บทวิจารณ์เลนส์: อิสระในการเดินถ่ายภาพด้วย RF16mm f/2.8 STM
“น้ำหนักเบาและกระทัดรัด” เป็นคำที่คุณไม่สามารถใช้อธิบายเลนส์เดี่ยวมุมกว้างอัลตร้าไวด์ทั่วไปได้ จนกระทั่งมีการเปิดตัว RF16mm f/2.8 STM เช่นเดียวกับที่ช่างภาพรายหนึ่งได้ค้นพบแล้วว่า การผสมผสานที่ไม่เหมือนใครของมุมมองแบบมุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ทรงพลังกับความสะดวกในการพกพาอาจจุดประกายให้คุณได้พบโอกาสมากมายในการถ่ายภาพเชิงสร้างสรรค์ (เรื่องโดย: Ryo Owada, Digital Camera Magazine)
1. กระทัดรัดและน้ำหนักเบา: เลนส์เดี่ยวมุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ไม่เหมือนใคร
2. ระยะโฟกัสใกล้สุด 13 ซม.: ผนึกกำลังกับมุมมองเปอร์สเป็คทีฟมุมกว้างอัลตร้าไวด์
3. คุณภาพของภาพดี โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับการแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเลนส์
4. ระบบป้องกันภาพสั่นไหวพร้อม IS ในตัวกล้อง
5. ความเห็นส่งท้าย: อิสระในการจัดองค์ประกอบภาพให้มีชีวิตชีวาได้อย่างสร้างสรรค์
มุมกว้างอัลตร้าไวด์ ความไวแสงสูง และกระทัดรัดเหมือนเลนส์ 50 มม.
ขณะนี้ RF16mm f/2.8 STM เป็นเลนส์เดี่ยวที่มีมุมกว้างที่สุดในบรรดากลุ่มเลนส์ RF ทว่าสิ่งที่โดดเด่นไม่ใช่เพียงทางยาวโฟกัสของเลนส์เท่านั้น แต่ยังเป็นขนาดที่กระทัดรัดด้วย Canon ได้ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติเด่นของระบบ EOS R อย่างเต็มที่ นั่นคือเส้นผ่านศูนย์กลางเมาท์ขนาดใหญ่และระยะแบ็คโฟกัสที่สั้น เพื่อสร้างเลนส์เดี่ยวมุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ทั้งมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ดังนั้น จึงเป็นเลนส์ที่เข้ากับระบบกล้องมิเรอร์เลสได้อย่างดีเยี่ยม
สำหรับช่างภาพหลายราย เลนส์เดี่ยวความไวสูง 50mm f/1.8 อาจเป็นเลนส์ที่ใครๆ นึกถึงเมื่อต้องบอกชื่อเลนส์ขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา โดยปกติแล้วเลนส์เดี่ยวมุมกว้างจะมีขนาดใหญ่กว่าเลนส์ 50 ม. ความไวสูงเนื่องจากชิ้นเลนส์ที่เกี่ยวข้อง แต่ด้วยความสำเร็จเชิงวิศวกรรม ทำให้ RF16mm f/2.8 STM แทบจะมีขนาดเท่ากับ RF50mm f/1.8 STM
เหมาะสำหรับเดินถ่ายภาพและทดลองเล่นกับมุมต่างๆ
สำหรับการรีวิวครั้งนี้ ผมใช้ RF16mm f/2.8 STM คู่กับกล้อง EOS R5 นอกจากความสะดวกในการพกพาแล้ว เลนส์รุ่นนี้ยังให้สมดุลที่ยอดเยี่ยมกับตัวกล้องอีกด้วย แม้จะใช้งานกล้องด้วยมือข้างเดียว คุณจึงมีอิสระมากในการควบคุมกล้อง รวมทั้งถ่ายภาพจากมุมและตำแหน่งต่างๆ ได้
EOS R5/ Shutter-priority AE (f/7.1, 1/500 วินาที)/ ISO 100
มุมต่ำของภาพนี้พร้อมกับเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟเกินจริงที่ได้จากมุมกว้างอัลตร้าไวด์ 16 มม. ช่วยเน้นแถบสีขาวดำบนถนน การจัดองค์ประกอบภาพเช่นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของช่างภาพแนวคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism) ชาวรัสเซีย Alexander Rodchenko ที่มักถ่ายภาพจากมุมแปลกใหม่ที่แตกต่างจากแบบแผนแบบเดิมๆ
EOS R5/ Aperture-priority AE (f/8, 1/80 วินาที, EV -1.0)/ ISO 1250
ภาพนี้ถ่ายในสภาพย้อนแสงแต่ยังรักษาระดับความเปรียบต่างที่เหมาะสมไว้ ส่วนแสงอาทิตย์ดูค่อยๆ พร่ามัวแต่บอบบางนุ่มนวลในส่วนที่สว่าง ผลลัพธ์ที่ได้คือภาพฉากป่าไม้ที่น่าประทับใจ ผมใช้การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุมเพื่อเสริมความรู้สึกที่กว้างใหญ่ของมุมมองเปอร์สเป็คทีฟ 16 มม.
ระยะโฟกัสใกล้สุด 13 ซม.: ผนึกกำลังกับมุมมองเปอร์สเป็คทีฟมุมกว้างอัลตร้าไวด์
เมื่อมีเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ช่วยให้ถ่ายภาพโคลสอัพได้ คุณก็สามารถเพิ่มเอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟได้มากกว่าที่เคย ระยะโฟกัสใกล้ที่สุดที่ 13 ซม. ของ RF16mm f/2.8 STM ร่วมกับกำลังขยายสูงสุด 0.26 เท่าของเลนส์จะสร้างภาพถ่ายคล้ายภาพมาโครที่น่าสนใจมากซึ่งแสดงให้เห็นแบ็คกราวด์มากขึ้น แตกต่างจากภาพครอปที่ใกล้ขึ้นที่คุณจะได้เมื่อถ่ายด้วยเลนส์มาโครที่ยาวขึ้น เราสามารถใช้เลนส์นี้เพื่อสร้างสไตล์ที่แตกต่างให้กับภาพแทบทุกอย่างได้ ตั้งแต่ต้นไม้เล็กๆ ไปจนถึงทิวทัศน์กว้างใหญ่! ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ใช้งานเลนส์นี้ได้สนุกมาก
คุณภาพของภาพดี โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับการแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเลนส์
รายละเอียดและการเกลี่ยสีที่ดีเยี่ยม
EOS R5/ Aperture-priority AE (f/11, 1/100 วินาที)/ ISO 100
ทุ่งข้าวโพดในส่วนครึ่งล่างของภาพนี้ถ่ายทอดออกมาด้วยรายละเอียดที่มีชีวิตชีวาและคมชัดจนถึงใบไม้ทุกใบ ความนุ่มนวลของเมฆฝนบนท้องฟ้าและการไล่เฉดสีเทาอ่อนๆ ถ่ายทอดให้เห็นได้อย่างสวยงามด้วยเช่นกัน
คุณภาพของโบเก้
EOS R5/ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/2000 วินาที, EV -0.7)/ ISO 100
โบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์ในภาพนี้เพียงพอที่จะทำให้ตัวแบบดูมีมิติ เมื่อถ่ายด้วยรูรับแสงกว้างสุด คุณจะได้โบเก้ที่ดูนุ่มนวลซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะได้จากทางยาวโฟกัสมุมกว้างอัลตร้าไวด์ แม้ว่าภาพนี้ถ่ายในวันเมฆครึ้มโดยมีเมฆบางปกคลุมและอาจดูราบเรียบได้ง่ายๆ แต่การจับคู่เลนส์กับกล้องอย่างสวยงามนี้ก็ช่วยสร้างความเปรียบต่างระหว่างดอกไม้กับใบไม้
ความคลาดเคลื่อนของเลนส์
ตลอดช่วงค่ารูรับแสง ภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์รุ่นนี้มีความคมชัดตามที่ควรจะเป็น ความคลาดเคลื่อนบางส่วนมีให้เห็นที่ขอบภาพ แต่จะหายไปเมื่อผมเปิดใช้งานการแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเลนส์ในกล้อง
สิ่งหนึ่งที่ควรทราบคือขอบมืดที่เกิดขึ้นในมุมภาพเมื่อปิดการแก้ไขความคลาดส่วนในกล้อง โดยเฉพาะในระหว่างถ่ายภาพโคลสอัพ การแก้ไขความคลาดส่วนจะเปิดโดยอัตโนมัติเมื่อติดตั้งเลนส์นี้ ดังนั้นคุณจะไม่พบปัญหาใดๆ หากถ่ายภาพในรูปแบบ JPEG หรือปรับแต่งไฟล์ RAW ของคุณด้วยซอฟต์แวร์ Digital Photo Professional ของ Canon แต่หากคุณใช้โปรแกรมปรับแต่งภาพอื่น คุณอาจจะต้องใช้ความระมัดระวัง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Digital Lens Optimizer: ยกระดับคุณภาพของภาพขึ้นไปอีกขั้น
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวพร้อม IS ในตัวกล้อง
เมื่อติดตั้งเข้ากับกล้องที่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวกล้อง (IS ในตัวกล้อง) วัตถุที่อยู่ห่างในระยะปานกลางขึ้นไปจะดูคมชัดแม้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/15 วินาที แต่วัตถุที่อยู่ใกล้เลนส์จะดูคมชัดเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดถึงประมาณ 1/60 วินาทีหากคุณถ่ายจากตำแหน่งการถ่ายที่มั่นคง
EOS R5/ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/20 วินาที, EV -0.7)/ ISO 6400
IS ในตัวกล้องช่วยให้ภาพดูคมชัดเสมอแม้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำลง เลนส์บางรุ่นให้ภาพที่ดูนุ่มนวลเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุด แต่ RF16mm f/2.8 STM จะให้ความคมชัดตลอดช่วงค่ารูรับแสง อย่าลังเลที่จะใช้ถ่ายภาพในสภาวะที่มีแสงน้อย!
ความเห็นส่งท้าย: อิสระในการจัดองค์ประกอบภาพให้มีชีวิตชีวาได้อย่างสร้างสรรค์
RF16mm f/2.8 STM ลงตัวทั้งขนาดและประสิทธิภาพสมราคา
สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกทึ่งที่สุดคือเอฟเฟ็กต์ทางด้านภาพที่น่าประทับใจซึ่งคุณสามารถสร้างได้ด้วยทางยาวโฟกัส 16 มม. ของเลนส์นี้ โดยเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับสไตล์การถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือในแบบสแน็ปช็อตที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วและคล่องตัวมาก คุณจะต้องชอบเลนส์รุ่นนี้หากคุณชอบเคลื่อนไหวเวลาถ่ายภาพเพื่อทดลองเล่นกับตำแหน่งและมุมต่างๆ อันที่จริงแล้ว ผมพูดได้ว่าจุดเด่นสุดของเลนส์นี้คือสเปคและแนวคิดของเลนส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการคำนึงถึงความสามารถในการใช้งานและคุณสมบัติต่างๆ ที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ใช้เลนส์นี้ถ่ายภาพ
ด้วยมุมมองเปอร์สเป็คทีฟที่มีชีวิตชีวาและความสะดวกในการพกพา ทำให้ RF16mm f/2.8 STM อาจเป็นเลนส์ที่ช่วยคุณฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ และถ่ายภาพได้อย่างสร้างสรรค์! หากคุณต้องการแนวคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ โปรดอ่าน:
3 โจทย์ท้าทายที่ดูเหมือนง่าย แต่ยกระดับทักษะการถ่ายภาพของคุณได้
EOS R5 + RF16mm f/2.8 STM
ข้อมูลจำเพาะที่สำคัญ
โครงสร้างเลนส์: 9 ชิ้นเลนส์ใน 7 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.13 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.26 เท่า
จำนวนม่านรูรับแสง: 7 (กลีบ)
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 43 มม.
ขนาด: φ69.2 x 40.2 มม. (เมื่อหดเก็บ)
น้ำหนัก: ประมาณ 165 ก.
ฮูดเลนส์ EW-65C (มีจำหน่ายแยกต่างหาก)
หากคุณต้องการแนวคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อ่านได้ที่:
วิธีการถ่ายภาพนี้: การเพิ่มความพิเศษให้กับภาพทิวทัศน์ในป่าอันกว้างใหญ่
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
เทคนิคการใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์: เส้นแสงจากมุมมองใหม่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ RF ได้ที่นี่:
In Focus: ข้อมูลจำเพาะของเลนส์ RF
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่จังหวัดมิยะงิในปี 1978 จบการศึกษาจาก Graduate School of Arts แห่งมหาวิทยาลัย Tokyo Polytechnic ในปี 2005 ผลงานของเขาได้รับเลือกให้จัดแสดงในนิทรรศการ “reGeneration.50 Photographers of Tomorrow” ที่พิพิธภัณฑ์ Musée de l'Élysée ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผลงานอื่นๆ ของเขายังได้จัดแสดงทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น เช่น ในแกลเลอรี่ LUMAS ประเทศเยอรมนี Ohwada ได้แสดงผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่ผลงานในนิตยสารและสื่อโฆษณาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งจัดนิทรรศการแบบเดี่ยวและกลุ่มเป็นประจำ และเขายังเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย Tokyo Polytechnic อีกด้วย