บทวิจารณ์เลนส์: RF70-200mm f/2.8L IS USM ในการถ่ายภาพทิวทัศน์
RF70-200mm f/2.8L IS USM เป็นเลนส์ซูมเทเลโฟโต้รุ่นแรกที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับเมาท์ RF และยังเป็นหนึ่งใน 3 เลนส์ซูมทรงพลังตระกูล RF ที่มีรูรับแสงคงที่ที่ f/2.8 ซึ่งใครๆ ต่างรอคอย Takashi Karaki ช่างภาพทิวทัศน์ได้นำเลนส์นี้ไปใช้ในการถ่ายภาพฤดูใบไม้ร่วงในช่วงที่สวยที่สุดในภูมิภาคซันอิงทางตะวันตกของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น และมาบอกเล่าความประทับใจในรีวิวต่อไปนี้ (เรื่องโดย Takashi Karaki, Digital Camera Magazine)
เลนส์ซูมเทเลโฟโต้ขนาดเล็กและน้ำหนักเบาที่มีการออกแบบให้ยืดออกได้
เมื่อผมถือเลนส์ RF70-200mm f/2.8L IS USM เอาไว้ในมือ สิ่งแรกๆ ที่ทำให้ผมประหลาดใจคือขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาของเลนส์รุ่นนี้ 3 เลนส์ซูมทรงพลังมักจะทำให้ผมคิดถึงเลนส์ที่มีขนาดใหญ่และหนัก แต่เลนส์รุ่นนี้ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ขนาดที่เล็กและเบากว่าถือเป็นข้อดีอย่างยิ่งสำหรับผม เนื่องจากผมมักจะถ่ายภาพบนภูเขาและในป่าซึ่งการเดินทางพร้อมสัมภาระที่มีน้ำหนักเบาและขนาดกะทัดรัดสามารถช่วยให้เคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น
ช่วงทางยาวโฟกัสและรูรับแสงคงที่
ช่วงทางยาวโฟกัส 70-200 มม. นับว่าสมบูรณ์แบบสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ซึ่งจับภาพขององค์ประกอบที่อยู่ใกล้และไกลได้อย่างแม่นยำ ความสามารถในการสร้างโบเก้ด้วยรูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.8 ได้ตลอดทั้งช่วงทางยาวโฟกัสทำให้เลนส์รุ่นนี้มีประโยชน์อย่างมาก นี่จึงเป็นสาเหตุว่าเพราะเหตุใดเลนส์ f/2.8 70-200 มม. ในกลุ่มเมาท์ EF จึงเป็นเลนส์ที่ขายดีมาเป็นระยะเวลานานและมีการอัพเดตมาแล้วหลายครั้ง และเลนส์ในเวอร์ชัน RF นี้ก็มีความสามารถในการทำงานไม่แตกต่างกัน
ศึกษาวิธีใช้เลนส์เทเลโฟโต้สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ได้ใน:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (3): ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
เคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพที่ทำให้หมอกสวยงามเตะตา
EOS R/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 200 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/600 วินาที)/ ISO 200/ WB: เมฆครึ้ม
รถไฟชมวิวสาย JR Kisuki รายล้อมด้วยใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วงสีทองที่กำลังส่องประกายในแสงแดดขณะวิ่งข้ามจังหวัดชิมาเนะและฮิโรชิมะ โบเก้อันสวยงามนุ่มนวลของใบไม้เปลี่ยนสีที่อยู่ด้านหน้าช่วยทำให้รถไฟที่อยู่กึ่งกลางเฟรมดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
เรียนรู้วิธีการใช้กล้อง EOS R ของคุณสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์รถไฟได้ใน:
ถ่ายภาพสวยดั่งใจ: รถไฟท่ามกลางทิวทัศน์ฤดูใบไม้ร่วงตระการตา
ระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 70 ซม.
ระบบควบคุมโฟกัสอิเล็กทรอนิกส์แบบชิ้นเลนส์ลอยตัวในเลนส์ RF70-200mm f/2.8L IS USM ทำให้สามารถลดระบบโฟกัสใกล้สุดให้เหลือ 70 ซม. ได้จากเดิม 120 ซม. ในเลนส์ EF70- 200mm f/2.8L IS III USM เมื่อรวมคุณสมบัตินี้เข้ากับกำลังขยายสูงสุด 0.23 เท่า เลนส์รุ่นนี้จึงสามารถถ่ายภาพคล้ายภาพมาโครได้ ดังภาพด้านล่างซึ่งสามารถแสดงรายละเอียดของหยดน้ำค้างยามเช้าทุกหยดได้อย่างชัดเจน
EOS R/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 200 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/1,000 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ภาพมาโครเทเลโฟโต้ถ่ายที่ 200 มม. จากระยะโฟกัสใกล้สุด 70 ซม. ซึ่งทำให้ได้กำลังขยายสูงสุด 0.23 เท่า รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของใยแมงมุมและน้ำค้างทุกหยดถูกแสดงออกมาได้อย่างชัดเจน ส่วนสีรุ้งบนใยแมงมุมนั้นเป็นปรากฏการณ์จากแสงอาทิตย์ที่สะท้อนบนหยดน้ำค้าง
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวและประสิทธิภาพในการถ่ายฉากย้อนแสง
ผมถ่ายภาพหลายภาพในสภาวะแสงน้อย เช่น ภาพที่ราบสูงในตอนรุ่งสาง ทุ่งหญ้าซึซึกิญี่ปุ่น และรถไฟที่กำลังแล่นผ่านป่าในฤดูใบไม้ร่วง ผมแทบมองไม่เห็นการสั่นของกล้องเลย เมื่อถ่ายภาพย้อนแสง การเคลือบแบบ Subwavelength Structure Coating (SWC) (ฉบับภาษาอังกฤษ) ทำให้ผมมั่นใจว่าแสงหลอกและแสงแฟลร์ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
EOS R/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 200 มม./ Manual exposure (f/6.3, 1/800 วินาที)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ดอกหญ้าซึซึกิที่โปร่งแสงแต้มด้วยสีสันของพระอาทิตย์ตกดิน แม้จะมีแสงสว่างจ้าจากพระอาทิตย์ในยามเย็น แต่กลับไม่มีแสงหลอกหรือแสงแฟลร์ให้เห็นเลย การที่สามารถบันทึกภาพพระอาทิตย์ตกในทุกขณะได้โดยไม่ต้องกังวลถึงปัญหาเหล่านี้นับเป็นสิ่งสำคัญมาก
ปุ่มควบคุมต่างๆ ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี
ผมยังรู้สึกดีใจมากๆ ที่นักออกแบบเลนส์ได้คำนึงถึงวิธีการใช้งานจริงของเลนส์ซูมเทเลโฟโต้เมื่อพวกเขาออกแบบปุ่มควบคุมต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งได้แก่ ตำแหน่งของวงแหวนควบคุมแบบกำหนดเองได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติหลักของเลนส์ RF ที่ช่วยให้คุณเปลี่ยนค่าการเปิดรับแสงได้โดยไม่ต้องละสายตาจากช่องมองภาพ สำหรับเลนส์ RF รุ่นอื่นๆ วงแหวนนี้จะอยู่ที่ด้านหน้าของเลนส์ แต่สำหรับ RF70-200mm f/2.8L IS USM เมื่อคำนึงถึงการที่ผู้ใช้จะต้องซูมเข้าและออกอยู่บ่อยครั้ง วงแหวนควบคุมจึงถูกวางไว้ในจุดที่ใกล้กับเมาท์มากขึ้นเพื่อลดโอกาสในการหมุนวงแหวนผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ
คุณภาพของภาพ
ภาพที่ได้มีความคมชัดอย่างแท้จริง ในภาพด้านล่าง คุณจะเห็นว่าเค้าโครงของต้นไม้ ใบไม้ และนกที่กำลังโผบินถูกแสดงออกมาเป็นเส้นที่คมชัดและมีรายละเอียดที่ชัดเจน คุณภาพอันน่าประทับใจเช่นนี้ทำให้เป็นเรื่องน่าสนุกยิ่งขึ้นในการถ่ายภาพที่มีระยะชัดไม่เหมือนใครซึ่งคุณจะได้จากเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ความไวแสงสูง เหมือนกับว่าภาพถ่ายของผมพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดได้เพียงแค่ใช้เลนส์นี้เท่านั้น
EOS R/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 200 มม./ Manual exposure (f/3.5, 1/1,250 วินาที)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
ต้นไม้ยืนต้นภายใต้ท้องฟ้าสีส้มเจิดจ้ายามรุ่งอรุณบนที่ราบสูง แม้ผมจะถ่ายภาพนี้โดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง ก็ยังสามารถแสดงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของนกซึ่งกำลังบินอยู่โดยรอบได้อย่างคมชัด
3 คุณสมบัติเด่นของเลนส์ RF70-200mm f/2.8L IS USM
#1: ขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาเกินคาด
เลนส์รุ่นนี้เป็นเลนส์ซูมรูรับแสงใหญ่ที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาอย่างน่าแปลกใจ ภาพประกอบด้านล่างแสดงความยาวทั้งหมดเมื่อยืดและหดจนสุด
ความยาวทั้งหมดที่ 70 มม. และ 200 มม.
เมื่อหดจนสุดที่ 70 มม. ความยาวทั้งหมดจะอยู่ที่ 146 มม.
ที่ 200 มม. จะมีความยาวสูงสุดที่ 204.5 มม. ซึ่งไม่แตกต่างจากเลนส์ EF70-200mm f/2.8L IS Ⅲ USM มากนัก (199 มม.)
ที่สำคัญ เลนส์ RF70-200mm f/2.8L IS USM ยังมีน้ำหนักเบากว่า EF70-200mm f/2.8L IS Ⅲ USM อยู่ราว 400 กรัมด้วย
#2: เลย์เอาต์วงแหวนที่ใช้งานง่าย
เลนส์รุ่นนี้มีวงแหวนสำหรับโฟกัส ควบคุม และซูมแยกออกจากกัน โดยวงแหวนควบคุมจะอยู่ใกล้กับเมาท์เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่าย
#3: โหมดป้องกันภาพสั่นไหวสามโหมด รวมทั้งโหมดสำหรับภาพกีฬา
เลนส์นี้มีระบบ Dual Sensing IS (ระบบป้องกันภาพสั่นไหว) ซึ่งใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์ไจโรในเลนส์และเซนเซอร์ภาพในตัวกล้องเพื่อให้ป้องกันภาพสั่นไหวสูงสุดถึงห้าสต็อป ผลที่ได้คือ เพิ่มความเชื่อถือได้ในการถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือซึ่งนับเป็นเรื่องดีมาก นอกจากนี้ ยังมีโหมด IS สามโหมด จากเดิมสองโหมดในเลนส์เวอร์ชันเมาท์ EF
กล้อง EOS R ที่ติดตั้งเลนส์ RF70-200mm f/2.8L IS USM
เลนส์ฮูด: ET-83F (W III)
โครงสร้างเลนส์
A: ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม (ฉบับภาษาอังกฤษ)
B: ชิ้นเลนส์ UD (ฉบับภาษาอังกฤษ)
C: ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม UD
D: SWC (ฉบับภาษาอังกฤษ)
การเคลือบฟลูออรีน (ฉบับภาษาอังกฤษ) กันรอยเปื้อนบนพื้นผิวด้านหน้าและหลังของเลนส์
ข้อมูลจำเพาะที่สำคัญ
โครงสร้างเลนส์: 17 ชิ้นเลนส์ใน 13 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.7 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.23 เท่า
จำนวนม่านรูรับแสง: 9 (กลีบ)
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 77 มม.
ขนาด: φ89.9×146.0 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 1,070 กรัม (ไม่รวมเมาท์สำหรับขาตั้งกล้อง)
ภาพตัวอย่าง
EOS R/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 70 มม./ Manual exposure (f/7.1, 1/40 วินาที)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ต้นไม้ที่มีสีสันของฤดูใบไม้ร่วงสะท้อนลงบนสระน้ำที่อยู่ลึกเข้าไปในป่าเขา ในการถ่ายภาพให้ทั้งกิ่งก้านที่มีใบไม้สีสันสดใสและลำต้นของต้นไม้อยู่ในเฟรมได้นั้น ผมต้องอยู่ในท่าโก้งโค้งไม่มั่นคง แต่ก็ยังสามารถถ่ายภาพที่คมชัดได้โดยไม่เห็นการสั่นของกล้องเพราะมีระบบ IS
EOS R/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 70 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/1,600 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
กระท่อมมุงจากหลังเล็กกลางทุ่งหญ้าเงียบสงบ ดอกคอสมอสที่อยู่ด้านหน้าเพิ่มความน่ารักให้กับฉากที่ดูเหนือกาลเวลานี้ โบเก้นุ่มนวลในส่วนโฟร์กราวด์ด้วยรูรับแสงกว้างสุด f/2.8 ทำให้ภาพทั้งภาพดูมีบรรยากาศอ่อนโยนละมุนละไม
*เนื่องจากรีวิวนี้ใช้เลนส์รุ่นก่อนการผลิต รูปลักษณ์ภายนอกและคุณภาพของภาพที่ได้จากผลิตภัณฑ์อาจแตกต่างไปจากนี้
~~~
ศึกษาความเป็นมาของเลนส์ซูม EF f/2.8L จาก Canon ได้ใน:
ประวัติที่แทบไม่มีใครรู้ของเลนส์ซูม f/2.8L และ f/4L ของ Canon
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีของเลนส์ RF และเลนส์ RF รุ่นอื่นๆ ได้ที่:
จุดโฟกัส: เลนส์ RF
หากกำลังตัดสินใจว่าจะซื้อกล้อง EOS R หรือ EOS RP ดี โปรดดูที่:
EOS R หรือ EOS RP เลือกใช้กล้องรุ่นไหนดี
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังจากผ่านประสบการณ์การเป็นโค้ชกีฬา ต่อด้วยการทำงานในแวดวงการผลิตนิตยสารและบรรณาธิการมาเป็นเวลา 10 ปี Karaki ก็ย้ายไปยังเมืองโยนาโงะในจังหวัดท็อตโตริ ซึ่งเขาได้กลายเป็นที่รู้จักจากผลงานการถ่ายภาพทิวทัศน์ในภูมิภาคซันอินของญี่ปุ่น ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน จุลสาร Amazing Village ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านสวยๆ ในญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือ CANON × Discover Japan ในปี 2017 และภาพทะเลหมอกที่ช่องเขาอาเคชิในจังหวัดท็อตโตริก็เป็นหนึ่งใน 12 ภาพที่ได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ให้เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น
Instagram: @karakky0918