f/8: การถ่ายทอดรายละเอียดของอาคารและโครงสร้างต่างๆ
หากคุณต้องการถ่ายภาพสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่ไกลออกไปเล็กน้อย เช่น โรงงานหรืออาคารต่างๆ เราขอแนะนำให้ใช้ค่า f/8 ภาพที่คุณถ่ายได้จะมีส่วนที่อยู่นอกโฟกัสน้อยที่สุดและมีรายละเอียดคมชัดตลอดทั้งเฟรม นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าค่า f/8 นั้นเหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติและภาพแนวสตรีทอีกด้วย (เรื่องโดย Teppei Kohno)
f/8, 13 วินาที, ISO 400
ค่า f/8 ช่วยคงรายละเอียดของสิ่งปลูกสร้างให้คมชัด ตราบเท่าที่คุณไม่อยู่ไกลจนเกินไป!
เมื่อถ่ายภาพท้องถนน อาคาร และโรงงานต่างๆ สิ่งที่คุณต้องการคือการถ่ายทอดพื้นผิวคอนกรีตและโลหะให้ดูคมชัด เมื่อใช้ค่ารูรับแสง f/8 ตราบเท่าที่ตัวแบบของคุณไม่อยู่ใกล้จนเกินไป (ยกตัวอย่างเช่น อยู่ห่างออกไปอย่างน้อยราว 8.25 ม.* เมื่อใช้เลนส์ EF50mm f/1.8 STM และกล้องเซนเซอร์ APS-C ซึ่งโดยประมาณแล้วเทียบเท่ากับอาคารที่อยู่อีกฟากหนึ่งของถนนสองเลน) ระยะชัดที่ f/8 จะเพียงพอต่อการรักษาความคมชัดของภาพได้จนถึงระยะอนันต์ และสามารถถ่ายทอดพื้นผิวของส่วนที่เป็นโลหะได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ทำให้ภาพที่ได้ดูเหมือนจริง
* คำนวณโดยใช้ครึ่งหนึ่งของระยะชัดสุดพิสัย ระยะชัดสุดพิสัย (Hyperfocal distance) คือระยะโฟกัสใกล้สุดที่ให้ระยะชัดสูงสุดและขึ้นอยู่กับการตั้งค่ารูรับแสง ขนาดของเซนเซอร์กล้อง และทางยาวโฟกัส ลองใช้เครื่องมือคำนวณระยะชัด (ฉบับภาษาอังกฤษ) นี้เพื่อดูผลที่ได้จากการใช้ทางยาวโฟกัสอีกแบบหนึ่ง โดยทั่วไปแล้ว ระยะชัดสุดพิสัยจะเพิ่มขึ้นตามทางยาวโฟกัส
รูรับแสงที่แคบเกินไปอาจให้ผลตรงกันข้าม
หากตัวแบบอยู่ในระยะไกลมาก การลดขนาดรูรับแสงลงมากกว่า f/8 จะไม่ทำให้ความคมชัดของภาพแตกต่างไปจากเดิมมากนัก ความจริงแล้ว การใช้รูรับแสงที่แคบเกินไปอาจทำให้ภาพสูญเสียความคมชัดเนื่องจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การเลี้ยวเบน” ซึ่งคลื่นแสงที่เดินทางเข้าสู่เลนส์จะถูกม่านรูรับแสงกั้นไว้จนเกิดการโค้งงอ ทำให้ภาพมีความคมชัดน้อยลง
หากคุณรู้สึกว่าระยะชัดที่ f/8 นั้นไม่กว้างพอ คุณสามารถปรับรูรับแสงให้แคบลงได้เล็กน้อย แต่ให้ค่อยๆ ปรับอย่างระมัดระวัง ช่างภาพส่วนใหญ่จะไม่ปรับค่ารูรับแสงให้แคบกว่า f/11 เว้นแต่จะมีเหตุผลจำเป็น เช่น ต้องการสร้างเอฟเฟ็กต์แฉกแสงและคุณภาพของภาพเป็นสิ่งสำคัญรองลงมา
ภาพทั้งสามด้านล่างซึ่งถ่ายด้วยค่า f/2, f/8, และ f/22 ตามลำดับแสดงให้เห็นว่ารูรับแสงส่งผลต่อความคมชัดอย่างไร
f/2
f/2, 1/4 วินาที, ISO 800
ที่ f/2 เส้นต่างๆ จะดูเบลอ (“นุ่มนวล”) เนื่องจากระยะชัดตื้น การเปลี่ยนเป็นสีม่วง (สีเพี้ยน) ในภาพเป็นสัญญาณของความคลาดสีตามแกน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยกว่าในภาพที่ถ่ายโดยใช้รูรับแสงกว้าง
f/8
f/8, 4 วินาที, ISO 800
ที่ f/8 เส้นดูมีความชัดเจนและคมชัดมากกว่า
f/22
f/22, 30 วินาที, ISO 800
ที่ f/22 แสงเกิดเป็นแฉกแสงที่สวยงาม อย่างไรก็ตาม เส้นต่างๆ ดูมีความนุ่มนวลเนื่องจากการเลี้ยวเบนของแสงจากรูรับแสงที่แคบ
นี่คือภาพ GIF ของภาพโคลสอัพเปรียบเทียบกัน คุณเห็นความแตกต่างหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเส้นเค้าโครง
เคล็ดลับ: หากส่วนประกอบต่างๆ ในฉากอยู่ไกลออกไปเล็กน้อย คุณอาจต้องใช้เทคนิคโฟกัสชัดลึก ลองเริ่มต้นด้วยค่า f/11
เทคนิคพิเศษ: เพิ่มบรรยากาศความเป็นโลหะด้วย ‘สมดุลแสงขาว-หลอดไฟทังสเตน’
เมื่อแสงสว่างรอบตัวแบบมีสีเพี้ยนแปลกตา เช่น ในตัวอย่างภาพด้านบนสุด คุณสามารถลองใช้การตั้งค่าสมดุลแสงขาว (WB) ได้ สุดท้ายแล้วคุณอาจได้ภาพถ่ายที่มีเอฟเฟ็กต์ภาพแตกต่างไปจากฉากจริง สำหรับภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนเช่นนี้ เราขอแนะนำการตั้งค่าแบบ “หลอดไฟทังสเตน” ซึ่งจะเพิ่มเฉดสีฟ้าและเปลี่ยนภาพทิวทัศน์กลางคืนของโรงงานที่ดูไม่มีชีวิตชีวาให้เป็นภาพที่สื่อถึงความรู้สึกเหนือจริงและเยือกเย็น
f/8, 13 วินาที, ISO 250
WB-อัตโนมัติ: ภาพนี้ให้ความรู้สึกที่เหนือจริงแต่ยังขาดความโดดเด่น
f/8, 13 วินาที, ISO 250
WB-หลอดไฟทังสเตน: ให้ความรู้สึกถึงโลกแห่งอนาคต โทนสีมีส่วนช่วยในการสร้างบรรยากาศของภาพ
--
หากคุณไม่แน่ใจว่าควรเปลี่ยนการตั้งค่ารูรับแสงอย่างไร คลิกที่นี่เพื่อดูคำแนะนำทีละขั้นตอน
---
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสมดุลแสงขาวและวิธีการปรับแต่งได้ที่บทความ:
หลักพื้นฐานเกี่ยวกับสมดุลแสงขาวช่วยสร้างโทนสีได้ดังใจนึก
วิธีการแสดงสีด้วยฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว
สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพอาคารและสถาปัตยกรรม โปรดดูที่:
เคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพ: เพิ่มชีวิตชีวาให้กับภาพถ่ายอาคารและโรงงาน
เคล็ดลับระดับมือโปรเพื่อปรับปรุงการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมจากระดับพื้นถนน
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย