พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #19: ระยะชัดของภาพ
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดสำคัญนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดองค์ประกอบภาพและการเล่าเรื่องทั้งในการถ่ายภาพและภาพยนตร์
ระยะชัด: หมายถึงปริมาณของฉากที่อยู่ในโฟกัสและดูคมชัดมากพอ
ระยะชัดของภาพ (DOF) เป็นระยะห่างระหว่างจุดที่ใกล้ที่สุดกับจุดที่ไกลที่สุดจากกล้องที่อยู่ในโฟกัสและดูคมชัดมากพอ (“พื้นที่ในโฟกัส”)
คุณอาจลองนึกภาพว่าเลนส์ของคุณกำลังฉายภาพภาชนะแก้วขนาดใหญ่ในแนวขนานไปกับตัวเลนส์ ภาชนะแก้วนี้จะเปลี่ยนตำแหน่งไปตามจุดโฟกัสที่คุณกำหนดไว้ แต่จะอยู่ในแนวขนานกับตัวเลนส์เสมอ วัตถุภายในภาชนะแก้วนี้จะดูคมชัดและอยู่ในโฟกัส ในขณะที่ความเบลอของวัตถุนอกภาชนะจะเพิ่มขึ้นตามระยะห่างจากภาชนะ
ขนาด (ความลึก) ของระยะชัดสามารถควบคุมได้ด้วยปัจจัยต่อไปนี้
1. รูรับแสง
2. ทางยาวโฟกัส
3. ขนาดของเซนเซอร์ภาพ
4. ระยะห่างของกล้องจากตัวแบบ
หากปัจจัยข้อที่ 2-4 เปลี่ยนแปลงไป เฟรมภาพและเปอร์สเปคทีฟก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อองค์ประกอบภาพ เลื่อนดูรายละเอียดและตัวอย่างเพิ่มเติมได้เลย
โฟกัสตื้น
หากภาชนะแก้วมีความบาง เราจะเรียกว่าระยะชัดนั้น “ตื้น” หรือ “แคบ” จะมีเพียงส่วนเล็กๆ ของฉากเท่านั้นที่อยู่ในโฟกัส ในขณะที่ส่วนอื่นที่อยู่ด้านหน้าหรือด้านหลังจะเบลอ (กลายเป็นโบเก้) ภาพลักษณะนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาพโฟกัสตื้น
โฟกัสลึก
หากภาชนะแก้วหนามากจนกระทั่งพื้นที่ในฉากส่วนใหญ่อยู่ในโฟกัสที่คมชัดตั้งแต่ด้านหน้าจนถึงด้านหลัง เราจะเรียกว่าระยะชัดนั้น “ใหญ่” หรือ “ลึก” ภาพลักษณะนี้เรียกว่า ภาพโฟกัสชัดลึก
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #1: รูรับแสง
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้
2. กฎ 5 ข้อในการควบคุมระยะชัดของภาพ
กฎ 5 ข้อในการควบคุมระยะชัดของภาพ
1. ยิ่งรูรับแสงกว้างเท่าใด (ค่า f ต่ำๆ) ระยะชัดจะยิ่งตื้นขึ้นเท่านั้น
f/1.8
f/8
ที่ f/1.8 มีเพียงแท่งไม้สีเขียวและแดงบางส่วนเท่านั้นที่อยู่ในโฟกัส ส่วนอื่นๆ ถูกเบลอออกไปทั้งหมด เมื่อเราเพิ่มระยะชัดของภาพโดยการใช้ค่า f ที่สูงขึ้น ฉากจะอยู่ในโฟกัสได้มากขึ้น
ข้อควรพิจารณา: ระยะชัดของภาพขณะถ่ายตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่
เมื่อต้องถ่ายตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ ให้ลองใช้ระยะชัดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ตัวแบบมีโอกาสอยู่ในพื้นที่โฟกัสได้มากขึ้นในขณะเคลื่อนที่ไปรอบๆ วิธีที่ง่ายที่สุดที่ทำได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนองค์ประกอบภาพคือ การใช้รูรับแสงที่แคบลง (ใช้ค่า f สูงๆ)
หากคุณต้องการใช้ระยะชัดตื้น ระบบติดตาม AF ด้วยการเรียนรู้เชิงลึกที่น่าเชื่อถือของ Canon จะช่วยให้ตัวแบบอยู่ในโฟกัสได้ และนี่คือ 5 เคล็ดลับเพื่อการตรวจจับและติดตามตัวแบบที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้คุณมีภาพที่ใช้ได้มากขึ้น!
2. ยิ่งเลนส์ของคุณอยู่ใกล้ตัวแบบมากเท่าใด ระยะชัดของภาพจะตื้นขึ้นเท่านั้น
ใกล้ตัวแบบมากกว่า: 105 มม. ที่ f/4
ไกลจากตัวแบบมากกว่า: 105 มม. ที่ f/4
เลนส์อยู่ใกล้กับรั้วมากกว่าในภาพแรก และยังทำให้แบ็คกราวด์ดูใกล้ขึ้นด้วย (และดูใหญ่ขึ้น) ซึ่งทำให้เห็นภาพเบลอที่อยู่นอกโฟกัสได้ชัดเจนขึ้น
เคล็ดลับ: คุณจะสังเกตเห็นด้วยว่า เมื่อเราถอยห่างออกมาจากตัวแบบ เฟรมภาพและเปอร์สเปคทีฟจะเปลี่ยนแปลงไปแม้ใช้ทางยาวโฟกัสเท่าเดิม
3. ยิ่งทางยาวโฟกัสยาวขึ้นเท่าใด ระยะชัดจะตื้นขึ้นเท่านั้น
ทางยาวโฟกัสสั้น: 35 มม. ที่ f/4
ทางยาวโฟกัสยาว: 105 มม. ที่ f/4
ทั้งสองภาพนี้ถ่ายจากตำแหน่งถ่ายภาพเดียวกันโดยการซูมจาก 35 มม. เข้าไปที่ 105 มม. กำลังขยายจากทางยาวโฟกัสยาวทำให้ระยะชัดของภาพดูตื้นกว่า ในทางกลับกัน เลนส์มุมกว้างมักจะให้ระยะชัดที่ลึกกว่าโดยธรรมชาติแม้ใช้รูรับแสงกว้างกว่า
นี่คือสาเหตุที่ทำให้กล้องฟูลเฟรมสร้าง “โบเก้ได้ชัดเจนกว่า” และกล้อง APS-C รวมถึงกล้องคอมแพคจะให้ระยะชัดมากกว่า ขนาดของเซนเซอร์จะส่งผลต่อทางยาวโฟกัสที่คุณใช้เพื่อให้ได้มุมรับภาพที่ต้องการ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความกล้องฟูลเฟรมและกล้อง APS-C: ควรเลือกรุ่นไหนดี)
4. ระยะชัดของภาพจะตื้นกว่าปกติขณะถ่ายภาพระยะใกล้และภาพแบบเทเลโฟโต้
หากถ่ายภาพในระยะใกล้หรือใช้เลนส์เทเลโฟโต้ คุณจะต้องใช้รูรับแสงที่แคบกว่าปกติเพื่อให้ได้ระยะชัดที่ลึกขึ้น หากคุณถ่ายภาพนิ่งของตัวแบบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว อาจลองใช้ฟังก์ชั่น Focus Bracketing และ Depth Compositing เพื่อให้ได้ระยะชัดที่ต้องการ
ภาพโคลสอัพที่ f/1.8
ถ่ายด้วย EOS R6 Mark II + RF35mm f/1.8 Macro IS STM
ในภาพโคลสอัพนี้ มีส่วนที่อยู่ในโฟกัสให้เห็นเป็นเส้นบางๆ เท่านั้น นี่คือสาเหตุว่าทำไมการโฟกัสจึงเป็นเรื่องยากในการถ่ายภาพโคลสอัพและการถ่ายภาพแบบมาโคร!
ภาพเทเลโฟโต้ที่ f/11
ถ่ายด้วย EOS R + RF600mm f/11 IS STM
เรามักจะต้องใช้รูรับแสงที่กว้างมากหากต้องการให้แบ็คกราวด์เบลอ แต่ที่ระยะ 600 มม. โฟกัสจะตื้นแม้ที่ f/11
5. มุมกล้องคือปัจจัยสำคัญ
ยังจำ “ภาชนะแก้ว” ที่เปรียบเหมือนโฟกัสของเราได้หรือไม่ หากคุณไม่ได้ใช้ฟังก์ชั่นทิลต์ของเลนส์ทิลต์-ชิฟต์ ภาชนะแก้วนี้จะขนานกับระนาบของเซนเซอร์ภาพ (และส่วนปลายของเลนส์ด้วย) เสมอ หากเอียงกล้องหรือถ่ายตัวแบบจากอีกมุมหนึ่ง คุณจะสามารถเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ภายใน “ภาชนะแก้ว” ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนระยะชัด
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับรั้วจากภาพตัวอย่างก่อนหน้าเมื่อเราถ่ายภาพโดยใช้มุมกล้องที่แตกต่างออกไป
f/1.8 - ด้านหน้า
รั้วสีขาวอยู่ในโฟกัสทั้งหมดแม้ที่ f/1.8
f/1.8 - แนวทแยง
มีเสาเหล็กเพียงต้นเดียวเท่านั้นที่อยู่ในโฟกัส หากต้องการให้เสาอื่นๆ อยู่ในโฟกัสมากขึ้นขณะถ่ายภาพจากมุมนี้ เราจะต้องใช้ระยะชัดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
3. การตั้งค่ากล้องที่เป็นประโยชน์: ฟังก์ชั่นเช็คระยะชัด
การตั้งค่ากล้องที่เป็นประโยชน์: ฟังก์ชั่นเช็คระยะชัด
โดยการตั้งค่าเริ่มต้น กล้องของคุณจะเช็คค่าการเปิดรับแสง (ความสว่างของภาพ) ให้อยู่แล้ว แต่จะไม่ได้เช็คระยะชัดของภาพ ฟังก์ชั่นนี้เกี่ยวข้องกับระบบวัดแสงด้วยรูรับแสงกว้างสุด นั่นคือไม่ว่าคุณจะตั้งค่าการเปิดรับแสงอย่างไร ม่านรูรับแสงจะเปิดออกสุดเสมอจนกว่าจะถึงวินาทีก่อนคุณถ่ายภาพ เพื่อให้ม่านรูรับแสงสามารถรับข้อมูลแสงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภาพที่คุณเห็นบนหน้าจอ LCD ด้านหลังหรือช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์เป็นการจำลองจากระบบประมวลผลภาพ
คุณสามารถเช็คระยะชัดของภาพได้ 2 วิธี
วิธีที่ 1: เช็คระยะชัดทุกครั้ง
กล้องจะปิดม่านรูรับแสงตามการตั้งค่ารูรับแสงของคุณแม้ในขณะทำการวัดแสง วิธีนี้อาจส่งผลต่อการโฟกัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีแสงน้อย เนื่องจากแสงจะผ่านเข้าสู่กล้องได้น้อยกว่า
ขั้นตอนที่ 1
เลือก “แสดงการจำลอง” ในเมนูสีแดง
ขั้นตอนที่ 2
เลือก “Exposure+DOF” จากนั้นกดปุ่ม SET กล้องของคุณจะแสดงทั้งตัวอย่างของความสว่างจริงและระยะชัดตามการตั้งค่าการเปิดรับแสงของคุณ
วิธีที่ 2: กดปุ่มเพื่อเช็คระยะชัด
กล้องจะปิดม่านรูรับแสงชั่วคราวเมื่อกดปุ่มที่ตั้งค่าไว้
ขั้นตอนที่ 1
ไปที่เมนูสีส้มและหาเมนู “ปรับแต่งปุ่ม”
ขั้นตอนที่ 2
จากรายการ ให้คุณเลือกปุ่มที่ต้องการใช้เป็นทางลัดในการ “เช็คระยะชัดของภาพ” และทำการกำหนดค่า
กล้องบางรุ่น เช่น EOS R6 Mark II จะมีปุ่มเช็คระยะชัดของภาพมาให้อยู่แล้ว แต่คุณก็สามารถกำหนดฟังก์ชั่นนี้ให้กับปุ่มอื่นได้ด้วยเช่นกัน สำหรับกล้องรุ่นอื่นๆ คุณต้องเลือกว่าจะใช้ปุ่มใด
4. ระยะชัดส่งผลต่อการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาพอย่างไร
ระยะชัดส่งผลต่อการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาพอย่างไร
ดวงตาของเรามักจะมองเห็นตัวแบบที่ดูคมชัดและอยู่ในโฟกัสก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้น การควบคุมระยะชัดของภาพจึงเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้เราถ่ายภาพได้สวยขึ้นและยังช่วยให้บอกเล่าเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในการถ่ายภาพและภาพยนตร์
1. ระยะชัดเป็นตัวกำหนดว่าตัวแบบของเราจะคมชัดเพียงใด
f/1.8
f/16
ในสองภาพนี้ เราวางตำแหน่งให้จุดโฟกัสอยู่ที่ส่วนปลายของผลสตรอว์เบอร์รี ที่ f/1.8 ส่วนอื่นๆ ทั้งหมดอยู่นอกโฟกัสและถูกเบลอออกไป แต่ที่ f/16 ส่วนอื่นๆ ดูคมชัดมากกว่า (เราให้จุดโฟกัสอยู่ที่เดิมเพื่อให้เปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น ในทางปฏิบัติ หากเปลี่ยนให้จุดโฟกัสมาอยู่ที่เนื้อครีม จะช่วยให้ภาพอยู่ในโฟกัสมากขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงกว้างขึ้นเล็กน้อย)
2. ระยะชัดจะกำหนดว่าสิ่งใดคือตัวแบบ
ระยะชัดที่ตื้นขึ้น
50 มม. f/2.5
มีเพียงทาร์ตเท่านั้นที่อยู่ในโฟกัส ส่วนอื่นๆ ถูกเบลอออกไปทั้งหมด ทำให้เราทราบว่าทาร์ตคือตัวแบบของภาพ
ระยะชัดที่ลึกขึ้น
50 มม. f/16
ระยะชัดที่ลึกขึ้นทำให้ทั้งทาร์ตและเครื่องดื่มอยู่ในโฟกัส ทั้งสองจึงเป็นตัวแบบของภาพนี้
ข้อควรรู้: เมื่อมีวัตถุอยู่ในโฟกัสมากขึ้น อาจทำให้มีสิ่งรบกวนสายตามากขึ้นด้วย คุณจะต้องจัดวางองค์ประกอบภาพอย่างระมัดระวังมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพ (2): ตัวแบบหลัก ตัวแบบรอง และรูปสามเหลี่ยม
3. ระยะชัดสามารถกำหนดได้ว่ารายละเอียดของบริบทแวดล้อมจะถูกแสดงออกมาในปริมาณเท่าใด
ระยะชัดตื้น
f/4
ระยะชัดลึก
f/16
ระยะชัดตื้นจะเบลอภาพ (“ทำให้เรียบง่าย”) ใบไม้ในแบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์ออกไป ความสนใจของเราจึงอยู่ที่ดอกไม้เป็นหลัก ระยะชัดที่มีขนาดใหญ่กว่าจะทำให้เราสังเกตเห็นใบไม้ที่อยู่รอบๆ ดอกไม้ด้วย
การถ่ายทำภาพยนตร์: ใช้การเปลี่ยนจุดโฟกัสเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอารมณ์
ในการถ่ายวิดีโอและภาพยนตร์ การเปลี่ยนแปลงระยะชัดและจุดโฟกัสจะถูกบันทึกไว้ คุณสามารถใช้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เพื่อสร้างวิธีการเปิดเผยเรื่องราวได้อย่างสร้างสรรค์ และยังเป็นวิธีการที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวให้ภาพของคุณโดยไม่ต้องขยับกล้องอีกด้วย!
ยกตัวอย่างเช่น ให้เพิ่มระยะชัดของภาพที่มีระยะชัดตื้นอย่างช้าๆ เพื่อเผยให้เห็นวัตถุในแบ็คกราวด์ หรือใช้วิธีตรงกันข้าม
วิธีนี้อาจทำให้เกิด “การดึงโฟกัส” หรือ “การย้ายโฟกัส” ซึ่งก็คือการเปลี่ยนจุดโฟกัสจากวัตถุหนึ่งในเฟรมไปยังอีกวัตถุหนึ่ง คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการย้ายโฟกัสได้ชัดเจนกว่าหากระยะชัดของภาพนั้นตื้น
ฝึกฝนสายตาของคุณ: ลองสังเกตระยะชัดในการถ่ายทำภาพยนตร์และการถ่ายภาพ
ครั้งต่อไปที่คุณเห็นภาพที่ชอบ หรือชมภาพยนตร์หรือละครเรื่องใดก็ตาม ให้ลองสังเกตดูว่าช่างภาพหรือนักถ่ายทำภาพยนตร์มีวิธีการใช้ระยะชัดอย่างไร ระยะชัดนั้นตื้นหรือลึก ทำให้มองเห็นสิ่งใดหรือซ่อนสิ่งใดเอาไว้ ระยะชัดนั้นช่วยในการบอกเล่าเรื่องราวอย่างไร ระยะชัดที่ใช้มักเกิดจากการเลือกอย่างจงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายทำภาพยนตร์
ภาพยนตร์ฮอลลีวูดระดับคลาสสิกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักจากการใช้ภาพโฟกัสชัดลึกในการสร้างเรื่องราวคือ Citizen Kane (นักถ่ายทำภาพยนตร์: Gregg Tolland, ผู้กำกับ: Orson Welles) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากอันเป็นที่จดจำนี้ (ฉบับภาษาอังกฤษ)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะชัดของภาพและเทคนิคที่เกี่ยวข้องได้ที่
จุดโฟกัส: การตั้งค่ารูรับแสงสำหรับฉากต่างๆ
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ f/2.8 และ f/4
การถ่ายภาพพอร์ตเทรต: การตั้งค่ารูรับแสง 3 รูปแบบที่ช่างภาพมืออาชีพชื่นชอบ
4 แนวคิดเกี่ยวกับเลนส์ที่จะพลิกโฉมภาพถ่ายของคุณ
วิธีการถ่ายภาพพอร์ตเทรตให้มีสีสันสวยงามชวนฝันพร้อมโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์