f/4: สำหรับถ่ายภาพพอร์ตเทรตให้เห็นรายละเอียดสิ่งที่อยู่โดยรอบ
ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตหลายประเภท ควรมีโบเก้ที่นุ่มนวลและเด่นชัด เพราะทำให้แบ็คกราวด์เรียบง่ายขึ้นและตัวแบบดูโดดเด่น อย่างไรก็ตาม มีภาพพอร์ตเทรตบางประเภทที่คุณจะต้องการเก็บรายละเอียดของสถานที่ถ่ายภาพให้มากขึ้น และต่อไปนี้คือเหตุผลที่ทำให้ค่า f/4 เป็นแนวทางที่ดีในสถานการณ์ดังกล่าว (เรื่องโดย Teppei Kohno)
เมื่อรายละเอียดบริบทแวดล้อมของสถานที่นั้นมีความสำคัญไม่แพ้ตัวแบบในภาพพอร์ตเทรต
บางทีคุณอาจกำลังเที่ยวทริปพักร้อนในฝันกับคนที่คุณรักและอยากเก็บภาพใบหน้าเปี่ยมสุขของพวกเขาตัดกับทิวทัศน์และฉากต่างๆ ของสถานที่ที่คุณไป หรือคุณอาจกำลังพยายามถ่ายภาพบุคคลกับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นภาพพอร์ตเทรตรูปแบบหนึ่งที่มุ่งถ่ายภาพบุคคลในสถานที่ที่มีความสำคัญต่อการทำงาน วิถีชีวิต หรือบุคลิกลักษณะของบุคคลนั้น
ในสถานการณ์เช่นนี้ การทำให้ตัวแบบในภาพพอร์ตเทรตดูโดดเด่นนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเก็บรายละเอียดที่บอกให้ผู้ชมทราบว่าภาพนั้นถ่ายขึ้นที่ไหนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน รวมถึงสิ่งอื่นๆ ในแบ็คกราวด์ซึ่งช่วยเสริมเรื่องราวให้ดียิ่งขึ้น หากโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ชัดเจนเกินไป อาจทำให้รายละเอียดบริบทแวดล้อมดังกล่าวเบลอเกินไปจนมองไม่ออก แต่หากโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์อ่อนเกินไป แบ็คกราวด์ก็อาจดึงความสนใจของผู้ชมไปจากตัวแบบได้
ควรลองใช้รูรับแสงกว้างพอประมาณอย่างค่า f/4 เพื่อสร้างความกลมกลืนระหว่างแบ็คกราวด์กับตัวแบบ
จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณใช้รูรับแสงที่แคบเกินไป
ค่า f/8
f/8/ 1/125 วินาที/ ISO 800
แบ็คกราวด์ดูชัดเจนจนเกินไป ส่งผลให้ภาพที่ออกมาดูไม่ค่อยมีมิติ และตัวแบบขาดความโดดเด่น
ค่า f/4
f/4/ 1/100 วินาที/ ISO 800
ในแบ็คกราวด์มีเอฟเฟ็กต์โบเก้ปริมาณพอเหมาะ ทำให้รายละเอียดบริบทแวดล้อมยังคงอยู่ แม้ว่าภาพจะดึงดูดสายตาของเราไปที่นางแบบและยิ้มสวยๆ ของเธอ
ข้อควรรู้: ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์มีความสำคัญเช่นกัน!
ค่า f เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยสี่ประการที่ส่งผลต่อความเข้มของโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ องค์ประกอบของแบ็คกราวด์ที่อยู่ไกลจากตัวแบบจะมีโบเก้ชัดเจนกว่าเมื่อเทียบกับองค์ประกอบที่อยู่ใกล้ตัวแบบ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ทั้งหมดยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ค่า f/4 นั้นเป็นเพียงค่าพื้นฐานที่ควรเริ่มใช้ ดังนั้น คุณสามารถปรับการตั้งค่ารูรับแสงได้ตามความเหมาะสม
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อโบเก้ได้ใน:
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้
เทคนิคพิเศษ: รู้จักประเภทเลนส์ที่ควรใช้
ช่างภาพมืออาชีพมักจะใช้ทางยาวเทเลโฟโต้ระยะกลาง (ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรม: 80-100 มม.) เนื่องจากมีการบิดเบี้ยวน้อยที่สุดและคุณไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กับตัวแบบเกินไป ควรใช้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรม 80-90 มม. เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
หากคุณใช้กล้องแบบ APS-C คุณสมบัติการครอปแบบ APS-C 1.6 เท่า จะทำให้ทางยาวโฟกัสที่ระบุในชื่อเลนส์ของคุณต้องครอบคลุม 50-55 มม. ซึ่งคุณมีตัวเลือกมากมาย เช่น
i) เลนส์ซูมมาตรฐาน (เช่น EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM ซึ่งเป็นเลนส์คิทยอดนิยมสำหรับกล้อง DSLR)
ii) เลนส์เดี่ยว EF50mm “ความไวสูง” (เช่น EF50mm f/1.8 STM)
iii) เลนส์ซูมเทเลโฟโต้ (เช่น EF-S55-250mm f/4-5.6 IS STM)
ตัวเลือกทั้งหมดนี้อาจไม่เท่าเทียมกันเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเลนส์ที่มีรูรับแสงแบบปรับได้ สำหรับเลนส์ดังกล่าว รูรับแสงกว้างสุดที่คุณใช้ได้จะกว้างสุดที่ระยะสุดฝั่งมุมกว้างและแคบสุดที่ระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้เสมอ
ยกตัวอย่างเช่น
- สำหรับเลนส์ EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM ที่ระยะ 55 มม. ค่ารูรับแสงกว้างสุดจะอยู่ที่ f/5.6
- สำหรับเลนส์ EF-S55-250mm f/4-5.6 IS STM ที่ระยะ 55 มม. ค่ารูรับแสงกว้างสุดจะอยู่ที่ f/4
ดังที่เห็นในภาพด้านล่าง ค่า f/5.6 แคบกว่า f/4 เพียง f-stop เดียว แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจต่างกันพอสมควร
55 มม. (เทียบเท่าฟูลเฟรม 88 มม.) ที่ค่า f/5.6
FL: 55 มม. (เทียบเท่า 88 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/60 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ถ่ายที่ระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้ของเลนส์ EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM
55 มม. (เทียบเท่าฟูลเฟรม 88 มม.) ที่ค่า f/4
FL: 55 มม. (เทียบเท่า 88 มม.)/ Aperture-priority AE (f/4, 1/125 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ถ่ายที่ระยะสุดฝั่งมุมกว้างของเลนส์ EF-S55-250mm f/4-5.6 IS STM
ภาพต่อไปนี้เป็นภาพโคลสอัพของแบ็คกราวด์ สังเกตว่าโบเก้ในภาพตัวอย่างที่ถ่ายด้วยค่า f/4 นั้นชัดเจนกว่า แม้ว่าทั้งสองภาพจะถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสเท่ากัน
สิ่งที่เรียนรู้: สำหรับกล้องแบบ APS-C ควรเลือกใช้เลนส์ EF-S55-250mm f/4-5.6 IS STM หรือ EF50mm เพื่อให้มีตัวเลือกในการใช้รูรับแสงกว้างขึ้นที่ 55 มม.
---
หากคุณไม่แน่ใจว่าควรเปลี่ยนการตั้งค่ารูรับแสงอย่างไร คลิกที่นี่เพื่อดูคำแนะนำทีละขั้นตอน
---
หากต้องการเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่รวมสถานที่ถ่ายภาพไว้ด้วย โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
5 เทคนิคการถ่ายภาพพอร์ตเทรตสำหรับทั้งตอนกลางวันและกลางคืน
ถ่ายภาพพอร์ตเทรตยามค่ำคืนให้สวยงามโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องและแฟลช
ลองท้าทายตัวเอง! มาเรียนรู้วิธียกระดับภาพพอร์ตเทรตกลางแจ้งของคุณด้วยแฟลชเสริมได้ในบทความ:
2 เทคนิคทันใจที่ช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้ภาพพอร์ตเทรตกลางแจ้งของคุณ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย