TIGHT’ จะทำให้ใช้แรงมากขึ้นในการหมุนวงแหวน
8. ช่องปรับฟิลเตอร์
พบได้ใน: RF70-200mm f/2.8L IS USM, EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM, RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM
ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ทรงกลม (CPL) ช่วยลดแสงหลอกและแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้สีสันต่างๆ ดูเข้มขึ้น ในขณะเดียวกัน เลนส์ฮูดจะช่วยป้องกันแสงอาทิตย์ส่วนเกินไม่ให้เข้ามาในเลนส์และทำให้เกิดแสงแฟลร์ที่คุณไม่ต้องการ การออกแบบเลนส์ฮูดอันเป็นเอกลักษณ์นี้ช่วยให้คุณยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เนื่องจากมีช่องที่สามารถเปิดและปิดเพื่อให้คุณปรับฟิลเตอร์ CPL ได้โดยไม่ต้องถอดเลนส์ฮูดออก เพียงแต่ต้องไม่ลืมปิดช่องก่อนถ่ายภาพ!
9. วงแหวนควบคุม SA
พบได้ใน: RF100mm f/2.8L Macro IS USM
วงแหวนควบคุมความคลาดทรงกลมทำให้คุณสามารถปรับระดับของความคลาดทรงกลม (SA) ได้ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนลักษณะของโบเก้ เมื่อหมุนวงแหวนไปยัง ‘-’ จะทำให้เส้นขอบของโบเก้ในแบ็คกราวด์นุ่มนวลขึ้นและเส้นขอบของโบเก้ในโฟร์กราวด์จะชัดเจนขึ้น ในขณะที่การหมุนวงแหวนไปยัง ‘+’ จะทำให้ได้เอฟเฟ็กต์ “โบเก้แบบฟองสบู่” เช่นเดียวกับที่พบในเลนส์วินเทจบางรุ่น
หมุนวงแหวนควบคุม SA ไปยัง ‘-’
หมุนวงแหวนควบคุม SA ไปยัง ‘+’
---
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ได้ที่:
In Focus: RF Lens
In Focus: Lenses FAQs
จุดโฟกัส: พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!