ตอนที่คุณอายุ 14 คุณทำอะไรเมื่อมีเวลาว่าง สำหรับ Kayden Ee (@shutt_ergalaxy) ในวัย 14 เขาใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ในพื้นที่สมบุกสมบันของสิงคโปร์ ซึ่งเขาต้องผจญกับภูมิประเทศขรุขระ แมลง ดวงอาทิตย์ สายฝน รวมถึงความชื้นอันยากจะทัดทานเพื่อถ่ายภาพชีวิตของสัตว์ป่า เราจะมาพูดคุยกับเขาเพื่อเรียนรู้ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความสนใจนี้ เขารักษาสมดุลระหว่างงานอดิเรกกับการเรียนอย่างไร และแน่นอนว่ารวมถึงความคิดเห็นที่มีต่ออุปกรณ์ของเขาด้วย
สวัสดี Kayden! ภาพถ่ายของคุณสวยมาก บอกเราหน่อยได้ไหมว่าคุณเริ่มต้นถ่ายภาพได้อย่างไร
ขอบคุณครับ! ผมดีใจที่คุณชอบภาพถ่ายของผม
ผมเข้าชมรมหุ่นยนต์เมื่อตอนที่ยังเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา และสิ่งแรกๆ ที่ชมรมสอนเราคือวิธีการถ่ายภาพด้วยกล้อง DSLR ผมยังจำได้ว่าตอนนั้นเราใช้กล้อง EOS 1000D ผมประทับใจสัมผัสของกล้องเมื่อได้ถืออยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมด้วยวงแหวนหรือปุ่มต่างๆ เสียงของชัตเตอร์ การหมุน หรือเสียงคลิก นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบเกี่ยวกับการถ่ายภาพมาจนถึงตอนนี้ และเป็นสิ่งที่สมาร์ทโฟนไม่สามารถแทนที่ได้
คุณเริ่มต้นถ่ายภาพสัตว์ป่าในช่วงนั้นด้วยหรือไม่
ผมเริ่มถ่ายภาพสัตว์ป่าหลังจากมีกล้องเป็นของตัวเองราว 2 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นผมใช้กล้องของโรงเรียน ผมทำคะแนนได้ดีในการสอบ PSLE (การสอบเพื่อจบการศึกษาในระดับประถม ซึ่งเป็นการสอบระดับชาติครั้งใหญ่ที่นักเรียนสิงคโปร์ทุกคนต้องสอบในปีที่ 6 ของการศึกษาในระดับประถม) พ่อแม่ของผมจึงซื้อชุดกล้อง EOS 200D ให้เป็นรางวัล ผมคิดว่ามันคงมีประโยชน์มากกว่าตัวต่อเลโก้ชุด Death Star ที่ผมขอไป ซึ่งมีราคาพอๆ กัน!
หลังจากได้กล้องมา ผมก็ลองถ่ายภาพในหลายๆ แนว แต่การถ่ายภาพนกและสัตว์ป่าคือสิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุด เมื่อยังเด็ก พ่อแม่ของผมมักจะพาไปที่ฟาร์มและศูนย์อนุรักษ์สัตว์ และเรายังมีสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งด้วย ผมจึงได้รู้จักธรรมชาติตั้งแต่ยังเด็ก
อุปกรณ์และการถ่ายภาพสัตว์ป่า
สิ่งที่คุณชื่นชอบเกี่ยวกับการถ่ายภาพนกคืออะไร
ความเร็วและพลังของนกนักล่าทำให้ผมทึ่งได้เสมอ เช่น ในตอนที่มันพุ่งตัวลงไปเพื่อจับเหยื่อ และผมยังรู้สึกได้ถึงอะดรีนาลีนที่พลุ่งพล่านขณะที่พยายามจะถ่ายภาพในวินาทีนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาพนกโผบินหรือคาบอาหารอยู่ในปาก!
นกปรอดหน้านวล (Pycnonotus goiavier)
EOS R6/ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM + Extender RF1.4x ที่ระยะ 700 มม.
“นี่เป็นหนึ่งในภาพแรกๆ ของผมที่ถ่ายด้วยเลนส์ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM นกปรอดกระพือปีกและผมรู้สึกได้ว่ามันกำลังจะบิน จึงยกเลนส์ขึ้นและกดปุ่มชัตเตอร์ ผมประหลาดใจมากที่ได้เห็นภาพคมชัดอย่างเหลือเชื่อ! ภาพนี้แสดงให้เห็นความน่าเชื่อถือและความแม่นยำในการโฟกัสของระบบ EOS R ได้อย่างแท้จริง”
อินทรีทะเลท้องขาว (Haliaeetus Leucogaster) บินโฉบลงมา
EOS R6/ RF600mm f/4L IS USM ที่ระยะ 600 มม.
“ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ผมชอบในปัจจุบัน นกนักล่าดูสง่างามและทรงพลังมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่พวกมันบินโฉบลงมาล่าเหยื่อ”
การถ่ายภาพให้ออกมาดีต้องอาศัยอะไรบ้าง
คุณต้องใช้ความอดทนสูงในการเฝ้าสังเกตนกและสร้างความคุ้นเคยกับพฤติกรรมของพวกมัน
ในส่วนของอุปกรณ์ นอกจากทางยาวโฟกัสที่ให้ระยะที่คุณต้องการแล้ว ยังมีคุณสมบัติอื่นที่เป็นประโยชน์ด้วย ได้แก่:
1. ประสิทธิภาพของการถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย
สุดท้ายแล้ว เรามักจะต้องเข้าไปถ่ายภาพในป่าและสถานที่อื่นๆ ที่มีสภาพแสงย่ำแย่ นอกจากนี้ นกบางชนิด เช่น นกฮูก ยังชอบอาศัยอยู่ในป่าทึบอีกด้วย การที่สามารถใช้ความไวแสง ISO สูงได้โดยไม่เกิดเม็ดเกรนในภาพมากนักเป็นคุณสมบัติที่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับความสามารถในการโฟกัสในสภาวะแสงน้อยที่ดี
หลังเปลี่ยนจากกล้อง EOS 200D มาเป็น EOS R6 ประสิทธิภาพการถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยที่ดีขึ้นอย่างมากคือสิ่งแรกๆ ที่ผมสังเกตเห็น!
2. โฟกัสอัตโนมัติที่รวดเร็วและน่าเชื่อถือ
ในการดูนก สิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนคุณแทบไม่มีเวลาคิด การควบคุมโฟกัสจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก ผมรู้สึกทึ่งในความน่าเชื่อถือของโฟกัสอัตโนมัติในกล้อง EOS R6 และเลนส์ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM Animal Detection AF ที่สามารถจับโฟกัสบนดวงตาของนกได้อย่างแม่นยำนับเป็นอีกคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายภาพนกขนาดเล็กที่มีความว่องไว
3. ระบบป้องกันภาพสั่นไหว
ผมมักจะถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องเพราะผมชอบความยืดหยุ่นในการถ่ายภาพเช่นนี้ ระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวกล้องและในเลนส์ช่วยให้ภาพคมชัดและมีความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
นกเขียวปากงุ้ม (Calyptomena Viridis)
EOS R6/ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM + Extender RF1.4x ที่ระยะ 700 มม.
“นกเขียวปากงุ้มถูกประกาศให้เป็นสัตว์สูญพันธุ์ในสิงคโปร์หลังการพบเห็นที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นครั้งสุดท้ายในปี 1941 แต่เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา กลับมีการพบเห็นอีกครั้ง (ฉบับภาษาอังกฤษ) นกพันธุ์นี้มีทักษะการพรางตัวอันยอดเยี่ยม นอกจากสีเขียวที่ทำให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมแล้ว มันยังมักอยู่นิ่งอย่างเงียบเชียบจึงทำให้มองเห็นได้ยาก ภาพนี้ถ่ายด้วยมือที่ความเร็วชัตเตอร์ 1/20 วินาที แต่ก็ยังมีความคมชัดด้วยระบบป้องกันภาพสั่นไหว 6 สต็อปของกล้อง EOS R6 และเลนส์ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM รวมกัน
นกกระเต็นน้อยธรรมดา (Alcedo Atthis)
EOS R6/ RF600mm f/4L IS USM ที่ระยะ 600 มม.
นกกระเต็นใหญ่ธรรมดา (Pelargopsis Capensis)
ทั้งสองภาพ: EOS R6 + RF600mm f/4L IS USM + Extender RF1.4x ที่ระยะ 840 มม.
เหยี่ยวต่างสี (Nisaetus Cirrhatus): ขนดำ
EOS R6 + RF600mm f/4L IS USM + Extender RF1.4x ที่ระยะ 840 มม.
Kayden กำลังลองใช้กล้อง EOS R6 พร้อมด้วยเลนส์ RF600mm f/4L IS USM
“เลนส์ที่ผมใช้เป็นประจำคือ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM ผมชอบเลนส์รุ่นนี้เพราะมีความสามารถหลากหลายและถือได้สะดวก เมื่อเปรียบเทียบกัน เลนส์ RF600mm f/4L IS USM ซึ่งผมยืมมาลองใช้นั้นหนักกว่า ผมรู้สึกเหมือนกำลังอุ้มเด็กอยู่ตลอดทั้งวันเลย! แต่พอกลับมาถึงบ้านและได้ปรับแต่งภาพ ผมว่ามันคุ้มค่า เพราะภาพมีความคมชัดมากกว่า และระยะที่เพิ่มมาอีก 100 มม. ก็ทำให้ลดการครอปภาพในขั้นตอนการปรับแต่ง”
คุณพัฒนาการถ่ายภาพนกของคุณให้ดีขึ้นได้อย่างไร
ผมศึกษาหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเยอะมาก และผมยังได้เรียนรู้อีกมากทุกครั้งที่ถ่ายภาพกับ “น้าๆ” ในกลุ่มถ่ายภาพนกในท้องถิ่น ทุกคนเป็นกันเองมากและยินดีให้คำแนะนำแก่ผม (ฝากทักทายด้วยนะครับ!) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมของนก ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผมรู้จังหวะในการถ่ายภาพดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งคือวิธีการถ่ายภาพนกป้อนอาหาร เราทราบว่าสำหรับนกบางชนิด เมื่อกลับมาที่รังพร้อมกับอาหาร จะต้องบินลงไปเกาะกิ่งไม้ใกล้ๆ เสมอก่อนจะกลับไปป้อนอาหารให้ลูกนก ดังนั้น เมื่อเราเห็นมันบินลงมาเกาะที่กิ่งไม้ เราจะรู้ได้ว่าต้องเตรียมพร้อมเพื่อถ่ายภาพแล้ว
นกนางนวลแกลบเล็ก (Sternula Albifrons): โตเต็มวัย (ซ้าย) และลูกนก (ขวา)
EOS R6/ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM + Extender RF1.4x ที่ระยะ 700 มม.
การรักษาสมดุลระหว่างการถ่ายภาพกับการเรียนและการใช้ชีวิต
ดูเหมือนคุณใช้เวลาไปกับถ่ายภาพค่อนข้างมาก คุณถ่ายภาพบ่อยแค่ไหน และทำอย่างไรในการรักษาสมดุลกับการเรียนและกิจกรรมอื่นๆ
ผมพยายามออกไปถ่ายภาพทุกสุดสัปดาห์หากทำได้ บางครั้ง ผมจะตื่นตั้งแต่ตี 5 หรือเช้ากว่านั้นเพื่อถ่ายภาพนกบางชนิด ซึ่งเป็นเวลาที่เช้ากว่าตอนที่ผมตื่นไปโรงเรียนเสียอีก
แต่ไม่ว่าอย่างไร การเรียนก็เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญสูงสุดเสมอ ผมจะทำการบ้านให้เสร็จทุกครั้งก่อนออกไปถ่ายภาพ! เพราะมันทำให้ผมสบายใจกว่า และนี่ก็เป็นคำแนะนำจากผมอีกข้อสำหรับช่างภาพเด็กคนอื่นๆ ด้วย
พ่อแม่ของคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการที่คุณถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก
พวกเขาให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ตราบเท่าที่ผมไม่ละทิ้งการเรียน ความจริงแล้ว พวกเขาใช้การถ่ายภาพเป็นแรงผลักดันให้ผมตั้งใจเรียน เรามีระบบการให้รางวัลตามผลการเรียนของผม หากผมมีผลการเรียนดี ก็จะได้รางวัลเป็นอุปกรณ์ชิ้นใหม่ ผมว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
นอกจากนี้ พ่อของผม [ซึ่งไม่ได้เป็นช่างภาพ] ยังขับรถพาผมไปยังจุดถ่ายภาพต่างๆ ซึ่งหลายครั้งเป็นเส้นทางที่ยากลำบาก ต้องทนกับสภาพอากาศและรอเป็นเพื่อนผม และขับพาผมกลับบ้าน บางครั้งแม่ก็จะไปด้วย และมันก็กลายเป็นการท่องเที่ยวของครอบครัวไป
นกกินปลีคอแดง (Aethopyga Siparaja)
EOS R6/ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM + Extender RF1.4x ที่ระยะ 700 มม.
นกปลีกล้วยเล็ก (Arachnothera Longirostra)
EOS R6/ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM ที่ระยะ 500 มม.
การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์
คุณได้โพสต์ภาพสัตว์ป่าจำนวนมากบนโซเชียลมีเดียของคุณ พร้อมทั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์และคำอธิบายที่น่าตื่นเต้น คุณคาดหวังถึงผลลัพธ์ใดจากภาพเหล่านี้หรือไม่
ผมหวังว่าจะสร้างความตระหนักได้มากขึ้นเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ของเราในสิงคโปร์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ทราบในข้อนี้ และผมยังหวังว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ หันมาสนใจการถ่ายภาพด้วย
นกเงือกปากแดงถิ่นใต้ (Tockus Erythrorhynchus)
EOS R6/ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM + Extender RF1.4x ที่ระยะ 700 มม.
ความจริงแล้ว ผมกับคุณครูสอนวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกันก่อตั้งชมรมชีวิตสัตว์ป่าเล็กๆ ในโรงเรียน (ฉบับภาษาอังกฤษ) ตอนนี้เรามีสมาชิกราว 10 คนแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เดินสำรวจรอบๆ พื้นที่โรงเรียนและพบนกประจำถิ่นบางชนิดที่ทำให้เราประหลาดใจ เช่น นกกินปลีอกเหลืองและเหยี่ยวแดง ผมอยากมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ให้มากขึ้นในอนาคต
ชมรมชีวิตสัตว์ป่าฟังดูเป็นการเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยม ก้าวเล็กๆ ทีละก้าวจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแน่นอน! ขอบคุณที่สละเวลาในวันนี้ Kayden ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพต่อไป!
หากสนใจเริ่มต้นถ่ายภาพนก ลองอ่านคู่มือสำหรับมือใหม่ของเรา รวมถึงกล้องและเลนส์ที่แนะนำ
ดูเคล็ดลับและบทสัมภาษณ์จากช่างถ่ายภาพนกท่านอื่นๆ ได้ที่:
หลงใหลไปกับแหล่งธรรมชาติเมืองไทย
ค้นพบวิธีการที่ช่างภาพ เอ็ดวิน มาร์ทิเนส ถ่ายภาพนกพัฟฟินแอตแลนติกด้วย EOS R
ภาพพอร์ตเทรตนก: 4 เคล็ดลับง่ายๆ ในการหามุมที่ดีขึ้น
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!