เคล็ดลับที่ไม่ควรพลาดจากมืออาชีพด้านการถ่ายภาพท่องเที่ยว
ความพึงพอใจสูงสุดในการถ่ายภาพท่องเที่ยวคือ การที่ช่างภาพได้หลุดออกจากกิจวัตรประจำวันและพบฉากต่างๆ ที่ทิ้งร่องรอยความประทับใจที่ยากจะลืมเลือน เพียงแค่หันกล้องไปมาแล้วถ่ายภาพอาจทำให้ฉากไม่สวยงามอย่างที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น มาลองปรับการตั้งค่ากล้อง Canon EOS เพื่อใช้ประโยชน์ให้เต็มที่กัน ต่อไปนี้คือวิธีการที่จะช่วยให้คุณเก็บแสงได้อย่างสวยงามเพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่น่าประทับใจมากยิ่งขึ้น (เรื่องโดย: GOTO AKI, Fumio Kato (Digital Camera Magazine))
1. ถ่ายทอดความเงียบสงบของทิวทัศน์ทะเลสาบ
EOS 5D Mark III/ EF35mm f/1.4L USM/ FL: 35 มม./ Manual exposure (f/22, 1/40 วินาที)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ในตัวอย่างนี้ ผมตั้งใจจะถ่ายภาพความกว้างใหญ่ของทิวทัศน์ในแนวนอนแบบง่ายๆ รวมถึงการจัดการสีแบบฟ้า-ขาว-ฟ้า ผมต้องการสื่อถึงความรู้สึกนุ่มนวลที่คุณจะได้รับจากพื้นผิวที่คมชัดของต้นไม้ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของก้อนเมฆ ทะเลสาบ และเวลาอย่างสงบเงียบ (ภาพและเรื่องโดย: GOTO AKI)
ทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ถ่ายทอดความกว้างใหญ่ได้เช่นเดียวกับที่เราเห็นด้วยตาเปล่า
ผมจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตรของท้องฟ้า ก้อนเมฆ และทะเลสาบโดยให้ต้นไม้อยู่ตรงกลางภาพ สามารถใช้ทางยาวโฟกัส 35 มม. เพื่อถ่ายทอดความกว้างของพื้นที่ และในขณะเดียวกันยังแสดงให้เห็นว่าฉากนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฉากที่มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลกว่าด้วย เพื่อทำให้ความกว้างในแนวนอนดูเด่นออกมา ผมใช้การจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วนเพื่อแบ่งท้องฟ้าและก้อนเมฆเป็นอัตราส่วน 2:1
รูรับแสงแคบแสดงให้เห็นก้อนเมฆ ทะเลสาบ และต้นไม้ในเวลาเดียวกัน
แม้ว่าจากในภาพต้นไม้ดูเหมือนจะตั้งตระหง่านอยู่ชิดกัน แต่อันที่จริงแล้วทั้งสองต้นอยู่ห่างจากตัวกล้องในระยะที่ต่างกัน การปรับรูรับแสงให้แคบลงทำให้ผมได้ระยะชัดที่กว้างขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้แสดงเงาของต้นไม้ได้อย่างคมชัดเท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดรายละเอียดของก้อนเมฆและผืนน้ำได้ด้วย ในฉากนี้ ผมได้ภาพที่ดีที่สุดเมื่อใช้ f/22
เคล็ดลับ: เมื่อถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสงที่แคบมากๆ ให้ระวังการเกิด ความบิดเบี้ยว ซึ่งในภาพนี้มีความบิดเบี้ยวในระดับที่ยอมรับได้ แต่อาจทำให้ภาพดูนุ่มนวลมากเกินกว่าที่คุณต้องการ
2. บันทึกความทรงจำของน้ำค้างในยามเช้า
EOS 6D/ EF100 มม. f/2.8L Macro USM/ FL: 100 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/640 วินาที)/ ISO 400/ WB: 3,300K
ผมถ่ายภาพนี้ในตอนเช้าตรู่หลังจากที่ฝนหยุดตกแล้ว หยาดฝนบนใบหญ้าสะท้อนแสงอาทิตย์ยามเช้า ตรงจุดนี้ ผมสร้างวงกลมโบเก้จากหยาดฝนเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกสดชื่นของน้ำค้างในฉาก (ภาพและเรื่องโดย: Fumio Kato)
ทิศทางของแสงที่สร้างภาพสะท้อนจากหยดน้ำ
สามารถใช้แสงด้านหลัง (แนวทแยง) ในการขับเน้นประกายของหยดน้ำอย่างได้ผล ซึ่งทำได้โดยถ่ายภาพให้แหล่งกำเนิดแสงอยู่ด้านหลังตัวแบบในแนวทแยง เนื่องจากหยดฝนและหญ้าเขียวขจีจะกลายเป็นสีส้มในแสงแดดยามเช้า ผมจึงปรับสมดุลแสงขาวไปที่ 3,300K เพื่อเพิ่มเฉดสีฟ้าเข้าไปในภาพ
ใช้แสงเบลอเพื่อสร้างวงกลมโบเก้
เลนส์เทเลโฟโต้ให้ระยะชัดตื้นที่คุณต้องใช้ในการสร้างวงโบเก้ และจะได้ผลดียิ่งขึ้นเมื่อคุณถ่ายภาพให้ใกล้ตัวแบบ ซึ่งผมใช้ร่วมกับค่ารูรับแสงกว้างสุด (f/2.8) เพื่อสร้างวงกลมโบเก้ และเพื่อให้วงกลมโบเก้มีขนาดใหญ่ขึ้นอีก ผมใช้เลนส์ที่มี
- เลนส์โคลสอัพ
- ท่อต่อเลนส์ และ
- ตัวแปลงเลนส์
3. ภาพสถานที่มรดกโลกที่ดูตระการตา
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 22 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/160 วินาที, EV+0.3)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
โบสถ์เซนต์ปอลในมาเก๊าคือมรดกโลกที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวตลอดเวลา ผมจึงต้องขึ้นไปบนเนินเขาเตี้ยๆ เพื่อมองหาตำแหน่งเหมาะๆ ในการถ่ายภาพ ความตระการตานี้เกิดจากการจัดองค์ประกอบภาพและมุมถ่ายภาพ
เทคนิคที่สำคัญ: หากต้องการสร้างความลึก ให้ถ่ายภาพจากด้านข้าง
มุมถ่ายภาพ
ผมถ่ายภาพสถาปัตยกรรมนี้จากด้านข้าง ซึ่งช่วยเพิ่มความลึกให้กับภาพ และยังช่วยให้โบสถ์ดูไม่สว่างจนเกินไปเนื่องจากแสงย้อนจากดวงอาทิตย์
การจัดองค์ประกอบภาพ
ผมไม่ต้องการให้พื้นที่ซึ่งปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าในโฟร์กราวด์ดูใหญ่จนเกินไป การถ่ายภาพจากด้านข้างจะช่วยรักษาความสมดุลนี้ไว้
ทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ปรับสมดุลระหว่างโฟร์กราวด์กับตัวแบบหลัก
ผมใช้เอฟเฟ็กต์ของแสงย้อนและวัตถุในโฟร์กราวด์เพื่อให้ภาพดูมีความตระการตา เพื่อดึงความสนใจของผู้ชมไปที่โบสถ์ซึ่งเป็นตัวแบบหลัก ผมเลือกใช้ทางยาวโฟกัส 22 มม. และถ่ายภาพในแนวตั้ง
รูรับแสงแคบถ่ายทอดพื้นผิวของวัตถุในโฟร์กราวด์
ต้นไม้และใบไม้ในโฟร์กราวด์ดูสวยสดงดงามในแสงย้อน ผมจึงพยายามถ่ายทอดลักษณะและพื้นผิวของพืชพรรณเหล่านั้นด้วยการใช้โฟกัสชัดลึกที่ f/16 ผมอาจไม่สามารถดึงความสนใจของผู้ชมมาที่ตัวแบบหลัก (โบสถ์) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากโฟร์กราวด์มีความคมชัดมากเกินไป ผมจึงตั้งกล้องให้อยู่ใกล้ใบไม้มากยิ่งขึ้น และตั้งใจปล่อยภาพให้อยู่นอกโฟกัสเล็กน้อย
อ่านเคล็ดลับเกี่ยวกับการถ่ายภาพท่องเที่ยวเพิ่มเติมที่:
รายการสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพแนวท่องเที่ยว
5 วิธีในการกำหนดเฟรมภาพท่องเที่ยวของคุณ
พัฒนาทักษะการถ่ายภาพท่องเที่ยวของคุณด้วย EOS M10 ตอนที่ 3: การใช้เลนส์ซูมเทโลโฟโต้
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: แสงด้านหน้าหรือแสงด้านหลัง
การถ่ายภาพทิวทัศน์: เคล็ดลับสำหรับภาพโฟกัสชัดลึกที่สวยงามน่าทึ่ง
คุณอาจสนใจบทความต่อไปนี้
เคล็ดลับที่ไม่ควรพลาดจากช่างภาพสตรีทระดับมืออาชีพ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "LAND ESCAPES" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "water silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
ประสบการณ์ดำน้ำลึกของ Kato ชักนำให้เขาเริ่มถ่ายภาพใต้น้ำ หลังจากที่ได้รับรางวัล Takasago Prize สองครั้ง เขาเริ่มต้นอาชีพถ่ายภาพอย่างที่ใฝ่ฝันไว้ Kato ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระในปี 2006 และขยายขอบเขตการถ่ายภาพจากใต้น้ำไปสู่การถ่ายภาพธรรมชาติ ในปี 2012 เขาได้รับรางวัลที่สองจากการประกวด Nature's Best Photography ที่ประเทศญี่ปุ่น และผลงานของเขาได้ถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Smithsonian เป็นเวลาหนึ่งปีในปี 2013 และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย