บทวิจารณ์เลนส์: เดินถ่ายรูปเล่นกับ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM
หากคุณต้องการเลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์ขนาดเล็กและน้ำหนักเบาสำหรับการท่องเที่ยวและเดินถ่ายรูป Kazuo Nakahara พบว่า RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM เป็นเลนส์ที่มีคุณค่ายอดเยี่ยม โดยเฉพาะระบบป้องกันภาพสั่นไหวอันทรงพลังและประสิทธิภาพแบบมาโคร และยังเป็นตัวเลือกที่ใช้งานได้จริงสำหรับผู้ที่กำลังใช้กล้อง APS-C EOS R โดยมีเจตนาจะเปลี่ยนมาใช้กล้องฟูลเฟรมในภายหลัง อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ (เรื่องโดย Kazuo Nakahara, Digital Camera Magazine)
เลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์น้ำหนักเบาขนาดกะทัดรัดที่คุ้มค่าอย่างยิ่งกับเงินที่เสียไป
ด้วยน้ำหนักเพียง 390 ก. โดยประมาณ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM จึงมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาเป็นพิเศษสำหรับเลนส์ที่ออกแบบมาเพื่อกล้องฟูลเฟรม เนื่องจากเป็นเลนส์ในระดับมาตรฐาน จึงไม่มีคุณสมบัติ เช่น ซีลป้องกันสภาพอากาศเหมือนที่พบในเลนส์ซีรีย์ L ระดับมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม คุณภาพของภาพและความใช้งานง่ายทำให้เลนส์นี้เป็นเลนส์ที่คุ้มค่ามาก
ในบทความนี้ ผมนำเลนส์ดังกล่าวไปเดินถ่ายรูปเล่นโดยใช้คู่กับกล้อง EOS R6 วันนั้นอยู่ในช่วงต้นฤดูร้อนและความร้อนก็กำลังเริ่มก่อตัวขึ้น แต่การเดินเล่นเพื่อถ่ายภาพสแนปช็อตด้วยเลนส์นี้กลับเป็นเรื่องสบายๆ ผมแทบไม่รู้สึกเลยว่ามีเลนส์อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
คุณสมบัติเด่นข้อที่ 1: กะทัดรัดและมีน้ำหนักเบา
เลนส์ซูมมุมกว้างที่ออกแบบมาสำหรับกล้องฟูลเฟรมนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าจะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก และยิ่งเลนส์กว้างเท่าใด เลนส์ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น แต่เลนส์ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM นั้นมีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษและยาวเพียง 88.4 มม. หรือราวๆ ฝ่ามือของผมเท่านั้น ด้วยขนาดที่กะทัดรัดมาก คุณจึงไม่ต้องลังเลเลยว่าจะนำเลนส์ชิ้นที่สองไปด้วยดีหรือไม่หากคุณเป็นช่างภาพประเภทที่ชอบพกพาเลนส์ไปหลายๆ ชิ้น และผมมั่นใจว่าเลนส์นี้จะเข้ากับกล้อง APS-C ได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
EOS R6/ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM/ FL: 15 มม./ Aperture-priority AE (f/4.5, 1/1250 วินาที, EV +0.7)/ ISO 100/WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายโดยมองจากส่วนโคนของดอกไม้ขึ้นไปด้านบน ขนาดที่เล็กของเลนส์ช่วยให้ใช้ถ่ายภาพในจุดแคบๆ อย่างเช่นในภาพนี้ได้อย่างง่ายดาย เมื่อมีแสงจ้าจากด้านหลัง จึงมองเห็นแสงหลอกและแสงแฟลร์อยู่บ้าง แต่ความเปรียบต่างลดลงเพียงเล็กน้อย
ความคมชัดและคุณภาพของภาพที่ยอดเยี่ยมสำหรับกล้องในระดับเดียวกัน
แม้จะเป็นเลนส์ระดับมาตรฐาน ทว่า RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM กลับไม่ใช้เลนส์ UD (Ultra-low Dispersion) เพียงแค่หนึ่งชิ้น แต่ใช้ถึงสองชิ้น ซึ่งสามารถแก้ไขความคลาดสีได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขความบิดเบี้ยวนั้นจะทำโดยวิธีการทางดิจิตอลในตัวกล้อง จึงไม่จำเป็นต้องใช้ชุดออพติคแก้ไข ซึ่งช่วยทำให้เลนส์มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา บางคนอาจกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิธีการดังกล่าว แต่ผมเห็นว่าเพียงพอแล้ว เนื่องจากผมแทบไม่เห็นความคลาดต่างๆ ในภาพเลย
ภาพถ่ายที่ 15 มม. จากระยะมุมกว้างมีความคมชัดตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุดไปจนตลอดช่วงการซูม เลนส์มีประสิทธิภาพในการแยกรายละเอียดของภาพที่ค่อนข้างสมดุลดีสำหรับกล้องระดับนี้
EOS R6/ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM/ FL: 15 มม./ Aperture-priority AE (f/9, 1/100 วินาที, EV +0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ที่ระยะมุมกว้าง 15 มม. เพียงเอียงกล้องขึ้นด้านบนเล็กน้อยก็จะสามารถถ่ายภาพอาคารเหล่านี้ให้มีเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟอันทรงพลังได้ เส้นขอบของตัวอาคารมักจะเกิดสีเพี้ยนได้ง่ายในฉากเช่นนี้ แต่ในภาพนี้ เส้นขอบกลับคมชัดและเห็นได้อย่างชัดเจน
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเปอร์สเปคทีฟมุมกว้างอัลตร้าไวด์อันเป็นเอกลักษณ์ได้ที่:
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 1: เอฟเฟ็กต์ภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้าง
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวสูงสุด 7 สต็อปเมื่อใช้ระบบ IS แบบประสานการควบคุม
แม้จะมีขนาดเล็ก แต่เลนส์รุ่นนี้มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบออพติคอล (ระบบ IS แบบออพติคอล) ที่แก้ไขการสั่นของกล้องได้สูงสุดเทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์ 5.5 สต็อป เมื่อติดตั้งลงบนกล้องที่มีระบบ IS ในตัวกล้อง จะสามารถป้องกันภาพสั่นไหวได้สูงสุดถึง 7 สต็อปด้วยระบบ IS แบบประสานการควบคุม คุณสมบัตินี้ทำให้คุณวางใจได้เมื่อต้องถ่ายภาพในฉากที่มีแสงน้อย
ผมลองถ่ายภาพแบบไม่ใช้ขาตั้งกล้องสองสามภาพโดยเปิดรับแสงนาน 1 วินาที และภาพส่วนใหญ่ที่ได้ก็มีความคมชัด ช่างภาพผู้มีประสบการณ์ในการถ่ายด้วยมือจะสามารถถ่ายภาพที่คมชัดได้ที่ 2 หรือแม้แต่ 3 วินาที เมื่อใช้เลนส์รุ่นนี้ คุณอาจพบว่าไม่จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องในหลายๆ ฉากอีกต่อไป
EOS R6/ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 0.8 วินาที)/ ISO 320/ WB: อัตโนมัติ
ผมลองถ่ายภาพด้วยมือและใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำในช่วงค่ำที่ท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงิน ผมมักจะต้องใช้ขาตั้งกล้องหากถ่ายภาพที่ 0.8 วินาที แต่เมื่อจับคู่เลนส์กับกล้องเช่นนี้ ผมสามารถถ่ายภาพให้คมชัดได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ เลย เมื่อใช้ f/8 เลนส์จะสร้างเอฟเฟ็กต์แฉกแสง 14 จุด
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
ฉาก 3 ประเภทที่ใช้ประโยชน์จาก IS ในตัวกล้องได้เต็มที่
สรีระและฟิลเตอร์
วัสดุและสัมผัส
ท่อเลนส์ทำจากโพลีเมอร์ที่ใช้ในงานวิศวกรรม จึงไม่ให้สัมผัสที่หรูหรานัก แต่เลนส์ยังคงให้ความรู้สึกแข็งแรงและมีคุณภาพดีโดยไม่มีส่วนใดหลุดหรือหลวม วัสดุทำจากเรซินช่วยให้เลนส์มีน้ำหนักเบา
วงแหวนควบคุม/โฟกัส
เลนส์ไม่มีวงแหวนควบคุมโดยเฉพาะ แต่มีวงแหวนควบคุม/โฟกัสรวมกันและมีสวิตช์สำหรับสลับการใช้งานระหว่างสองฟังก์ชัน
ฟิลเตอร์
เลนส์มีเส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์ 67 มม. ซึ่งเท่ากับเลนส์ระดับเดียวกันเหล่านี้:
- RF24-105mm f/4-7.1 IS STM (เลนส์ซูมมาตรฐาน)
- RF100-400mmm f/5.6-8 IS USM (เลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้)
เลนส์ทั้งสามนี้ เมื่อรวมกันจะกลายเป็นกลุ่มเลนส์สามรุ่นเด่นที่มีราคาถูกและน้ำหนักเบา นอกจากนี้คุณสมบัติในการใช้ฟิลเตอร์แบบขันสกรูร่วมกันได้ยังเป็นข้อดีอีกข้อหนึ่ง
AF
โฟกัสอัตโนมัติ (AF) ในเลนส์ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM ขับเคลื่อนโดย Stepping Motor (STM) ขณะใช้เลนส์นี้ ผมไม่พบสถานการณ์ใดเลยที่ความเร็ว AF เป็นปัญหา ช่างภาพวิดีโอจะพบว่ากลไกการโฟกัสที่ลื่นไหลและเงียบของ STM มีประโยชน์อย่างยิ่ง
ถ่ายภาพแบบมาโครที่กำลังขยายสูงสุด 0.5 เท่า
คุณสมบัติที่โดดเด่นอีกข้อหนึ่งของเลนส์ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM คือความสามารถในการถ่ายภาพแบบมาโครมุมกว้างอัลตร้าไวด์ ซึ่งช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ให้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ระยะโฟกัสใกล้สุดคือ 28 ซม. ในโหมด AF การใช้โหมดโฟกัสแบบแมนนวล (MF) จะลดระยะนี้ลงมาอยู่ที่ 12.8 ซม. เมื่อคุณถ่ายภาพในช่วงโฟกัส 15 มม. ถึง 20 มม. สามารถใช้กำลังขยายได้ถึง 0.5 เท่าเมื่อโฟกัสแบบแมนนวลที่ระยะมุมกว้าง 15 มม.
การเปลี่ยนมาใช้โหมด MF ทำได้ง่ายๆ เนื่องจากเลนส์รองรับระบบโฟกัสอัตโนมัติแบบปรับแมนนวลได้ในโหมด AF เพียงหมุนวงแหวนโฟกัส (ตรวจดูให้แน่ใจว่าสวิตช์อยู่ที่ "โฟกัส")
ขณะใช้ AF (ระยะโฟกัสใกล้สุด: 28 ซม.)
ขณะใช้ MF (ระยะโฟกัสใกล้สุด: 12.8 ซม.)
EOS R6/ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM/ FL: 15 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/500 วินาที, EV +1.3)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายด้วยระยะโฟกัสใกล้สุดจากระยะมุมกว้าง (12.8 ซม.) เอฟเฟ็กต์ที่ได้มีเอกลักษณ์มาก คุณจะสังเกตเห็นว่าแบ็คกราวด์ก็ถูกถ่ายไว้ด้วยเช่นกัน ช่วงรูรับแสงกว้างสุด f/4.5 ถึง f/6.3 อาจค่อนข้างช้า แต่เมื่อถ่ายภาพแบบโคลสอัพ ช่วงรูรับแสงดังกล่าวจะสร้างโบเก้ที่นุ่มนวลในแบ็คกราวด์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่คาดคิดว่าเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์จะทำได้
เคล็ดลับ: ขณะถ่ายภาพที่ระยะโฟกัสใกล้สุด 12.8 ซม. คุณควรหาวิธีในการกำจัดเงาที่ทาบทับลงไปบนตัวแบบด้วย ในภาพนี้ ผมฉายแสง LED จากเหนือเลนส์ลงไปบนดอกไม้
การใช้เลนส์กับกล้อง APS-C: เลนส์ซูมมาตรฐานประสิทธิภาพเยี่ยมเริ่มต้นที่ 24 มม.
เมื่อติดตั้ง RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM ลงไปบนกล้อง APS-C เลนส์จะทำงานเช่นเดียวกับเลนส์ซูมมาตรฐานที่ครอบคลุมช่วงโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรมที่ 24 ถึง 48 มม. ระยะมุมกว้างนั้นกว้างกว่า RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM (ช่วงโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรม 29 ถึง 72 มม.)
ระยะ 24 มม. จะให้ความยืดหยุ่นมากกว่า 29 มม. หากถ่ายภาพในพื้นที่แคบ และยังทำให้ภาพมีเปอร์สเปคทีฟแบบมุมกว้างที่โดดเด่นอีกด้วย หากโดยทั่วไปคุณชอบถ่ายภาพที่มุมกว้างมากกว่าและใช้กล้อง APS-C EOS R อยู่แล้ว RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM จะเป็นเลนส์ซูมมาตรฐานที่น่าใช้อย่างยิ่ง และเหนืออื่นใด คุณจะมีเลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่พร้อมใช้งานทันทีเมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้กล้องฟูลเฟรมในภายหลัง!
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างกล้องฟูลเฟรมกับกล้อง APS-C ได้ใน:
กล้องฟูลเฟรมและกล้อง APS-C: ควรเลือกรุ่นไหนดี
คุณทราบหรือไม่ว่าการถ่ายภาพที่ 24 มม. ช่วยให้คุณจัดองค์ประกอบภาพด้วยเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ได้ดียิ่งขึ้น อ่านได้ที่:
ภาพโคลสอัพระยะ 24 มม.: 3 แบบฝึกหัดง่ายๆ เพื่อฝึกใช้มุมมองเปอร์สเปคทีฟมุมกว้างให้ชำนาญ
สรุป: ไม่ใช่เลนส์สำหรับมือใหม่เท่านั้น
RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM เป็นเลนส์ที่ได้รับการออกแบบมาดีมาก เนื่องจากให้ประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมในราคาค่อนข้างถูก เลนส์นี้จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพที่กำลังจะซื้อเลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์ชิ้นแรก ความจริงแล้ว ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดที่อัดแน่นอยู่ในตัวเลนส์ขนาดเล็กและน้ำหนักเบา เลนส์นี้จึงควรค่าแก่การเป็นเจ้าของหากคุณชื่นชอบการถ่ายภาพด้วยมุมกว้างอัลตร้าไวด์ แม้คุณจะมีเลนส์กลุ่มเดียวกันในระดับที่สูงกว่าอยู่แล้วก็ตาม
EOS R6 + RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM
ฮูดเลนส์ EW-73E (มีจำหน่ายแยกต่างหาก)
ข้อมูลจำเพาะที่สำคัญ
โครงสร้างเลนส์: 13 ชิ้นเลนส์ใน 11 กลุ่ม
จำนวนม่านรูรับแสง: 7
รูรับแสงต่ำสุด: f/22-32
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.28 ม. (AF), 0.238 ม. (MF)
กำลังขยายสูงสุด (ประมาณ): 0.16 เท่า (AF), 0.52 เท่า (MF)
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 67 มม.
ขนาด: φ76.6 x 84.4 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 390 ก.
ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ปรับได้
เนื่องจาก RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM เป็นเลนส์ซูมแบบปรับรูรับแสงได้ ค่ารูรับแสงกว้างสุดจึงเปลี่ยนแปลงไปตามทางยาวโฟกัส นี่คือสิ่งที่ผมสังเกตเห็น
คุณสามารถทราบข้อมูลได้มากมายจากชื่อเลนส์ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์: ชื่อเลนส์มีความหมายอย่างไรและทำไมเลนส์บางรุ่นจึงเป็นสีขาว
โครงสร้างของเลนส์
A: ชิ้นเลนส์ UD
B: ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม PMo
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ RF ได้ที่:
In Focus: รีวิวเลนส์ RF
หากคุณตัดสินใจไม่ได้ระหว่างเลนส์นี้กับเลนส์ EF ที่คล้ายกัน บทความนี้อาจช่วยคุณได้
เลนส์ RF กับเลนส์ EF: แตกต่างกันอย่างไรและควรตัดสินใจเลือกอย่างไร
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย