พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #2: เลนส์เดี่ยว
เลนส์เดี่ยวหรือที่บางครั้งเรียกว่าเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสคงที่ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการสร้างโบเก้ รวมถึงการถ่ายภาพที่มีการสั่นไหวของกล้องน้อยที่สุด เรามาสำรวจคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ของเลนส์ประเภทนี้กัน และดูว่ารูรับแสงกว้างสุดที่กว้างมากของเลนส์มีประโยชน์ต่อภาพถ่ายของเราอย่างไร (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)
จุดเด่นที่สุดของเลนส์เดี่ยวคือ สร้างโบเก้ที่งดงามได้อย่างง่ายดาย
ประโยชน์
- รูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการสร้างโบเก้
- คุณสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นได้ในสภาวะแสงน้อย ซึ่งช่วยป้องกันอาการกล้องสั่น
- มักมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา จึงพกพาได้สะดวกมาก
จุดอ่อน
- ต้องเปลี่ยนเลนส์บ่อยครั้งเพื่อใช้ทางยาวโฟกัสต่างๆ กัน
- ไม่สามารถซูมเพื่อปรับมุมรับภาพได้
เลนส์เดี่ยวยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เลนส์โฟกัสเดี่ยว หรือเลนส์โฟกัสคงที่ และดังชื่อที่ว่าไว้ เลนส์นี้มีทางยาวโฟกัสเดียวเท่านั้น จึงไม่สามารถซูมเข้าหรือออกเพื่อเปลี่ยนมุมรับภาพได้ อย่างไรก็ดี เลนส์ชนิดนี้มักมีความสว่างและมาพร้อมรูรับแสงกว้างสุดที่กว้าง (ค่า f ต่ำ) ซึ่งทำให้สร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่สวยงามในส่วนแบ็คกราวด์ได้ง่าย นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้ ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นได้เมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย จึงได้ภาพถ่ายที่คมชัดโดยไม่ต้องใช้ความไวแสง ISO ที่สูง และเสี่ยงต่อการเกิดจุดสีรบกวนเพื่อป้องกันปัญหากล้องสั่นไหว
แล้วค่ารูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และความไวแสง ISO สัมพันธ์กันอย่างไร อ่านสรุปได้จาก:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #3: การเปิดรับแสง
เมื่อเปรียบเทียบกับเลนส์ซูม เลนส์เดี่ยวมีโครงสร้างเลนส์ที่เรียบง่ายกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เลนส์ชนิดนี้มักมีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเบากว่า และพกพาง่ายกว่าด้วยเช่นกัน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ทำให้เลนส์เดี่ยวแตกต่างจากเลนส์ซูม อย่างไรก็ดี เนื่องจากเลนส์เดี่ยวมีทางยาวโฟกัสคงที่ ดังนั้นสำหรับฉากและตัวแบบบางประเภท คุณอาจต้องพกพาเลนส์สองสามตัว และสลับใช้เลนส์บ่อยครั้งเพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการ นั่นหมายความว่าคุณต้องพึ่งทักษะฝีมือของตัวเองในการจัดองค์ประกอบภาพ จึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้เลนส์เดี่ยวช่วยพัฒนาทักษะถ่ายภาพของคุณให้ดีขึ้นด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดในการกำหนดข้อจำกัดในการถ่ายภาพให้กับตนเอง เพื่อช่วยคุณฉีกออกจากแนวคิดสร้างสรรค์แบบเดิมๆ
ไอเดียหลักที่ 1: ประเภทของเลนส์เดี่ยว
เลนส์เดี่ยวมีด้วยกันสี่ประเภทหลักๆ ประเภทแรกประกอบด้วยเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ (ทางยาวโฟกัสสั้นกว่า 24 มม. เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) และเลนส์มุมกว้าง ซึ่งสามารถเก็บภาพมุมกว้างได้ ประเภทที่สองประกอบด้วยเลนส์มาตรฐาน (เทียบเท่า 50 มม.) และเลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลาง (เทียบเท่า 85 มม. หรือที่เรียกกันว่า "เลนส์พอร์ตเทรต" เนื่องจากมักใช้กับการถ่ายภาพพอร์ตเทรต) ซึ่งสามารถถ่ายที่มุมรับภาพใกล้เคียงกับที่มองเห็นด้วยตาเปล่า ส่วนเลนส์เทเลโฟโต้และเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ ซึ่งเป็นเลนส์เดี่ยวประเภทที่สามสามารถเก็บภาพระยะใกล้ของวัตถุที่อยู่ห่างออกไป และประเภทสุดท้ายคือ เลนส์มาโคร ซึ่งสามารถเก็บภาพระยะใกล้ของตัวแบบที่มีขนาดเล็กจากระยะการถ่ายที่ใกล้
เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์และเลนส์มุมกว้าง 2 ตัว
(1) EF14mm f/2.8L II USM
(2) EF24mm f/2.8 IS USM
(3) EF-M22mm f/2.0 STM
เลนส์มาตรฐาน 2 ตัว และเลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลาง 1 ตัว
(4) EF-S24mm f/2.8 STM
(5) EF50mm f/1.4 USM
(6) EF85mm f/1.8 USM
เลนส์เทเลโฟโต้และเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้
(7) EF300mm f/4L IS USM
(8) EF600mm f/4L IS II USM
เลนส์มาโคร
(9) EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM
(10) EF-S35mm f/2.8 Macro IS STM
(11) EF100mm f/2.8L Macro IS USM
ไอเดียหลักที่ 2: เลนส์เดี่ยว เลนส์ซูม และความแตกต่างของเอฟเฟ็กต์โบเก้
เลนส์เดี่ยวมักถ่ายภาพที่มีโบเก้ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับเลนส์ซูมปกติที่มีทางยาวโฟกัสเท่ากัน ดังเช่นตัวอย่างด้านล่างซึ่งถ่ายที่ 50 มม. ทั้งนี้เพราะรูรับแสงกว้างสุดที่มีให้ใช้งานในเลนส์เดี่ยวคือ f/1.4 ขณะที่เลนส์ซูม (ที่ทางยาวโฟกัสนี้) มีรูรับแสงกว้างสุดที่ f/5 พึงทราบว่าความแตกต่างนี้มีความสำคัญต่อขนาดของพื้นที่ที่อยู่นอกโฟกัสของโบเก้
EF50mm f/1.4 USM
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/1250 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: Manual
EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/5, 1/125 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: Manual
ไอเดียหลักที่ 3: ค่า f ที่สามารถเลือกได้หลากหลาย
เลนส์เดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ จะมีช่วงค่า f ที่ใช้งานได้หลากหลายกว่า เมื่อเทียบกับเลนส์ที่มีรูรับแสงแบบปรับได้ซึ่งตั้งค่าทางยาวโฟกัสไว้เท่ากัน ตัวอย่างเช่น รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM ที่ 50 มม. คือ f/5 แต่ในเลนส์ EF50mm f/1.4 USM คุณสามารถใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.4 การมีช่วงค่า f ที่หลากหลายกว่าให้เลือกนี้ช่วยให้คุณมีตัวเลือกมากขึ้นในการสื่ออารมณ์ภาพในแนวศิลป์
ต่อไปนี้คือสิ่งที่สามารถทำได้ด้วยเลนส์ f/1.4:
การถ่ายภาพดาราศาสตร์: การถ่ายภาพท้องฟ้าที่ดารดาษไปด้วยแสงดาวด้วยเลนส์ f/1.4
ไอเดียหลักที่ 4: การจับโฟกัส
เมื่อคุณใช้เลนส์เดี่ยวที่รูรับแสงกว้างสุด ระยะชัดลึกจะตื้น (กล่าวคือ พื้นที่ที่อยู่ในระยะโฟกัสจะแคบมาก) และทำให้คุณจับโฟกัสในบริเวณที่ต้องการได้ยากขึ้น ดังนั้น คุณอาจจะต้องลองถ่ายภาพหลายครั้ง โดยให้แต่ละครั้งมีจุดโฟกัสต่างกันเล็กน้อย นอกจากนี้ ควรทำความคุ้นเคยกับวิธีจับโฟกัสที่แม่นยำในแบบต่างๆ เช่น การขยายจุด AF ในการถ่ายภาพ Live View หรือวิธีการโฟกัสแบบปรับตำแหน่งอย่างละเอียดผ่านการโฟกัสแบบแมนนวล (MF)
หากต้องการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะชัดลึก โปรดดูที่:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #1: รูรับแสง
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/50 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อคุณเข้าใกล้ตัวแบบที่มีขนาดเล็ก ระยะชัดลึกจะตื้นมาก และคุณจะต้องอาศัยการโฟกัสแบบ Pinpoint ที่แม่นยำ MF จึงอาจเป็นตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพมาก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฉากที่ถ่ายด้วยเช่นกัน
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!